Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาน้องนิค : คนไร้รัฐหรือคนไร้สัญชาติ ? คนมีสัญชาติหรือคนไร้สัญชาติ ? เขาจะเป็นคนสองทะเบียนราษฎรได้จริงหรือ ?


กรณีศึกษา “น้องนิค” นายนิวัฒน์ จันทร์คำ

: ความเป็น“คนไร้รัฐ” หรือ “บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร”

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗

ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152642480938834

-------------

ข้อเท็จจริง

-------------

กรณีศึกษา “น้องนิค” นายนิวัฒน์ จันทร์คำ เป็นกรณีศึกษาที่มูลนิธิกระจกเงา เสนอให้มีการศึกษาเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ – พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙”

โดยการสอบปากคำเบื้องต้น น้องนิคทราบจากป้าจันทร์ซึ่งเลี้ยงเขามาว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๘ โดยไม่ทราบสถานที่เกิดที่ชัดเจน ทราบเพียงว่า เกิดในประเทศเมียนมาร์ เขาอาศัยอยู่กับป้าจันทร์มาตลอด เพราะบิดาและมารดาแยกทางกัน และฝากน้องนิคให้อยู่ในความดูแลของป้ามาตั้งแต่เขาจำความได้

เขาไม่เคยมีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เมื่อเขามีอายุ ๑๕ ปี เขาเคยไปร้องขอทำบัตรประชาชนกับอำเภอ แต่ด้วยเขาไม่มีเอกสารใดๆ ของรัฐเพื่อรับรองการเกิดของเขา เจ้าหน้าที่อำเภอจึงปฏิเสธที่จะทำบัตรประชาชนให้แก่เขา

ในส่วนที่เกี่ยวกับบุพการีของน้องนิคนั้น น้องนิคเล่าว่า บิดาของเขามีชื่อว่า นายหนุ่ม เป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อ ส่วนมารดานั้น มีชื่อว่า นางจริง จันทร์คำ เป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อเช่นกัน ในขณะที่น้องนิคเกิด บิดาและมารดายังไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก แต่ต่อมา มารดาได้ไปร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และเจ้าหน้าที่ของงานทะเบียนราษฎรเมียนมาร์ก็ยอมรับว่า เธอมีสัญชาติเมียนมาร์ จึงยอมรับบันทึกชื่อของนางจริงในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และออกบัตรประชาชนตามกฎหมายเมียนมาร์ให้นางจริงถือเพื่อแสดงความเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ ในปัจจุบัน นางจริง ซึ่งเป็นมารดาของน้องนิคก็ยังอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์

น้องนิคเล่าว่า เขาน่าจะเกิดในประเทศเมียนมาร์ และเดินทางตามบิดาและมารดาเข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อมีอายุประมาณ ๓ - ๔ ปี ในเวลานั้น ทั้งบิดาและมารดา ตลอดจนตัวน้องนิคไม่น่าจะมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐใดเลย มารดาพาน้องนิคมาฝากเลี้ยงไว้กับพี่สาวคนหนึ่ง ซึ่งน้องนิกเรียกว่า “ป้าจันทร์” ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรัง

เมื่อบิดาและมารดาแยกทางกัน เขาและน้องสาวจึงอาศัยอยู่กับป้าจันทร์ ณ จังหวัดตรัง

ในช่วงที่น้องนิคเรียนหนังสือที่โรงเรียนสิเกาประชาผดุงวิทย์ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เขาเคยกรอกข้อมูลในแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ ๘๙) เพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร ซึ่งสำรวจโดยโรงเรียน และข้อมูลที่กรอกถูกส่งไปที่ว่าการอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง แต่อำเภอสิเกาก็ไม่ได้บันทึกชื่อของน้องนิคในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในที่สุด

ใน พ.ศ.๒๕๕๕ น้องนิคจึงตัดสินใจย้ายมาอาศัยพี่สาวอีกคนของมารดาที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งน้องนิคเรียกว่า “ป้าเอื้อยคำ” ด้วยความหวังที่จะได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

ที่เชียงราย น้องนิคสมัครเรียนที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย น้องนิคเคยติดต่อคุณครูประจำการเรื่องการสำรวจและบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร พร้อมกับทำบัตรประจำตัว แต่คุณครูแจ้งว่าบัตรประจำตัวลักษณะนี้เปิดทำเป็นช่วงเวลาเท่านั้น

หลังจากการสอบปากคำของน้องนิค ตลอดจนป้าเอื้อยคำ คณะนักวิจัยฯ ได้แนะนำให้น้องนิคพยายามติดต่อนางจริง ผู้เป็นมารดา และเพื่อที่น้องนิคจะมีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง คณะนักวิจัยจึงแนะนำให้น้องนิคหารือกับนางจริง มารดา เพื่อดำเนินการ ๓ ลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) พาน้องนิคไปพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์กับทางราชการเมียนมาร์ อันจะทำให้น้องนิคได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และได้รับบัตรประชาชนที่แสดงความเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์

(๒) พาน้องนิคไปทำหนังสือเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์

และ (๓) พาน้องนิคไปร้องขอวีซานักเรียนจากสถานกงสุลไทยประจำเมียนมาร์เพื่อเดินทางกลับมาเรียนหนังสือต่อไปในประเทศไทย ดังที่น้องนิคตั้งความหวัง

ต่อมา น้องนิคแจ้งให้คณะนักวิจัยฯ ทราบว่า เขาหาตัวนางจริงมารดาจนเจอแล้ว และเขาก็ได้พยายามที่จะติดต่อทางราชการเมียนมาร์เพื่อดำเนินการตามคำแนะนำของคณะนักวิจัยฯ อันทำให้น้องนิคได้การบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์แล้วในราวเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ และได้รับบัตรประชาชนตามกฎหมายเมียนมาร์ และในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ทางราชการเมียนมาร์ก็ได้ออกหนังสือเดินทางเพื่อรับรองสถานะคนสัญชาติเมียนมาร์ให้แก่น้องนิคอีกด้วย

ในปัจจุบัน เขายังอาศัยอยู่ ณ ศูนย์ทางเลือกการเรียนรู้สู่การพัฒนาและป้องกันชีวิตเด็ก “บ้านนานา” มูลนิธิพันธกิจเด็กและชุมชน บ้านป่ายาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และยังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในวันนี้ น้องนิคยังมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐ” หรือ “บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[1]

---------

คำตอบ

---------

ปัญหาความเป็น “คนไร้รัฐ” หรือ “บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” ก็คือ ปัญหาซึ่งมนุษย์หรือบุคคลธรรมดาใดไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รัฐย่อมมีหน้าที่รับรองคนเกิดบนดินแดนของตนหรือคนเกิดจากราษฎรของตนในทะเบียนคนเกิดตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของตน และในทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายนี้อีกด้วย หากคนเกิดนั้นอาศัยอยู่ในดินแดนของตน ดังนั้น หากเกิดสถานการณ์ที่มนุษย์คนใดตกหล่นจากทะเบียนคนเกิดและทะเบียนคนอยู่ดังกล่าวมา มนุษย์คนนั้นก็จะตกเป็น “คนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคลโดยสิ้นเชิง” กล่าวคือ (๑) เขาย่อมประสบปัญหาความไร้รัฐผู้รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และ (๒) เขาย่อมประสบปัญหาความไร้รัฐผู้รับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติอีกด้วย เราจึงมักเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่าเป็น “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ” อันทำให้คนดังกล่าวประสบปัญหาความไร้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองตามมาอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะปัญหาความไร้รัฐผู้รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรทำให้ไร้เอกสารรับรองตัวบุคคล กล่าวคือ ไม่มีทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ อันทำให้ไม่มีบัตรประจำตัวบุคคลที่ออกโดยนายทะเบียนราษฎรของรัฐ และปัญหาความไร้เอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐเจ้าตัวบุคคลก็ทำให้ตกอยู่ในข้อสันนิษฐานตามกฎหมายการเข้าเมืองว่าเป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ในทุกประเทศบนโลก

จะเห็นว่า น้องนิคย่อมสถานะเป็น คนไร้รัฐ” หรือ “บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” ก่อนเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ เพราะไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนคนเกิดและทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เขาเกิด และก็ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของดินแดนที่เขาอาศัยอยู่มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๒

แต่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ น้องนิคได้รับการบันทึกในทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาร์ และได้รับการออกบัตรประชาชนของคนสัญชาติเมียนมาร์ อันทำให้ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของน้องนิคจึงสิ้นสุดลง เขาจึงกลับมีสถานะเป็น “คนมีรัฐมีสัญชาติ” กล่าวคือ เขาย่อมมีสถานะเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ในทะเบียนราษฎรของประเทศเมียนมาร์ ทั้งยังได้รับการออกหนังสือเดินทางในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อแสดงตนเป็นคนสัญชาติเมียนมาร์เพื่อใช้เดินทางไปในรัฐต่างประเทศอื่น ขอให้ตระหนักว่า เอกสารอันหลังนี้ย่อมนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่น้องนิคจะมีโอกาสร้องขอสิทธิเข้าเมืองไทยและอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อการศึกษาของเขาที่ยังค้างอยู่ที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งผลของการได้วีซ่านักเรียน (Student Visa) ครั้งนี้ น้องนิคก็จะมีสถานะเป็นคนที่ชอบด้วยตาม กฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองอีกด้วย

โดยสรุป ในวันนี้ น้องนิคมีสถานะเป็นคนมีรัฐมีสัญชาติแล้ว เขาย่อมมิใช่คนไร้รัฐไร้สัญชาติอีกต่อไป เขามีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐหนึ่งบนโลกแล้ว และเขาได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติของรัฐเมียนมาร์ซึ่งเป็นเจ้าของทะเบียนราษฎรนี้แล้ว และในไม่ช้า เขาก็จะมีสถานะเป็นคนที่ชอบด้วยตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองด้วยวีซ่านักเรียนที่กำลังอยู่ในกระบวนการร้องขอ โดยสิทธิอาศัยในสถานะนักเรียนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย เขาก็จะได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยอีกด้วย เขาย่อมจะกลายเป็นคนสองทะเบียนราษฎรในไม่ช้า

-------------------------------------------------------------------------------


[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคฤดูร้อน

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ มูลนิธิกระจกเงา บ้านแสงใหม่ และคณะนักวิจัยภายใต้โครงการเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชุมหารือกันเพื่อจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของน้องนิค ตลอดจนน้องอาป่า น้องหมี่จู และน้องนาแฮ ณ บ้านใหม่

หมายเลขบันทึก: 574742เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2014 04:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2014 04:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอความกรุณาชี้แนะด้วยครับ มีวิธีใหนที่จะขอสัญชาติไทยได้บ้างครับผมและน้องชายอีกคนเกิดในประเทศไทยครับ ตอนนั้นพ่อและแม่ ทำงานเป็นลูกจ้างรายวันให้กรมป่าไม้(ให้หลวง) คือแบบว่าอยู่ตามเขาตามป่าน่ะครับ งานเกี่ยวกับทำทางหนีไฟป่า และคอยดับไฟป่าครับ และอื่นๆอีกมากมาย ผมเกิดในป่าตามแค้มที่พักคนงาน สมัยนั้นพ่อแม่ไม่ได้ไปเกิดที่โรงพยาบาล ครั้งนั้นพ่อแม่ทำบัตรที่ชาวบ้านเรียกว่าเขียวขอบแดง ที่ขึ้นต้นด้วยเลข6ครับ พ่อแม่ไม่ได้เอาผมและน้องทำด้วยเพราะทางทะเบียนที่มาสำรวจ บอกว่าไม่ต้องเอาเด็กเข้าทำด้วยเลยไม่ได้ทำครับ บัตรพ่อและแม่ของผมทำที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ สมัยนั้นไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรครับเพราะไม่ได้ทำกับพ่อแม่ แต่ณ ตอนนี้ผมและน้องถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ขึ่นต้นด้วยเลข0 มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย 11/07/2551 ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ขอความกรุณาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท