โรงเรียนแห่งความสุข : คิดถึงวิทยา ...(เรียนรู้ผ่านภาพยนตร์)


ผมเจตนาหยิบประเด็น “สมุดบันทึกครูแอน” ในภาพยนตร์มาโสเหล่ เพียงเพราะต้องการชวนนักศึกษาหันกลับไปทบทวนถึง “สมุดบันทึก” ที่อาจารย์เคยให้เขียน ซึ่งนักศึกษาแต่ละคนบ่นเบื่อที่จะเขียน จนในที่สุดถึงขั้นเขียนไปงั้นๆ

ช่วงบ่ายของวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมและ ดร.ขจิต ฝอยทอง  ปรับกระบวนการในเวที จากที่คิดว่าต้องจัดกระบวนการมุ่งเน้นเรื่องประเด็นจิตอาสามาเป็นการปรับทัศนคติในเรื่องความเป็นครูอีกรอบ

ความเป็นครูที่ว่านี้ ผมเรียกว่า “ครู ป. ครู บ.”
ครับ, ป- คือ ครูประถม (ครูเป็ด)  ซึ่งหมายถึงครูสอนเด็กประถม และครูที่สอนและทำได้หลายๆ อย่าง เหมือน “เป็ด” ที่บินก็ได้ วิ่งก็ได้ เดินก็ได้ มุดน้ำก็ได้-

ส่วน “ครู บ.” ที่ว่านั้น ก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน นั่นก็คือ ครูที่สอนและทำได้อย่างเบ็ดเตล็ด




ครับ- ทั้งครู ป. และ ครู บ. ผมเรียกเอาขำๆ

กระนั้นในความจริง ผมว่านิยาม “ครู ป.-ครู บ.” ที่ผมว่านั้น มันสอดรับกับวิถีของเหล่าบรรดา “ครูเป็นเลิศ” เป็นที่สุด เพราะในภายภาคหน้า ผมเชื่อเหลือเกินว่านักศึกษาโครงการครูเป็นเลิศ อาจต้องสวมบทบาท “ครู ป. และครู บ.” อย่างเลี่ยงไม่ได้ ไหนอาจต้องระหกระเหินไปสอนในดินแดนไกลโพ้น ลำบาก ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก หรืออาจไปเจอกับระบบและกลไกที่ไม่เอื้อต่อความคิดฝันอันเป็นอุดมคติเหมือนในรั้วมหาวิทยาลัย ส่งผลให้ “อยากทำ แต่ทำไม่ได้... ส่งผลให้อยากทำ แต่ไม่ได้ทำ” ซึ่งในที่สุดย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องหยัดยืน ปรับตัว ทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติอย่างไม่ลดละ

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “ครู ป. ครู บ.” ในนิยามของผม จึงน่าจะตอบโจทย์ในการปรับทัศนคติกันอีกรอบ –





ครับ, วิธีปรับทัศนคติทำกันได้หลายอย่าง หลายรูปแบบ

แต่ในห้วงเวลาอันเป็นวันสุดท้ายของเวทีเช่นนี้ ผมตัดสินใจเปิดภาพยนตร์เรื่อง “คิดถึงวิทยา” ให้กับเหล่าบรรดานักศึกษาครูเป็นเลิศได้ดูร่วมกัน โดยให้แต่ละคนสามารถจัดระบบระเบียบการดูได้ตามอัธยาศัย จะนั่งดู นอนดู ก็สุดแล้วแต่นักศึกษาจะพึงใจ-

โดยส่วนตัว ผมชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ชอบเพราะเนื้อหาสาระ ไม่ใช่ชอบเพราะว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ทะลุหลักร้อยล้าน

ในทางเนื้อหา ผมชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ถึงขั้นบ่นว่าแต่ละปีๆ ในทุกๆ กระทรวงทบวงกรมน่าจะมีงบประมาณสนับสนุนการทำภาพยนตร์ในมิติของตนเองบ้าง  ไม่มากไม่น้อย  มีได้อย่างน้อยปีละเรื่อง (ก็ดี) ไม่ใช่ผลาญงบไปทำเรื่องอื่นๆ แบบไร้รูปไร้รอย  นำกลับมาใช้ในระยะยาวได้อย่างยากลำบาก  รวมถึงใช้เป็นสื่อเผยแพร่ในวงกว้างก็ยากยิ่งเหมือนกัน






เหตุผลหลักๆ ของการเลือกภาพยนตร์เรื่องนี้มาให้นักศึกษาดู ประกอบด้วยความรู้สึกเชิงเหตุผลส่วนตัวหลายอย่าง เช่น จิตวิญญาณความเป็นครูที่ไม่ย่อท้อต่อการสอนหนังสือและสอนชีวิตบนฐานของผู้เรียนและชุมชนอันเป็นที่ตั้ง ความเป็นครูที่ทำได้เบ็ดเตล็ด  ความเป็นครูพันธุ์ใหม่ที่ไม่ติดยึดกับกรอบเดิมๆ  ที่ตกยุคตกสมัย  ความเป็นครูที่ไม่จำนนต่อความยากลำบากหลากมิติ  ความเป็นครูที่ไม่ก้มหัวให้กับระบบและกลไกที่ไม่ชอบธรรม (ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตา) หรือความเป็นครูอื่นๆ อีกจิปาถะที่ผมเชื่อว่า เมื่อนักศึกษาดูแล้ว จะเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเป็นครูในอนาคต รวมถึงทัศนคติที่ดีต่อการที่จะเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยในช่วงที่เหลือ

และนั่นยังหมายรวมถึงการมีทัศนคติที่ดีต่อการ (จะ) มุ่งมั่น ฝ่าฟัน เรียนรู้ และรับมือกับสภาวะต่างๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในฐานะของกลุ่มผู้บุกเบิก (รุ่นแรก)  ในนามโครงการ “ครูเป็นเลิศ”  ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่กำลังขับเคลื่อนอย่างเอาจริงเอาจัง  โดยเฉพาะการสร้างโจทย์การเรียนรู้บนความยากลำบากมากกว่าการสร้างโจทย์การเรียนรู้บนความสุขสำราญ –






ครับ, ในขณะที่นักศึกษาดูภาพยนตร์ ผมก็ทำหน้าที่หลายหลายไปพร้อมๆ กัน ทั้งดูหนัง ดูนักศึกษา (สังเกตพฤติกรรม) จับประเด็น (เพื่อมาโสเหล่ต่อกับนักศึกษา) ถ่ายภาพมาเป็นสื่อประกอบการสรุปบทเรียนจากการดูภาพยนตร์ โดยยึดประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวโยงกับระบบและกลไกของการพัฒนาโครงการ “ครูเป็นเลิศ” เพื่อปรับจูนทัศนคติร่วมกับนักศึกษาอีกครั้งก่อนปิดเวที-ลาจาก

ภายหลังการดูภาพยนตร์เสร็จสิ้นลง ผมให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกันและกัน (ดูหนังดูละคร..ย้อนดูตัวเรา)  

หลักๆ ผมต้องการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด  จึงชวนให้สะท้อนความรู้สึกในมุมใดก็ได้ที่เกี่ยวกับการได้ดูภาพยนตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เสียงที่สื่อสารกลับมาก็ล้วนเป็นไปอย่างสร้างสรรค์   บางคนถึงขั้นบอกว่า จากที่เคยหม่นมัว ท้อแท้ หวาดหวั่นกับความเป็นครูในภายภาคหน้า ก็เริ่มมีแรงบันดาลใจและพลังใจในการที่จะมุ่งมั่นเรียนรู้ และไม่หวั่นเกรงกับความยากลำบากหากต้องออกไปสอนหนังสือในถิ่นอันไกลโพ้นจากเมืองใหญ่ –





ครับ, สำหรับผมแล้ว ผมชวน “ครูเป็นเลิศ”  คุยถึงหลายเรื่องในภาพยนตร์ เป็นต้นว่า การคุยถึงเรื่อง “สมุดบันทึก” ของตัวละครเอก (ครูแอน) ที่บันทึกไว้อย่างดีเยี่ยม  และสมุดบันทึกที่ว่านั้นก็เป็นเสมือน “บันทึกการเรียนการสอน” ในอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ อาจดูเหมือนเป็นบันทึกการสอนที่นอกรีตอยู่บ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมุดบันทึกเล่มนั้น เป็นบันทึกแห่งชีวิตโดยแท้ – เป็นบันทึกที่ช่วยให้ “ครูสอง” สามารถปรับประยุกต์การเรียนรู้ตัวเองและเด็กๆ ไปพร้อมๆ กันได้อย่างมหัศจรรย์

ผมเจตนาหยิบประเด็น “สมุดบันทึกครูแอน” ในภาพยนตร์มาโสเหล่ เพียงเพราะต้องการชวนนักศึกษาหันกลับไปทบทวนถึง “สมุดบันทึก” ที่อาจารย์เคยให้เขียน  ซึ่งนักศึกษาแต่ละคนบ่นเบื่อที่จะเขียน จนในที่สุดถึงขั้นเขียนไปงั้นๆ





แน่นอนครับ, ผมเจตนาสื่อให้เห็นความสำคัญของการเขียนเพื่อบันทึกประสบการณ์ชีวิต ชำระชีวิต เยียวยาชีวิต หรือเขียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคม (รอบข้าง) ของเขาเอง โดยหมายใจว่าแต่ละคนจะเห็นกลับไปให้ความสำคัญกับการเขียนบันทึกเช่นนั้นอีกครั้ง รวมถึงเห็นความสำคัญของการหันกลับไปทบทวนเรื่องราวที่เคยบันทึกไว้ว่ามี “ทุนชีวิต” ใดถูกจารึกไว้บ้าง –มีทุนใดสามารถนำกลับมาใช้ได้ในวันนี้ หรือกระทั่งในภายภาคหน้าเมื่อข้ามพ้นไปสู่ความเป็นครู ป.-ครู บ. (ตัวจริง เสียงจริง)

และที่สำคัญ คือการถามทักกลับไปยังอาจารย์ฯ ว่า ได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ “สมุดบันทึก” เหล่านั้นบ้างหรือยังว่ามีปรากฏการณ์ใดที่น่าสนใจ และท้าทายต่อการนำกลับมาเป็นโจทย์แห่งการพัฒนาเหล่าบรรดาครูเป็นเลิศ ทั้งในมิติส่วนตัว และกลุ่ม –

เช่นกันครับ ผมไม่ได้ทุ่มเวลาทั้งหมดไปโสเหล่ประเด็น “สมุดบันทึก” เพียงประเด็นเดียวหรอกนะครับ หากแต่ยึดโยงอีกหลายประเด็น แต่เน้นเชื่อมร้อยกลับมายังสถานการณ์ หรือโจทย์ที่นักศึกษากำลังจะต้องลงมือเรียนรู้ในไม่กี่วัน เช่น การทำโครงงานต่างๆ ที่ดูเหมือนใครแต่ละคนออกอาการถอดใจ (ไม่อยากทำ) โดยผมพยายามเชื่อมกลับไปยังภาพยนตร์ว่าโครงงานที่กำลังจะทำนั้น สำคัญอย่างไร และจะเป็นทุนอันยิ่งใหญ่ในการนำไปใช้ในอนาคตอย่างไร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในภาพยนตร์ดังกล่าว ก็มีเรื่องราวเช่นนั้นอย่างชัดแจ้ง

นอกจากนั้นยังเชื่อมไปสู่ประเด็นการสร้างสื่อ หรือการเรียนรู้โดยใช้ “บริบทชุมชน” เป็นฐานคิด ไม่ใช่รอคอยพึ่งพาวัตถุดิบ ทรัพยากรจากส่วนกลางเสียทั้งหมด  หรือกระทั่งงอมือเท้ารอให้ส่วนกลางมาหนุนเสริม หลงลืมที่จะหยิบจับเอาสิ่งรอบตัวใกล้ๆ มาเป็นโจทย์ของการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน  เหมือนยิ่งสอนหนังสือ ยิ่งสอนให้ผู้เรียนห่างหายไปจาก “รากเหง้า” ของเขาเอง





เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงกลับมายังระบบการเรียนรู้-กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่าง “ครูกับผู้เรียน” หรือระหว่าง “ครูกับผู้เรียนและชุมชน”   ซึ่งต้องผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน    หาใช่สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบแยกส่วน  จนผู้เรียนขาดทักษะความคิดเชิงระบบ  และความคิดเชิงบูรณาการไปโดยปริยาย

แน่นอนครับ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทั้งผมและ ดร.ขจิต ฝอยทอง  ได้ร่วมโสเหล่กับนักศึกษาผ่านภาพยนตร์เรื่อง “คิดถึงวิทยา” ...

เหนือสิ่งอื่นใด   ผมยืนยันว่า ไม่ใช่ขี้เกียจจัดกระบวนการ เลยต้อง “เปิดหนัง” ให้นักศึกษาดูหรอกนะครับ
แต่ยืนยันว่า ทั้งผม ดร.ขจิต ฝอยทอง  “คิดก่อนทำ” และเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ ถึงแม้นักศึกษา “ครูเป็นเลิศ” จะดูมาแล้วก็เถอะ แต่การดูซ้ำในบริบทบรรยากาศเช่นนี้ มันย่อมไม่เหมือนดูในโรงภาพยนตร์อย่างแน่นอน

อย่างน้อยก็ได้ดูกับเพื่อนร่วมรุ่น (ครูเป็นเลิศ) ด้วยกัน
อย่างน้อยก็ได้ดูแบบ “เอาความ” (เอาเรื่อง) ... มากกว่าการดูแบบเอามันส์ !   ซึ่งสอดคล้องกับวาทกรรม ดูหนังดูละคร ย้อนดูตัวเอง...




๘  สิงหาคม ๒๕๕๗
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 574931เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2014 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2014 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ทำให้ผมต้องไปหาซื้อภาพยนตร์ "คิดถึงวิทยา" มานั่งชมตามหลัง

ซึ่งผมก็ชอบมากเช่นกันครับ ;)...

ป.ล. การเขียนบันทึกมีคุณค่าเสมอ

ครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ผมไม่เคยสูญเสียศรัทธาต่อระบบ สุ จิ ปุ ลิ
โดยเแพาะการเขียน
ผมถือว่า เป็นการประเมินทักษะแห่ง สุ จิ ปุ...ได้เป็นอย่างดี ..

ขอบคุณครับ

ชอบจังค่ะ   ทุกพื้นที่ชุมชน   =   ห้องเรียน

ไม่ว่าน้องว่าที่ครูจะออกไปสอนที่ไหน   ให้แนวคิดเรียน "รากเหง้า"  ติดตัวไป  จะได้ไม่ลืมตน  สอนคนรุ่นต่อไป

ขอบคุณค่ะ   แหม !!!!  ต้องหามาดูบ้างนะเนี่ย   แม้ไม่ใช่ครู  อิ อิ

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิรัมภา

สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามดึงเนื้อหาจากภาพยนตร์มาพูดคุยกับนักศึกษาในเวทีก็คือการย้ำเน้นให้เห็นแนวทางการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของครูกับผู้เรียน และยึดโยงไปสู่กระบวนการเรียนรู้ชุมชนอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน  รวมถึงการชี้ให้เห็นว่าไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้

หนังเรื่องนี้ ดีมากๆ ครับ  ตอนฉายในโรงฯ ผมก็ไม่มีโอกาสได้ดู  ...
มาดูอีกทีก็ตอนที่เป็นแผ่นมาวางขายแล้วนั่นเอง

ยังอยากเห็นทุกกระทรวงให้การสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของกระทรวงนั้นๆ นะครับ....

บางทีมันอาจเป็นทางออกที่ดีในอีกมิติ เหมือนละครเกาหลีที่เฟื่องฟูในไทยนั่นแหละครับ  พลอยให้คนไปทยคลั่งวัฒนธรรมเกาหลีไปโดยบปริยาย

ได้เรียนรู้จากหนังเรื่องนี้มาก

ไม่ผิดหวังเลย

ขอบคุณมากๆที่ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอ

มีความสุขกับการทำงานนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท