Workshop KM : กาดนัดของดี..คนลุ่มน้ำกวง ครั้งที่ ๑


             วันที่ ๓๐-๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา เป็นโอกาสอันดีเหลือเกินที่ดิฉันได้เข้าร่วม เวที “กาดนัดของดี..คนลุ่มน้ำกวง ครั้งที่ ๑”  ณ สวนบัวรีสอร์ท แอนด์ สปา เชียงใหม่  เวทีนี้จัดโดยสถาบันสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และสำนักประสานงานวิจัยเชิงบูรณาการ ม.แม่โจ้   ผู้เข้าร่วมคือ แกนนำชุมชน (ประธาน อบต., รองประธาน อบต., และ พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้าน) จำนวน ๒๗ คน ซึ่งเป็นเครือข่าย ๖ ตำบล บริเวณลุ่มน้ำกวง คือ ต.เทพเสด็จ, ต.ห้วยแก้ว, ต.ลวงเหนือ, ต.เชิงดอย, ต.บ้านโป่ง และ ต.ป่าเมี่ยง 


            
  ก่อนไปเวทีนี้ ดิฉัน ทราบข่าวจาก พี่ปาน ณ ขอ สรส. ว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่น่าสนใจเวทีหนึ่งเพราะเป็นการรวมตัวของแกนนำเครือข่ายลุ่มนำกวง รูปแบบการดำเนินงานเหมือนตลาดนัด (ความรู้) ที่มีการซื้อขาย ของดีของแต่ละตำบล และจะถ่าย VDO เก็บไว้ด้วย ..........จากข้อมูลที่ได้รับทำให้ดิฉันอยากไปเรียนรู้รูปแบบ กระบวนการ ของเวทีนี้ และสิ่งจูงใจที่สำคัญคือเป็นเวทีที่ คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ. สรส. มาร่วมด้วย เพราะมักได้ยิน พี่ๆ ใน สคส. ชื่นชมถึงการจัดกระบวนการจัดเวที KM ในรูปแบบที่หลากหลายและไร้กระบวนท่า ไม่ยึดติดเวลา...ทำไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ เพราะการเรียนรู้ KM ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ..........ด้วยความกระหายใคร่รู้ เรียนรู้ และอยากเห็นรูปแบบการทำงาน... ดิฉันจึงขออนุญาต อ.วิจารณ์ ไปเข้าร่วมเวทีนี้
 กำหนดการที่ได้รับนั้น…เป็นกำหนดการที่ไม่ระบุเวลาว่ากิจกรรมแต่ละช่วงนั้นใช้เวลาเท่าไรมีแต่เพียงว่า..ตอนเช้า ลงทะเบียน กล่าวต้อนรับ กิจกรรมผ่อนคลาย เล่าสู่กันฟัง “การเตรียมตลาดนัดความรู้”..........บ่าย  เล่าสู่กันฟัง “สินค้าเด่นแต่ละตำบล” เดินดูสินค้า............และก็ทราบจากพี่ๆ สคส. ว่ากำหนดการของ คุณทรงพล ก็เป็นอย่างนี้แหละ...และจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ณ ขณะนั้น
 แล้วก็เป็นจริงเช่นนั้น....ในวันแรกกว่าผู้เข้าร่วมจะมากันครบก็ประมาณ ๑๐ โมง ครึ่ง  กิจกรรมตลาดนัดจึงเริ่มต้นในตอนบ่าย.....ซึ่งในแต่ละตำบลนำของดีมาดังนี้


            ก่อนพักกลางวัน คุณทรงพล ได้กล่าวว่า เราจะทำอะไรต้องรู้จักตัวเอง รู้จักชุมชน ว่าเรามีอะไรดีๆ เยอะ เพราะเรามักจะมองของดีภายนอกชุมชน   เวทีนี้ทำให้เราตระหนักและเห็นของดีในชุมชน  การคุยในวันนี้จึงเป็นการคุยแบบชื่นชมที่นำไปใช้ได้..ไม่ใช่ชื่นชมอย่างเดียว................กิจกรรมในตอนบ่ายเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจาก ต.ห้วยแก้ว ที่นำของดีมาคือ ธนาคารหมู่บ้าน อยู่ได้เพียงวันเดียว  คุณทรงพล จึงให้นำเสนอธนาคารหมู่บ้านโดยให้ผู้เข้าร่วมอื่นๆ ลองซักถามให้ได้ข้อมูลซึ่งให้ซักแบบที่เราจะนำกลับไปทำจริงๆ ในชุมชนของตน…..ระหว่างนำเสนอนั้นสังเกตเหมือนกับว่าผู้เข้าร่วมไม่ตั้งใจฟัง ฟังแบบเผินๆ ไปงั้นๆ .....คุณทรงพล จึงให้แบ่งผู้เข้าร่วมเป็น ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มให้ตอบคำถาม ๑ ข้อ คือ กลุ่มที่ ๑ ธนาคารห้วยแก้ว มีวิธีการอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จ  กลุ่มที่ ๒ และ ๔ ธนาคารห้วยแก้ว ประสบความสำเร็จเพราะอะไร และกลุ่มที่ ๓ มีปัญหาและอุปสรรคอะไรถ้าจะทำธนาคารหมู่บ้าน .......จากการตอบคำถามดังกล่าวทำให้เรียนรู้ว่าลักษณะภายนอกที่ดูเหมือนไม่ตั้งใจฟัง แต่แท้จริงแล้วเค้ากำลังตั้งใจฟังอยู่.........


               กิจกรรมวันที่ ๒ ให้ผู้เข้าร่วมจับคู่ซื้อ-ขาย ของดีกันเป็นรายบุคคล ๑ : ๑ โดยใช้วิธีการซักถามตามที่ได้ทดลองทำในวันแรก  แล้วให้ผู้เข้าร่วมแต่ละตำบลมาหารือกันเองว่าจะสนใจซื้อสินค้าอะไรหลังจากที่ได้จับคู่ซื้อ-ขาย  จากนั้นนำเสนอในกลุ่มใหญ่ถึงเหตุผลและประโยชน์ในการเลือกที่จะทำของดีนั้นในหมู่บ้านของตน...........ในตอนแรกมีผู้เข้าร่วมบางคนไม่ยอมจับคู่ ซื้อ-ขาย รายบุคคล เพราะอยากนำเสนอในวงใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากผู้เข้าร่วมเตรียมตัวมาเพื่อนำเสนอของดีชุมชนอย่างเต็มที่และอยากโชว์ในกลุ่มใหญ่มากกว่าคุยกันเพียง ๒ คน ประกอบกับการจับคู่บางคู่ไม่เป็นไปตามที่สนใจเพราะของดีที่อยากเรียนรู้ถูกจับคู่ไปแล้ว       คุณทรงพล จึงชี้แจงว่าเวทีนี้เป็นการนำเสนอประชุมในอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากการประชุมเดิมที่ผู้เข้าร่วมเคยปฏิบัติ  ให้ลองเปิดใจประชุมด้วยวิธีนี้ดู และเมื่อได้ทดลองทำแล้วจึงมาดูผลว่าการประชุมแบบนี้ดีหรือการประชุมแบบเดิมดี.........และแล้ว...ผู้เข้าร่วมก็ชื่นชอบกับการ ลปรร. แบบนี้และให้ความเห็นว่าการได้ ลปรร. ในสิ่งที่ตนไม่สนใจนั้นทำให้ได้เรียนรู้วิธีการ เรื่องราวใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน มีมุมมองที่กว้างขึ้น..................
คุณทรงพล ให้แง่คิดว่า การเรียนรู้เริ่มต้นจากความสนใจ แต่เราต้องสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่ชอบได้ด้วย  ผู้นำต้องเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นจะปิดกั้นความต้องการของชาวบ้าน

          การดำเนินการประชุมครั้งนี้แทบจะไม่เป็นไปตามกำหนดการเลย  แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับเป็นที่น่าพอใจและเกินคาดหวัง  สิ่งหนึ่งที่ดิฉันสังเกตเห็นคือการทำงานเป็นทีม เพราะกิจกรรมมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอตามสถานการณ์จริง แต่ทีมงานก็สามารถทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี ทำให้การดำเนินงานไม่สะดุดหรือติดขัดเลย.......
 

หมายเลขบันทึก: 57062เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท