สุปราณี คุณกิตติ : ความสว่าง..ข้างเทียนดับ


สามีจากไปเมื่อปี 2546 ดิฉันเคยเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าเมื่อสามีเสียชีวิต อาการดีขึ้น แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ดิฉันไม่มีลูกกับสามี เมื่อใดที่เห็นหรือระลึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวพันกับสามี หลายๆครั้งที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้และจะต้องร้องไห้มากๆเมื่อคิดถึงเขา อยากให้ตัวเองสงบจากสิ่งที่ผ่านไปแล้วให้ได้สักที มีชีวิตอยู่เหมือนคนขาดวิญญาณ

การเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้านั้นทรมานเพราะการกินยา แต่ ณ เวลานั้นถือว่าจำเป็น อดทนจนเมื่อผ่านไป 2 ปี รู้ว่าตัวเองดีขึ้น จะมีบางช่วงเวลาที่ระลึกถึงสามี จะมีความรู้สึกเจ็บปวดบ้าง แต่ไม่มากเท่าแรกๆ และยังมีความรู้สึกว่าคิดถึงเขาทั้งๆที่รู้ว่าเขาจากไปสู่ที่สงบกว่าแล้ว รู้ตัวว่าต้องให้เวลากับตัวเองที่จะค่อยๆดีขึ้น ใจจริงไม่อยากร้องไห้มากเพราะจะทำให้รู้สึกปวดหัวไมเกรน และต้องทำงานสอนหนังสือ จึงไม่อยากให้หน้าตาหม่นหมอง เด็กๆที่เรียนเขาต้องรู้สึกไม่ดีที่อาจารย์หน้าตาเศร้าหมอง ไม่ต้องการเอาความทุกข์ของตัวเองไปแผ่ให้คนอื่น อยากจะให้ตัวเองหยุดความคิดที่เป็นทุกข์นี้เสียที เพราะเหตุการณ์นั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

การได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ให้เวลาตัวเองเพื่อให้ความเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของใจตัวเองได้เติบโตขึ้น จะช่วยให้เรา.คลายกายและใจลงจากการผูกมัดของอดีต

คลินิกโรคซึมเศร้า เป็นเสมือนเพื่อนที่เริ่มคุ้นเคยและสามารถคุยได้ด้วยตลอดเวลา(เพราะอยู่บนอินเตอร์เน็ต..จะเปิดหรือปิดการพูดคุยด้วยเมื่อไหร่ก็ได้) การมีเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรที่เพียงแค่รับฟังและโต้ตอบทางความคิดกับเราบ้าง ก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ อันที่จริงกว่าชีวิตจะผ่านมาถึงขนาดนี้ได้ ก็ได้เรียนรู้อะไรมามากพอสมควรแล้ว แต่เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์จริงด้วยตนเองก็ยังต้องตั้งสติอยู่นานเหมือนกัน เรื่องของจิตใจที่จะเข้มแข็งหรือไม่ จะแก้ปัญหาเป็นหรือไม่ ก็ต้องผ่านการฝึกมาเหมือนกัน ทำไมเรามีการซ้อมหนีไฟหรือซ้อมหลบภัยเมื่อมีภาวะฉุกเฉินได้ เราถึงไม่คิดที่จะลองซ้อมหลบภัยทางจิตใจดูบ้างเพื่อสร้างความเคยชินและสร้างความสามารถในการเรียกสติได้อย่างเพียงพอ 

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติของชีวิต ภาวะของจิตใจจะหลุดไปตามสิ่งที่เกิดขึ้น จนช่วงแรกๆคิดว่าเอาตัวเองเกือบไม่รอดแล้ว(อยากตายตามแต่ไม่คิดฆ่าตัวตายเลย) จึงต้องไปพบจิตแพทย์ ยังดีที่มีสติรู้ตนขณะรักษา รับรู้ผลข้างเคียงของยา จนต้องใช้สติพิจารณาว่า ระหว่างการที่ปล่อยให้ตัวเองทุกข์อยู่กับการจากไปของสามีและต้องกินยา กับการพยายามหันกลับมาดูแลตนเองและให้ความช่วยเหลือดูแลคนรอบข้างทดแทนหน้าที่ที่เคยดูแลสามี แต่ไม่ต้องทรมานกับผลข้างเคียงของยา ถามตัวเองว่าจะเลือกอันไหน จึงเลือกการไม่ต้องรับยาแต่ต้องหันมาพยายามฝืนใจกินอาหารเพื่อให้ร่างกายฟื้นให้เร็วที่สุด โชคดีที่คนในครอบครัวก็ใส่ใจดูแล คนรอบข้างในสถานที่ทำงานให้กำลังใจและใส่ใจ รวมทั้งการได้อยู่ใต้ร่มพระพุทธศาสนา ทำให้สภาพจิตใจ-ร่างกายฟื้นขึ้นเรื่อยๆ แม้จะรู้ว่าไม่มีวันจะกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่อย่างตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อสร้างและสะสมบัญชีบุญบารมี รอเวลาของตัวเองและเตรียมค่าใช้จ่าย(บุญบารมี)เพื่อการเดินทางไปหาคนที่เรารักผูกพันด้วยซึ่งได้เดินทางไปก่อนหน้านี้แล้วตามวาระการเกิด-การดับของแต่ละคน กฎแห่งการทดแทนเกิดขึ้นได้จริงเสมอ 

การพยายามหันกลับมาดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าตัวเองไม่แข็งแรง-ไม่ดีขึ้น ก็จะเป็นภาระให้คนอื่นต้องมาดูแลเราทั้งๆที่เรายังช่วยตัวเองได้ดีอยู่ เพียงแต่เรามัวแต่คิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาและยังติดอยู่ในความทรงจำมาก เวลาเท่านั้นที่พาอะไรมาและพาอะไรไปจากเรา รวมทั้งความทุกข์และความสุขของเราด้วย สามีป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รักษาอยู่ปีกว่า รักเขามากก็สงสารเขามาก แต่เขาเป็นคนเข้มแข็งมาก รู้ว่าเขาควรต้องไป..ไม่ควรห่วงเรา จึงให้สัจจะกับเขาว่าไม่ต้องห่วง จะดูแลตัวเอง

ภาพของอาการก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเป็นภาพที่ลืมเลือนยากนัก เมื่อก่อนจะเจ็บทุกครั้งที่คิดถึง ขณะที่ดูแลเขาไม่มีโอกาสได้ร้องไห้เลย เพราะมีอะไรต้องทำมากมาย แต่เมื่อเขาจากไป หมอบอกว่า ร้องไห้ซะบ้างก็ได้นะ จึงร้องไห้แทบทุกครั้งที่ระลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้น แปลกนะจิตใจคนเรานี่ มีเวลาขึ้นๆลงๆเหมือนเวลาน้ำขึ้นน้ำลงจริงๆ 

ดิฉันมีความรู้สึกมาตลอดว่า ความรักเป็นความงดงาม เป็นความดี และเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ดิฉันมีความเชื่อว่าด้วยความรัก เราจะสามารถทำได้ทุกสิ่งได้อย่างเหลือเชื่อจริงๆ ความรักเยียวยาทุกสิ่ง ดิฉันยอมรับได้เสมอทั้งสิ่งที่เป็นความทุกข์และความสุขที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา เพราะไม่ใช่เพียงเราคนเดียวที่ต้องเผชิญเรื่องราวต่างๆ แต่ทุกคนก็ต้องเคยผ่านสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกับเรา ดิฉันยอมรับว่าความตายและการยุติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเรื่องปกติของสรรพสิ่ง เพียงแต่มีบางครั้งที่ดิฉันอธิบายตัวเองไม่ได้ว่าแล้วทำไมเราจึงต้องรู้สึกเจ็บปวดเมื่อนึกถึงเรื่องราวบางเรื่องที่ได้ผ่านเสร็จสิ้นไปแล้ว สิ่งนั้นมิได้ทำร้ายเราสักหน่อย มันผ่านไปแล้วและ ณ เวลานี้ ก็ไม่ได้อยู่กับเราอีกแล้ว ไม่มีผลกระทบกับเราอีกแล้ว ที่ดิฉันนึกถามนี้ก็มิได้ต้องการคำตอบจริงจังแต่อย่างใด 

เพราะเหตุที่ดิฉันรู้สึกว่าความรักคือความดี ความงดงามและเป็นสิ่งบริสุทธิ์ ดิฉันจึงสามารถรักลูกคนอื่น(ลูกศิษย์)ได้ราวกับเป็นลูกของตัวเองจริงๆ เพียงเพราะในดวงจิตของดิฉันปรารถนาเหลือเกินที่จะมีลูก ดิฉันยังแปลกใจตัวเองเหมือนกันว่าดิฉันทำเช่นนั้นได้อย่างไร แต่ดิฉันก็มีความสุขที่จะได้ทำ ดิฉันจึงพยายามไม่ละเลยในการดูแลตัวเองและหันกลับมารักตัวเองให้มากขึ้น และแบ่งปันรักนั้นสู่คนรอบข้างของดิฉัน เมื่อดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ให้ ดิฉันจึงไม่รู้สึกว่าตัวเองสูญเสีย เพราะดิฉันมีมากพอที่จะให้

หมายเลขบันทึก: 578362เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2014 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2014 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เหตุการณ์ผ่านไปกว่าสิบปี เมื่อเรามีโอกาสมองย้อนกลับไปแล้วถอดเป็นบันทึก ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งตัวอาจารย์เองและผู้เข้ามาอ่านนะครับ ผมขออนุญาตสรุปตามประเด็นเรื่อง "แลดูผู้ดูแล" เกี่ยวกับการดูแลตนเองของผู้ดูแล ดังนี้ 

- การได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ครอบครัว ที่ทำงาน
- ให้เวลา ให้ความรักกับตนเอง
- การมีเพื่อนใน คลินิกโรคซึมเศร้า บนอินเตอร์เน็ต
- การใช้หลักธรรมทางศาสนา
- พบจิตแพทย์ รักษาด้วยยา
หากไม่ตรงประเด็นอย่างไร อาจารย์กรุณาแก้ไขด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

"...จึงไม่รู้สึกว่าตัวเองสูญเสีย เพราะ...มีมากพอที่จะให้..."

We Buddhists know of "dukkha, anicca and anatta" but we don't often reflect on them. Many people dwell in dukkha, share out dukkha and keep dukkha 'permanently' in their mind. Many people turn to sukha, share out sukha and keep only sukha in their mind.

Your choice for your life!

ได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมจากอ.สุปราณีว่า 

"จุดแรกที่ต้องเกิดก่อนจุดอื่นๆคือ การตระหนักรู้ตัวเองว่าเรา(ผู้ดูแล) กำลังมีปัญหา-เรากำลังเผชิญปัญหา เราต้องยอมรับจุดนี้ก่อนค่ะ เราต้องทำให้ใจของเราอ่อนน้อมลดการยึดมั่นตัวกูของกูลง ใจกายจึงจะยอมรับการช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่ปิดกั้น ในข้ออื่นๆที่จะตามมา ถ้าสติส่วนนี้ไม่มีมา-จิตก็จะไม่ปล่อยจากทุกข์ที่โหมกระหน่ำเข้ามาในช่วงนั้น"

จึงขอแก้ไขการถอดประสบการณ์ การดูแลตนเองของผู้ดูแล ดังนี้

- การตระหนักรู้ตัวเองว่าเรา(ผู้ดูแล) กำลังมีปัญหา*

- การได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ครอบครัว ที่ทำงาน

- ให้เวลา ให้ความรักกับตนเอง
- การมีเพื่อนใน คลินิกโรคซึมเศร้า บนอินเตอร์เน็ต
- การใช้หลักธรรมทางศาสนา
- พบจิตแพทย์ รักษาด้วยยา

* สำคัญท่ีสุดและต้องมาก่อนวิธีการอื่น

ขอบคุณครับสำหรับการแชร์ข้อคิดที่ดีนี้...

ไม่ละเลยในการดูแลตัวเองและหันกลับมารักตัวเองให้มากขึ้น และแบ่งปันรักนั้นสู่คนรอบข้างของดิฉัน เมื่อดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ให้ ดิฉันจึงไม่รู้สึกว่าตัวเองสูญเสีย เพราะดิฉันมีมากพอที่จะให้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท