โรงเรียนแห่งความสุข : ทบทวนหมุดหมายชีวิต (ก่อนการออกเดินทางในครั้งใหม่)


ผมพลิกสถานการณ์การเรียนรู้ขึ้นมาเพิ่มเติม จากการเขียน (ภายในโลกเงียบ) ของแต่ละคนไปสู่การ “บอกเล่า” (เล่าเรื่อง) ให้กันฟัง โดยแบ่งเป็น ๘ กลุ่มๆ ละ ๕ คนเป็นหลัก ซึ่งนั่นคือหนึ่งในกระบวนการของการละลายพฤติกรรม –นำพาพวกเขาก้าวออกมาจากโลกส่วนตัว ฝึกการสื่อสาร แบ่งปัน –อยู่ร่วมกัน

ในเวที “ครูดี คนดี พลเมืองดี” ภายใต้โครงการหลักที่ชื่อ โครงการ“ผลิตและพัฒนาครูสู่ความเป็นเลิศ” เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗  ที่ผ่านมา ผมและ ดร.ขจิต ฝอยทอง เปิดเวทีด้วยการชักชวนให้ “นักศึกษา ได้ทบทวน "หมุดหมาย" อันเป็น  “ปณิธาน”  หรือ “จุดมุ่งหมาย”  ของการเข้ามาสู่โครงการดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากผ่านพ้นมาแล้ว ๒ ปีเต็มๆ

การถามทักในประเด็นดังกล่าว  ผมมุ่งเน้นให้แต่ละคนได้หวนกลับไปทบทวนอารมณ์ความรู้สึกในวันแรกที่สมัครเข้ามาสู่โครงการผลิตและพัฒนาครูสู่ความเป็นเลิศ  ซึ่งประกอบด้วยคำถามสำคัญๆ ๓ คำถาม  โดยดร.ขจิต ฝอยทอง เรียกชื่อกิจกรรมนี้ว่า “ตะกร้าสามใบ”   แต่ผมกลับประยุกต์ให้กิจกรรมนี้มีตะกร้าเพิ่มมาอีกหนึ่งใบ-   รวมเป็น ๔ใบ  (เพิ่มไม่เท่าไหร่ แต่ไม่ยอมปริปากเฉลยต่ออาจารย์ขจิตว่าใบที่เพิ่มมานั้น มีไว้เพื่ออะไร)

กรณีคำถามที่อยู่ในตะกร้า ๓ ใบนั้น ประกอบด้วยประเด็นคำถามที่แต่ละคนต้องตอบ ดังนี้

  • ตะกร้าใบที่ ๑ : ปณิธาน หรือความมุ่งหมายในวันแรกของการสมัครมาเข้าร่วมโครงการฯ คืออะไร
  • ตะกร้าใบที่ ๒ : ปณิธาน หรือจุดมุ่งหมายเดิมยังคงอยู่หรือไม่ ถ้ายังคงอยู่-อยู่เพราะอะไร
  • ตะกร้าใบที่ ๓ : ปณิธาน หรือจุดมุ่งหมายเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแปลง-เปลี่ยนแปลงเพราะอะไร



ครับ, คำถามที่ไม่ซับซ้อนนัก แต่เป็นคำถามที่ผมและดร.ขจิต ฝอยทอง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเช้าอันสดชื่นของการจัดกระบวนการการเรียนรู้ในวันนั้น เพราะเราต่างเชื่อร่วมกันว่า ก่อนการเดินทางจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง นักศึกษาเหล่านี้ ควรต้อง “ทบทวนตัวเอง” อีกรอบ -ทบทวนถึงหมุดหมายของวันแรกที่ก้าวเข้ามา เพื่อให้รู้ “สภาวะปัจจุบัน” ว่าคงอยู่ หรือเปลี่ยนไป

ทันทีที่ ดร.ขจิต ฝอยทอง  ให้สัญญาณเสียง “นกหวีด” เพื่อให้นักศึกษาได้ทบทวนตัวเอง และเขียนบอกเล่าผ่านกระดาษที่มีอยู่ในมือของแต่ละคน  ผมก็เริ่มทำการ (เฝ้ามอง)  สังเกตอาการแต่ละคนอย่างเงียบๆ   

  • บางคนละเลงถ้อยคำอย่างไหลลื่น 
  • ขณะบางคนดูยังใคร่ครวญครุ่นคิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป 
  • ขณะบางคนดูเหมือนจะนิ่งงัน ราวกับจดจำมันไม่ได้ 



กระทั่งเวลาผ่านไปซักระยะ  ผมจึงเริ่มประเมินสถานการณ์  พร้อมๆ กับผ่อนคลายบรรยากาศในทำนองว่า “เขียนเท่าที่อยากเขียน-นึกคิดอะไรไม่ออก สามารถข้ามไปยังตะกร้าใบที่ ๔ ได้”   (ตามอำเภอใจ : โดยย้ำว่า  ตะกร้าใบที่ ๔ นั้น สามารถเขียนบอกเล่าเรื่องอะไรก็ได้)    ซึ่งพอผมเปิดเวทีเช่นนั้น   เห็นได้ชัดว่า หลายต่อหลายคน ได้พาความคิดของตัวเองกระโจนไปยังตะกร้าใบที่ ๔ อย่างคึกคัก  ต่างคนดูเหมือนจะร่ำระบายลงไปอย่างต่อเนื่อง  ที่สุดแล้วก็เห็นได้ชัดเช่นกันว่า  ทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ตะกร้าใบอื่นๆ  ได้อย่างไม่ติดขัด   และนั่นคือเหตุผลที่ผมพยากรณ์ล่งหน้าว่าจำเป็นต้องมีตะกร้าใบที่ ๔ …

แน่นอนครับ ผมประยุกต์ พลิกสถานการณ์อย่างเงียบๆ   โดยไม่ได้บอกกล่าวอาจารย์ขจิตล่วงหน้า แต่มั่นใจว่า  ดร.ขจิต ฝอยทอง (มองตารู้ใจ) มิได้กังขาต่อกระบวนการที่ผมหนุนเสริมขึ้นมาแบบเงียบๆ –ไม่มีปี่มีขลุ่ย




และถัดจากนี้ไป คือส่วนหนึ่งของ “ข้อมูล” จากตะกร้าใบที่ ๑

  • อยากเป็นนักศึกษาทุน
  • อยากเป็นคุณครูเหมือนคุณพ่อและคุณแม่ (ครอบครัวเป็นครู)
  • อยากเป็นคุณครู เพราะมีแรงบันดาลใจจากครูต้นแบบในสมัยเรียนชั้นประถมฯ
  • เชื่อและศรัทธาว่าการเป็นครูจะทำให้ชีวิตดีขึ้น
  • คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็นครู
  • อยากเป็นครูที่ดี เพื่อกลับไปรับใช้บ้านเกิด
  • อยากเป็นครูดอย
  • อยากเรียนใกล้บ้าน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว
  • อยากเป็น ผอ.
  • อยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชาติ

</p><p>


ส่วนหนึ่งของ “ข้อมูล” จากตะกร้าใบที่ ๒

               ส่วนใหญ่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ   หากแต่ บางคนจากที่เคยจำเป็นต้องมาเรียนครูตามที่พ่อแม่ต้องการ   เริ่มรู้สึกรักและผูกพันกับอาชีพนี้ขึ้นเรื่อยๆ   รักและผูกพันกับเพื่อนๆ มากขึ้น  เริ่มอยากเรียนต่อในระดับปริญญาโท






ส่วนหนึ่งของ “ข้อมูล” จากตะกร้าใบที่ ๓

             ส่วนใหญ่คล้ายตะกร้าใบที่ ๓ นั่นก็คือ  เกือบร้อยทั้งร้อยยังคงหนักแน่นกับปณิธานและจุดมุ่งหมายเดิมทุกประการ หากแต่ก็มีบ้างที่ใช้พื้นที่ในตะกร้าใบที่ ๓ สะท้อนความรู้สึกต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เช่น การใช้ชีวิตเหมือนนักเรียนประจำ (กินนอน) ทำให้ไม่มีอิสรเสรีเท่าที่ควร    สวัสดิการยังไม่ดีนัก   การเป็น ครู คศ.4 ยากเกินไป ตอนนี้อยากเป็นแค่ครู คศ.3     อดทน อดกลั้นมากขึ้น    เริ่มไม่แน่ใจว่ายังอยากเป็นครูดอย เพราะกลัวปรับตัวไม่ได้



ส่วนหนึ่งของ “ข้อมูล” จากตะกร้าใบที่ ๔


  • ครู ไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็น จิตวิญญาณ
  • ทำหน้าที่ตนเองให้ดีที่สุด เข้าใจผู้อื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
  • สุขและทุกข์ผ่านเข้ามา มีทั้งคงอยู่และหายไป
  • ผมจะไม่เป็นครูหัวโบราณ
  • การได้เจอเพื่อน ๔๑ คน คือของขวัญอันล้ำค่าของชีวิต
  • บางครั้งก็เหนื่อยจนท้อใจ แต่มีเพื่อนคอยให้กำลังใจ จึงฮึดสู้ตลอดเวลา
  • บางครั้งท้อ แต่พอได้ยินเสียงพ่อกับแม่ ก็มีพลังใจ
  • อะไรคงอยู่ควรถนอมไว้ อะไรสูญหายก็ควรศึกษา
  • อยากให้ฝนหยุดตก อยากหายจากการเป็นหวัด อยากได้ยาแก้ไอ
  • อยากเรียนจบไวๆ จะได้ดูแลพ่อกับแม่ และนักเรียนตัวน้อยๆ
  • อยากกลับบ้าน คิดถึงพ่อ-แม่-พี่สาว 
  • ยากให้เพื่อนๆ จบพร้อมกัน และผูกพันกันตลอดไป
  • ขอโทษที่ทำให้เพื่อนเสียน้ำตา
  • ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้นำ แต่ก็ช่วยเพื่อนๆ ทำงานอย่างเต็มความสามารถ
  • ดีใจ (ที่ อ.พนัส) กลับมาสร้างพลัง และเยียวยาความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ ในรุ่น




ครับ, ขอยืนยันว่า ข้อมูลทั้งปวงนั้นเป็นจริงทุกประการ ผมไม่ได้โม้  หรือขีดเขียนมันขึ้นเอง  ทุกอย่างเป็นสิ่งที่นักศึกษา (ครูเป็นเลิศ) ได้สะท้อน  หรือร่ำระบายลงในตะกร้าทั้ง ๔ ใบ…(รวมถึงประเด็นที่พูดพาดพิงถึง “ผม” ด้วย…555)

เช่นเดียวกันนี้ – เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเขียน หรือระบายความรู้สึกลงในตะกร้าทั้ง ๔ ใบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมพลิกสถานการณ์การเรียนรู้ขึ้นมาเพิ่มเติม  จากการเขียน (ภายในโลกเงียบ) ของแต่ละคนไปสู่การ “บอกเล่า” (เล่าเรื่อง) ให้กันฟัง โดยแบ่งเป็น ๘ กลุ่มๆ ละ ๕ คนเป็นหลัก   

ซึ่งนั่นคือหนึ่งในกระบวนการของการละลายพฤติกรรม –นำพาพวกเขาก้าวออกมาจากโลกส่วนตัว ฝึกการสื่อสาร แบ่งปัน –อยู่ร่วมกัน (ขณะหนึ่งการซ่อนทักษะการพูด การฟัง การจับประเด็น การสังเกตพฤติกรรม  ฯลฯ ไปในตัวอย่างเงียบ) 






แน่นอนครับ ผ่านมา ๒ ปีเต็มๆ จังหวะการก้าวเดินบนถนนแห่งการเรียนรู้ที่จะเป็นครูที่ดีในปีที่ ๓ นั้น ยังคงยาวไกลนัก ระฆังแห่งการเริ่มต้นกำลังกังวานขึ้นอีกรอบ  ผมได้แต่หวังใจว่าพวกเขาจะเกาะกลุ่มรักและผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งในกันและกัน -ร่วมใจเรียนรู้และฝ่าข้ามไปสู่ปณิธานฝั่งฝันได้อย่างที่วาดหวังไว้

เช่นเดียวกับการหวังใจว่า การได้ชวนพวกเขาได้ทบทวนตนเองเช่นนี้ จะเป็นการปลุกเร้า เยียวยา และเสริมพลังให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี…

กระบวนการดังกล่าวนี้  ถือเป็นการทบทวน “หมุดหมายชีวิต”  ในอีกมิติหนึ่ง  ทบทวนเพื่อสร้างความตระหนักให้กับตัวเองว่า “มาจากที่ใด-จะไปหนแห่งใด”  และจากวันนั้น ถึงวันนี้  มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างแล้ว -






๖ สิงหาคม ๒๕๕๗
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
(สะลวง-ขี้เหล็ก)  อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่



หมายเลขบันทึก: 574144เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2014 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2014 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เยี่ยมเลยค่ะอาจารย์ จะได้มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ดีเยอะๆ

เดินทางถึงบ้านด้วยความปลอดภัยนะครับ

เขียน ... ทุกอย่างได้ชัดเจน

ทุกอย่างจะเกิดการต่อยอดอย่างแน่นอนครับ ;)...

เป็นการจัด .... กระบวนการการเรียนรู้ ....ที่เป็นกิจกรรมที่ ..มีความสุข  นะคะ ...มีรอบยิ้ม ก่อนจาก นะคะ

เป็นอะไรที่อยากบอกว่า "ยอดเยี่ยม" ค่ะ 

เป็นกำลังใจให้น้องชายคนดี และผู้ร่วมอุดมการณ์ทุกท่าน ได้สำเร็จในทุกๆ ภาระกิจนะคะ

"ครู ไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็น จิตวิญญาณ" บาดใจจังครับ

ชอบใจ

แค่มองตาก็รู้ใจ

เพราะกิจกรรมต่างๆ วิทยากรกระบวนการปรับได้

ชอบใจที่น้องแผ่นดินปรับกระบวนการ

ได้เรียนรู้ไปด้วยเลย

มาแจ้งว่าถึงมหาวิทยาลัยแล้วครับบบ

<p>มีปลาทูเมืองสามอ่าวมาฝากคนทำงานจ้าา</p>

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท