หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ว่าด้วย "พี่เลี้ยง" ในระบบและกลไกกลางหน่วยวิจัยรับใช้สังคมใน มมส


ระบบและกลไกจากส่วนกลาง พยายามนำพาข้อมูล หรือชุดความรู้ที่มีอยู่ในระบบ (ฐานข้อมูล) ส่งต่อให้กับอาจารย์ หรือนักวิชาการต่างๆ ได้พิจารณาเป็นประเด็นในการที่จะขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็น “เนื้อหา” และ “พื้นที่”

ตลอดระยะเวลาสองปีที่ศึกษาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาระบบและกลไกการจัดตั้งหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ผ่านงานบริการวิชาการ (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งมีศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการเพื่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.มหาสารคาม เป็นผู้ประสานงานร่วมขับเคลื่อน ทำให้ค้นพบแนวทางการทำงานที่สำคัญๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบและกลไกของการเป็น “พี่เลี้ยง"


ในระยะแรกเริ่มเห็นได้ชัดว่าระบบและกลไกของส่วนกลางในมหาวิทยาลัย (กองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ) ยังไม่สามารถขยับพลังเชิงรุกได้อย่างเต็มที่ เป็นต้นว่า ยังไม่สามารถสังเคราะห์ "ข้อมูล-ความรู้" จากงานวิจัย งานบริการ งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่กลับออกมา "สื่อสารสร้างพลัง" ต่อนักวิชาการได้

รวมถึงการไม่มี "เครือข่าย" ภาคชุมชนรองรับการศึกษาวิจัยอย่างหลากหลาย หรือแม้แต่ไม่มีความพร้อมในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับอาจารย์ หรือนักวิชาการต่างๆ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งในมหาวิทยาลัยและในพื้นที่อันเป็นชุมชน และท้องถิ่น


ข้อจำกัดดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ภาพสะท้อนความล้มเหลวของบุคลากรในระบบและกลไกจากส่วนกลาง หากแต่เป็นภาพสะท้อนที่สื่อให้เห็นถึงยุคสมัยแห่งการเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้" หรือ “สังคมฐานความรู้" ที่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนหมุนอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวของบุคลากรในองค์กรจึงอาจต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและตื่นตัวด้วยตนเอง หรือกระทั่งระบบต้องเข้าไปสร้างกลไกให้บุคลากรได้ตื่นตัวเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้ตกยุคสมัย หรือตกขบวนแห่งวาระองค์กรที่ตนเองกำลังทำงาน (ใช้ชีวิต)

ยิ่งกรณีที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้การนำของ รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต (อธิการบดี) ได้ประกาศเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ยิ่งชี้ชัดว่าหน่วยงานที่กุม "ฐานความรู้และงบประมาณ" ในเรื่องเหล่านี้ต้องทำงานมากกว่าที่ผ่านมา มิเช่นนั้นคงยากต่อการเป็นระบบและกลไกของการขับเคลื่อนหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือหน่วยที่ทำงานเกี่ยวกับงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมได้อย่างจริงๆ จังๆ มิเช่นนั้นนักวิชาการที่ทำงานแนวนี้คงเหนื่อยมหาศาล และเป้าหมายของการศึกษาเพื่อการรับใช้สังคมก็คงกลายเป็นแค่วาทกรรมชวนฝันเหมือนที่ผ่านมา


ด้วยข้อจำกัดทั้งปวงนั้น เป็นความโชคดีที่คณะกรรมการบริหารโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ได้พยายามสร้างระบบและกลไกเช่นนี้ขึ้นมารองรับ เป็นการทำงานด้วย “ใจ" (ใจนำพา ศรัทธานำทาง,จริงจัง จริงใจ) อันหมายถึง เปิดใจเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน (ทำไปเรียนรู้ไป) เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มพี่เลี้ยง (CBR) ที่เป็นนักวิชาการเครือข่าย สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับบุคลากรประจำในกองส่งเสริมการวิจัยฯ กองกิจการนิสิต รวมถึงทีมผู้รับผิดชอบงานวิจัยเรื่องระบบและกลไกฯ ซึ่งทั้งปวงนั้นเน้นหลักคิดของการทำงานและเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง และเน้นย้ำถึงบทบาทของระบบและกลไกส่วนกลางที่ต้องเป็น “พี่เลี้ยง" และ “คลังความรู้" หนุนเสริมนักวิชาการที่ก้าวเข้ามาทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น...


ด้วยแนวคิดหลักของการทำงานเช่นนั้น ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา จึงพอจะมองเห็นภาพของการทำงานที่น่าชื่นชมและเป็นรูปธรรมอยู่บ้าง กล่าวคือ ระบบและกลไกจากส่วนกลาง พยายามนำพาข้อมูล หรือชุดความรู้ที่มีอยู่ในระบบ (ฐานข้อมูล) ส่งต่อให้กับอาจารย์ หรือนักวิชาการต่างๆ ได้พิจารณาเป็นประเด็นในการที่จะขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็น “เนื้อหา" และ “พื้นที่" โดยล่าสุดการนำเสนอประเด็นเชิงพื้นที่นั้น นอกจากการสกัดข้อมูลจากระบบและกลไกกลางออกมาเผยแพร่แล้ว ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่จากเครือข่าย สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาสะท้อนข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานให้เป็นระบบ รวมถึงการสะท้อนให้เห็นถึง “เครือข่าย" การทำงานในระดับพื้นที่ที่พร้อมเกื้อหนุนกระบวนการทำงานของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฯ




ในทำนองเดียวกันนี้ กรณีที่นักวิชาการบางท่านทั้งที่เป็น “มือใหม่" และมี “ประสบการณ์" อยู่แล้วมีความประสงค์ให้ทีมทำงานจากระบบและกลไกกลาง (พี่เลี้ยง) ได้แนะนำพื้นที่ หรือการลงพื้นที่ร่วม “พัฒนาโจทย์" ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ทีมงานไม่อาจละเลยไปได้ ซึ่งต้องร่วมหนุนเสริมกระบวนการเหล่านั้นอย่างเต็มใจและเต็มกำลัง โดยให้ถือว่านั่นคืออีกหนึ่งเวทีของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เป็นการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง เติมเต็มศักยภาพตนเองไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ของนักวิชาการ ไม่ใช่นั่งติดยึดอยู่แต่กับ “เก้าอี้" ในสำนักงาน


กระบวนการเล็กๆ บนฐานคิดเช่นนี้ ได้สื่อให้เห็นถึง “ระบบและกลไกจากส่วนกลาง" ที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยต้องสามารถนำฐานข้อมูล-ชุดความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมายออกมาสื่อสารสร้างประโยชน์ต่อนักวิชาการเพื่อนำไปขยายผลต่อ เช่นเดียวกับการทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง" ที่พร้อมร่วม “ชะตากรรม" ไปกับนักวิชาการที่กำลังขับเคลื่อนงานต่างๆ เสมอเหมือนการยืนยันให้รับรู้ร่วมกันว่า “ไม่มีใครถูกปล่อยปละละเลยให้ทำงานอย่างเดียวดาย" ทุกอย่างเรียนรู้ไปด้วยกัน “ทำไป เรียนรู้ไป"
... ส่วนห้วงเวลาจะอำนวยช่วยเกื้อหนุนได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ ต้องไม่อิดออดที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้และหนุนเสริมร่วมกับนักวิชาการที่ทำงานในแต่ละโครงการฯ




ครับ- นี่คืออีกระบบและกลไกเล็กๆ ที่พอจะมองเห็นภาพอันเป็นทิศทางการทำงานของศูนย์ฯ ที่จะมีขึ้นในอนาคต เป็นศูนย์แห่งข้อมูลและสารสนเทศที่สามารถบ่งชี้ชุดความรู้ และพื้นที่ของการทำงาน หรือแม้แต่เครือข่ายเชิงบุคคล-ภาคีต่างๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน อันเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของการยืนยันถึงความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมฐานความรู้ และนำข้อมูลความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่จัดเก็บเป็นห้องสมุดปิดตาย ทั้งคนในและคนนอกไม่สามารถหยิบจับมาใช้ประโยชน์ได้..

เช่นเดียวกับระบบและกลไกของการเป็นพี่เลี้ยงจากส่วนกลาง ซึ่งเมื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ หรือหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมต้องทำหน้าที่มากกว่าการติดยึดอยู่แต่เฉพาะกับเก้าอี้และสำนักงาน เมื่อมีกิจกรรมที่ไม่ทับซ้อนกับภารกิจประจำ (หน้างาน) ก็ควรต้องพาตัวเองออกสู่ชุมชน ทั้งเพื่อเรียนรู้และเพื่อการหนุนเสริมเหล่าบรรดานักวิชาการอย่างเต็มที่ เพื่อก่อให้เกิดวงจรการเรียนรู้ที่มีชีวิต และมีพลังร่วมกัน –

เพราะการลงพื้นที่ดังกล่าว อย่างน้อยหากไม่นับถึงประสบการณ์และความรู้ภาคสนาม หรือความรู้ในเรื่องที่ขับเคลื่อนจากหลักสูตรของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฯ ย่อมได้เรียนรู้ถึงความวิถีชีวิตชาวบ้าน ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน สถานการณ์ปัจจุบันของระบบสังคมในชุมชน หรือแม้แต่เครือข่ายการทำงานที่สามารถเชื่อมโยงและขยายผลในวาระอื่นๆ โดยปริยาย


...

ภาพประกอบจากเวทีการร่วมลงพื้นที่พัฒนาโจทย์
ณ บ้านกุดหัวช้าง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม


หมายเลขบันทึก: 570514เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2014 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบใจการทำงานในพื้นที่ ที่มีหลายๆฝ่ายทำร่วมกันครับ

ต่อไปจะเกิดการเรียนรู้ทั่วพื้นที่

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ครับ  การทำงานในพื้นที่ ทุกๆ เรื่องมุ่งเน้นฐานคิด "เรียนรู้ร่วมกัน" หรือ "ลปรร.: แลกเปลี่ยนเรียนรู้"  นั่นเอง  โดยเฉพาะกับชุมชนนั้น  การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การรู้สึกเป็นเจ้าของที่จะดุแล บริหารจัดการด้วยตนเองเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายนักวิชาการอย่างเราๆ ท่านๆ เป็นอย่างมาก   เพราะหลายๆ ชุมชนคุ้นชินกับวัฒนธรรมที่รัฐไปปลุกสร้างไว้คือการ "รอรับ" ...

เช่นเดียวกับวันนี้ มมส  เดินหน้าเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้คู่บริการโดยใช้ชุชนเป็นฐาน-ห้องเรียน  ผ่านงานบริการวิชาการ  ซึ่งโจทย์ที่เราต้องพัฒนาไปด้วยกันก็คือพัฒนาคนในระบบของมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพ และเป็นศูนย์กลางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เกื้อหนุนต่ออาจารย์-ชุมชน  ครับ...

ขอบพระคุณอีกครั้งนะครับที่มาให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ

... ชุมชน มีปราชญ์ พื้อนบ้านอยู่แล้ว นะคะ  .... ควรดึงความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ นะคะ .... 


ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

ครับ อ.Dr. Ple

ทุกๆ กระบวนการ ทุกๆ โครงการที่ลงสู่ชุมชน
เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน
บูรณาการระหว่างภูมิปัญญาจากชุมชน  กับวิทยากรใหม่ๆ อันเป็นเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย
ตอนนี้ กำลังคิดที่จะทำระบบฐานข้อมูลภูมิปัญญารายรอบมหาวิทยาลัยฯ
เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการสืบค้น พัฒนาร่วมกันในทุกภาคฝ่าย ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท