"หลักคิด" ในการ "ประเมินโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"


ผมมีประสบการณ์การประเมินโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่มาก และไม่เคยเป็นคณะกรรมการการประเมินดังกล่าวเลย เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เพียง ๓ ครั้ง  แต่การ "สังเกต" และ "ติดตาม" และ "ตามติด" ประธานกรรมการประเมินฯ ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายต่อหลายอย่าง ภายในเวลาอันสั้น และมั่นใจว่า "หลักคิด" ที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ "ไม่ผิด" จาก "วิธีคิด" ของกรรมการฯ ...

"หลักคิด" ในการขับเคลื่อน 

การขับเคลื่อนฯ ควรดำเนินการจาก "ภายใน" ไปสู่ "ภายนอก"   คำว่า "ภายใน ไปสู่ ภายนอก" อาจหมายถึง "ตนเอง ไปสู่ ผู้อื่น " หรือ "เริ่มที่ใจไปสู่การกระทำ"  สุดแล้วแต่ท่านจะตีความ แต่ในที่นี้ ผมหมายถึง การเริ่มที่

๑) การทำความเข้าใจกับ "หลักคิด" คือ ปศพพ. ให้ถูกต้อง

๒) นำ "หลักคิด" นี้ไปประยุกต์ใช้กับ "การกระทำ" หรือ "เรื่องที่จะทำ" เบื้องต้นน่าจะเป็น "แผนการ" "แผนงาน" หรือ "วิธีการ" หรือ "ขั้นตอนการทำ"  หรือเรียกให้ดูดีคือ ได้ "วิธีปฏิบัติ" หรือ "แนวปฏิบัติ" เมื่อ "ปฏิบัติ" และ "พัฒนา" พอสมควร จะได้ "แนวปฏิบัติที่ดี" (อันนี้เป็น "ความรู้ฝังลึก" (Tacit Knowledge) ใน KM)

๓) เมื่อมี "แนวปฏิบัติที่ดี" ของตนเอง  ทำบ่อยๆ ทำจนเกิดทักษะ จะ "ตกผลึก" เป็น "ทฤษฎี" ด้วยใจของตนเอง สามารถบอก "หลักปฏิบัติ" สามารถบอก "วิธีลัด" "วิธีอ้อม" เหมือนๆ กับที่ "ครูสอนว่ายน้ำ" หรือ "ครูสอนขับรถ" ทำได้

๔) แน่นอนว่า หากทำถึงขั้นบอก "หลักปฏิบัติ" ได้ ย่อมหมายถึง ได้เกิดผลสัมฤทธิ์หรือ "ผลลัพธ์" กับตนเองแล้ว  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ "เกษตรทฤษฎีใหม่" ที่ในหลวงพระราชทานให้เกษตรกร ถือเป็น "หลักปฏิบัติ"  สังเกตว่า จะเกิดความ "ภูมิใจ" อยากบอกต่อ อยากแบ่งปัน เพราะเห็นว่าดี มีประโยชน์

๕) ขั้นสุดท้าย จึงทำการ "ขยายผลสู่ผู้อื่น"

"หลักคิด" ในการประเมินโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ

การประเมินฯ ร.ร.ศูนย์ฯ ที่ผมเข้าใจ จะสวนทางกับวิธีที่ใช้ในการขับเคลื่อน จะประเมินจาก "ภายนอก เพื่อจะบอก ภายใน" ... เช่นเดียวกัน ท่านอาจตีความว่า ไปถาม "คนอื่น" หรือดูเพื่อจะได้รู้จัก "ตนเอง" หรือดูลักษณะของใจ หรือ "อุปนิสัย" จาก "การกระทำ"  แต่ในที่นี้ หมายถึง การเริ่มที่

๕) ดูจาก "ผลการขยาย" "หลักปฏิบัติ" หรือ "หลักคิด" สู่ผู้อื่นเช่น โรงเรียนอื่น หรือชุมชน ฯลฯ นั่นหมายถึง โรงเรียนที่พร้อมรับการประเมิน ควรจะมี "หลักปฏิบัติในการขยายผล" ของตนเอง มีโรงเรียนเครือข่ายที่ได้รับการขยายผลจนสำเร็จจนเป็นโรงเรียนสถานศึกษาพอเพียง เป็นต้น  ...  กล่าวสั้นๆ คือ โรงเรียนที่พร้อมรับการประเมินจะต้องมี "ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ" ในการ "ขยายผล"

๔) ดูที่ "ผลลัพธ์" ของการขับเคลื่อนฯ ภายในโรงเรียน หมายถึง ดูที่นักเรียนว่า เกิดอุปนิสัย "พอเพียง ด้านการศึกษา" หรือไม่? หากใช่ ในปริมาณที่กำหนดตามเกณฑ์ ก็ถือว่าผ่าน ส่วนที่เหลือคือหาร่องรอย หลักฐาน เพื่อ "จัดการความรู้" ขยายผลต่อไป

๓) ศึกษา "หลักปฏิบัติ" และ  ค้นหา "ปัจจัยแห่งความสำเร็จ"

๒) ศึกษา "แนวปฏิบัติ" หรือ "วิธีการขับเคลื่อน" เพื่อค้นหา "แนวปฏิบัติที่ดี" หรือ "BP" ในแต่ละด้าน

๑) แลกเปลี่ยน "หลักคิด" ในการน้อมนำ "ปศพพ." ไปใช้ในแต่ละด้าน  แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน

อย่าลืมว่า ที่ผมเสนอและอธิบายมานี้เป็น "หลักคิด" ไม่ใช่ "หลักปฏิบัติ" ในการประเมินฯ ดังนั้น หมายเลขจึงไม่ได้หมายถึงลำดับ "ก่อน-หลัง" ใดๆ

หมายเลขบันทึก: 570101เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2014 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2014 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท