หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ติดตามหนุนเสริม


เป็นการหนุนเสริมที่มีกลิ่นอายการจัดการความรักควบคู่ไปกับการจัดการความรู้ที่มุ่งให้เห็นถึงการทำงานอย่างเป็นทีม เรียนรู้ไปด้วยกัน ทำไปเรียนรู้ไป มีระบบเกื้อกูล แบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยเหมือนเครือญาติ

การบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามภายใต้ชื่อโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ไม่ได้มีจุดเด่นแต่เฉพาะเรื่องการบูรณาการภารกิจหลักทั้ง 4 ประการเข้าด้วยกันเท่านั้น (การเรียนการสอน > การบริการวิชาการ > การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม > วิจัย) หากแต่มีระบบและกลไกที่เป็นจุดเด่นอยู่หลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือ “ระบบและกลไกการหนุนเสริม”

ระบบและกลไกการหนุนเสริมดังกล่าวหมายถึงกระบวนการทำงานที่คณะกรรมการกลางระดับมหาวิทยาลัย (คณะกรรมการบริหารโครงการฯ) ได้ออกแบบรองรับกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมของแต่ละหลักสูตรในสองมิติใหญ่ๆ คือ (1) การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ (ชุมชน) และ (2) การขับเคลื่อนภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะหมายถึงการจัดอบรมเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล การถอดบทเรียน การจัดเวทีมหกรรมการเรียนรู้ การจัดทำสื่อ นวัตกรรมและฐานข้อมูล ฯลฯ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กระบวนการหนุนเสริมมิได้ถูกตีกรอบอยู่แต่เฉพาะการขับเคลื่อนข้างต้นเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงกระบวนการของการ “ติดตามความคืบหน้า” การดำเนินงานของแต่ละหลักสูตร หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปในกลุ่มคนทำงาน คือ “ติดตามหนุนเสริม” ด้วยเช่นกัน

เฉกเช่นกับล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557  ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ได้เรียนเชิญผู้รับผิดชอบหลักโครงการฯ ของแต่ละหลักสูตรที่ยังดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จมาพบปะพูดคุยและเล่าสู่กันฟัง



เน้นการเล่าเรื่องแบบเครือญาติ (บอกข่าวเล่าความ)

             เวทีดังกล่าวนี้ถึงแม้จะจำกัดด้วยโครงสร้างห้องประชุมที่เต็มไปด้วยโต๊ะ เก้าอี้และเครื่องเสียงก็เถอะ แต่ผมและทีมงานก็เน้นกระบวนการที่ไม่เป็นทางการ เน้นการบอกเล่าสู่กันฟังว่า “ทำอะไร ทำอย่างไร ทำถึงไหน ติดขัดปัญหาอะไร มีอะไรให้ช่วยเหลือ” โดยไม่บังคับกะเกณฑ์ว่าการบอกเล่าสู่กันฟังนั้นต้องนำเสนอด้วยสื่อ หรือหลักฐานต่างๆ รวมถึงการไม่กำหนดว่าใครต้องพูดก่อนพูดหลัง ทุกอย่างเน้นการ “เปิดใจ-เชื่อใจ” เสมือนเครือญาติมาบอกข่าวเล่าความถึงภารกิจชีวิต หรือปรับทุกข์ให้กันฟังก็ไม่ผิด

แน่นอนครับ เวทีเช่นนี้จริงๆ จะว่าไปแล้วก็คือจัดเวทีเพื่อ “กำกับติดตาม” หรือ “ประเมินผล” ดีๆ นั่นเอง เพียงแต่มุ่งเน้นวิธีการที่เป็นกันเอง เรียบง่ายเหมือนคนในครอบครัว หรือเครือญาติกำลังนั่งพูดคุย (โสเหล่) กัน เสมือนการตอกย้ำให้รู้ว่า “แต่ละหลักสูตรไม่ได้ดำเนินงานอย่างเดียวดาย “ หากแต่คณะทำงานจากส่วนกลางในระดับมหาวิทยาลัยฯ ยังคงเฝ้ามอง และหนุนเสริมพลังอยู่เนืองๆ มิใช่ปล่อยให้เผชิญชะตากรรมอยู่กลางป่า เหมือนลอยเคว้งอยู่กลางทะเลลึกที่มองยังไงก็มองไม่เห็นฝั่งอย่างที่เข้าใจ






บอกเล่าปัญหา (ข้อจำกัด)

             เวทีแห่งการบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวนี้ มุ่งให้แต่ละหลักสูตรได้สื่อสารความคืบหน้า หรือสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าทำงานถึงไหน ติดขัดอะไร และต้องการให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง ซึ่งในภาพรวมของแต่ละหลักสูตรนั้นได้สื่อสารและสะท้อนถึงปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่ทำให้ขับเคลื่อนล่าช้า 2 ประการใหญ่ ๆ ดังนี้

            (1)     ข้อจำกัดในระดับชุมชน หรือท้องถิ่น โดยปัญหาที่พบมากที่สุดจนก่อให้เกิดความล่าช้าของการดำเนินงาน ประกอบด้วยปัญหาสำคัญๆ คือ อยู่ในช่วงของการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งในระดับผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงองค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต)    และเทศบาลตำบล ซึ่งทำให้อาจารย์และนิสิตต้องชะลอโครงการออกไปเป็นระยะๆ เพื่อมิให้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนกลายเป็นกลไก หรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือการเมืองในระดับท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังค้นพบปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย เช่น ชาวบ้านติดภารกิจสำคัญๆ เช่น  ทำนา เกี่ยวข้าว รวมถึงประเพณีและกิจกรรมหลักในหมู่บ้าน ทั้งที่อยู่ใน “ฮีตฮอย” ประจำปีและที่เป็นกิจกรรมแทรกขึ้นมาตามครรลองชีวิตของคนในชุมชน เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ผ้าป่า งานศพ  หรือแม้แต่เป็นติดขัดกับสภาวะดินฟ้าอากาศ ฝนตกหนัก ในบางพื้นที่เข้าถึงได้ยากลำบาก จึงจำต้องปรับแผนออกไปเป็นระยะๆ เพื่อมิให้เป็นภาระของชาวบ้าน

            (2)  ข้อจำกัดในระดับหลักสูตร   โดยปัญหาที่พบมากส่วนใหญ่มักยังขาดทักษะเรื่องการเขียนรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อสื่อให้เห็นถึงการ “บูรณาการภารกิจ” (4 In1) เข้าด้วยกัน นอกจากนั้นยังค้นพบข้อจำกัดอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ดำเนินการเสร็จแล้วแต่ยังไม่มีเวลาได้เขียนอย่างจริงๆ จังๆ ดำเนินการเสร็จแล้วแต่อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผล (พิถีพิถัน,ข้อมูลมีจำนวนมาก)

หรือแม้แต่ประเด็นอื่นๆ เช่น ดำเนินการยังไม่เสร็จ เพราะยังต้องรอให้นิสิตว่างเว้นจากการสอบ หรือรอนิสิตกลุ่มใหม่ในภาคเรียนที่ 2 ที่ต้องเข้ามาจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากกลุ่มเก่าในภาคเรียนที่ 1 จึงพลอยให้แผนปฏิบัติงานที่วางไว้ตั้งแต่ต้นได้รับผลกระทบไปโดยปริยาย



กำหนดแนวทางคลี่คลายร่วมกัน

ภายหลังการบอกข่าวเล่าความข้างต้นแล้ว คณะกรรมการบริหารโครงการฯ รวมถึงผู้รับผิดชอบหลักของแต่ละหลักสูตรที่ดูแลโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  หรือแต่ละโครงการได้  “หารือร่วมกัน”  โดยกำหนดแนวทางอันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำไปสู่การผ่อนคลายระบบและกลไกในระดับหลักสูตรเพราะมิเช่นนั้นหากยังไม่แล้วเสร็จ  หรือไม่ส่งหลักฐานฯหลักสูตรนั้นๆ  จะไม่สามารถดำเนินงานในปีงบประมาณใหม่ได้   เท่ากับว่าหลักสูตรที่ว่านั้นก็โดน “แช่แข็ง” การบริการวิชาการในมิติหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนไปในตัว   ซึ่งการคลี่คลายร่วมกันได้ถูกออกแบบร่วมอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นต้นว่า

  • ห้วงกำหนดการของการขยายระยะเวลา
  • การช่วยตรวจทานเอกสาร
  • การช่วยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
  • ฯลฯ

หมุดหมายใหม่ของการขับเคลื่อน

และจากเวทีแห่งการหนุนเสริมดังกล่าวนี้ ทั้งคณะกรรมการบริหารโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนและผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละโครงการ  ได้เห็นพ้องต้องกันว่าในปีถัดไปนั้น  จุดอ่อน  หรือข้อจำกัดเหล่านี้จะถูกขยายผลปรับแต่งในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะส่วนหนึ่งได้บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นก็คือ

  • การสนับสนุนข้อมูลเชิงพื้นที่ให้กับอาจารย์แต่ละหลักสูตรได้เลือกที่จะพัฒนาโจทย์สู่การบริการวิชาการ ผ่านเวทีการอบรมสัมมนา ผ่านระบบสารสนเทศ และผ่านกระบวนการติดต่อโดยตรงในแต่ละหลักสูตร
  • ลงพื้นที่หนุนเสริมการพัฒนาโจทย์ร่วมกับแต่ละหลักสูตรให้ได้มากที่สุดเท่าที่วันเวลาและโอกาสจะพึงอำนวย

นอกจากนั้นยังบรรจุแผนการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเขียนรายงานผลการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  โดยเน้นการเขียนรายงานที่สามารถอ่านและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างชัดเจน  ทั้งนี้ทั้งนั้นยังรวมถึงการหนุนเสริมทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลไปพร้อมๆ กัน




ครับ-นี่คือจุดแข็งในกระบวนการ “ติตตามหนุนเสริม”  ในวิถีการทำงานของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการหนุนเสริมที่มีกลิ่นอายการจัดการความรักควบคู่ไปกับการจัดการความรู้ที่มุ่งให้เห็นถึงการทำงานอย่างเป็นทีม  เรียนรู้ไปด้วยกัน  ทำไปเรียนรู้ไป  มีระบบเกื้อกูล แบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยเหมือนเครือญาติ หรือ “คนบ้านเดียวกัน” หาใช่การ “กำกับติดตาม” แบบแข็งๆ และไร้ชีวิต 




หมายเลขบันทึก: 569182เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ชอบแนวคิดและโครงการนี้นี้มาก ๆ จ้ะ

เป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า โครงการชีวิต ครับ 

น่าจะขยายการพัฒนามายังเชียงยืนบ้างนะครับ อาจารย์ ครับ อิอิ


ชอบใจการทำงานไม่เป็นทางการ

“ทำอะไร ทำอย่างไร ทำถึงไหน ติดขัดปัญหาอะไร มีอะไรให้ช่วยเหลือ”

ทำให้เกิดงานได้ดีจริง

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

สิ่งหนึ่งที่ท้าทายน่าดูในโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ก็คือ เป็นงานบริการวิชาการที่ "นิสิต" (ผู้เรียน)  มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งกับกระบวนการ "บริการวิชาการแก่สังคม" ร่วมกับ "อาจารย์" และ "ภาคี"  อื่นๆ  ซึ่งสิ่งที่นิสิตได้รับจากการทำงานโครงการนี้  ไม่เพียงแค่เรื่องการนำทฤษฎี-ความรู้ไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น  หากแต่หมายถึงการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสาไปในตัว ครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังรวมถึงการได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนในชุมนอันเป็นสถานการณ์จริง ด้วยเช่นกัน...

สวัสดีครับ คุณธีระวุฒิ ศรีมังคละ

มีพื้นที่ใด-ชุมชนใด  รวมถึงประเด้นอะไรที่น่าสนใจบ้าง  ประสานและติดต่อให้ข้อมูลมาเลยนะครับ  จะได้จัดทำเป็นฐานข้อมูล รวมถึงลงพื้นที่หนุนเสริมเรียนรู้ร่วมกันไปในตัว 

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

เป็นการติดตามงานที่คั่งค้างครับ แต่ปรับแต่งรูปแบบวิธีการเน้นการเรียนรู้ร่วมกันในแบบญาติมิตร....
ผมเลยเรียกว่า "ติดตามหนุนเสริม" ไม่ใช่ "กำกับติดตาม"  ครับ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  คือทิศทางใหม่ของการเรียนรู้แบบบูรณาการครับ  ชุมชนเป็นห้องเรียน-ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเน้นการเรียนรู้ในหลักคิด "เรียนรู้คู่บริการ"  เป็นหัวใจหลัก

ส่วนบันทึกนี้  คือเวทีการติดตามหนุนเสริมงานที่ยังคั่งค้าง  เพื่อช่วยกันให้ทลาย-ทะลุกำแพงปัญหาแบบมีส่วนร่วม ครับ

ยอดเยี่ยมค่ะ...พยายามเข้าจะเข้าไปเรียนรู้หาประสบการณ์เพื่อพัฒนางานพัฒนาตนเง

ครับ คุณแดนไท

อย่าหยุดที่จะเรียนรู้
และอย่าสิ้นหวังที่จะเรียนรู้ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท