เทคนิคในการช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกาย


ถ้าสามารถทำให้ผู้ป่วยคงการออกกำลังกายได้เกิน ๒ สัปดาห์ไปแล้ว ผู้ป่วยมักทำต่อ ถ้ายิ่งเกิน ๔-๕ สัปดาห์ไปแล้ว ยิ่งปล่อยได้

เมื่อคราวที่มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนระหว่างทีม รพ.บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับทีม รพ.เทพธารินทร์ (อ่านที่นี่) ผศ.สมนึก กุลสถิตพร อาจารย์ประจำและรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาเล่าประสบการณ์ในการช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนเมืองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย

อาจารย์สมนึกบอกว่าถ้าผู้ป่วยไม่พร้อมที่จะรับ ให้ความรู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อแรกเจอผู้ป่วยอย่าไปพยายามยัดเยียดความรู้ให้เขา ต้องดูก่อนว่าเขาเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยที่ยังไม่มีความตั้งใจที่จะออกกำลังกาย ขั้นแรกทำอย่างไรก็ได้ที่ให้เขารู้สึกอยากออกกำลังกายก่อน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย อาจยกตัวอย่างผู้ป่วยรายอื่นก็ได้  หลังจากนั้นจึงให้ความรู้

ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ preparation ปัญหาอยู่ที่การตัดสินใจ อาจใช้วิธีการหา buddy ไปเริ่มด้วยกัน เมื่อทำแล้วครั้งแรกๆ ถ้าเขามีคำถามเราต้องตอบเขาให้ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร จะป้องกันได้อย่างไร วิธีการอาจไม่เหมาะ เราต้องสามารถปรับวิธีการได้ ถ้าเขาเห็นผลเขาจะทำไปเรื่อยๆ ระยะ ๑-๒ สัปดาห์แรกๆ สำคัญมาก เพราะยังไม่เห็นประโยชน์ อาจมีโทษด้วยซ้ำไป ถ้าสามารถทำให้ผู้ป่วยคงการออกกำลังกายได้เกิน ๒ สัปดาห์ไปแล้ว ผู้ป่วยมักทำต่อ ถ้ายิ่งเกิน ๔-๕ สัปดาห์ไปแล้ว ยิ่งปล่อยได้

 

 

ส่วนผู้ป่วยที่มีการออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็ไปดูว่าเขาทำแบบไหน ถูกวิธีหรือไม่ ไม่ต้องไปปรับความคิด เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ออกกำลังกายอยู่แล้ว มักจะเสนอตัวมาช่วย เราต้องรู้จักอาศัยแหล่งประโยชน์เหล่านี้

ถ้าจะให้ดีการออกกำลังกายควรทำเป็นกลุ่มจึงจะสนุก ถ้าเป็นคนที่อยู่ใกล้ๆ กันยิ่งดีและให้ผู้ป่วยได้เลือกวิธีการออกกำลังกายที่ชอบ

ต่อคำถามที่ว่าคนที่ทำงานหนักๆ ในนาในไร่จนได้เหงื่อ จะถือเป็นการออกกำลังกายหรือไม่ คำตอบก็คือการออกกำลังกายต้องเป็นกิจกรรมที่มีแบบแผน แต่ physical activity หรือการเคลื่อนไหวร่างกายถ้าหนักพอก็ให้ผลเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย จึงต้องดูรายละเอียดเป็นรายบุคคลว่าทำอะไรบ้าง อาจารย์สมนึกยกตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งที่ทำขนมขาย ต้องกวนขนม เดิมทำแล้วเหนื่อยก็หยุดพัก ก็ปรับให้ออกแรงกวนอย่างต่อเนื่องสัก ๒๐-๓๐ นาที ทุกวัน

อาจารย์สมนึกไม่ลืมฝากข้อคิดไว้ด้วยว่า ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็อยู่ที่ตัวเรา ถ้าตัวเราเองยังไม่ได้ทำ (ออกกำลังกาย) จะไปแนะนำคนอื่นให้ทำก็ลำบาก

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 57505เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2006 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท