เด็กโมโหจนเสียใจ...จัดการอย่างไร


เมื่อวานผมได้พบน้องเด็กโตที่ค้นหาตัวพยัญชนะได้อย่างฉลาดเฉลียว แต่เมื่อค้นไม่เจอสระอะ ก็โมโหให้คุณแม่หาให้ แต่เนื่องจากชุดพยัญชนะนี้ไม่มีสระอะ เด็กก็ร้องไห้เสียใจแล้วร้องว่า "ใครทำสระอะหาย ใครไม่เก็บให้ดี จะต้องมีสระอะ [ร้องกรีดๆๆๆ ล้มตัวไปกับพื้น แล้ววิ่งหาสระอะ วิ่งหาอุปกรณ์และขอร้องให้แม่ช่วยทำสระอะใหม่" เมื่อคุณแม่และดร.ป๊อปพยายามค่อยๆบอกถามย้ำว่า "จะทำสระอะอย่างไร เขียนใหม่ หรือ ทำป้ายสระอะใหม่" น้องก็ยิ่งวิ่งแล้วพูดว่า "หากรรไกรๆๆ [วิ่งหยิบกรรไกรอย่างรวดเร็วมาตัดป้ายพยัญชนะอื่น แล้วก็กรีดร้อง เมื่อมือที่เล็กจับกรรไกรตัดกระดาษแข็งได้อย่างลำบาก ก็วิ่งไปหยิบแม๊กมาเย็บกระดาษซ้ำๆ เหมือนจะเป็นรูปสระอะ แต่ก็จะรื้อของในชั้นวางกับล้มเก้าอี้อย่างแรง]" จากนั้นคุณแม่ก็พยายามใช้วิธีการกอด ซักถามความรู้สึก และค่อยๆคุยกับน้องจนอารมณ์สงบได้นาน 3 นาที ก็เริ่มวนกลับมาที่ชุดพยัญชนะว่า "จะออกไปซื้อมาใหม่ๆๆ [แล้วก็รีบวิ่งไปข้างนอกห้องทันที]" เมื่อดร.ป๊อปจับแขนไว้ น้องก็บอกว่า "แขนเจ็บ ไม่มีแขนแล้ว [ร้องไห้ๆๆๆ วิ่งไปมา]" 

ดร.ป๊อปลองแยกตัวออกไป กลับมาภายหลัง 1 ชม.ก็พบว่า คุณแม่สามารถเบี่ยงเบนอารมณ์น้องได้ด้วยการใช้กิจกรรมที่น้องชอบมาฝึกได้นานด้วยตนเอง แต่เมื่อพูดคุยเพิ่มเติมก็พบว่า อารมณ์ของน้องน่าจะมีผลจากพันธุกรรมที่คุณตาและคุณแม่ก็มีประสบการณ์โมโหจนเสียใจง่าย น้องฝึกปรับพฤติกรรมและการบูรณาการรับความรู้สึกจากนักกิจกรรมบำบัดมานานจนดีขึ้นคือ แพทย์บ่งชี้ว่า อารมณ์ของน้องที่เป็นลบเหลือเพียง 5% ซึ่งคุณแม่กำลังสงสัยว่า จิตแพทย์ท่านหนึ่งเคยให้ยามาแต่มีผลข้างเคียงกับน้องมากๆ กับจิตแพทย์อีกท่านหนึ่งไม่ให้ยาแต่ให้ทำพฤติกรรมบำบัดอย่างต่อเนื่อง แต่คุณแม่ต้องทำงาน และตอนนี้ก็มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของน้องที่โรงเรียน ซึ่งก็อยากจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียน 

ผมจึงประสานงานให้คุณแม่ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนและให้การบ้านคุณแม่ปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติมทั้งสองท่านนั้น รวมทั้งหาสถานที่ฝึกกีฬาที่ต้องให้น้องออกแรงในระดับใช้ออกซิเจนกับการเคลื่อนไหวจากสมองสองซีกมากขึ้น เช่น การตีเทนนิส เพราะปัจจุบันการว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน การกระโดดแทมโบลีน เมื่อดูระดับการใช้ออกซิเจนอาจไม่มากพอที่จะยับยั้งการทำงานของสมองอารมณ์

วันนี้ผมจึงตั้งใจค้นคว้า "กระบวนการจัดการอารมณ์คร่าวๆ เพื่อออกแบบโปรแกรมกิจกรรมบำบัดเพื่อการพัฒนาเด็กในโรงเรียนการจัดการความสุขต่อไป"

Acknowledge: Rudy LJ. Emotions and autism - Helping children with autism to handle their emotions, 2010. 

  • ค่อยๆ พาเด็กไปอย่างนุ่มนวล ใจเย็น นิ่ง อดทน และเงียบ จากสิ่งแวดล้อม/ห้องที่เกิดเหตุเสียใจทันที แล้วเริ่มใช้เทคนิคการเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการปรับพฤติกรรม
  • ผู้ปกครอง/ครูพูดคุยกับลูกเมื่อลูกร้องไห้ว่า "ลูกเสียใจ แล้วจะผ่านไปเหมือนก้อนเมฆดำกลายเป็นพระอาทิตย์ส่องแสง" แล้วสอนลูกหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ทันที (ฝึกบ่อยครั้งในทุกๆช่วงที่พูดคุยกับลูก ไม่จำเป็นต้องให้ลูกร้องไห้) สอนลูกให้เรียนรู้ว่า "เป็นเรื่องธรรมชาติที่ลูกและแม่/พ่อก็เสียใจเพราะคนที่เรารักจากไป ของที่เรารักหายไป เราเสียใจก็ไม่มีอะไรกลับคืนมาได้ (ซื้อของมาใหม่ สักวันก็หายไปอีกได้) เราต้องรู้จักสงบ ถ้าทำร้ายของอื่นๆ ก็จะต้องมาเสียใจอีก ถ้าทำร้ายคนอื่นๆ ก็ต้องมาเสียใจอีก" 
  • ดร.ป๊อปขอเสริมว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกอารมณ์ดี ก็ค่อยๆสอนวิธีการจัดการอารมณ์ด้วยรูปแบบที่สนุกสนาน เช่น การช่วยกันจัดของเล่นให้หาง่าย จะได้ไม่ทำของเล่นหายอีก การรู้จักอันตรายจากของมีคมจะได้ไม่หยิบอย่างเร็วเกินไปเวลาโมโห การรู้จักคุณค่าของเงินที่ไม่ตัดสินใจไปซื้อของเล่นใหม่ทุกชิ้นที่หาย การฝึกออมเงินจะได้เลือกซื้ออาหารมากกว่าของเล่น ฯลฯ ตลอดจนบันทึกวิดีโอขณะลูกโมโหจนร้องไห้ไว้ โดยเพิกเฉยนานเป็นนาทีเท่าอายุแล้วคอยระวังความปลอดภัย แล้วนำมาสอนแบบสะท้อนให้เด็กเห็นภาษากายที่เด็กจะเรียนรู้จากวิดีโอขณะอารมณ์ดีได้อีกทางหนึ่ง (Feedback for Habituation) 

Acknowledge: Kim J, Wigram T, Gold C. Emotional, motivational and interpersonal responsiveness of children with autism in improvisational music therapy. Autism 2009;13(4):289-409.

  • การจัดกิจกรรมการเล่นเครื่องดนตรี (15 นาทีแรก) และของเล่นที่มีเสียง (15 นาทีหลัง) ด้วยการเคาะ เขย่า สั่น ดีด สี เป่า และตี เช่น กลอง แตร ที่เคาะจังหวะ ลูกบอล รถ หุ่นยนต์ ฯลฯ ผ่านการสาธิตและลงมือทำกิจกรรมเองนานสัปดาห์ละ 30 นาที (วันใดก็ได้ของสัปดาห์แต่ให้ใกล้เคียงกันห่าง 1 สัปดาห์) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ 
  • สังเกตพฤติกรรมและบันทึกความถี่และช่วงเวลาใน 30 นาทีของแต่ละสัปดาห์ว่า เด็กมีความสนุกสนานนานเท่าไร เด็กมีอารมณ์ดีใจหรือเสียใจนานเท่าไร เด็กมีส่วนร่วมเล่นเครื่องดนตรีและของเล่นนานเท่าไร เด็กไม่มีส่วนร่วมนานเท่าไร 

Acknowledge: Shaul J. Fun, therapy and social emotional skills teaching for children with ASD's. Autism teaching strategies, 2013.

  • การจัดกิจกรรมทำป้าย/การ์ดรูปภาพภาษากายของเด็กเองหรือภาพจากที่อื่นๆ ให้เด็กได้เรียนรู้สีหน้า ท่าทาง ดวงตา และภาษากายอื่นๆ ในอารมณ์ที่เป็นบวกและลบ แล้วประยุกต์เป็นการเล่นเกม เช่น จับคู่ใบหน้า-ดวงตาที่ดีใจ จับกลุ่มใบหน้า-ดวงตา-ริมฝีปากที่เสียใจ
  • เมื่อเด็กทำกิจกรรมข้างต้นได้ดี ก็เชื่อมโยงการเรียนรู้ไปสู่กิจกรรมการทำงานศิลปะอื่นๆ เช่น การเขียนการ์ตูน การสร้างรูปภาพในคอมพิวเตอร์โปรแกรมต่างๆ การวาดรูปภาพใบหน้าคน การปั้นดินรูปใบหน้าคน การจัดกลุ่มการเรียนรู้ศิลปะเสมือนจริง ฯลฯ 
หมายเลขบันทึก: 573665เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2014 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2014 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ.ดร.ป้อบ...อิจฉาสังคม.."ลิง"..นะเจ้าคะ...เขาคงไม่มีปัญหา..อย่างคน..(เห็นในหนังวิจัย..ลูกติดอยู่กับอกตั้งแต่เล็ก..โตขึ้น..ก็เล่นกันได้อย่างเสรี..อยู่กับสังคม(ลิง)..มีแม่ดูแลอยู่ห่างๆ..ลิงไม่ต้องเข้า รร. ให้ยุ่งยาก..  สังคมลิงยังดูแข็งแรง..ไม่ต้องใช้จิตบำบัด..)...ลิงคงเริ่มมีปัญหา..ตอนคนไปจับมาฝึกเล่น..ละครลิง..อิอิ...

ขอบพระคุณมากครับคุณยายธี คุณพ.แจ่มจำรัส คุณอร และพี่โอ๋ 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท