มารยาท สุจริตวรกุล : แม่หลับให้สบายนะคะ


เธอเป็นคุณแม่ของลูก ๓ คน ลูกชาย ๒ คน ลูกสาว ๑ คน เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เคยได้รับการผ่าตัดเอาเนื้อปอดออกบางส่วนแล้ว แต่มะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขณะรับเข้ามารักษาในหอผู้ป่วย ผู้ป่วยมีอาการท้องบวมโต ขาทั้ง ๒ ข้างบวมเป่ง ผู้ป่วยไม่สามารถขยับขาได้เลย ถ้าไม่มีใครช่วยพลิกตะแคงตัวช่วงล่างให้ มีอาการหอบเหนื่อยมาก ไม่สามารถนอนราบได้ ต้องนอนศีรษะสูงและนั่งตลอดเวลา ให้ออกซิเจนไว้ประมาณ ๔-๕ ลิตร และให้ยาพ่นขยายหลอดลมเป็นระยะ ผู้ป่วยรายนี้เข้ามารับการรักษาในหอผู้ป่วยเนื่องจากแพทย์ผู้รักษาและญาติต้องการให้ได้รับการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิตให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานน้อยที่สุด 

แรกเริ่มที่พบกับเธอนั้น เธอจะมีลักษณะของการปฏิเสธสังคมรอบ ๆ ข้าง ไม่ค่อยยอมพูดคุย ทั้งกับญาติและพยาบาลที่ดูแล ห้องจะปิดม่านมืดทึบตลอดเวลา ลูก ๆ ที่เฝ้าอยู่จะคอยระมัดระวังไม่ให้เกิดเสียงรบกวนการนอนของแม่ เธอจะมีแผลเปิดระบายน้ำเหลืองออกจากปอด บริเวณสีข้างด้านขวา จะมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมาตลอดเวลา ถ้าแผลชุ่มมาก เธอจะหงุดหงิดมากถ้าไม่ได้รับการเปลี่ยนแผลให้ทันที และจะหายใจหอบเหนื่อยเมื่อต้องพลิกตะแคงตัวทำแผล พยาบาลต้องพยายามพูดคุยกับเธอตลอดเวลาขณะให้การพยาบาล ที่ต้องใช้คำว่า 'พยายาม' เพราะเธอจะไม่ยอมพูดคุยด้วยเลย 

ในระยะแรกที่เจอกัน พยาบาลได้สอบถามประวัติและแผนการดูแลของญาติ ซึ่งลูกสาวได้บอกว่า “แม่ทำใจไม่ได้ต่อการเจ็บป่วยและเป็นห่วงสามีและลูก ๆ ทุกคนมาก เศร้าโศกเสียใจกับการที่จะต้องจากไปจากคนที่ตนรัก ลูกชายคนโต มีความคิดว่าจะบวชให้แม่ได้ผลบุญอันนี้แล้วจะได้จากไปอย่างสงบไปสู่ภพภูมิที่ดี ไม่ทุกข์ทรมาน” 

ซึ่งในเวลาต่อมา ลูกชายได้บวชให้กับแม่ได้สำเร็จ เธอได้เห็นลูกบวช ก็มีกำลังใจขึ้น พยาบาลได้พูดคุยกับผู้ป่วยบ่อยครั้งขึ้น เธอมีท่าทียอมรับ พูดคุยด้วยมากขึ้นตามลำดับ พยาบาลช่วยอำนวยความสะดวกและบรรเทาความทุกข์ทรมานให้ตามที่ผู้ป่วยต้องการ ให้ผู้ป่วยได้อยู่ในท่าที่สุขสบายมากที่สุด ซักถามผู้ป่วยถึงความต้องการในด้านต่าง ๆ เช่น การใส่บาตร และการฟังเทปหรือซีดีธรรมะ บทสวดมนต์ บ้างหรือไม่ ในระยะแรกผู้ป่วยปฏิเสธ อีก ๒-๓ วัน ต่อมาเธอบอกกับลูกว่าต้องการฟังบทสวดมนต์เจ้าแม่กวนอิม พยาบาลได้จัดหาบทสวดมนต์มาให้ และนิมนต์พระมาให้เธอได้ใส่บาตรในตอนเช้า หลังจากนั้นพยาบาลได้พูดคุยกับลูกสาวของเธอถึงการพูดกับแม่ในขณะที่เธอใกล้เข้าสู่วาระสุดท้าย ในวันต่อ ๆ มาได้ฝึกให้เธอฝึกการหายใจ โดยการสูดลมหายใจเข้าให้ลึก ๆ โดยหายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกยาว ๆ จนท้องแฟบลง ให้ผู้ป่วยฝึกลักษณะนี้อยู่เป็นประจำทุกวัน โดยมีลูกชายและลูกสาวของผู้ป่วยคอยให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง ผู้ป่วยผ่อนคลายจากความเครียด ลูกชายและลูกสาวรู้สึกดีขึ้นเมื่อเห็นแม่สงบมากขึ้น ไม่กระวนกระวาย 

เช้าวันสุดท้าย เธอมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือดลดลง พยาบาลเพิ่มการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยเป็นแบบหน้ากากครอบ และพูดคุยกับผู้ป่วยถึงการหายใจที่เคยฝึกไว้และให้ความมั่นใจกับเธอว่า “คุณทำตามที่เราได้เคยฝึกกันไว้นะคะ ไม่ต้องกลัวหรือกังวลอะไรทั้งนั้น ทั้งคุณหมอและพยาบาลจะคอยอยู่ใกล้ตลอดเวลา รวมทั้งลูก ๆ ของคุณด้วยค่ะ เราพร้อมจะให้การช่วยเหลือคุณค่ะ“  โดยแนะนำลูกชายและลูกสาวคอยอยู่ใกล้กับเธอ ให้จับมือแม่ไว้ และพูดคุยกับแม่ไว้ บอกให้แม่นับลมหายใจ และพูดคุยให้ผู้ป่วยอบอุ่นว่ามีทั้งลูกและพยาบาลคอยอยู่ใกล้เขา และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ 

ลูกสาวเริ่มพูดกับแม่ว่า “แม่นอนหลับซะนะ ไม่ต้องห่วงลูกทุกคน ลูก ๆ ทุกคนจะรักกันมาก ๆ ไม่ทะเลาะกัน จะดูแลกันตลอดเวลา และจะช่วยกันดูแลป๊าด้วย แม่ไปไหว้พระให้สบายใจนะ เอาเงินนี่ (ลูกสาวเอาเงินใส่มือแม่) แม่ ไปทำบุญนะ ใครเรียกแม่ ไม่ต้องหันกลับมาดูนะจ๊ะแม่ ลูก ๆ ทุกคนโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นลูกของแม่ แม่หลับให้สบายนะคะ”  ขณะที่ลูกสาวผู้ป่วยพูดนั้น เป็นน้ำเสียงที่น่าฟังมาก สม่ำเสมอ ไม่มีสั่นเครือเลย หลังจากลูกสาวพูดจบ ผู้ป่วยหายใจแผ่วเบาลงเรื่อย ๆ และค่อย ๆ จากไปอย่างสงบพร้อมลูก ๆ ทุกคนที่อยู่รอบตัว สีหน้าของเธอเหมือนคนนอนหลับสงบนิ่งมาก ๆ

ในการให้การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายนั้น นอกจากการช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมานแล้ว พยาบาลไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากเลย ในขณะที่ผู้ป่วยมาถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เพียงแต่พยาบาลคอยให้การดูแลอย่างใกล้ชิด คอยให้คำแนะนำญาติผู้ป่วยเท่านั้น ญาติของผู้ป่วยจะรับรู้ได้เองโดยสัญชาติญาณว่าผู้ป่วยต้องการอะไร หรือมีห่วงอะไรอยู่ พวกเขาเหล่านั้น สามารถพูดกับผู้ป่วยให้คลายความห่วงหาลงได้ และจากไปอย่างสงบ และเป็นที่หวังแห่งสุคติภูมิเป็นเบื้องหน้า...!!!

หมายเลขบันทึก: 568111เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2014 06:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

...เป็นการเตรียมพร้อมให้กับวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของผู้ป่วยที่ดีมากๆนะคะ...ด้วยความชื่นชมค่ะ  

ขอบคุณบันทึกที่งดงามและ ทำให้กุ้งได้เห็นความงาม ความดี ที่เต็มเปี่ยม และพร้อมจะให้ของพี่อ้อย ค่ะ

Pal2Know : อยากถามว่า ในกรณีผู้ป่วยคนนี้ คุณมารยาทรู้สึกประทับใจเรื่องอะไรมากที่สุด และเพราะอะไรครับ

ได้คำตอบว่า : สิ่งที่รู้สึกประทัยใจมากที่สุดคือการที่ได้ช่วยให้ครอบครัวสามารถเผซิญกับการจะจากไปของผู้ป่วย. และมีสติระลึกได้ว่าสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจผู้ป่วยคืออะไรค่ะ

Pal2Know : การที่เราเกิดความประทับใจในเหตุการณ์ผู้ป่วยรายนี้ สามารถจดจำมันได้ดีอยากถ่ายทอดให้ผู้อื่น เป็นเพราะอะไรครับ

ได้คำตอบว่า : ประทับใจใน พลังแห่งความรัก ของคนในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยได้เผชิญกับความตายได้อย่างสงบค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท