ติดต่อกันทางไหนดี


โรงพยาบาลปลาปากลองทำ blog แล้ว

เมื่อเราเริ่มทำ blog คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ช่วยส่ง e-mail และโทรศัพท์ถึงสมาชิกเพื่อประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้สมาชิกเข้ามาอ่านและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ด้วยธรรมชาติของ blog หรือเปล่า? ดิฉันไม่สามารถรู้ได้ว่ามีสมาชิกเข้ามาเยี่ยม blog มากน้อยแค่ไหน จะดูจาก comment ก็ไม่ได้คำตอบ เพราะคนที่อ่านอาจจะไม่มี comment ก็ได้และยังมีผู้ให้ comment น้อยมาก

โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจะมีเวทีให้สมาชิกร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันได้ 

การสื่อสารกันผ่าน blog น่าจะดี เพราะมีความรวดเร็วทันการณ์ แต่ดิฉันก็ไม่รู้ว่าสมาชิกของเราสะดวกที่จะใช้วิธีนี้ไหม คือต้องมีคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ต มีทักษะการใช้บ้าง ดิฉันพบว่าเมื่อเราส่ง e-mail ไปหาสมาชิก เราไม่ค่อยได้รับการตอบกลับ!

เราทั้งส่ง e-mail และโทรศัพท์หา จนสมาชิกบางท่าน comment ผ่าน blog ว่า "เหมือนแผนกทวงหนี้เลย" เราเลยเกรงใจ หาวิธีใหม่ดีกว่า

ทีมงานคุยกันและสรุปว่าควรสอบถามสมาชิก จึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังสมาชิก ๓๗ คน เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ถามความคิดเห็นว่าควรจะมีการติดต่อสื่อสารกันทางไหนดี สมาชิกจึงจะสะดวกและได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึง คำถามมีทั้งหมด ๖ ข้อคือ
               ๑. ปกติท่านใช้งานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต บ่อยแค่ไหน
               ๒. ท่านมีปัญหาในการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตหรือไม่
               ๓. หลังจากที่ท่านเข้าร่วมกิจกรรม "ตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน" แล้ว ท่านได้เข้าไปเยี่ยมชม Blog และ Website ใดบ้าง
               ๔. ในฐานะที่เป็นสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ช่องทางการติดต่อสื่อสารที่สะดวกสำหรับท่านคืออะไรบ้าง
               ๕. ประเภทข้อมูล เรื่องราว หรือข่าวสารที่ท่านต้องการให้มีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ
               ๖. ข้อเสนอแนะอื่นๆ

รอคำตอบจนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ ได้รับแบบสอบถามคืนจำนวน ๑๖ ฉบับ คุณสุภาพรรณได้สรุปคำตอบดังนี้
๑. สมาชิกจำนวน ๙ คน ใช้งานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนานๆ ครั้ง เช่น เดือนละ ๑-๒ ครั้ง โดยจะใช้เมื่อต้องการค้นหาข้อมูล สมาชิก ๔ คน ใช้สัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง และสมาชิก ๓ คน ใช้สัปดาห์ละครั้ง

๒. สมาชิกจำนวน ๑๑ คนมีปัญหาในการใช้อินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่คล่อง ไม่มีอินเตอร์เน็ตในห้องทำงาน ไม่มีเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ไม่พอเพียงกับการใช้งาน ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่บ้าน ไม่มีเวลา เข้าระบบยาก เป็นต้น แต่น่าดีใจที่สมาชิกที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช จังหวัดอยุธยาได้แจ้งมาด้วยว่าโรงพยาบาลกำลังดำเนินการติดตั้ง Internet online ทุกแผนก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สะดวกขึ้น

๓. หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม "ตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน" แล้ว มีสมาชิกจำนวน ๑๐ คนตอบว่ายังไม่ได้เข้าเยี่ยมชม Blog หรือ Website ใดๆ เลย เนื่องจากไม่มีเวลา และไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตที่สะดวกต่อการใช้งาน สมาชิก ๔ คน ได้เข้าเยี่ยมชม http://dmcop.blogspot.com และ http://www.kmi.or.th และสมาชิก ๓ คน ได้เข้าเยี่ยม http://blog-for-thai-km.blogspot.com สมาชิก ๑ คนได้เข้าเยี่ยมชม http://Gotoknow.org ซึ่งเป็นที่อยู่ใหม่ของเครือข่าย

๔. สมากชิกคิดว่าช่องทางที่สะดวกสำหรับการติดต่อสื่อสารสำหรับตนเอง มีดังนี้
               ๔.๑ จดหมายข่าว มีสมาชิกเลือกจำนวน ๑๕ คน โดยจัดลำดับดังนี้
                     - สะดวกเป็นลำดับแรก จำนวน  ๑๑  คน
                     - สะดวกเป็นลำดับที่สอง  จำนวน  ๔  คน 
               ๔.๒ ติดต่อทาง e-mail มีสมาชิกเลือกจำนวน ๑๕ คน โดยจัดลำดับดังนี้
                    - สะดวกเป็นลำดับแรก จำนวน ๒  คน
                    - สะดวกเป็นลำดับที่สอง จำนวน ๗  คน
                    - สะดวกเป็นลำดับที่สาม จำนวน ๖  คน 
               ๔.๓ ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่าน http://dmcopspot.com มีสมาชิกเลือกจำนวน ๑๔ คนโดยจัดลำดับดังนี้
                    - สะดวกเป็นลำดับแรก จำนวน ๑  คน
                    - สะดวกเป็นลำดับที่สอง  จำนวน ๕  คน  
                    - สะดวกเป็นลำดับที่สาม จำนวน ๘  คน 
               ๔.๔ อื่น ๆ ได้แก่ การติดต่อผ่านโทรศัพท์ และ CD ROM

๕. ประเภทของข้อมูล เรื่องราว หรือข่าวสารที่สมาชิกต้องการให้มีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ (ลอกมาตามที่เขียนเลย)        

 - การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจากสถานที่ต่างๆ เพื่อมาประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง
 - หน่วยงานที่มีการดุแลผู้เป็นเบาหวานอย่างประสบความสำเร็จ วิธีการจัดการ ปัญหา เป็นต้น
 - รูปแบบการดูแลเบาหวานจากที่อื่นๆ
 - เรื่องเล่าทุกระดับ (ชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชน รพ.ชุมชน รพท. รพศ. มหาวิทยาลัย) เกี่ยวกับการประยุกต์ การนำไปใช้จริง
 - ประสบการณ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ที่ได้จากสถานที่ทำงานสาธารณสุขในระดับต่างๆ
 - ประสบการณ์ในการทำงานเบาหวานของคนที่ "ปิ๊งๆ" ในบางเรื่องที่อยากเผยแพร่
 - ความก้าวหน้าของเบาหวาน
 - การพัฒนา วิทยาการทางการแพทย์ใหม่ๆ ในการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวาน
 - องค์ความรู้เกี่ยวกับการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน
 - ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้เป็นเบาหวาน
 - ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ หรือรูปแบบที่น่าสนใจในการดุแลผู้ป่วยเบาหวาน
 - นโยบายของรัฐ กระทรวง ในการดูแลผู้เป็นเบาหวาน
 - การจัดอบรม ข่าวสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมจากการจัดอบรมของหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ
 - การจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับเบาหวานทั่วไปและต่างประเทศ
 - การดำเนินงานและความก้าวหน้าของงาน
 - ข่าวความรู้เรื่องเบาหวาน
 - เอกสารจดหมายข่าว จดหมายข่าวเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
 - เอกสารสิ่งพิมพ์

๖. ข้อเสนอแนะอื่นที่ได้รับจากสมาชิก เป็นคำชม (ไม่มีติ) คือเป็นการแลกเปลี่ยนการทำงานที่ดีมาก  ได้รับประโยชน์จากเครือข่ายฯ ที่จะนำมาพัฒนางานอย่างมาก

ข้อมูลที่น่ายินดีซึ่งมาพร้อมแบบสอบถามคือคุณสุพัฒน์ สมจิตรสกุล โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม ได้ทดลองทำ blog ใน http://DMPLAPAK.blogspot.com แล้ว (ดิฉันลองเข้าแล้วยังหาไม่เจอ จะติดต่อคุณสุพัฒน์อีกที)

ดิฉันอยากให้สมาชิกโรงพยาบาลอื่นๆ ลองเขียนบันทึกลงใน blog ของตนเองบ้าง ระหว่างที่สมาชิกหลายท่านยังมีความไม่สะดวกบางอย่างอยู่ขณะนี้ ทางทีมงานจะออก "จดหมายข่าว" เพื่อให้สมาชิกได้รู้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของเครือข่าย ขณะนี้คุณสุภาพรรณกำลังออกแบบและเตรียมต้นฉบับ คาดว่าจะออกได้ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป (แต่ต้องบอกก่อนว่าเนื้อหามีน้อยกว่าใน blog มาก) เนื้อหาจะมีอะไรบ้างนั้น เราจะดูตามความต้องการที่สมาชิกแจ้งมาค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๘

คำสำคัญ (Tags): #เครือข่าย
หมายเลขบันทึก: 571เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2005 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท