SEEN มหาสารคาม _๑๒ : ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ (๒)


บันทึกที่ ๑...

แผนที่ผลลัพธ์ (Outcome Mapping) 

สิ่งแรกที่โรงเรียนควรทำในการขับเคลื่อน ปศพพ. คือการร่วมกันทำ "แผนที่ผลลัพธ์" หรือ OM (อ่านที่นี่) ผมพยายามเน้นถึงเป้าหมายรายทางที่สำคัญๆ ที่ครูและนักเรียนต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่จะขับเคลื่อนฯ ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการ "กระทำในระดับกิจกรรม" เท่านั้น การทำ OM จะมีประสิทธิภาพมากนั้น สิ่งสำคัญคือความเข้าใจร่วมกันในปัญหา เป้าหมาย  ผมจึงได้เล่าถึงรากเหง้าของปัญหา ที่เป็นที่มาของ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" คือ กิเลส ๓ ประการที่ทุกคนรู้จักดี คือ โลภ โกรธ และ หลง

  • เมื่อโลภ คือ ไม่พอประมาณ
  • เมื่อโกรธ มักจะ ไม่มีเหตุผล
  • เมื่อหลง เมื่อนั้นยากที่จะมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

เป้าหมายที่แท้จริงของ ปศพพ. คือ การควบคุมและจัดการกับ "กิเลส" เครื่องเศร้าหมอง เหล่านี้ โดยตรง .... 

ครั้งนี้ เป็นเวทีแรกในการนำเสนอให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียน "ฟังพร้อมๆ กัน" ผมพยายามเน้นให้ทุกคน "เห็น" ถึงสิ่งที่สำคัญและ "จำเป็น" ต้องฝึกฝนให้เกิดมีในตัวนักเรียนทุกคน คือ "สติ และ สมาธิ" อันจะหนุนให้มี "ศรัทธา" และ "ปัญญา" ที่ถูกต้อง สามารถทำการงานสิ่งใดๆ ได้สำเร็จได้ด้วยความเพียร คือ "วิริยะ"  กล่าวคือ ครูต้องใส่ใจเรื่องการปลูกฝัง "พลัง ๕" หรือ "พละ ๕" นี้ให้สั่งสมในตัวของนักเรียน

"สติ" ที่จะต้องฝึกที่กล่าวถึงนี้ (คือการ "ระลึกรู้") ไม่ใช่ "สติ" ที่เข้าใจว่าในชีวิตประจำวันกับกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว เช่น จะเรียน เขียน อ่าน ทำงาน กินข้าว ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้ "สติ" เหมือนๆ กับที่ แมวกำลังจะจับหนู ทหารกำลังเล็งปืน  แต่เป็น "สติ" อีกแบบหนึ่ง  เรียกว่า "สัมมาสติ" คือ สติในการระลึก "รู้ตัว" ฝึกให้ "รู้สึกตัว" ฝึกให้เรียนรู้ "อาการของกาย" เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ฯลฯ และ "อาการของใจ" เช่น โมโห โกรธ เกลียด ชอบ อิจฉา ขยะแขยง มีความสุขใจ กลุ้มใจ ฯลฯ โดยฝึกให้นักเรียนสังเกตเรียนรู้ตนเองผ่านกิจกรรมต่างๆ หรือในกิจวัตรประจำวัน ....  ภาษา "ทางพุทธ" เรียกว่า "เจริญสติ"

"สมาธิ" (คือการ "ตั้งมั่นของใจ") ก็สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทเช่นกัน คือ สมาธิที่ใจตั้งมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว และ สมาธิที่ใจตั้งมั่นในการรับรู้สิ่งต่างๆ  สมาธิอันแรกสำคัญและจำเป็นในการจดจ่ออยู่กับเรื่องที่กำลังคิดกำลังทำได้นาน ไม่วอกแวก ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสมาธิอันหลังสำคัญและจำเป็นในการ "เจริญสติ" จะหนุนให้เกิด "ปัญญา" ระดับต้น คือ "สัมปชัญญะ" คือเมื่อ "ระลึกรู้" ด้วยสติแล้ว จะรู้ด้วยว่า (ผม "ฟัง" และ "เข้าใจ" ครั้งแรก จากการฟังหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช)

  • สิ่งนั้นมีสาระ หรือไม่มีสาระ 
  • สิ่งที่มีสาระนั้น มีประโยชน์หรือไม่ 
  • สิ่งที่มีสาระและมีประโยชน์นั้น เหมาะสมกับตนเองหรือไม่ 
  • สิ่งที่มีสาระ และมีประโยชน์ และเหมาะสม นั้น จำเป็นหรือไม่


ข้อเสนอแนะ

โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ มีจุดแข็งตรงที่มี "วัดในโรงเรียน" ผมเสนอให้ ครูคุยกันเพื่อมอบหมายให้ผู้ที่สนใจและเหมาะสมที่จะเป็นแกนหลักในการฝึกฝน และปลูกฝัง "สัมมาสติ" และ "สมาธิตั้งมั่นในการรับรู้" นี้ให้กับนักเรียนแกนนำอย่างจริงจัง ซึ่งอาจเรียกว่า "ครูแกนนำในการวางรากฐานของความดี" โดยครูแกนนำคงต้อง ศึกษา เรียนรู้ และปฏิบัติกับตนเอง (ผมเองศึกษาตามแนวทางของวัดป่า เน้นการ “ดูจิต” ที่นี่) พร้อมๆ กับออกแบบกิจกรรมต่าง โดยใช้ "วัด" เป็นฐานการเรียนรู้นี้ ซึ่งสำหรับการเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ จำเป็นต้องเขียน "แผนการใช้ฐานการเรียนรู้" ที่ต้องเก็บร่อยรอยหลักฐานให้เห็นชัดเจนใน ๔ ประเด็นได้แก่

  • เป้าหมายในการใช้ฐานนี้ อยากให้เกิดความรู้ หรือทักษะ อะไรบ้าง 
  • นักเรียนจะได้เรียนรู้ หรือฝึกฝน และเกิดความรู้หรือทักษะตามเป้าหมายนั้นๆ อย่างไร ตอนไหน (ขั้นตอน วิธีการใช้ฐานฯ)
  • จะรู้ได้อย่างไรว่าได้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ...  คือ วัดผลและประเมินผลลัพธ์ของการใช้ฐานอย่างไร 
  • ปัญหาอุปสรรค การแก้ไขปรับปรุง และข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ต่างๆ สำหรับโรงเรียนหรือชุมชนอื่นๆ ที่อยากนำ "หลักปฏิบัติ" นี้ไปใช้บ้าง 

บันทึกต่อไป มาว่ากันต่อเรื่องการขับเคลื่อนฯ ครับ

๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗๗

เมื่อถามว่า "ใครเห็นว่า ปศพพ. เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า และจะนำมาปรับใช้กับตนเอง"

ดูรูปทั้งหมดที่นี่

หมายเลขบันทึก: 571092เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2014 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2014 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท