การใช้กิจกรรมเสริมตามความถนัดและสนใจของนักเรียนโครงการฯ


เมื่อ เด็กกลุ่มนี้ทำงานบรรลุตามเป้าหมาย เขาก็ควรจะได้รับรางวัลพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ต้องนั่งรอเพื่อนไปเรื่อย ๆ จนกว่าทุกคนจะสำเร็จพร้อมกัน

แหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.

                วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ครูนั่งวางแผนการสอนเพื่อเสริมเติมเต็มในหลาย ๆ สิ่งหลาย  ๆ อย่าง  โดยเฉพาะกับนักเรียนชั้น ม.๒/๒ที่เป็นนักเรียนโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์   เพราะจากการสังเกตพฤติกรรมในการทำงานที่ผ่านมา   พบความแตกต่างระหว่างนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาในการทำงาน และความสนใจใฝ่รู้ในการเรียนภาษาไทย 

                ที่ผ่านมา  เมื่อครูให้ทำกิจกรรมนักเรียนบางคนทำสำเร็จในเวลาที่รวดเร็ว  ซึ่งระหว่างคนที่ทำสำเร็จคนแรก คู่แรก  หรือกลุ่มแรก  จะทิ้งช่วงห่างกับ คน  คู่ หรือกลุ่มสุดท้ายประมาณ ๒๐ ๓๐ นาที เมื่อ เด็กกลุ่มนี้ทำงานบรรลุตามเป้าหมาย  เขาก็ควรจะได้รับรางวัลพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง  ไม่ใช่ต้องนั่งรอเพื่อนไปเรื่อย ๆ จนกว่าทุกคนจะสำเร็จพร้อมกัน   หรือจะให้เขาทำงานเพิ่มก็ใช่ที่  เพราะสมาธิและความสนใจของเขาก็มีเพียงเท่านั้นล่ะ   ที่เขาทำให้สำเร็จเขาก็หวังจะได้มีเวลาพักผ่อนในช่วงนั้น   แต่บางครั้งด้วยความเป็นเด็กก็อาจจะไปแหย่หรือพูดคุยรบกวนเพื่อนที่ยังทำไม่เสร็จ   หากนั่งคุยนั่งเล่น   คนที่ผ่านไปมาก็ไม่เข้าใจอีก  อาจจะคิดว่า  เด็กคนนั้นไม่สนใจการเรียนเลย  ทำไมครูไม่ดูแล  ซึ่งเขาคงไม่มาถามสาเหตุจากครูหรอก

                 ด้วยเหตุที่ครูชอบเล่นปริศนาอักษรไขว้จากหนังสือต่าง ๆ อยู่เสมอและได้พบเกมปริศนาเกมหนึ่งเป็น ปริศนาหาเหตุผล   ผู้เล่นต้องอ่านข้อความ  วิเคราะห์  สังเกต  หาข้อเท็จจริง  ในแต่ละรายการที่เขาให้ข้อมูลมา  แล้วหาข้อสรุปให้ได้ว่าข้อมูลที่ถูกต้องหรือคำตอบที่เขาต้องการนั้นคืออะไรบ้าง   กิจกรรมดังกล่าวครูมองเห็นว่าเป็นเกมภาษาที่ต้องอาศัยทักษะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเหมาะสมกับนักเรียนกลุ่มนี้  ครูจึงจัดทำเอกสารสำหรับนักเรียนเล่น  ๔ คน ต่อ ๑ ฉบับ    

                 เมื่อถึงเวลาเรียน  ครูสอนนักเรียนไปตามแผนที่กำหนดปกติ  โดยไม่บอกว่าครูมีกิจกรรมอะไรจะให้เล่น    เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ตามเนื้อหาที่กำหนด  และได้ทำกิจกรรมที่มอบหมาย  ๒ ข้อ  คือ  วิเคราะห์เนื้อหาโคลงสุภาษิตจำนวน  ๓ บท คือ  สามสิ่งที่เกลียด   สามสิ่งควรรังเกียจติเตียน  และสามสิ่งควรเคารพ  ครูให้นักเรียนวิเคราะห์โคลงแต่ละบทมีผลต่อผู้ที่ประพฤติ  ผู้ที่คบ  หรือสังคมอย่างไร   และให้นักเรียนศึกษาความงามด้านศิลปะการแต่งของโคลงทั้ง  ๓ บทว่า มีความงามอย่างไร   นักเรียนทำร่วมกันเป็นคู่ ๆ   คู่ใดทำเสร็จก่อน ก็จะได้นำเกมปริศนาหาเหตุผลไปเล่น   สำหรับบางคนที่เป็นผู้หญิงรู้สึกจะไม่ค่อยเข้าใจวิธีการเล่นตามคำอธิบายของเกม  ครูต้องยกตัวอย่างประกอบเสริมนักเรียนจึงเข้าใจ   จากการสังเกตพบว่านักเรียนยิ้มอย่างมีความสุข   คนที่ยังไม่เสร็จจากงานที่มอบหมายก็จะบอกว่า  อย่าเพิ่งแจกสิครู   ไม่ยุติธรรมเลย  เวลาในการเล่นก็ไม่เท่ากันสิ นี่ล่ะธรรมชาติของเด็กวิทย์ - คณิต  กลัวแพ้เพื่อนอย่างไรล่ะ   และแล้วทุกคนก็ทำงานที่มอบหมายสำเร็จก่อนเวลาและได้นำเกมไปเล่นทุกคน  แต่ละกลุ่มสุมหัวกันวิเคราะห์  แสดงความคิดเห็นอย่างมุ่งมั่นน่ารักมาก  แต่ยังได้คำตอบไม่ครบ  ซึ่งครูนัดหมายว่าจะมาเฉลยกันชั่วโมงหน้า   ไม่อยากจะบอกเลยว่าเกมนี้ครูทำไม่สำเร็จ  คงยากเกินกว่าครูภาษาไทยอย่างครูมั้ง ?

                 อย่างนี้เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนหรือเปล่าล่ะนี่

แหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.

หมายเลขบันทึก: 56970เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2006 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • แวะมาให้กำลังใจครับ
  • ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนคุณครูด้วยครับ
  • สมัยเป็นนักศึกษา

ขอบคุณค่ะ

ชื่นชมในความสามารถและรอบรู้ค่ะ

ดีใจที่จะมีที่ปรึกษาเรื่องวิจัยในชั้นเรียนค่ะ

สวัสดีคะ  หนูทำThesis เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมตามความถนัดและสนใจ  เรียนถามว่าคำจำกัดความของ  ความถนัดและสนใจ  ครูภาทิพพอจะนิยามให้หนูกระจ่างมากกว่านี้จะได้ไหมคะ
รบกวนสอบถามคำนิยามการใช้กิจกรรมตามความถนัดและสนใจได้ไหมคะ

คำนิยามไม่มีค่ะ   ก็ความหมายมันตรงตัวแล้วนี่

เด็กนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนโครงการคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์  คือเขาสนใจ รัก ชอบในวิชานี้  และสามารถเรียนรู้ในวิชานี้ได้ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท