beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ทำการบ้าน : การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management


โดยปกติผมได้ปฏิบัติเกี่ยวกับ KM อยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่ามันคือ KM

   เมื่อวานไปฟัง Lecture น้อย ๆ จากดร.วิบูลย์กับดร.เสมอ เรื่องเกี่ยวกับการขอทุนสนับสนุนเพื่อจัดตั้งชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้ง ซึ่งสรุปว่าจะต้องมีการแก้ไขโครงการพอสมควร กับทุนสนับสนุนที่ตั้งใจจะให้เบื้องต้น 5,000 บาท ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็นในบันทึกนี้ แต่ที่สงสัยคือมีคำศัพท์ทาง KM อยู่มากมาย  และท่านใช้ตัวย่อทั้งนั้น เช่น KV,KS,KA ผมจึงต้องกลับมาทำการบ้านใหม่ โดยอ่านหนังสือ "การจัดการความรู้ มือใหม่หัดขับ" ของ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เพื่อทบทวนทฤษฎีทาง KM เสียหน่อย เพราะโดยปกติผมได้ปฏิบัติเกี่ยวกับ KM อยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่ามันคือ KM

    เริ่มต้นอย่างนี้นะครับ KM = Knowledge Management หรือ การจัดการความรู้ (จค) เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่จะนำเราไปสู่เป้าหมาย

    เราเปรียบเทียบว่า KM เหมือนปลาทูตัวหนึ่ง ปลาทูตัวนี้ เราแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนหัวปลา : Knowledge Vision (KV) หมายถึงส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ คือ คิดก่อนทำ "เรากำลังจะมุ่งหน้าไปทางไหน" "เราทำ KM ไปเพื่ออะไร?" "องค์กรเราจะเดินไปทางไหน?"  หัวสมองมีไว้คิด ตามีไว้สำหรับมองว่าจะเดินไปทางไหน ถ้าเดินผิดทางก็เสียเวลาน่าดู
  2. ส่วนกลางตัวปลา : Knowledge Sharing (KS)  หมายถึงส่วนที่เป็นหัวใจของการจัดการความรู้ เป็นส่วนที่มีการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้ Share & Learn" เรียกย่อว่า ลปรร. เป็นส่วนที่ยากที่สุด ที่จะต้องทำหรือจัดการให้คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่เป็นคน "คอเดียวกัน" ได้มาแบ่งปันความรู้ให้แก่กันและกัน คำว่าจัดการ หมายความว่า การทำให้เกิดเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้คนพร้อมที่จะแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกัน โดยอาจใช้กิจกรรมการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่เป็นความประทับใจของแต่ละคนในการทำงานสำเร็จและเป็นความภาคภูมิใจ (Success story) เป็นตัว Share ความรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังได้เกิดการ Learn  ส่วนที่สำคัญในที่นี้คือ ใจ หรือจิตใจ ต้องเปิดกว้างพร้อมที่จะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้
  3. ส่วนหางปลา : Knowledge Assets (KA) หรือ "คลังความรู้/ขุมความรู้" เป็นส่วนของตัว "เนื้อความรู้" ที่เก็บสะสมไว้เป็น "คลังความรู้/ขุมความรู้" เป็นส่วนที่มีพลังในการขับเคลื่อนตัวปลาและหัวปลา หรือในการขับเคลื่อนองค์กร มีการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายในภาคปฏิบัติ เรียกว่า "CoPs" ซึ่งย่อมาจาก "Community of Practices" หรือ "ชุมชนแนวปฏิบัติ" ในส่วนหางปลานี้ ยังเป็นส่วนที่มีการใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) ร่วมด้วย

     ICT นอกจากจะมีบทบาทในเรื่องการจัดการคลังความรู้แล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงพลัง เพราะสามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่เสมือน (Virtual Space) ให้คนที่อยู่ไกลกันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) กันอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างของเทคโนโลยีนี้คือ Gotoknow.org เป็นระบบเทคโนโลยีในการสร้างบล็อกเพื่อจัดการบันทึกสำหรับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วรวมคนคอเดียวกันไว้ในชุมชนเดียวกันคือชุมชนแนวปฏิบัติ

        การจะทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีสีสัน ชีวิตชีวา สามารถลื่นไหลไปโดยสะดวก จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่ทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย : KF = Knowledge Facilitator" มาอำนวยควยามสะดวกและสร้างบรรยากาศให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรุ้เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ (Content) โดยไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นบริบท (Context)  ทั้งเนื่อหาและบริบทนี้เองเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ขุม/คลังความรู้"

หมายเลขบันทึก: 5689เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2005 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เรียนคุณbee man
  • ผมขออนุญาตทำการบ้านด้วยคนครับ
  • และขออนุญาตนำเข้าแพลนเน็ตครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท