สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย


อันที่จริงแล้วระบบอุปถัมภ์มีคุณค่าด้านบวกอยู่ในตัวเอง

          เนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไปนี้  เป็นบทสะท้อนอย่างสังเขปต่อความเข้าใจ และการปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย  ที่ต้องนำเอาเรื่องวัฒนธรรมและค่านิยมมาพิจารณาร่วมกัน               

        à สิทธิมนุษยชนกับวัฒนธรรม         

    สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ต้องพึงพิจารณาควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจบริบทของสังคมไทย  โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรม  ธรรมเนียมปฏิบัติและค่านิยมทางสังคม  ซึ่งในด้านหนึ่งจะเห็นว่าสิทธิมนุษยชนได้หนุนเสริมต่อการปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชน  ในอีกด้านหนึ่งก็พบความขัดแย้งของทั้ง 2  มิติ  ทั้งนี้สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมหรือประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาในบางเรื่องของสังคมไทย  อาจไม่ใช่วิถีการปฏิบัติตามปรัชญาสิทธิมนุษยชน  จึงอาจถูกมองว่านั่นเป็นการละเมิดสิทธิ  แต่ทว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยและครรลองการปฏิบัติเช่นนี้ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมดำเนินมาอย่างราบรื่นจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งในที่นี้จะนำเสนอปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน  เพื่อนำไปสู่การคิดพิจารณา  หาแนวทางที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชนที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อความผาสุกของสังคม               

       1. ระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนเพื่อพี่น้องและผองเพื่อน   หรือเพื่ออำนาจบารมี                ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน          อันที่จริงแล้วระบบอุปถัมภ์มีคุณค่าด้านบวกอยู่ในตัวเอง  ทั้งนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในสังคมที่มีความใกล้ชิด  มีความสนิทสนมและผูกพันต่อกัน  นอกจากนี้ยังอธิบายได้ถึงการช่วยเหลือเจือจุนของผู้ที่มีมากกว่าต่อผู้ที่มีน้อยกว่า  ทั้งในเรื่องทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม  นอกจากนี้ระบบอุปถัมภ์ยังนำไปสู่การแสดงความกตัญญูรู้คุณจากผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือที่มีต่อผู้มีพระคุณ                อย่างไรก็ตามระบบอุปถัมภ์อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในภาวะของสังคมปัจจุบัน   โดยการบิดเบือนคุณค่าของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ไปเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน  เป็นการสร้างฐานอำนาจและบารมีของผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่า  และชักนำไปสู่การตักตวงผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มพวกพ้องอย่างขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม   ดังที่ปรากฏให้เห็นทั้งในระดับกลุ่มย่อย และสังคมใหญ่ในปัจจุบัน              

        2. ระบบอาวุโส :ความสัมพันธ์เพื่อสร้างสรรค์   หรืออุปสรรคต่อการพัฒนาบุคคล                มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป  ย่อมนำพาให้บุคคลนั้นเจริญวัยขึ้นไปตามช่วงวัยของชีวิต  ซึ่งหากเปรียบเทียบในความแตกต่างระหว่างวัยแล้ว  ก็จะแบ่งออกเป็นเพียงผู้ที่เยาว์วัยกว่าและผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า  ดังเห็นได้จากธรรมเนียมปฏิบัติของผู้น้อยต่อผู้ใหญ่  เช่น  การไหว้   การยืน  การนั่ง  ในขณะที่สนทนากับผู้ใหญ่  ซึ่งเป็นคุณค่าที่ดีที่พึงสืบทอดต่อไป                ในอีกด้านหนึ่ง  ระบบอาวุโสก็มีมิติด้านลบอยู่ในตัวเอง  ถ้าหากถูกบิดเบือนคุณค่าของการให้ความเคารพนับถือของบุคคลไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคล  เช่น  บุคคลใช้อายุที่มากกว่าของตนไปทำให้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า  ได้รับความอึดอัดใจหรือได้รับความกดดัน  ซึ่งบ่อยครั้งปรากฏการณ์ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นในสถาบันต่างๆที่มีความมั่นคงทางโครงสร้างและใช้ระบบมาเป็นตัวกำหนดควบคุม  เช่น  สถาบันโรงเรียน    สถาบันราชการ  สถาบันศาสนา   สถาบันครอบครัว   เป็นต้น  ยกตัวอย่างเช่น  ในสังคมโรงเรียน  ซึ่งเป็นสถานที่หล่อหลอมทางสังคมตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น  เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าในบรรยากาศของโรงเรียน  ความสัมพันธ์ระหว่างอาวุโสกับอำนาจที่ใช้เพื่อการปกครองเป็นเรื่องที่แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้เลยทีเดียว   การปฏิบัติโดยมีอำนาจที่แฝงเร้นจากฐานะที่อาวุโสกว่า  เพื่อเป้าหมายของการจัดระเบียบสังคมในระดับย่อย    อย่างไรก็ดีการใช้ความอาวุโสระหว่างผู้บริหารกับลูกน้อง เช่นนี้ได้รับการทบทวนในประเด็นของการกระทำที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์หรือไม่  เช่น  เรื่องของชั่วโมงการทำงานของครู   บทบาทหลักในฐานะครูที่ถูกบิดเบือนด้วยภาระหน้าที่เสริมอื่นๆจากโรงเรียน  ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นครูที่มีปรัชญาที่สำคัญคือการสร้างคนให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม      นอกจากนี้การใช้ความอาวุโสของครูที่ปฏิบัติต่อเด็ก   ครูจำนวนไม่น้อยที่ใช้สถานภาพและอำนาจที่แฝงเร้นในความเป็นผู้ใหญ่ของตนไปในทางที่ควบคุมมากกว่าที่จะเอื้อให้เกิดการแสดงออกซึ่งความมั่นใจ  ความกล้า  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก   บ่อยครั้งครูจะกลายเป็นผู้พิพากษาที่ตัดสินเรื่องผิดหรือถูก  ทั้งๆที่ในสายตาของเด็กไม่ใช่เรื่องผิดถูก  แต่เป็นการลองทำและการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ของชีวิต    หลายๆครั้งที่ครูได้ใช้อคติของตนในการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก  และที่พบเห็นบ่อยคือ  การที่ครูใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก  เพื่อสร้างความรู้สึกละอาย  สูญเสียความมั่นใจของเด็ก   หรือเป็นที่รังเกียจจากเพื่อนร่วมชั้น   ซึ่งในประเด็นนี้  วัฒนธรรมที่ดีงามในเรื่องของความอาวุโส   กลายเป็นเรื่อที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรง    ซึ่งเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่มักจะถูกกระทำ  โดยที่เด็กเองยังไม่ทราบถึงความเท่าเทียมกันในเรื่องของศักดิ์ศรี   อันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด   อันทำให้เด็กมีความเท่าเทียมกับผู้ใหญ่  และต้องไม่ถูกกระทำ   ถูกเลือกปฏิบัติ  หรือถูกละเมิดจากสภาพที่เขาเป็นเด็กอยู่ 

 -----------------------

หมายเลขบันทึก: 57710เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท