ชีวิตที่พอเพียง : 150. ความละเอียด ประณีต


         เมื่อตอนเรียนชั้นมัธยม ๑   ครูเขียนที่สมุดพกของผมว่า    นิสัย : สะเพร่า     พ่อผมก็เขียนเหมือนครูว่า นิสัย : สะเพร่า  

        เมื่อตอนรุ่นหนุ่ม  ผมเขียนคติเตือนใจไว้ที่สมุดจดงาน และหนังสือตำรา ว่า  "ละเอียด อดทน พากเพียร เข้มแข็ง"      ผมบอกตัวเอง ว่าเราต้องฝึกให้เป็นคนละเอียดประณีต    หลายๆ ครั้งผมพบว่าตัวเองสะเพร่า      ทำผิดโดยไม่น่าจะผิด    เพราะไม่รอบคอบ ไม่เห็นจุดสำคัญบางจุด     นี่ว่าถึงเรื่องเรียนนะครับ     เพราะผมไม่มีชีวิตวัยรุ่นเหมือนคนอื่นๆ     ชีวิตวัยรุ่นของผมเป็นเรื่องเรียนล้วนๆ

        ฮะแอ้ม!  มีเรื่องรักแซมบ้างเล็กน้อย เป็นระยะๆ    เป็น puppy love น่ะครับ    แต่จ้างก็ไม่เล่า

        ผมขัดใจตัวเองอยู่เสมอ ในความสะเพร่าของตนเอง    แต่เมื่อไรที่ผมตอบข้อสอบหรือทำการบ้านได้ดี รอบคอบ ผมก็จะให้รางวัลตัวเอง     โดยการไปซื้อทองหยิบ ๒ บาท ให้ตัวเองกิน     ผมชอบกินขนมหวาน    และเมื่อตอนเด็กๆ ไม่มีเงินซื้อกิน การได้รับรางวัลจึงเป็นสิ่งที่ชื่นใจ (ที่จริงชื่นปากและลิ้น)     ที่เล่านี้ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ นะครับ

        การฝึกฝนตนเองอยู่เสมอแบบนี้ คนสะเพร่าอย่างผมกลายเป็นคนละเอียดโดยไม่รู้ตัว     เพื่อนๆ ที่เรียนหนังสือด้วยกันเวลามีงานที่ต้องใช้ความละเอียด ประณีต เขาจะยกให้ผม หรือมาชวนผมทำ      ตอนเรียนแพทย์ปี ๒ ไปช่วยงานวิจัย จี-๖-พีดี ของ อ. หมอประเวศ     ท่านยังบอกว่างานวัดปริมาณเอ็นไซม์ ต้องใช้คนละเอียด วิจารณ์ทำก็แล้วกัน

        ความละเอียดประณีตมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย     อย่างหนึ่งคือนิสัย    แต่นิสัยก็ฝึกได้ อย่างที่ผมได้ฝึกตัวเองตั้งแต่เด็ก    วิธีฝึกที่สำคัญคือทำอะไรต้องตรวจทาน     และต้องมีระบบในการตรวจทาน     ต้องรู้ว่าที่ผิดจะมีแบบไหนบ้าง     ตรงไหนที่มักผิดบ่อยๆ หรือผิดแล้วตรวจพบยาก    เราต้องหมั่นศึกษา

        ผมศึกษาผลงานที่คนยกย่องกันว่าประณีต     และหาทางเอาอย่าง     ตอนเข้ากรุงไปเรียนต่อชั้น ม. ๖ ที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ที่ลาดพร้าว (พ. ศ. ๒๕๐๐) เพื่อนๆ ยกย่องเพื่อนคนหนึ่งชื่อสมพูล ว่าเป็นคนทำงานละเอียด     ผมก็สังเกตจากสมุดการบ้านของเธอ     ตอนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาผมก็ได้ "ครู" ด้านความละเอียดรอบคอบมากมาย     เพราะเพื่อนๆ ทุกคนเป็นคนเก่งอย่างหาตัวจับยาก เนื่องจากห้องที่ผมอยู่เป็นห้องคิง     เพื่อนบางคนท่าทางง่ายๆ ไม่เอาจริงเอาจัง     แต่ผลงานและการเรียนเจ๋งมาก     ผมก็พยายามสังเกตส่วนดีของเขา

        ตอนลงไปอยู่ที่หาดใหญ่ใหม่ๆ     ผมเขียนบทความวิชาการส่งไปตีพิมพ์บ่อยๆ     สมัยนั้นใช้พิมพ์ดีดธรรมดา     มีพิมพ์ดีดไฟฟ้า IBM หัวลูกกอล์ฟ อยู่เครื่องเดียวคนแย่งกันใช้     พนักงานพิมพ์ดีดทุกคนจะได้รับคำแนะนำจากผมว่า     ในการพิมพ์ต้นฉบับงานวิชาการ เรานับความสามารถกันที่การพิมพ์ไม่ผิดเลย     ไม่ได้นับที่ความเร็วในการพิมพ์ว่านาทีละกี่คำอย่างเวลาสอบพิมพ์ดีด     ถ้ามีลายมือตรงไหนอ่านไม่ชัดให้ถาม อย่าเดา     เพราะถ้าเดาผิดก็ต้องแก้ ทำให้ต้นฉบับมีรอยลบแก้ไข ดูไม่ประณีต     ยิ่งถ้าต้องส่งไปต่างประเทศยิ่งต้องไม่มีที่ลบแก้ไขเลย     ผมแนะนำว่าการพิมพ์ศัพท์ตัวเดียวกันผิดเหมือนกันถือเป็นความผิดที่น่าให้อภัย เพราะเป็นการพิมพ์ผิดแบบประณีต     แต่คำเดียวกันพิมพ์ผิดหลายแบบ แสดงว่าคนพิมพ์ขาดความประณีต     แต่ที่ดีที่สุดคือพิมพ์ไม่ผิดเลย     คนที่ทำงานกับผมจะได้รับคำแนะนำวิธีทำงานให้ไม่ผิดพลาด   และผลงานออกมาดูประณีตสวยงาม  จนเป็นที่กล่าวขวัญ ว่าทำงานกับอาจารย์วิจารณ์จะได้ดี     แต่ก็มีบางคนที่ผมยอมแพ้     หรือเขายอมแพ้ผม

       ผมทำวิจัยเรื่อง เอ็นไซม์ ต้องใช้หลอดทดลอง และเครื่องแก้ว ที่ล้างสะอาดเป็นพิเศษ  ต้องแช่กรด แล้วล้างน้ำหลายหน หนสุดท้ายใช้น้ำที่ไม่มีประจุ     น้ำที่ใช้ละลายสารเคมีก็ต้องไม่มีประจุ     ผมต้องสู้รบฝึกสอนเจ้าหน้าที่ล้างเครื่องแก้วเป็นเดือน กว่าจะจัดระบบการทำความสะอาดเครื่องแก้วได้     รวมทั้งผมเองก็ต้องฝึกตัวเอง (และต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย) ให้มีความละเอียดในการทดลอง      การฝึกตัวเองแบบสั่งสมเช่นนี้เป็นคุณอย่างมากแก่คนเรา

        สรุปว่าเรื่องความละเอียด ประณีต เราฝึกตัวเองได้     โดยต้องอดทนฝึกฝนเป็นเวลานาน

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ตค. ๔๙
วันปิยมหาราช

หมายเลขบันทึก: 57553เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2006 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท