moon
นันท์ธนัตถ์ จิตรประภัสสร

ที่ริมรั้วมีวัวตัวหนึ่ง


   ต้นเดือนสิงหาคม 2549 ฉันมีโอกาสได้รู้จักครูน่ารักๆ หลายคน ที่ อบต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพราะโชคดีได้ตามน้องปาน (สมโภชน์ นาคกล่อม) ผู้จัดการของเรา ไปร่วมพูดคุยเรื่องโรงเรียนพ่อแม่ และการจัดการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เพิ่งถ่ายโอนมาอยู่ภายใต้การดูแลของ อบต.

   วันนั้นมีครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาคุยกันรวม 4 ศูนย์ คือ แม่เตย หินเกลี้ยง เขากลอย และท่าข้าม ทั้งยังมีน้องเมย์ ภัทรเดช นักวิชาการศึกษา อบต.ท่าข้าม กับพี่นายกฯ ร่วมฟังและคุยด้วยสีหน้าสนอกสนใจและกระตือรือร้น (เห็นแล้วปลื้มค่ะ)

   เราพูดคุยกันสารพัดเรื่อง นับตั้งแต่ความเป็นมาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การบริหารงานหลังการถ่ายโอน ไปจนถึงสภาพการทำงานและการใช้งบประมาณของแต่ละศูนย์ฯ 

   ช่วงหนึ่ง เราพูดถึงการจัดหาและจัดซื้อสื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก ดูเหมือนปัญหาเรื่องงบประมาณจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้า อบต.เข้าใจความสำคัญของการศึกษา (เช่น อบต.ท่าข้าม เป็นต้น) หรือถ้ามองให้ทะลุเรื่องกระบวนการจัดการศึกษาเรียนรู้สำหรับเด็ก จะยิ่งพบว่า ปัญหาขาดแคลนงบประมาณเป็นเรื่องเล็กจนถึงเล็กที่สุด 

   แต่สิ่งที่ฉันมักพบในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหลายๆ ชุมชน กลับกลายเป็นว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าการขาดแคลนงบประมาณ คือขาดความรู้ เช่น ไม่รู้จะหาสื่อแบบไหน และใช้อย่างไรเกิดประโยชน์สูงสุด มีเงินก็เลือกยาก ไม่มีเงินยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะไม่รู้จะหาอะไรมาทดแทน อันนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นเหมือนกันหลายแห่ง ทั้งภาคอิสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ 

   ความไม่รู้ไม่ใช่เรื่องน่าขายหน้า เพราะว่าไม่มีใครรู้ทุกเรื่องมาตั้งแต่เกิด ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมกันทั้งนั้น สำคัญที่ความ ใฝ่รู้ และรู้จัก จัดการความรู้ ยิ่งคนเป็นครูที่ต้องมีความรู้เพื่อการสอนคนอื่น ยิ่งต้องหาความรู้ใหม่กันอยู่ตลอดเวลา ดร.สายสุรี จุติกุล ปรมาจารย์ด้านเด็กปฐมวัยของวงการศึกษาไทยท่านหนึ่ง เคยกล่าวว่า คนเราต้องศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต

   น้องครูคนหนึ่งบอกเล่าด้วยเสียงอ่อยๆ ว่า แถวโรงเรียนไม่มีอะไรเลยที่จะให้เด็กเรียนรู้ได้ นอกจากวัวตัวหนึ่ง ที่เจ้าของมักมาผูกให้กินหญ้าอยู่ใกล้ๆ ศูนย์เด็ก 

   โอ้โฮ โชคดีจังเลย มีวัวตั้งหนึ่งตัว นั่นแหละค่ะเด็ดสุด เอามาใช้เป็นสื่อ รับรองเรียนรู้ได้ทั้งปี ฉันรีบคว้าโอกาสจุดประกาย สร้างมุมมองใหม่ เผื่อน้องครูทั้งหลายในที่นั้นจะเกิดอาการ ปิ๊งแวบ   

   สำหรับเด็กๆ แล้ว ทุกสิ่งรอบตัวคือสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าเราจะมองออกหรือไม่ และหยิบมาใช้ให้สอดคล้องกับศักยภาพในการรับรู้เรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างไร ที่สำคัญ ครูต้องทำให้เด็กรู้สึก(และครูก็ต้องรู้สึกด้วย) ว่า การเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องสนุก

   ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นโลกแห่งการศึกษาใบแรกที่เด็กๆ ได้สัมผัสนอกเหนือไปจากบ้าน เป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี ฉะนั้นถ้าจะปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการศึกษาเรียนรู้ ต้องให้ความสำคัญกับการเริ่มต้น  ถ้าเด็กสัมผัสได้ตั้งแต่แรก ว่าการศึกษาเรียนรู้นั้น มีความสุข สนุกสนาน เขาจะกลายเป็นเด็กที่รักเรียน เป็นผู้ใหญ่ที่ใฝ่รู้ อันเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนที่มีคุณภาพ เรียกว่า เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

   เห็นไหมว่า ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น สำคัญแค่ไหน ไม่ใช่แค่สำคัญสำหรับเด็ก แต่สำคัญสำหรับชุมชนเลยก็ว่าได้ เพราะครูกำลังปลูกฝังคุณค่าของการเรียนรู้ให้กับพื้นฐานของชุมชนและสังคม (หมายถึงเด็กเล็กนั่นแหละค่ะคุณขา พูดจาให้งงไปทำไมก็ไม่ทราบ) 

   กลับมาที่เรื่องวัว ก่อนจะออกนอกรั้วศูนย์ฯ เด็กไปจนกู่ไม่กลับ

   วัวหนึ่งตัวข้างรั้วศูนย์เด็กเล็กที่ท่าข้าม ทำให้ฉันคิดถึงต้นมะก่อเดือยต้นหนึ่งบนดอยหมันขาว รอยต่อระหว่างจังหวัดเลยและเพชรบูรณ์

   เพื่อนๆ เคยกินไหมคะ ลูกก่อหรือมะก่อเดือยคั่วร้อนๆ โรยเกลือ แกะเปลือกเคี้ยวเล่นเค็มๆ มันๆ ยิ่งอากาศหนาวยะเยือกบนดอย ก่อไฟคั่วก่อ เคี้ยวไปคุยไป ทั้งอุ่นกายและอร่อยลิ้น

   ตอนที่ฉันยังทำงานด้านเด็กและครอบครัวที่ขอนแก่น เรามีโครงการโรงเรียนบนดอยที่บ้านหมันขาว ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เฉพาะช่วงรถไต่ขึ้นดอยใช้เวลาไม่ต่ำกว่าห้าชั่วโมง เพราะทางชันและคดเคี้ยวเสี่ยงต่อการตกเหวตลอดเวลา หน้าฝนดินจะเละเหนือคำบรรยาย รถโฟร์วีลยังต้องใช้โซ่พันล้อ ถ้าไม่มีโรงเรียนที่ขอตั้งขึ้นชั่วคราว เด็กๆ ต้องเดินเท้าไปโรงเรียนที่อยู่ห่างรวมระยะทางไปกลับกว่าสิบกิโลเมตร

   เด็กๆ บนนั้นเป็นชาวเขาเผ่าถิ่นและลัวะ ที่ชอบกินลูกก่อคั่วร้อนๆ ในฤดูหนาวเป็นยิ่งนัก (ไม่ใช่แค่เด็กๆ หรอก ถามชาวบ้าน พ่อๆ แม่ๆ ของเด็กก็ชอบกันทั้งนั้น ฉันเคยนั่งแทะเล่นยังมันแบบห้ามไม่หยุดฉุดไม่อยู่)

   ต้นมะก่อเดือยยืนใหญ่อยู่ในป่า ริมลำน้ำหมันแดงที่ไหลมาจากภูหินร่องกล้า ถึงหน้าเก็บลูกก่อ ผู้ใหญ่จะเข้าไปเก็บ เด็กๆ อยากไปใจจะขาดแต่ไม่มีโอกาสไป ถ้าเป็นไปได้คงอยากมีต้นก่อ่ไว้ในบ้านกันคนละต้น ค่าที่ชอบกินเหลือเกิน

   โรงเรียนเล็กๆ ที่ขาดแคลนเงินทุนไปเสียทุกด้าน ลืมไปได้เลยเรื่องขอเบิกงบประมาณ ครูต้องอาศัยไหวพริบหยิบทุกสิ่งมาเป็นสื่อการเรียนรู้ และมะก่อเดือยก็ได้เป็นสื่อชิ้นหนึ่ง

   มะก่อเดือยต้นเดียวเท่านั้น เรียนรู้อะไรกันทั้งปี ไม่มีเรื่องอื่นบ้างหรือไง แล้วเด็กจะรู้อะไรจากต้นไม้ต้นเดียว

   คำตอบคือ สารพัดเรื่องค่ะ

   เด็กๆ ได้เข้าป่าไปรู้จักต้นก่อ สังเกตรูปร่างลักษณะ ความสูง ความกว้าง (เรียนรู้เรื่องขนาด การวัด การคำนวณ) รู้จักสภาพแวดล้อมของต้นก่อ(เรียนรู้เรื่องป่าและธรรมชาติ)  ได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มๆ ในการช่วยกันสังเกต บันทึก(ฝึกเขียน ฝึกใช้ภาษาและถ้อยคำ)

   ความที่อยากมีต้นก่อไว้กินเองให้สมใจอยาก เด็กๆ ได้ทดลองเพาะเม็ดก่อ (ฝึกการดูแลเอาใจใส่ ความละเอียดรอบคอบ และความรับผิดชอบ)  ได้ฝึกตั้งข้อสังเกตและสมมติฐานในสาเหตุการงอก หรือไม่งอก หรือขนาดต้นที่ไม่เท่ากัน(เรียนรู้ความเป็นเหตุเป็นผล)

   ตลอดทั้งเทอม ครูและเด็กๆ สนุกสนานกับการเรียนรู้จากต้นก่อ ที่บูรณาการได้สารพัดวิชา (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย เกษตร ศิลปะ กพอ. สลน. และสปช. แถมด้วยการพัฒนาไอคิว อีคิว และคุณธรรมจริยธรรมจากการทำงานร่วมกันด้วย)

.....................................

   กลับมาที่วัวหนึ่งตัวข้างรั้วศูนย์ฯ กันอีกครั้ง

   เด็กเล็กๆ มักชอบสัตว์ วัวเป็นสัตว์ใกล้ตัว ครูอาจเริ่มต้นด้วยวัวมีกี่ขา ไหนครูพาไปดูซิ ไปนับขาวัวกัน หนึ่ง สอง สาม สี่ อย่างน้อยเด็กนับได้ถึงสี่แล้ว เริ่มเรียนรู้เรื่องจำนวนนับ พร้อมๆ กับฝึกสังเกต

   อะไรเอ่ยที่มีสี่ขาเหมือนวัวบ้าง เด็กๆ อาจตอบ ควาย หมู หมา แมว  แล้วแต่ประสบการณ์ แต่ก็ได้รู้จักสังเกตและเปรียบเทียบ ไหน บ้านใครมีควาย หมา หมู เล่าให้ครูกับเพื่อนๆ ฟังสิคะว่าเหมือนวัวตรงไหนบ้าง สร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาภาษา ฝึกทักษะการพูดและความเชื่อมั่นในตัวเองอีกต่างหาก

   มอ มอ เด็กๆ อาจจะได้ยินเสียงวัวร้อง พาเด็กร้องเลียนเสียงวัว แล้วตัวอื่นๆ ล่ะร้องยังไง ใครเคยได้ยินบ้าง ไหนร้องให้เพื่อนๆ ฟังหน่อย คราวนี้ละ สารพัดสัตว์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทให้เด็กๆ เรียนรู้ครูพาร้องเพลงเกี่ยวกับสัตว์ วาดรูปสัตว์ ปั้นดินน้ำมันเป็นสัตว์ต่างๆ เล่านิทานสนุกๆ ที่มีสัตว์เป็นตัวละคร จะสอนเรื่องอะไรก็แทรกไปในนิทาน เด็กๆ ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว

   เด็กๆ รู้ไหมวัวทำอะไรได้บ้าง ไถนา ให้น้ำนม เด็กๆ ชอบดื่มนมไหมคะ รู้ไหมทำไมเราต้องดื่มนม ดื่มนม ดื่มนมกันเถอะ ดื่มเยอะๆ ร่างกายแข็งแรง พาร้องเพลงในช่วงดื่มนมประจำวันเสียเลย     

   วัวกินอะไร พาไปสังเกตกันที่ข้างรั้ว อ้อ วัวกินหญ้า เอ๊ะ แล้วสัตว์อื่นๆ ล่ะ กินอะไร แล้วเด็กๆ ล่ะ กินอะไร ได้เล่าสู่กันฟังเรื่องอาหารการกิน ขยายไปเรียนรู้เรื่องผัก ผลไม้ ไกลไปถึงเรื่องสุขภาพร่างกายก็ยังได้นะ

   นี่แค่ยกตัวอย่าง ใช้วัวตัวเดียวเป็นสื่อในการเริ่มต้น โยงใยไปสู่เรื่องต่างๆ ตั้งแต่ใกล้ตัว ขยายออกไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเรียนรู้ได้ทุกเรื่องในโลก 

   คุยไป คิดไป ฟังไป ฉันเห็นแววตาของน้องครูสดใสแวววาวขึ้น เดาเอาเอง(ด้วยความยินดี) ว่าน้องคงเกิด ปิ๊งแวบ ขึ้นมาบ้างแล้วละ

   มะก่อเดือยต้นหนึ่ง ก็เหมือนวัวตัวหนึ่ง ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดสำหรับเด็กๆ อ๊ะ ไม่ใช่แค่เด็กหรอก ฉันคิดว่า เรากำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งเด็กๆ พ่อแม่ และครู

   จากต้นมะก่อเดือยบนดอยที่ทำให้เด็กๆ มีห้องเรียนกลางป่า มาถึงท่าข้าม สงขลา วัวหนึ่งตัวก็ทำให้ห้องเรียนใหม่ของเด็กๆ และครูเปิดที่ริมรั้วนี่เอง 

นันท์ธนัตถ์ จิตรประภัสสร

ผู้จัดการโครงการโรงเรียนพ่อแม่

ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

สรส.ภาคกลาง 

3 สิงหาคม 2549ท่าข้าม หาดใหญ่

หมายเลขบันทึก: 57102เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอสบับสนุนการทำงานของคุณ moonครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท