​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๔. สิบสิ่งที่จักสูญ มุมมองของนักอนาคตศาสตร์


          นิตยสาร The Futurist ตีพิมพ์เรื่อง Top 10 Disappearing Futuresน่าอ่านมาก จึงนำมาฝาก เพื่อเตือนว่าโลกในอนาคตที่ไม่ไกลนัก จักเปลี่ยนไปจากสภาพปัจจุบันในหลากหลายด้าน คนเราพึงเตรียมตัว เรียนรู้และปรับปรุงตัว ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น โดยเขาใช้ปี ค.ศ. 2030 เป็นปีเป้าหมายของการทำนายอนาคต และใช้วิธีถามความเห็นจากกลุ่มคนจำนวนมาก (crowdsourcing) ที่อาจมีความเห็นแตกต่างกัน

          ผมสะดุ้งโหยง เพราะสิ่งที่เขาทำนายว่าจักสูญไปแน่ๆ คือโรงเรียนกับหมอ แถมด้วย สมาร์ทโฟน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          ผมเดาว่า นักอนาคตศาสตร์เขาเดาปัจจัยเปลี่ยนแปลงหลักๆ เอามาคิดต่อ ว่าจะมีผลในประเด็นใหญ่ๆ อย่างไร ผมมองว่าการทำนายนี้ประโยชน์อยู่ที่วิธีคิด หรือเหตุผล ไม่ใช่อยู่ที่ว่าคำทำนายคืออะไร เพราะคำทำนายอาจไม่แม่นก็ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันซับซ้อนเกินกว่าที่มนุษย์เราจะคาดเดาได้ครบถ้วน คือเราใช้คำทำนายเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อเอามาถือมั่น

          เรื่องแรกคือโลกแห่งความเกลียดชังจักสูญไป เขาใช้คำว่า Intolerance and Misunderstandingให้เหตุผลว่า เพราะในไม่ช้า คนจะพกสมาร์ทโฟนทุกคน และในนั้นจะมีเครื่องแปลภาษา ผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมต่างความเชื่อ จะสื่อสารถึงกันได้หมด

          ผมชอบวิธีนำเสนอของเขา ที่เสนอแบบ สื่อให้เห็นความซับซ้อน และสื่อความเห็นที่ขัดแย้งกันในลักษณะขั้วตรงกันข้าม คือในหัวข้อแรกนี้ ประกอบด้วยบทความสั้นๆ ๕ บทความ เขียนโดยต่างคน ต่างหัวข้อกัน ได้แก่ (1) Disappearance of Endangered Languages, Economic Immigration Barriers, and Mass Religious Intolerance (2) Counterpoint : Why Cultural Understanding May Disappear (3) Vanishing Languages and the Rise of English and Chinese (4) The End of Religion, the Rise of Spirituality (5) Goodbye, Macho Man

          สรุปง่ายๆ ความไม่ยอมรับและเข้าใจผิดต่อกัน อาจสูญหายไป หรืออาจยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะปฏิกิริยาของมนุษย์ ต่อความสะดวกในการสื่อสารถึงกันนั้น อาจไปในทางบวก หรืออาจไปในทางลบ ทางลบคือสภาพ hyperconnectivity อาจ ยิ่งทำให้คนเรา ต้องหาทางปกป้องตนเองจากสื่อสารที่ตนไม่ต้องการ เปิดรับเฉพาะที่ตนต้องการ ความเข้าใจสิ่งที่แตกต่าง หลากหลายจึงยิ่งจำกัด

          อ่านแล้วผมคิดว่า วงการศึกษาต้องเอาใจใส่พฤติกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้น ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมมองเห็นโจทย์วิจัยมากมายจากการอ่านบทความนี้

          เรื่องที่ ๒ คือ Educational Processes โดยมี ๓ หัวข้อย่อย คือ (1) Disappearing Public Education เขาบอกว่า การศึกษาที่จัดโดยรัฐ เป็นของใหม่ สำหรับอารยธรรมมนุษย์ คือเกิดในปลายศตวรรษที่ ๑๙ นี่เอง ในเวลาไม่ถึง ๒๐๐ ปี การศึกษาที่จัดโดยรัฐจะถึงจุดจบ แทนที่ด้วยการศึกษาที่จัดโดยธุรกิจเอกชน ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แบบชั้นเรียนอย่างที่เราคุ้นเคย

          ผมคิดว่าเรื่องที่ ๒ นี้ น่าจะเป็นที่เห็นพ้องกัน ว่าที่เขานำเสนอ ๓ หัวข้อย่อยนั้น น่าจะเกิดขึ้นจริง

          หัวข้อย่อยที่ (2) Education Abandons the Factory Model เป็นกระบวนการในชีวิตผู้คนอย่างหนึ่งที่จะเปลี่ยนไป โดยสิ้นเชิง เป็นการหมดยุค “one size fits all” หรือชั้นเรียนที่นักเรียนทุกคนเรียนเหมือนๆ กัน ไปสู่การศึกษาที่จัดเฉพาะราย สิ่งที่เกิดแล้วในเวลานี้คือหลักสูตรเฉพาะบุคคล (IEP – Individualized Education Plan) เทคโนโลยี learning analyticsสำหรับใช้ตรวจสอบหาวิธีเรียนที่เหมาะต่อนักเรียนแต่ละคน

          หัวข้อย่อยที่ (3) The End of Grade Point Average ยิ่งนับวันเราก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า GPA ไม่ใช่เครื่องวัด การเรียนรู้ที่แม่นยำ และเป็นวิธีที่ครูมีอำนาจมากเกินไป มีวิธีการใหม่ที่ใช้บุคคลที่สามเข้ามาประเมิน และวิธีที่มีหน่วยงานรับประเมินและให้การรับรองขีดความสามารถเฉพาะด้าน ที่เรียกว่า badges

          เรื่องที่ ๓ คือ สหภาพยุโรป ที่อาจไม่ดำรงอยู่ ผมขอข้ามไป ไม่นำมาบันทึก ใครสนใจอ่านเอาเองนะครับ

          เรื่องที่ ๔ Jobs and Workplace Processesเขาบอกว่า ถึงปี ค.ศ. 2030 การจ้างงานในโลกนี้ ๒ พันล้านคนตามทักษะ ในปัจจุบันจะหายวับไป ซึ่งหมายความว่าต้องการทักษะใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ เป็นตัวยืนยันว่า การศึกษาสมัยใหม่ต้องเลยจาก การเรียนความรู้ ไปสู่การฝึกทักษะด้านการเรียนรู้

          เขาระบุ disruptive technology 12 ชนิด ที่จะเป็นตัวการทำลายอาชีพ ได้แก่ อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่, ความรู้และการทำงานอัตโนมัติ, การเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างเครื่องมือต่างๆ, cloud technology, advanced robotics, ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, จีโนมิกส์ยุคใหม่, energy storage, 3-D printing, advanced materials, การค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ, และ พลังงานหมุนเวียน

          ส่วนที่ผมสนใจยิ่งคือ อาชีพครู จะเปลี่ยนเป็นอาชีพโค้ช เขาทำนายว่า ในปี 2030 ร้อยละ ๙๐ ของการเรียนแบบที่เรียนในห้องเรียนปัจจุบัน จะเรียนทาง ออนไลน์

          ในเรื่องที่ ๔ นี้ มีหัวข้อย่อย ๓ หัวข้อคือ หัวข้อย่อยที่ 1 The Coming Demise of Teamwork บอกว่าการทำงานเป็นทีมจะหมดไป ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมเชื่อว่างานต่างๆ จะซับซ้อนมากขึ้น และต้องการความร่วมมือเป็นทีมมากขึ้น หัวข้อย่อยที่ 2 Obsolescence of Fixed Pay-Per-Time Compensation แทนที่ด้วยระบบ pay-per-task และหัวข้อย่อยที่ 3 Whither the Board of Directors หมดยุคเป็นกรรมการบริษัท เพื่อเกียรติยศ เงินค่าตอบแทน และอำนาจส่วนตน แทนที่ด้วยระบบกำกับดูแลบริษัทที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นจริงๆ ข้อนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เขาบอกว่า การเป็นกรรมการบริษัทจะมีความเสี่ยงสูง จนไม่มีใครอยากเป็น

          เรื่องที่ ๕ ร้านขายของ (store) เขาบอกว่า หัวใจมี ๒ อย่างคือ ตำแหน่งที่ตั้ง (location) กับช่องทางขายใหม่ๆ (new channels) ผมมองว่า ร้านขายของจะมี ๒ แบบ คือ real store กับ virtual store ซึ่งให้ความสะดวกแก่ลูกค้าคนละแบบ ร้านขายของที่เป็นร้านจริงๆ จะเปลี่ยนโฉมหรือเปลี่ยนหน้าที่ ไปเป็นสถานที่สาธิตสินค้า เมื่อลูกค้าพอใจก็สั่งซื้อ ข้อมูลสั่งซื้อจะไปที่โรงงานผลิต ผลิตให้ตามสั่ง และส่งของถึงบ้านตามกำหนดที่ตกลงกัน ร้านขายของกลายเป็นร้านสั่งของ

วิจารณ์ พานิช

๔ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 573642เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2014 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2014 07:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท