เรื่องของเท้า ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก


กำลังจะมีการจัดตั้ง "ชมรม Wound Care"

การบรรยายพิเศษและ Foot Conference เรื่องการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน (ลิงค์) ที่ รพ.เทพธารินทร์ในบ่ายวันนี้ มีผู้ให้ความสนใจอย่างคึกคัก ตามรายชื่อที่ลงทะเบียนจำนวน ๑๔๐ คน มีทั้งแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ทางศัลยกรรมตกแต่ง พยาบาล นักกายภาพบำบัด ที่น่าดีใจคืออาจารย์แพทย์อาวุโสหลายท่านได้มาร่วมประชุมด้วย

หลังรับประทานอาหารกลางวัน เวลา ๑๒.๓๕ น. ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสั้นๆ หลังจากนั้น Dr.Gerit Mulder บรรยายภาพรวมและหลักการในเรื่องของ Wound Management ตามด้วย Dr.Daniel Lee บรรยายลงลึกในเรื่องของ Surgical Reconstruction ซึ่งมีหลายวิธีที่ช่วยแก้ไขความผิดปกติของเท้าและรักษาเท้า

วิทยากรได้ย้ำความรู้เล็กๆ แต่สำคัญ เช่น เวลาตรวจเท้า ต้องตรวจรองเท้าด้วย เท้าและรองเท้ามีความสำคัญทั้งคู่ ตามปกติคนมักต้องการรองเท้าที่สวย แต่ถ้าเลือกรองเท้าไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลได้ ผู้ป่วยที่เท้าสูญเสียการรับความรู้สึกไม่ควรเดินเท้าเปล่าเลย การเกิดแผลที่เท้า พบบ่อยว่าเกิดจากการเดินในบ้านนั่นเอง ฯลฯ

ฟังจากเนื้อหาการบรรยายและดูภาพประกอบแล้ว เห็นได้ว่าการดูแลรักษาเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะที่มีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน (และน่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก) ผู้ป่วยที่มีแผล ไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องแผลที่เห็นๆ อาจมีอะไรมากกว่านั้นอีก เช่น bone dislocation, fracture, osteomyelitis etc. ถ้าไม่เข้าใจมัวรักษาแต่แผล อาจไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยได้ ซ้ำร้ายอาจรุกลาม เป็นอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก เรื่องของเท้ายังมีสิ่งที่น่าเรียนรู้อีกมาก

หลังการบรรยายเป็น Foot Conference ที่นำผู้ป่วยตัวจริงมา ๓ ราย และอีก ๒ รายเป็นการนำเสนอด้วย PowerPoint แต่ละรายที่มีปัญหา ต่างผ่านการรักษามายาวนานหลายสัปดาห์ บางรายก็หลายเดือน วิทยากรทั้ง ๒ ท่าน ได้ร่วมอภิปรายและให้ความเห็นเรื่องการดูแลรักษาด้วย มีผู้ร่วมให้ความเห็นและซักถามอีกหลายคน

เราใช้เวลาถึง ๑๖.๐๐ น.อาจารย์เทพกล่าวปิดงาน และแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่ากำลังจะมีการจัดตั้ง "ชมรม Wound Care" ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ ชมรมดังกล่าวจะประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ มีทั้งอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ศัลยแพทย์หลอดเลือด แพทย์ด้านกระดูก พยาบาล และอื่นๆ อาจารย์เทพบอกว่าการประชุมวันนี้ถือเป็นการ "จุดไฟ" ต่อไปก็ต้อง "ใส่ฟืน ยืนพัด" การทำงานให้เอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ถ้าเรายังไม่มีความรู้เพียงพอ ก็ต้องหาความรู้มาใส่ ต่อไปผู้ป่วยรายไหนมีปัญหาก็ส่งเข้ามาที่ชมรมแล้วหาคนมาช่วย 

ในอนาคตปัญหาเรื่องเท้าของผู้ป่วยเบาหวานคงจะมีมากขึ้นแน่ๆ จากวันนี้ดิฉันมองเห็นโอกาสในการพัฒนาอีกมาก

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๘

 

 บรรยากาศในห้องประชุม

 

 ขณะฟังการบรรยาย

 

 Foot Conference กรณีผู้ป่วยรายหนึ่ง

 Dr.Daniel Lee (ซ้าย) Dr.Gerit Mulder (ขวา)

หมายเลขบันทึก: 5698เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2005 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท