ความหลากหลายและวิวาทะเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ; กรณีศึกษากลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายวังไฮ ตำบลเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่


นางสาวพัชรินทร์ บัวลอย

ชมรมสุขภาพดีเพื่อการพัฒนาสังคม

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาว่าด้วยความหลากหลายของวิธีคิดและวิวาทะเกี่ยวกับการจัดการน้ำอันเป็นผลมาจากแรงกดดันจากบริบทการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการที่รัฐบาลไทยกู้เงินจากธนาครเพื่อการพัฒนาเอเชียภายใต้เงื่อนไขโครงการปรับโครงสร้างภาคเกษตร  ทำให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขหลายประการของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียภาคใต้ โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรนี้รวมอยู่ด้วย ได้แก่ การกำหนดให้รัฐบาลไทยต้องมีระบบการจัดการน้ำที่มีเอกภาพและบูรณาการ โดยการปฏิรูปองค์กรและเครื่องมือทางกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดสิทธิในน้ำ การจัดการ การแจกจ่าย และการอนุญาตใช้น้ำต้นทุน การจัดหาน้ำและการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้น้ำ

 

ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ ผู้ศึกษาได้พัฒนามาเป็นคำถามในการวิจัย คือ ภายใต้บริบทของการเข้ามาของรัฐในการจัดการน้ำ วิธีคิด / การจัดการของชาวบ้านยังคงมีศักยภาพในการนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำได้อย่างไร? โดยมีวัตถุประสงค์ประการแรก เพื่อศึกษาความหลากหลายและศักยภาพของวิธีคิดเรื่องการจัดการน้ำของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและชาวนาผู้ใช้น้ำ จากกรณีศึกษาเหมืองฝายวังไฮ ลุ่มน้ำเชียวดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ประการที่สอง เพื่อศึกษาวาทะ การนำเสนอนิยามความหมาย การช่วงชิงอำนาจ และปฏิบัติการทางอำนาจในการจัดการน้ำของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและชาวนาผู้ใช้น้ำจากกรณีศึกษาเหมืองฝายวังไฮ ลุ่มน้ำเชียวดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ประการสุดท้าย  เพื่อศึกษาทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำเชียงดาว ภายใต้บริบทการของนโยบายการจัดการน้ำ สำหรับประเทศไทยทั้งนี้ ผู้ศึกษาให้ความสำคัญกับกรอบความคิดที่สำคัญ คือ กรอบความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ แนวคิดกระแสโลกาภิวัฒน์และกระแสท้องถิ่นนิยม และแนวความคดิเรื่องกระบวนการสร้างคำอธิบาย ความหมายและความชอบธรรมของกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ผู้ศึกษาค้นพบว่า มีผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ 4 กลุ่มใหญ่ ชาวบ้าน รัฐ องคืกรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ ถึงแม้ว่าวิธีคิดในการจัดการน้ำภาคธุรกิจมิได้ถูกศึกษาในวิทยานิพนธ์ที่นี้  แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากวิธีคิดในการจัดการน้ำของภาครัฐ วึ่งซ้อนอยู่ในเรื่องของวิธีคิดเรื่องระบบกรรมสิทธิ์ที่วิธีคิดในการรวมศูนย์การจัดการน้ำของภาครัฐนั้นจะกำหนดสิทธิไว้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ สิทธิรัฐและเอกชน จนละเลยความสำคัญของความคิดในการจัดการน้ำของชาวบ้านที่อิงอยู่กับกรรมสิทธิ์ส่วนรวมและการจัดการองค์กรในการจัดการตามจำนวนเนื้อที่ในการทำนาเป็นหลัก ทำให้วิธีคิดของชาวบ้านคำนึงถึงเรื่องสิทธิหน้าที่มากกกว่าสิทธิของใครคนใดคนหนึ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนนั้น มีวิธีคิดที่จัดอยู่ในแนวนิเวศน์วัฒนธรรมชุมชนและนิเวศวิทยาการเมือง ซึ่งวางแผนอยู่บนรากฐานของการสนับสนุนการจัดการน้ำของชาวบ้านและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่ในการต่อสู้เชิงนโยบายการจัดการน้ำกับภาครัฐทั้งในรูปแบบของการต่อต้าน การเจรจาต่อรองและการร่วมมือของรัฐในลักษณะที่เป็นกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำร่วมกับชาวบ้านที่ใช้สายน้ำเดียวกันตลอดทั้งลำน้ำ สำหรับนักวิชาการนั้นมีวิธีคิดหลากหลายซึ่งผู้ศึกษาจัดเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ นักวิชาการกลุ่มที่มองน้ำเป็นทรัพยากรที่มีลักษณะการใช้แบบอรรถประโยชน์สูงสุด และกลุ่มที่มองน้ำในลักษณะเกื้อกูล สัมพันธ์กับการดำรงชีวิตโดยเฉพาะชาวบ้าน ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า ทางเลือกในการจัดการน้ำนั้นมีหลายแบบ โดยชุมชนลุ่มน้ำเชียงดาวชี้ให้เห็นว่า พวกเขามีวิธีการนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำในลักษณะของการจัดการร่วมระหว่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำ ผลของการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า ความหลากหลายของวิวาทะเรื่องการจัดการน้ำยังนำไปสู่ทางเลือกในการจัดการน้ำที่หลากหลายในบริบทของลุ่มน้ำย่อยที่มีลักษณะของปัญหาและข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกันในแต่ละกลุ่มน้ำย่อยที่เป็นเงื่อนไขเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ การศึกษาการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับข้อแตกต่าง และหันมาพิจารณาแนวทางที่หลากหลาย วัตถุประสงค์ในการใช้น้ำที่หลากหลายและสิทธิในการเข้าถึงที่หลากหลายในทางปฏิบัติ พร้อมๆไปกับการพิจารณาร่างกฏหมายหรือพระราชบัญญัติที่สอดรับกับความหลากหลายที่เป็นเงื่อนไขเฉพาะ ปัญหาภายใต้บริบทการแย่งชิงทรัพยากรที่มีข้อจำกัด แต่มีการใช้ประโยชน์อย่างเอื้อต่อความสมดุลของระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน

 

หมายเลขบันทึก: 57567เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท