หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เมื่อนิสิตสวมบทบาทนักสร้างเสริมสุขภาพ


ผมชื่นชมกิจกรรมในชั้นเรียนอยู่มาก เห็นความฉลาดของนิสิตที่เป็นเสมือน “นักสร้างเสริมสุขภาพ” ต่างคนต่างงัดเอาทักษะประสบการณ์ต่างๆ ออกมาใช้ “รุก-รับ” สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้ครึกครึ้นอยู่ตลอดเวลา มีทั้งวิชาการและวิชาการบันเทิงผสมผสานกันไปเป็นระยะๆ

การลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้กับนิสิตหลักสูตรโภชนาการและความปลอดภัยในอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ เนื่องใน “โครงการส่งเสริมโภชนาการสำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด" (ต.ลาดพัฒนา อ.เมือง จ.มหาสารคาม) เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ทำให้ผมมองเห็นกิจกรรมอันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอย่างน่าสนใจ

- เป็นกิจกรรมที่สื่อให้เห็นถึงบทบาทของนิสิตที่มีต่อการบริการวิชาการในชื่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ร่วมกับอาจารย์ผู้สอนอย่างชัดเจน กล่าวคือนิสิตเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ นิสิตนำความรู้ในวิชาชีพออกไปสู่การปฏิบัติจริงโดยมีชุมชนเป็น “ห้องเรียน" (Community-based learning) เป็นการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เรียนรู้ผ่านการทำงานเป็นทีมบนฐานคิดหลักของการ “เรียนรู้คู่บริการ" ที่หมายถึงเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน"




กระบวนการ : สังเกตการณ์ผ่านกิจวัตรประจำวัน (ในรั้วสถานศึกษา)

นิสิตบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่ามาถึงโรงเรียนตอนหกโมงเศษๆ (๐๖.๐๐ น.)
ไม่มีเหตุผลซับซ้อนอะไรมากนัก มาเช้าๆ เพื่อต้องการสังเกตพฤติกรรมการบริโภคของนักเรียนในก่อนเข้าชั้นเรียน เป็นการสังเกตผ่านวิถีธรรมชาติอันเป็นกิจวัตรประจำวันของนักเรียน
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ นิสิตเกือบทุกคนยืนยันตรงกันว่าไม่มีการแจ้งรายละเอียดล่วงหน้าต่อนักเรียน กระบวนการ (แผนงาน) ที่ว่านี้ถูกออกแบบร่วมกันระหว่างนิสิต,อาจารย์และคณะครู ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อว่าการไม่แจ้งล่วงหน้า จะช่วยให้พบเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกินการอยู่ของนักเรียนมากที่สุด เพราะนักเรียนจะได้ไม่ต้องเก็บงำ อำพราง หรือสำรวม ซ่อนแฝงพฤติกรรมอันไม่พึงประประสงค์ในการบริโภคไว้ จนพลอยให้ข้อมูลที่ได้กลับมาไม่เป็นจริง และคลาดเคลื่อน





ไม่แต่เฉพาะการสังเกตพฤติกรรมก่อนการเข้าแถวเคารพธงชาติในภาคเช้าเท่านั้น หากแต่รวมถึงการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการบริโภคในช่วงพักกลางวันและหลังเลิกเรียนก่อนกลับบ้านไปในตัว ซึ่งส่วนหนึ่งนิสิตต้องรอทำความเข้าใจในกลุ่มผู้ปกครองที่มาส่งลูกๆ (อนุบาล) เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการช่วยกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับการกินอยู่ของเด็กๆ ส่งคืนกับมายังนิสิต เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลในลำดับขั้นถัดไป






กระบวนการ : กระจายตัวเข้าสู่ชั้นเรียน (สวมบทบาทนักสร้างเสริมสุขภาพ)

ทันทีที่นักเรียนเสร็จสิ้นกิจกรรมเคารพธงชาติและแยกย้ายเข้าสู่ชั้นเรียน นิสิตจะกระจายตัวไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ออกแบบและมอบหมายกันไว้ บ้างเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการบริโภคน้ำดื่ม พร้อมๆ ไปกับการประเมินสุขภาวะของถังน้ำ รวมถึงสุขลักษณะของโรงอาหาร
เช่นเดียวกับที่เหลือก็กระจายตัวเข้าสู่ชั้นเรียนต่างๆ เพื่อเข้าไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกรอกแบบสอบถาม (แบบสำรวจ) พฤติกรรมการบริโภคอาหารในรอบ ๒๔ ชั่วโมง รวมถึงการสำรวจพฤติกรรมเพื่อประเมินความถี่การบริโภคอาหาร (FFQ) ของนักเรียนเป็นรายบุคคลผ่านแบบสอบถามและคู่มือที่จัดเตรียมมาอย่างเสร็จสรรพ ซึ่งเมื่ออธิบายเสร็จแล้วก็ให้นักเรียนกรอกข้อมูลตามความเป็นจริง โดยมีนิสิตทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด





โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชมกิจกรรมในชั้นเรียนอยู่มาก เห็นความฉลาดของนิสิตที่เป็นเสมือน “นักสร้างเสริมสุขภาพ" ต่างคนต่างงัดเอาทักษะประสบการณ์ต่างๆ ออกมาใช้ “รุก-รับ" สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้ครึกครึ้นอยู่ตลอดเวลา มีทั้งวิชาการและวิชาการบันเทิงผสมผสานกันไปเป็นระยะๆ มีการพูดคุยหยอกล้ออย่างต่อเนื่อง เป็นการผ่อนคลายและสร้างเสริมสัมพันธภาพร่วมกันระหว่างนิสิตกับนักเรียนอย่างไม่ถือตัว





กระบวนการดังกล่าวนี้ ผมมองว่าเป็น “จุดเริ่มต้น" ที่ดีในการเปิดตัวโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" เพราะจะได้ช่วยให้ “นิสิตกับนักเรียน" เกิดความมักคุ้นกันได้เร็วขึ้น เหมือนเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง วันเวลาที่เหลืออีกเดือนสองเดือน หรือแม้แต่วันเวลาที่มากมายไปกว่านั้นย่อมง่ายต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันทั้งสองฝ่าย นั่นยังไม่รวมถึงความไว้เนื้อเชื่อใจของ “ครูและผู้ปกครอง" ที่จะรับรู้ผ่าน "ปากคำของนักเรียน" หรือลูกหลานของตนเอง
ครั้นกิจกรรมในชั้นเรียนเสร็จสิ้นลง นิสิตจะพานักเรียนในแต่ละชั้นทยอยลงมา “วัดส่วนสูง" และ “ชั่งน้ำหนัก" เพื่อบันทึกข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคน
จะว่าไปแล้ว ผมเองก็ชอบกระบวนการนี้ไม่ใช่ย่อย – ชอบเพราะเห็นว่านิสิตไม่ได้จัดการเองเสียทั้งหมด ตรงกันข้ามกลับพยายามกระตุ้นให้นักเรียนได้ช่วยกันบริหารจัดการกิจกรรมนี้ร่วมกันด้วยตนเองเป็นระยๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการสร้าง “กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม" (Participatory Learning Process) ระหว่างนิสิตกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนกับนักเรียน
ด้วยเหตุนี้นักเรียนจำนวนไม่น้อยจึงดูตื่นเต้นและสนุกกับบทบาทที่ได้รับมอบหมาย มีการผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่อย่างคึกคัก-ฮาเฮ พลอยได้เห็นภาพการเรียนรู้ร่วมกันในแบบ “บันเทิง-เริงปัญญา" อย่างน่าชื่นใจ





กระบวนการ : พักเที่ยง (โสเหล่และท่องเล่นในชุมชน)

ในช่วงที่นักเรียนกำลังพักรับประทานอาหารกลางวัน เห็นได้ชัดว่านิสิตก็มิได้ถึงขั้นนิ่งเฉยพักผ่อนเอกเขนก บางส่วนกลมกลืนอยู่ในโรงอาหาร เพื่อเก็บข้อมูลการบริโภคของนักเรียนทั้งในโรงอาหารและนอกโรงอาหาร ขณะที่บางกลุ่มเริ่มตั้งวง “โสเหล่" ประเมินสถานการณ์กิจกรรมในภาคเช้า เช่นเดียวกับบางส่วนได้ทยอยออกสู่ชุมชน พบปะชาวบ้าน เพื่อสังเกตและสำรวจสุขภาวะชุมชนไปในตัว เรียกได้ว่ามุ่งมั่นบริหารเวลาอย่างเต็มสูบ ราวกับไม่ปรารถนาให้วันเวลาแห่งการเรียนรู้ขาดหายไปอย่างเปล่าเปลือง

และเท่าที่ผมรู้มาก็คือนิสิตไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมแต่เฉพาะวันนี้วันเดียวเท่านั้น หลังจากนี้นิสิตยังคงจะลงชุมชนและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความคุ้นเคยและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้านและต่อเนื่องอย่างน้อยก็เต็มที่ทั้งเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๕๕๗ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ หรือประเมินสภาวะที่เกี่ยวข้องผูกโยงสู่กิจกรรมแห่งการป้องกันและแก้ไขตามเจตนารมณ์ “โครงการส่งเสริมโภชนาการสำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านลาด"





ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ยังอยู่ในระยะต้นน้ำล้วนๆ เป็นการขับเคลื่อนงานบริการวิชาการ (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) ในช่วงของการปิดภาคเรียน

อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้นิสิตกลุ่มนี้จะยังไม่ได้เข้าเรียนในรายวิชา “โภชนาการชุมชน"โดยตรง แต่การเรียนรู้ผ่านต้นทุนเดิมของนิสิตรุ่นพี่ เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่อาจารย์ได้ถ่ายทอดให้ ประกอบการเตรียมพื้นที่ร่วมกับภาคส่วนของชุมชนอย่างจริงจังและจริงใจ มิใช่ได้ใจว่าคุ้นเคยกับชุมชนดีอยู่แล้ว (จะทำอะไรก็ทำได้ตามสะดวกใจ) จึงส่งผลให้การงานดูจะไหลลื่น และมีชีวิต-

ผมเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อเปิดเทอมและนิสิตกลับเข้าสู่ชั้นเรียนเพื่อร่ำเรียนตามหลักสูตร นิสิตกลุ่มนี้จะเรียนรู้และเข้าใจทฤษฎีได้อย่างรวดเร็ว เพราะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำมาก่อนแล้วนั่นเอง






ส่งท้าย ...

เหนือสิ่งอื่นใด ผมมองเป็นการส่วนตัวว่าการขับเคลื่อนในทำนองนี้ หลักสูตรอื่นๆ สามารถเรียนรู้และถือเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องจ่อมจม หรือจำนนอยู่กับข้อจำกัดอันเป็นสภาวะของการ “ปิดเรียน" ตามระบบและกลไกของความเป็น “อาเซียน"
หรือกระทั่งในกลุ่มหลักสูตรที่เปิดสอนซัมเมอร์อยู่แล้ว แต่กลับยังไม่สามารถขับเคลื่อนอันใดได้เลย เพราะอาจยังติดขัดกับอุปสรรคนานาประการ ทั้งที่เป็นอุปสรรคปัญหาจากระบบของมหาวิทยาลัยที่อาจหมายถึงการทำสัญญาและงบประมาณ รวมถึงอุปสรรคส่วนตัว หรืออุปสรรคในความเป็นทีมด้วยกันเองก็เถอะ หากเปิดใจเรียนรู้และรับรู้ว่าหลักสูตรนี้เพิ่งผ่านการพิจารณากลั่นกรองได้ไม่นาน แถมสัญญารับทุนก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ทำไมถึงพุ่งทะยานขับเคลื่อนการงานได้อย่างเหลือเชื่อ—

ผมว่ามันก็น่าคิด หรือแม้แต่น่าชื่นชมมากไม่ใช่ย่อย หากเปิดใจถอดบทเรียนกันดีๆ อาจเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่แต่ละหลักสูตรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัวด้วยเหมือนกัน




หมายเลขบันทึก: 571029เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2014 06:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ

ชื่นชมในกิจกรรมนี้มากค่ะ อาจารย์เจ้าของกิจกรรมก็คงมีความสุขจากงานนี้มาก ปลอดโปร่ง ไม่จำเจอยู่ในห้องเรียนและบบรรยากาศเดิม ๆ ที่สำคัญนิสิตจะเรียนรู้ได้มาก เกิดความเข้าใจสภาพความจริงของพื้นที่จากการปฏิบัติครั้งนี้อย่างมาก 

ขณะที่อ่านก็คิด ๆว่าอยู่ในรายวิชาอะไร จัดแบบนี้แล้วนิสิตเรียนวิชาอื่น ๆด้วยหรือไม่ ฯลฯ แต่ก็พบในตอนท้ายอยู่ในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งแก้ปัญหาการไปกระทบกับเวลาของวิชาอื่น ๆได้ ถึงแม้กระทบอาจจัดการได้โดยกระทำอย่างบูรณาการกับวืิชาอื่น ๆ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ง่ายเลยต้องอาศัยความเป็นหนึ่งเดียวกันของทีมอาจารย์อย่างมาก

ชื่นชมโรงเรียนนี้ที่ให้นักเรียนใส่เสื้อผ้าขะม้า อุดหนุนผลิตพันธุ์ชุมชม ทุกแห่งน่าจะเอาเป็นแบบอย่างได้  น่าจะใช้ตัดเครื่องแบบนักเรียนได้ด้วยนะคะ 

ชื่นชมการทำงาน

นิสิตได้เรียนรู้จากชุมชน

เป็นกระบวนการที่ทำงานเป้นระบบดีมาก

ชอบใจชุนนักเรียนที่เป็นผ้าพื้นบ้าน

ชุดคล้ายที่เม็กดำเลยครับ

แต่เป็นที่โรงเรียนบ้านลาดนะครับ

ตามมาเชียร์อีกหนึ่งแรงครับ

เป็นการขับเชื่อนสู่เป้าหมายโดยไม่ติดกับเงื่อนไข...ชื่นชมค่ะ..

กิจกรรมดีดี ... วัดความดัน....วัดส่วนสูง ...ช่างน้ำหนัก..ด้วยความรักและห่วงใย ค่ะ ... สุขภาพดี สร้างได้นะคะ

สวัสดีครับอาจารย์

แค่เห็นภาพก็รู้สึกถึงความสุขและการเรียนรู้แบบนี้จังเลยครับ

ขอบคุณกระบวนการดีๆ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังครับอาจารย์

ด้วยความชื่นชมมากๆค่ะ...ทั้งเด็กนักเรียน และครูฝึกสอน หน้าสดใส มีความสุขนะคะ

ประทับใจหนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน เป็นอย่างยิ่ง แนวคิดดีเยี่ยม

.

ชอบหลักสูตรนี้จังจ้ะ  ชื่นชม และดีใจกับทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้จ้ะ

ชอบกิจกรรมสุขภาพแบบนี้มากๆครับ ขอบพระคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท