นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล 'สุรยุทธ์ 1/1'


นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล 'สุรยุทธ์

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีแถลง นโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเปิดประชุมครั้งแรก  ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 โดยเนื้อหาหลักของนโยบายรัฐบาล "สุรยุทธ์1/1" มุ่งแก้วิกฤตการเมือง และสร้างความสามัคคีของคนในชาติ สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ ประกาศรายละเอียดไว้ดังนี้ "รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้กรอบความยั่งยืนและความพอดี ดังนี้

1. ภาคเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย          

-  จะสนับสนุนให้การพัฒนาการเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่เป็นทางเลือกสำคัญสำหรับเกษตรกรรายย่อย ในขณะที่ขยายโอกาสการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และยกระดับคุณภาพของผลผลิต โดยอาศัยเทคโนโลยี การจัดการและการเชื่อมโยงกับระบบตลาด                

 -  สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ตามศักยภาพทางการตลาดในระดับต่าง ๆ โดยจัดระบบการบริหารจัดการโครงการในรูปแบบของการบูรณาการ เพื่อเสริมสร้างเทคโนโลยีและการจัดการ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านการตลาด                

-  เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคแรงงาน ภาคเอกชน และภาครัฐ ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาคุณภาพและฝีมือของแรงงานในระดับต่าง ๆ เพื่อให้สามารถมีผลผลิตและรายได้สูงขึ้น ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ตลอดจนส่งเสริมให้แรงงานทุกกลุ่มมีงานทำ มีอาชีพเสริม ได้รับการคุ้มครอง และดูแลด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนมีหลักประกันความมั่นคง รวมทั้งสวัสดิการแรงงานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ดูแลผู้ที่ไม่พร้อมหรือยังไม่สามารถจะปรับตัวได้ โดยการจัดสวัสดิการสงเคราะห์ และบริการทางสังคมที่จำเป็นอย่างทั่วถึง ดูแลโอกาสในการเรียนรู้ การศึกษา ตลอดจนการฝึกอาชีพสำหรับคนเหล่านี้และลูกหลาน                  

-  การเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องได้รับการดูแล ไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการนี้ จะปรับปรุงบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานภูมิภาค โดยปรับปรุงระบบความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคมอย่างเหมาะสม เพื่อร่วมกันรับผิดชอบดูแลผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนรักษาและดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

2. ภาคเศรษฐกิจระบบตลาด รัฐบาลจะดำเนินการ ดังนี้    

 -  การพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีการลงทุน ทั้งจากในและนอกประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง และให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยี และการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ อาศัยความเป็นพันธมิตรระหว่างเอกชนและรัฐ ผนึกกำลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการ  ในการสร้างความเข้มแข็ง ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา    

 -  ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศ รวมทั้งสร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าที่มี     ความเป็นธรรม ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค                

 -  พัฒนาประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัยและบริการระดับสากล เน้นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวเชิงรุก ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ    

 -  ส่งเสริมประสิทธิภาพและประหยัดการใช้พลังงาน การพัฒนาและใช้ประโยชน์พลังงานทดแทน การสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงาน ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงเขตพัฒนาร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด กำหนดโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสม และปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันธุรกิจพลังงานในระยะยาว และการศึกษาวิจัยพลังงานทางเลือก   .

  -  ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และวางรากฐานการทำงานอย่างเป็นระบบที่ดี     -  สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรม เพื่อสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการโครงการที่ดี    

 -  และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่การวางแผน จนถึงการดำเนินโครงการ โดยขับเคลื่อนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนแม่บท และมีความพร้อมทุกด้าน เน้นการลงทุนประเภทที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบเครือข่ายการจัดการ ส่งสินค้าและพัสดุ การประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่ง และปัญหามลพิษ รวมทั้งโครงการการลงทุน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดจากอุทกภัย และภัยแล้ง ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ทั้งนี้ จะจัดให้มีการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ชัดเจนขึ้นโดยเร็ว    

 -  โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา โดยที่ราชอาณาจักรไทยได้มีการลงทุนจำนวนมากในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญายังอยู่ในฐานะด้อยกว่าหลายประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจะจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาขึ้น เพื่อเร่งรัดให้มีการสร้างปัญญาในสังคม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน    

-  สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรชีวภาพ เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่ผสมผสานกับหลักการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย    

 -  การดำเนินนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งกรอบทวิภาคี และพหุภาคี ที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมของภาคประชาสังคม   

  -  ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบการค้า ให้มีความทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้า สร้างความเป็นธรรม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน   

  -  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจส่วนรวม รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการวัดความเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ โดยจะจัดทำแผนแม่บทการสร้างเสริมประสิทธิภาพแห่งชาติ เป็นแผนร่วมกับเอกชน สำหรับภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน    

-  มุ่งสนับสนุนการออมในทุกระดับ โดยใช้นโยบายการออมที่เหมาะสม และส่งเสริมจิตสำนึกในการประหยัด เพื่อลดหนี้สินในระดับครัวเรือน และเพื่อการดำรงชีพที่ดีในวัยสูงอายุ   

  -  ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างพอเพียง และมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับจะเสริมสร้างวินัยทางการเงิน การคลัง ภาครัฐ โดยการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลและประหยัด"

                                                                        ฐานเศรษฐกิจ  7 พ.ย. 49   

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 57580เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท