บันทึกดูงานประเทศอังกฤษ ดร.สุชิน ลิขิต ดิศกุล อยู่ในทีม


๑๙กันยา ๒๕๔๙ Oxford Brooks University , Microsoft
วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙            คณะเดินทางออกนอกเมืองไปเกือบ ๒ ชั่วโมงเพื่อศึกษาดูงานที่ Oxford Brooks University กับ John Lidgey หัวหน้าหน่วย e-learning และ Richard Francis หัวหน้า Media Workshop            John Lidgey กล่าวว่าในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ มีการริเริ่มโครงการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน พัฒนาศูนย์บริการการเรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตนเอง ต่อมาได้มีการพัฒนา e-strategy ซึ่งเป็นความพยายามมองหาช่องทางในการใช้ e-learning ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาระบบปิด มีนักศึกษาราว ๑.๖ หมื่นคน ใน ๓ วิทยาเขต และ ๘ คณะวิชา แม้ว่าจะใช้คำ Oxford นำหน้าเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย Oxford ก็ตาม แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแห่งนั้นแต่อย่างใด             สิ่งที่ดำเนินการมาแล้วเป็นลำดับได้แก่การปรับปรุงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้ง Media Workshop เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนอาจารย์ที่มีความกระตือรือร้นในการพัฒนา e-learning ในวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ จัด learning technologist ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ควบคู่ไปกับเรื่องการเรียนรู้ เข้าไปทำงานประจำในแต่ละคณะวิชาแห่งละ ๑ คน จัดการพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมความร่วมมือกันของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเอง และองค์กรภายนอก รวมทั้งดำเนินการวิจัยและประเมินผลโครงการ             การสร้าง Media Workshop นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัย เป็น technical infrastructure เพื่อการสนับสนุนบุคลากรให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการสอนทั่วทุกคณะวิชา และพัฒนา web-based learning environment ในลักษณะที่เป็น template-based (ใช้ WebCT) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อบุคลากรในการเข้ามาใช้ และสามารถใช้ได้อย่างยืดหยุ่นตามความต้องการของบุคลากรแต่ละคนและคณะวิชา ให้ความสนใจสอบถามนักศึกษาถึงผลกระทบที่มีต่อการเรียนของพวกเขา พัฒนา template อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากร เน้นที่การออกแบบ e-learning เพื่อสนับสนุนการเรียนในชั้นเรียนปกติ ไม่ใช่จัดเป็นระบบการศึกษาทางไกลขึ้นมาต่างหาก จึงเป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรให้สามารถก้าวหน้าขึ้นไปได้ตามลำดับ ไม่เน้นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ค่อย ๆ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นขั้นตอน รับฟังความเห็นของบุคลากรและนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันยังมี online courses ไม่มากนัก มีเฉพาะบางเรื่อง บางวิชาเท่านั้น เนื่องจากยังเป็น campus-based learning ต่อไปจะมีการขยายระบบการเรียนนอกวิทยาเขตด้วย รวมทั้งรับฟังความเห็นของนักศึกษาและนำมาใช้ในการออกแบบ e-learning เพื่อช่วยให้การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและการเรียนรู้ของนักศึกษาเหมาะสมยิ่งขึ้น            ลักษณะ e-learning ของมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น ๓ ระดับคือ ระดับแรกเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนและการสนับสนุนนักศึกษา ใช้ web site เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิชา เช่น จุดมุ่งหมาย การประเมินผล ตัวอย่างข้อสอบและคำตอบ รายการหนังสือที่จะต้องอ่าน ระยะเวลาในการเรียนแต่ละหัวข้อเรื่อง วิธีการติดต่อกับอาจารย์ เครื่องมือในการวัดผล วิธีการติดต่อไปถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตำราเรียนและเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการสอน ระดับที่ ๒ เป็นการผสมผสานวิธีการที่หลากหลายเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนของนักศึกษา ได้แก่ระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ระหว่างนักศึกษากับนักศึกษา โดยใช้ e-mail หรือ discussion board ช่วยให้นักศึกษาที่อยู่ห่างไกลสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ถามปัญหา และอภิปรายเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่เรียน ระบบการทำงานร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรที่จำเป็นและผลลัพท์ที่ได้ ระบบการประเมินผล เพื่อให้ผลป้อนกลับกับนักศึกษา สนับสนุนการติดตามความก้าวหน้าในการเรียนของแต่ละบุคคล หรือใช้สำหรับการสอบปลายภาค มอบหมายงานและรับผลงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แต่การใช้เพื่อการสอบโดยใช้ข้อสอบแบบปรนัยยังไม่เหมาะสมนักในระบบนี้ อีกระบบหนึ่งคือการให้เนื้อหาการเรียนที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้อย่างสะดวก ดำเนินไปตามขั้นตอนที่เหมาะสมกับความเร็วของแต่ละคน แนะนำแหล่งการค้นคว้าและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนด้วยตนเอง ส่วนระบบสุดท้ายคือจัดระบบการเรียนแบบ online เต็มรูป มีการนำเสนอเนื้อหาวิชา มีระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาและนักศึกษากับนักศึกษา รวมทั้งการติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษาแต่ละคน             แรงผลักดันของการนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานกับการสอนในชั้นเรียน (blended learning approach) นั้นก้าวไปได้ดีพอสมควร เนื่องจากมีส่วนผลักดันจากฝ่ายนักศึกษามากขึ้น คนรุ่นใหม่ต่างคุ้นเคย ชื่นชอบ และมีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีมากกว่า ยิ่งมีอาจารย์ใหม่ ๆ เข้ามาทำงานมากขึ้นก็จะได้การนำ e-learning เข้ามาใช้ด้วยความตั้งใจมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาได้รับประสบการณ์มาจากครั้งเป็นนักศึกษาบ้างแล้ว และได้รับการฝึกอบรมก่อนเข้าทำงานด้วย การต่อต้านการใช้ e-learning จึงค่อย ๆ ลดน้อยลง             นอกจากนั้นแล้วยังใช้วิธีการส่งเสริมให้อาจารย์สร้างสื่อของตนเองได้ โดยความร่วมมือของนักศึกษา ไม่ประสงค์จะให้ Media Workshop สร้างให้กับทุกคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้และต้องใช้เวลามาก เมื่ออาจารย์สามารถทำได้แล้วก็จะปรับแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากความรู้ที่นำมาใช้สอนกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อาจารย์จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วจึงจำเป็นต้องสร้างสื่อด้วยตนเอง เมื่อเริ่มสร้างได้แล้วและใช้ได้ผลก็จะมีกำลังใจให้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพของสื่อได้ต่อไป            มหาวิทยาลัยเน้นคุณค่าของการสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาและนักศึกษาด้วยกันเอง มากกว่าที่จะมุ่งนำเสนอเทคโนโลยีที่เลอเลิศ พยายามส่งเสริมการเรียนโดยการทำกิจกรรมร่วมกัน สำหรับการประเมินเรื่องค่าใช้จ่ายและผลที่ได้รับนั้นนับว่าเป็นเรื่องยากที่จะวัดได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหากมีการเปรียบระหว่างการใช้และไม่ใช้ e-learning ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือเวลาของบุคลากรที่จำเป็นต้องใช้สำหรับเรื่องนี้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ e-learning ในลักษณะผสมผสานกับการสอนตามปกติมากขึ้น             Web site ของมหาวิทยาลัยใช้โปรแกรม WebCT และเพิ่มเติมส่วนอื่น ๆ เข้าไป เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น จัดการความรู้ได้มากขึ้น มีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเรียกว่า E-tivity ซึ่งเป็นตัวอย่างของ active learning online คือเป็นเวทีแสดงกิจกรรมของกลุ่มที่สนใจอ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วนำเสนอไว้ คนอื่น ๆ ที่อ่านเรื่องเดียวกันสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ได้ (virtual reading group) เน้นการบริการเรื่องการประเมินผลการเรียนด้วยตนเอง และที่สำคัญคือมี Media Workshop Wiki ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการทำงานร่วมกันบน web เช่น นักศึกษาอาจตั้งคำถามขึ้นแล้วเปิดให้คนอื่น ๆ เข้ามาช่วยกันหาคำตอบ เป็นการศึกษาตามอัธยาศัยที่ดีมาก นำไปสู่ problem-based learning ได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปผสมเข้ากับ webCT ได้เป็นอย่างดี อีกวิธีหนึ่งคือการใช้ weblogs สำหรับสร้างบันทึกประจำตัว ทำให้สามารถแสดงความคิดต่าง ๆ เป็นประจำวันเพื่อให้คนอื่น ๆ สามารถเข้ามาดู ศึกษา และแลกเปลี่ยนด้วย จึงนับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับงานการศึกษานอกโรงเรียนเป็นพิเศษ ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.brookes.ac.uk/mediaworkshop             นอกจากนั้น John Lidgey ยังได้นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเรียนแบบผสมผสานดังกล่าวในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่ามีการใช้ virtual learning environment ที่หลากหลายมากเพื่อเสริมการสอนในห้องเรียนตามปกติ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบการสอนเป็นอย่างมากเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของนักศึกษา และใช้วิธีคิดแบบองค์รวมในการใช้เทคโนโลยี มีการผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในการส่งเสริมการเรียน นักศึกษาเองก็มีความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เช่น บางคนบอกว่าเรื่องสำคัญสำหรับเขาคือการเรียนรู้ ไม่เลือกวิธีการ จึงไม่ต้องการที่จะใช้คำว่า e-learning ด้วยซ้ำไป             นักศึกษามีความคิดที่ดีมากกว่าเกี่ยวกับเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับวิชาที่เรียน และใช้ข้อมูลในระบบ online เป็นประจำและบ่อยครั้ง เห็นว่า e-learning ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ของตนเอง สามารถเรียนได้อย่างอิสระ ประหยัดเวลา และสะดวกกว่าการเรียนในห้องเรียน ยืดหยุ่น นักศึกษาที่พิการก็สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก แต่ก็ยังมีข้อกังวลเรื่องความไม่สม่ำเสมอของการนำเสนอเนื้อหาในแต่ละหน่วยการเรียน ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมากในการ download และพิมพ์ข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งความไม่สอดคล้องกันของความคาดหวังของอาจารย์และนักศึกษา โดยปกตินักศึกษาต้องการได้คำแนะนำ คำตอบ อย่างรวดเร็ว แต่อาจารย์ไม่อาจให้ได้เนื่องจากมีภารกิจมาก             นักศึกษาที่ร่วมในระบบ e-learning มีความแตกต่างกันในเรื่องการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิธีสอน การจัดการกับสภาพอารมณ์ที่เกิดขึ้น การพัฒนากลยุทธ์ในการจัดการเวลาของตนเอง ตลอดจนความคิดและการจัดการการเรียนรู้ของตนเอง บางคนชื่นชอบการเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนไปสู่การทำงานร่วมกับเพื่อนในระบบ online แต่บางคนก็ต้องการคำตอบที่ถูกต้องจากอาจารย์แทนที่จะไปค้นหาเอาเอง ซึ่งไม่มีความแน่ใจว่าจะถูกต้อง บางคนชื่นชอบ e-learning เนื่องจากสามารถทำกิจกรรมและแลกเปลี่ยนความคิดได้อย่างหลากหลาย แต่ก็เป็นห่วงเรื่องเวลาที่จะใช้สำหรับการทำงานร่วมกันในระบบ online ด้วย             จากการติดตามศึกษาเจาะลึกในมหาวิทยาลัยบางแห่งพบว่าการเรียนระบบ online มีส่วนช่วยให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาวิชาได้ดีขึ้น อัตราการสอบผ่านสูงขึ้น การมีโอกาสได้ทดสอบตนเองซ้ำแม้ว่าจะได้รับผลที่ดีแล้วก็ตามมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เรียนรู้ต่อไปได้มากขึ้น             มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ได้ให้ความสนใจในการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษา ไม่มีระบบการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเห็นของนักศึกษาในระดับทั่วทั้งสถาบันอย่างพอเพียง             ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยนี้คือส่งเสริมการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับวิชาที่เรียนในระบบ online ไว้ ระบุรายละเอียดสิ่งที่นักศึกษาจะความคาดหวังได้จากระบบการเรียนแบบนี้ให้ชัดเจนเสียตั้งแต่แรก สนับสนุนให้นักศึกษาใช้ข้อมูลในระบบ online ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จัดเอกสารสิ่งพิมพ์ที่จำเป็นให้กับนักศึกษาด้วย ใช้ template ที่สอดคล้องกันในทุกชุดการเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาของนักศึกษา             ต่อจากนั้นเดินทางไปพบกับ Chris Yapp หัวหน้าฝ่าย Public Sector Innovation บริษัท Microsoft ที่สำนักงาน British Council เขต Oxford หลังจากที่ใช้เวลาเลือกซื้อของที่ระลึกจากมหาวิทยาลัย Oxford ที่มีชื่อเสียงกันอย่างรวดเร็วแล้ว            แม้ว่าอังกฤษจะมีชื่อเสียงในด้านการพัฒนานวัตกรรมและการออกแบบก็ตาม แต่ช่องว่างระหว่างนักเรียนชั้นยอดกับพวกที่อยู่ปลายแถวนับวันก็จะกว้างมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ปัญหาทางสังและเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลสืบเนื่องก็เพิ่มขึ้นมากมาย Microsoft จึงได้ร่วมมือกับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นให้บริการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับเยาวชนที่มีปัญหาเหล่านี้ และส่งเสริมให้ช่วยสอนคนอื่น ๆ ในชุมชนด้วย บางคนก็สามารถเรียนต่อหรือตั้งต้นทำธุรกิจของตนเองได้ ผู้สูงอายุก็นิยมเรียนกับเยาวชนเหล่านี้มากกว่าจะออกไปเรียนในวิทยาลัย เป็นการศึกษาภาคประชาชนที่อยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกันเองมาก จึงเหมาะสมกับความประสงค์ของกลุ่มผู้เรียน             สังคมอังกฤษมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาอยู่ร่วมกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมที่เปรียบได้ดังโลกจำลองเลยทีเดียว การจัดการสอนสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็ควรจะแตกต่างไปตามพื้นฐานทางภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขา นอกจากนั้นยังได้ร่วมพัฒนารูปแบบการสอนคอมพิวเตอร์สำหรับคนพิการทางสายตา ร่วมพัฒนา Ufi การจัด IT learning Center ในสโมสรฟุตบอล ซึ่งเป็นแหล่งรวมของเยาวชนที่มีปัญหาในการเรียน ทำให้มีแรงจูงใจในการเรียนดีมาก ส่งเสริมการเชื่อมโยงในระบบ online ระหว่างห้องสมุดชุมชน และระหว่างโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องขังด้วย            นอกจากนั้น Microsoft ยังส่งเสริมโครงการ citizen on-line เพื่อเชื่อมโยงครัวเรือนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน สนับสนุนการพัฒนาประเทศอังกฤษไปสู่การเป็น digital nation โดยใช้การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคเป็นตัวกระตุ้นสังคมครั้งใหญ่            การทำงานของ Microsoft เน้นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือชุมชน และมีบทเรียนที่สำคัญคือควรเริ่มต้นแนะนำการใช้คอมพิวเตอร์จากจุดที่ผู้เรียนแต่ละคนสนใจ ไม่ใช่เดินตามแผนการสอนของครูเท่านั้น ให้ความสำคัญของข้อมูลข่าวสารมากกว่าเทคโนโลยี ดึงความสามารถของผู้เรียนมาใช้เป็นฐานในการเรียน ไม่มองว่าเป็นคนต่ำต้อยไร้ค่า และต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายฝ่าย             ผู้บันทึกสอบถามว่าเมื่อ IT เข้ามาสู่สังคมที่มีช่องว่างมากขึ้นดังกล่าวแล้ว จะนำไปสู่ความแตกต่างมากขึ้นหรือไม่ Chris ให้ความเห็นว่าน่าจะเกิดความสมานฉันท์ในสังคมมากกว่า เนื่องจากงานยุคใหม่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ของทุกคน เช่น การออกแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสร้าง animation การทำ post-production งานสร้างภาพยนต์ เป็นต้น มีคนหนุ่มสาวจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไม่น้อยที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก สามารถนำเอาความงามในสิ่งต่าง ๆ ในวัฒนธรรมเดิมของตนเองเข้ามาผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นำไปสู่การสร้างผลงานที่ล้ำค่า เอาชนะคู่แข่งได้ เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง             ผู้บันทึกให้ข้อมูลว่า Microsoft ประเทศไทยก็ให้ความสนใจช่วยเหลือองค์กรภาคประชาชนในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น ต่อไป Microsoft London อาจจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไทยที่อยู่ในอังกฤษ และสนับสนุนให้ประสานความร่วมมือในการช่วยเหลือคนไทยในประเทศไทยก็ได้ ช่วยเชื่อมโยงคนไทยในประเทศไทยกับคนอังกฤษในชุมชนต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดกัน เชื่อมโยงห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยและห้องสมุดชุมชนในประเทศอังกฤษ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน เป็นต้น            ความเห็นของคณะประจำวันนี้คือควรจะได้คิดปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารจัดการการจัดการศึกษาสายสามัญในลักษณะ blended learning approach ดังที่เห็นในกรณีตัวอยางของ Oxford Brookes University หน่วยงานในส่วนกลางจะต้องประสานความร่วมมือกัน ปรับปรุงระบบการให้บริการให้มีครูที่มีความรู้คอยให้บริการช่วยเหลือนักศึกษา พัฒนาเนื้อหาป้อนระบบ online ได้อย่างมีคุณภาพ และดำเนินการวิจัยเพื่อดูผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เรียน แล้วนำมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการซึ่งยังเป็นจุดอ่อนอยู่มาก ส่วนการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นก็ได้เห็นความหลากหลายที่ Microsoft ทำอยู่ในประเทศอังกฤษ รวมทั้งรูปแบบของ UK online แล้ว ในส่วนที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนก็มีอยู่ไม่น้อย จึงน่าจะได้มีโอกาสนำมาแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจาก Chris Yapp ก็สรุปไว้แล้วว่าแม้จะทำมามากแล้วแต่เขาก็ยังต้องเรียนรู้ต่อไป
หมายเลขบันทึก: 57517เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2006 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เรียน อ. คะ ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้นิดหนึ่งคะ...คือว่า..อยากให้อ. ช่วยจัดให้มีย่อหน้านิดหนึ่คะ เพราะเนื้อหาน่าสนใจมาก แต่ว่ามันยาวมาก จนเกิดความล้าของสายตา จัดให้น่าอ่านมากขึ้นจะทำให้ดูเข้าทีมากคะ

ขอบคุณครับคุณจ๊ะจ๋า คราวต่อไปจะพยายามจัดให้มีย่อหน้าด้วยครับ
  • แวะมาทักทายค่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นค่ะ
นายพิทักษ์ พรหมเจริญ
ได้มาร่วมเรียนรู้แล้วครับ
แวะมาทักทายค่ะ  บทความน่าสนใจดี ทำให้มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษในเมืองนี้ก็ดีน่าจะนำมาปรับใช้กับระบบกาศึกษาของประเทศไทยบ้างที่ให้นักศึกษาสามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆได้ ส่วนอาจารย์ก็เปิดกว้างที่จะให้นักศึกษาได้ติดต่อสื่อสารกันได้ทำให้อาจารย์กับนักศึกษาใกล้ชิดกันสามารถสอบถามอะไรก็ได้ ดีจังเลยเพราะว่าในประเทศไทยอาจารย์กับนักศึกษาจะไม่ค่อยเปิดกว้างอย่างนี้

ผมได้ข้อมูลจากที่ อ.ดิศกุล ได้มาเพยแพร่มากเลยครับ
ข้อมูลน่าสนใจเป็นความรู้ดีครับ
เป็นความรู้ดีครับ ขอให้ อ.ดิศกุล มีผลงานดีๆแบบนี้มาให้ความรู้เรื่อยๆนะครับผมจะแวะมาอ่านบ่อยๆ
ตั้งใจไว้ จังหวะโอกาสเหมาะสมจะได้ไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท