การสร้างแบบทดสอบอัตนัยที่มีคุณภาพ


การสร้างแบบทดสอบอัตนัยที่มีคุณภาพ

โดย ยืนยง ราชวงษ์

               การจัดการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ องค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) เป้าหมายการเรียนรู้ (มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด คุณลักษณะที่พึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญของนักเรียน) 2) การออกแบบเครื่องมือวัดผลและทำการประเมินคุณภาพนักเรียนที่สะท้อนว่านักเรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ (เครื่องมือวัดผลชนิดต่างๆ) และ 3) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สะท้อนถึงเป้าหมายการเรียนรู้

                สำหรับบทความนี้จะนำเสนอการออกแบบเครื่องมือวัดผลที่สะท้อนถึงเป้าหมายการเรียนรู้ เพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ แบบทดสอบแบบอัตนัยหรือแบบทดสอบแบบความเรียงหรือแบบทดสอบแบบบรรยาย จะมีลักษณะเฉพาะคำถาม แล้วให้นักเรียนได้เขียนตอบอย่างเสรี ที่ครูได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลทั้งในระหว่างเรียนและเมื่อสิ้นสุดการจัดการเรียนของแต่ละรายวิชา ในปัจจุบันถูกนำมาใช้น้อยลง ด้วยข้อจำกัดหลายประการคือ วัดเนื้อหาได้ไม่ครอบคลุมเพราะข้อสอบถามได้น้อยข้อ ตรวจให้คะแนนยาก เสียเวลาและการให้คะแนนคนที่ตรวจไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อความเที่ยงน้อย แต่อย่างไรก็ตามแบบทดสอบอัตนัยหรือแบบเขียนตอบ จะส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดี เป็นการวัดความสามารถของนักเรียนได้อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถวัดพฤติกรรมระดับความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ จนถึงระดับการประเมินค่า ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งวัดความคิดริเริ่มและความคิดเห็นได้ดี สร้างได้ง่าย รวดเร็ว ประหยัด เดาได้ยากและส่งเสริมทักษะการเขียนและนิสัยการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้นักเรียนมีการเชื่องโยงความสามารถในหลายด้าน เช่น การอ่าน การคิด การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การเขียน เป็นต้น มาบูรณาการในการเรียนรู้เข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นว่านักเรียนสามารถเขียนสื่อสารเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนอีกทางหนึ่ง

                ในกระบวนการสร้างข้อสอบเพื่อจัดทำแบบทดสอบนั้น ครูต้องมีความเข้าใจกระบวนการเพื่อนำไปสู่แบบทดสอบ คือ การวัดผล (Measurement) ถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญของครู เมื่อครูได้จัดการเรียนการสอนไปแล้ว จำเป็นที่ครูจะต้องตรวจสอบพฤติกรรมการเรียนรู้ (Knowledge or Attribute or Process) ของนักเรียนที่รับผิดชอบว่านักเรียนบรรลุผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด การวัดผลจะเป็นการแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนอย่างรอบด้านทุกมิติ เป็นการนำเสนอตัวตนที่แท้จริงของนักเรียนให้มากที่สุด ข้อมูลที่แสดงออกมา จะอยู่ ในรูปเชิงปริมาณหรือจำนวน หรือเชิงคุณลักษณะต่างๆ ตามที่ครูต้องการ ที่เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และจุดประสงค์การเรียนรู้ โดยที่ครูต้องอาศัย การทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การสอบถาม การสำรวจ อย่างเป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการเปรียบเทียบความสามารถของนักเรียนว่าบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดหรือจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้หรือไม่ ต่อจากนั้นครูต้องมีการประเมินผล (Assessment) เพื่อวินิจฉัยพฤติกรรมต่างๆ นำไปสู่การช่วยเหลือนักเรียนด้วยการปรับปรุงและพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน และสุดท้ายคือครูจะมีการประเมินผล (Evaluation) เพื่อนำผลที่ได้มาทำการตัดสินให้ระดับคุณภาพ และนำไปสู่การเลื่อนชั้นเรียนหรือจบหลักสูตรต่อไป

              จุดมุ่งหมายของการวัดผลที่สำคัญ คือเพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพหรือสมรรถภาพของนักเรียน ว่านักเรียนมีความบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด อย่างไร แล้วครูก็ต้องพยายามพัฒนาให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และให้มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของนักเรียน ให้เป็นตามจุดหมายที่ต้องการ นอกจากนี้ครูต้องค้นหาจุดบกพร่องของนักเรียนที่มีปัญหาว่า ยังไม่เกิดการเรียนรู้ตรงจุดใด เพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป ครูอาจนำผลที่ได้มาจัดอันดับหรือจัดตำแหน่งความสามารถของนักเรียนในกลุ่มเดียวกันว่าใครเก่งกว่า ใครควรได้อันที่ 1 2 3 หรือเปรียบเทียบหรือเพื่อทราบพัฒนาการของนักเรียน นอกจากนี้นำผลที่ได้ไปพยากรณ์ คาดคะเนหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตของนักเรียน สุดท้ายคือการนำผลมาตัดสิน หรือสรุปคุณภาพการเรียนรู้ ที่เป็นไปตามระเบียบหรือเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด และนำเสนอผลของการจัดการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพสูงหรือต่ำ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

               หลักการวัดผลที่สำคัญ ครูต้องวัดให้ตรงกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ตัวชี้วัดและมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรที่กำหนดเป็นหลัก เลือกใช้เครื่องมือวัดที่ดีมีคุณภาพและเหมาะสม ใช้เครื่องมือวัดผลหลาย ๆ อย่าง เพื่อช่วยให้การวัดผลมีความถูกต้องสมบูรณ์

                จากทั้งหมดที่กล่าวมา ครูจะต้องสร้างเครื่องมือวัดผลให้มีคุณภาพ ไม่เช่นนั้น การวัดผลที่ได้ก็จะไม่สามารถสะท้อนความสามารถหรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่แท้จริงของนักเรียน เครื่องมือวัดผลที่มีคุณภาพนั้น ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน คือเป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด หรือจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร มีความเป็นปรนัย ยากง่ายพอดี จำแนกได้ดี มีความยุติธรรมสำหรับคนสอบ มีความท้าทายในการตอบ มีประสิทธิภาพและต้องมีความน่าเชื่อถือ

กระบวนการสร้างข้อสอบอัตนัยหรือความเรียง (Subjective or Essay Test) ให้มีคุณภาพ

หลักการสร้างข้อสอบแบบอัตนัย

1. กำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการวัดพฤติกรรมด้านใด (มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้) ของนักเรียน โดยจัดทำเป็นพิมพ์เขียว (Test blueprint)

2. เขียนข้อคำถาม

           2.1 เขียนให้ชัดเจน จำเพาะเจาะจงว่าต้องการให้ผู้ตอบทำอย่างไร เช่น อธิบาย วิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น ฯลฯ รวมทั้งการเขียนคำชี้แจงเกี่ยวกับวิธีการตอบให้ชัดเจน

          2.2 เขียนคำถามวัดพฤติกรรมระดับสูงๆ ตั้งแต่ความเข้าใจขึ้นไป คำถามแต่ละข้อมีความยากง่าย ไม่เท่ากัน
          2.3 เขียนคำถามโดยใช้สถานการณ์ใหม่ๆ ไม่ควรถามตามตำราหรือหนังสือเรียนหรือถามในสิ่งที่เรียนมาแล้ว

         2.4 ต้องเลือกคำถามเฉพาะจุดที่สำคัญ เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องมาเป็นข้อคำถาม

3. กำหนดความซับซ้อนและความยากให้เหมาะสมกับวัยของผู้ตอบ

4. ควรเฉลยคำตอบไปพร้อมๆ กับการเขียนข้อสอบ

5. กำหนดเวลาการตอบ นานพอสมควร

6. เมื่อได้ข้อสอบเพื่อจัดทำเป็นฉบับแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาข้อสอบ และผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผล ได้ทำการตรวจสอบว่า มีความสอดคล้อง เหมาะสมและมีความเป็นปรนัยหรือไม่ อย่างไร

7. เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็นำไปแบบทดสอบไปทดลองใช้กับนักเรียนที่ได้เรียนเนื้อหาที่ใช้เขียนข้อสอบมาแล้ว เพื่อวิเคราะห์หาคุณภาพเป็นรายข้อและคุณภาพทั้งฉบับต่อไป

ข้อแนะนำในการตรวจให้คะแนน ข้อสอบอัตนัย

1. พิจารณาคำตอบแต่ละข้ออย่างคร่าวๆก่อน ยังไม่ต้องให้คะแนน แบ่งคุณภาพของการตอบของผู้ตอบออกเป็นกลุ่มๆ เช่น ดีมาก ดี ปานกลาง ค่อนข้างดี ยังใช้ไม่ได้

2. ตรวจละเอียดแต่ละข้อ ของแต่ละกลุ่มอีกครั้ง แล้วให้คะแนน

3. ควรนำคะแนนตามข้อ 2 มาเรียงลำดับโดยวิธีการจัดอันดับคุณภาพ (Rating scale)

4. ควรตรวจทีละข้อของทุกคนจนหมดก่อน แล้วจึงตรวจข้อต่อไป

5. ควรสุ่มกระดาษคำตอบมาตรวจ โดยไม่ต้องดูชื่อผู้ตอบ เพื่อไม่ให้เกิดอคติในการตรวจ

6. ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ผู้ตรวจอย่างน้อย 2 คน เพื่อให้ผลการตรวจถูกต้องเชื่อถือได้มาก

ลักษณะคำถาม ของข้อสอบอัตนัย

ข้อสอบแบบอัตนัย สามารถเขียนคำถามได้ ทุกระดับพฤติกรรม ดังนี้

1. ความรู้-ความจำ เช่น

- จงบอกประโยชน์ของ...มา 5 ข้อ

- จงบอกขั้นตอนของ...มาตามลำดับ

2. ความเข้าใจ

2.1 ถามให้เปรียบเทียบ เช่น

- จงเปรียบเทียบความแตกต่างของ....ระหว่าง....และ...

- จงเปรียบเทียบลักษณะอากาศของภาคเหนือกับภาคใต้

2.2 ถามให้บรรยาย เช่น

- จงอธิบายวิวัฒนาการของการ....ในประเทศไทย

- จงอธิบายสภาพการวิถีชีวิตชาวบ้านในหมู่บ้านของเรา

2.3 ถามให้สรุปความ เช่น

-  จงสรุปเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการปฏิวัติในประเทศไทย

- ใจความสำคัญของ.... กล่าวไว้อย่างไร

3. การนำไปใช้

3.1 ถามให้คาดคะเนผลที่จะเกิด เช่น

- ผลที่ได้รับจากการมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเที่ยวในประเทศไทยมากจะเป็นอย่างไร

- ผลกระทบที่ได้รับจาก....มีอย่างไรบ้าง

3.2 ถามให้หาความสัมพันธ์

- ทำไมจึงต้อง....ให้กับนักเรียน

- เหตุใด การสื่อสารทางโทรศัพท์ จึงมีความจำเป็นต่อวงการธุรกิจ

3.3 ถามให้ยกตัวอย่างจากเรื่องที่เรียนไปแล้ว

- จงยกตัวอย่างที่ใช้หลักการของ “ความร้อนทำให้เส้นลวดขยายตัว" ไปใช้ในชีวิตประจำวันมา 3 ตัวอย่าง

- จงยกตัวอย่างอาหารที่มีคุณค่าและราคาถูกในชีวิตประจำวัน และอธิบายด้วยว่ามีคุณค่าต่อร่างกายอย่างไร

3.4 ถามให้ประยุกต์หลักการและทฤษฎีในสถานการณ์ใหม่

- ถ้าเราต้องการขึงลวดเพื่อให้เป็นราวตากผ้าให้ตึงอยู่ตลอด เวลาจะทำได้อย่างไร

4. การวิเคราะห์

4.1 ถามให้บอกความสำคัญ เช่น

- อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยร้อนจัดในปีนี้

4.2 ถามให้บอกเหตุผล เช่น

- ถ้าจุดมุ่งหมายของ....เพื่อ... ดังนั้น....ด้วยเหตุผลใด

- อะไรน่าจะเป็นผลของ............

4.3 ถามให้หาหลักการ เช่น

- จงบอกหลักการที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ต่อไปนี้.....

5. การสังเคราะห์

5.1 ถามเกี่ยวกับแผนงานหรือโครงการ เช่น

- จงเขียนแผนงานที่จะปรับปรุงบริเวณโรงเรียนให้สะอาด เรียบร้อยและปลอดภัย

5.2 ถามให้จัดรวบรวมข้อเท็จจริงใหม่ เช่น

- จากการเรียนวิชา....แล้ว นักเรียนคิดว่าจะนำเอาความรู้หรือข้อเสนอแนะอะไรไปใช้ในการ...พัฒนา...ของนักเรียน.....

5.3 ถามให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ เช่น

- จงบอกวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนให้มากที่สุด

- จงเสนอวิธีทำสื่อ...ด้วยเศษวัสดุ มาให้มากที่สุด

6. การประเมินค่า

6.1 ถามให้ตัดสินใจ เช่น

- การที่รจนาเลือกเจ้าเงาะ ถือเป็นความผิดหรือไม่เพราะเหตุใด

- ถ้าให้สอบปากเปล่ากับข้อเขียน นักเรียนคิดว่านักเรียนสามารถจะทำคะแนนอย่างไหนได้ดีกว่ากัน เพราะเหตุใด

6.2 ถามให้อภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์

- จงอภิปรายบทบาทของนักเรียนที่มีต่อการพัฒนาโรงเรียน

- นักเรียนเห็นด้วยกับคำถามที่ว่า "..." หรือไม่ จงให้เหตุผลสนับสนุนความคิดของนักเรียน

การวิเคราะห์ข้อสอบอัตนัย

      1. การวิเคราะห์ข้อสอบเพื่อหาคุณภาพเป็นรายข้อ

   การวิเคราะห์ค่าความยากง่าย  P มาจากภาษาอังกฤษ Difficulty จะวิเคราะห์โดยใช้สูตร

                                           

          P= (PH+PL)/2

                                        

การวิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก rมาจากภาษาอังกฤษ Discriminationได้จาก

               r=PH - PL

PHแทน คือ สัดส่วนของคะแนนที่ผู้สอบในกลุ่มสูงตอบได้ถูกต้องในข้อนั้นๆ

PLแทน คือ สัดส่วนของคะแนนที่ผู้สอบในกลุ่มต่ำตอบได้ถูกต้องในข้อนั้นๆ

นอกจากนี้ ยังมีสูตรที่ใช้ในการวิเคราะห์ ค่าความยากง่ายและค่าอำนาจจำแนก ดังนี้

การวิเคราะห์ค่าความยากง่าย P โดยใช้สูตร

การวิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก rโดยใช้สูตร

P แทน ค่าความยากง่ายของข้อสอบเป็นรายข้อ

r แทนค่าอำนาจจำแนกของข้อสอบเป็นรายข้อ

แทนผลรวมคะแนนของกลุ่มสูงที่ตอบข้อสอบข้อนั้น

แทนผลรวมคะแนนของกลุ่มต่ำที่ตอบข้อสอบข้อนั้น

Smaxแทน คะแนนที่ทำได้สูงสุด ของข้อสอบข้อนั้น

Sminแทน คะแนนที่ทำได้ต่ำสุด ของข้อสอบข้อนั้น

Nแทน จำนวนคนที่ทำข้อสอบข้อนั้นในกลุ่มสูง (หรือกลุ่มต่ำ)

       2. การวิเคราะห์ข้อสอบอัตนัยเพื่อหาคุณภาพทั้งฉบับ

        ข้อสอบอัตนัยที่มีลักษณะเป็นแบบเรียงความ เขียนตอบหรือข้อสอบที่แต่ละข้อมีค่าน้ำหนักคะแนนไม่เท่ากัน หรือแบบวัดเจตคติ สามารถหาความเชื่อมั่น (Reliability) ได้ด้วยการวิเคราะห์ ค่าคงที่ภายใน ของ CoefficientAlpha ใช้ สูตร ดังนี้

สูตรความเชื่อมั่น =

   K   แทนจำนวนข้อสอบทั้งฉบับ (กี่ข้อ)

  S2แทนคะแนนความแปรปรวนของแบบทดสอบทั้งฉบับ

   S2 แทนคะแนนความแปรปรวนของข้อสอบแต่ละข้อ

SS2แทนผลรวมของคะแนนความแปรปรวนของข้อสอบแต่ละข้อ

ขั้นตอนการหาค่าความเชื่อมั่น

1. นำแบบทดสอบที่ต้องการหา ไปทำการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากพอ

2. ตรวจให้คะแนนเป็นรายบุคคลและรายข้อ

3. บันทึกคะแนนและแทนค่าในสูตร

หมายเลขบันทึก: 573474เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท