สมพร สายสิงห์ทอง : พี่...พร้อม


หลังจากรู้สึกผิดจากการปิดบังความจริงคุณย่าซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อพี่สาวคนโตของสามีสาวโสด อายุ 57 ปี ซึ่งเป็นหลักในการดูแลคุณย่าก่อนเสียชีวิต เกิดเป็นมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี หลังจากย่าเสียชีวิตไม่กี่ปี ประสบการณ์...ได้สอนทั้งคนไข้ คือ พี่สาวและตัวดิฉันเอง ที่ทำหน้าที่พยาบาลผู้ดูแลและตัดสินใจในทุกๆเรื่อง... นำประสบการณ์ที่ผ่านมา มาเป็นบทเรียนในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกครั้ง

เย็นวันหนึ่ง พี่สาวเอาผลการตรวจเช็คร่างกายมาให้ดู พบว่า AST, ALT มากกว่าปกติ 2 เท่า แต่แพทย์ไม่ได้ให้การรักษาหรือคำแนะนำใดๆ  ด้วยความกังวลใจ จึงให้พี่สาวไปตรวจซ้ำใน 2 อาทิตย์ต่อมา ผล AST, ALTเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า จึงแนะนำให้พี่สาวไปทำอุลตราซาวด์ซึ่งพี่สาวก็เชื่อฟัง แต่โชคร้ายที่เลือกทำกับคลินิกที่คุ้นเคยกันแต่เครื่องเก่ามาก ผลออกมาปกติ พี่สาวดีใจขอไปเที่ยวลาว ยังไม่ไปหาหมอ แต่ดิฉันหนักใจเพราะU/S มืดมาก มองไม่เห็นอะไรเลย หลังจากนั้นอีก 2 อาทิตย์พี่สาวโทรศัพท์มาหาบอกว่า "ปัสสาวะพี่เหลืองมากเลย เหลืองเหมือนขมิ้นเลย " ใจคิดเลยว่า "ตายละวา ดีซ่าน ชัวร์... อีกคนรึเปล่า" แต่ตอบพี่สาวด้วยน้ำเสียงปกติว่า "พรุ่งนี้ฉี่ใส่กระป๋องไว้ให้น้องดูหน่อยเน้อ เช้าจะไปดู" ด้วยความกลัว ดิฉันรีบโทรศัพท์ไปหาพี่สาวและพี่สะใภ้ให้เตรียมใจรอรับข่าวร้าย ตอนเช้าเดินไปหาพี่สาว โอ้...แม่เจ้าไม่ต้องดูปัสสาวะ เพราะพี่สาวตัวตาเหลืองอร่าม จึงพาไปหาหมอที่รพ. ผล ALP 900 กว่า คุณหมอให้ไปทำ CT ผล CT พบว่าเป็น CCA stage 3 

หลังทำ CT พี่สาวพูดว่า "บอกพี่มาตามตรงเลยนะว่า...พี่เป็นอะไร พี่ยอมรับได้ " 

เมื่อเห็นดิฉันยังนิ่ง พี่สาวจึงสำทับมาว่า "บอกมาเหอะ...พี่จะได้เตรียมตัวเตรียมใจ จะได้วางแผนชีวิตได้ " 

ฉันรู้ว่าพี่สาวสงสัยว่าตัวเองเป็นมะเร็งเพราะน้ำหนักตัวที่ลดฮวบฮาบ และอาการจุกแน่นร้อนภายใน พี่สาวบ่นว่าอาการเหมือนที่ย่าเคยเป็น

ดิฉันจึงบอกพี่สาวไปว่า "ต้องเอาไปให้หมอดูก่อน˝ 

ก่อนพาพี่สาวไปหาหมอ ดิฉันพยายามหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และคุยกับพี่ๆน้องๆของสามี พร้อมชักชวนพี่สะใภ้ไปเป็นเพื่อนด้วย เมื่อไปหาคุณหมอๆพยักหน้าเป็นอันรู้กัน แต่ไม่บอกคนไข้ และบอกดิฉันว่า คงต้องทำ ERCP ให้ดิฉันคุยกับพี่สาว ตอนคุยกับหมอเราพูดทับศัพท์กัน พี่สาวมองตาปริบๆด้วยความสงสัย 

เมื่อออกจากคลินิก พี่สาวพูดว่า "บอกมาตรงๆพี่เป็นอะไร พี่...พร้อม " 

ดิฉันจึงบอกพี่สาวว่า "ผล CT สงสัยว่าป้าจะเป็นมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี แต่ป้าอย่าเพิ่งคิดมากนะ"  ดิฉันพยายามพูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติที่สุด พี่สาวนิ่งเงียบ ดิฉันกับพี่สะใภ้บีบมือพี่สาวคนละข้าง เรา 3 คนนิ่งเงียบกันพักนึง ดิฉันจึงพูดต่อไปว่า "หมอแนะนำให้ส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดี เดี๋ยวน้องจะไปหารายละเอียดมาให้นะ"

ตลอดทางกลับบ้าน พี่สาวนิ่งเงียบ ไม่พูดไม่จา น้ำตารื้นแต่ไม่ร้องไห้ออกมา ดิฉันรู้สึกว่าป้าเด็ดเดี่ยวมาก แต่การที่พี่สาวเงียบมากๆทำให้ใจหวั่นๆ

หมอนัดไปทำ ERCP อีก 2 อาทิตย์ เนื่องจากคนไข้มีมาก และพี่สาวใช้สิทธิ์ UC หลังศึกษาข้อมูลและประเมินอาการของพี่สาวแล้วคิดว่าไม่ควรรอเวลา พี่สาวมีเงินเก็บพอสมควรเนื่องจากเป็นคนขยันและประหยัดอดออม พวกเราพี่น้องตกลงกันว่าน่าจะให้พี่สาวใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นในการดูแลรักษาตัวเอง ทุกคนจึงชวนพี่สาวไปทำ ERCP ที่ศูนย์ศรีพัฒน์ รพ.มหาราชเชียงใหม่ 

พี่สาวตกลง...หลังทำ ERCP อาการตัวตาเหลืองหายไปอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ...แพทย์แนะนำให้ทำการรักษาต่อด้วยเคมีบำบัด พี่สาวกลัวเคมีบำบัดมาก ดิฉันแก้ปัญหาด้วยการไปหาข้อมูลผลดีผลเสียของการทำเคมีบำบัดมาให้พี่สาวอ่านเพื่อประกอบการตัดสินใจ น้องๆทุกคนมาเยี่ยมพี่สาวทุกวันเพื่อให้กำลังใจ และหาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการดูแลรักษามะเร็งมาให้ ผลการรักษาเป็นไปด้วยดี อาการแพ้น้อยมาก

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ เมื่อพี่สาวทราบว่าตนเองเป็นมะเร็ง พี่สาวเปลี่ยนตัวเองทุกอย่าง เลิกทานอาหารสำเร็จรูป ทานแต่น้ำผักผลไม้ปลอดสารพิษปั่น กินข้าวกล้อง เลิกทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด ยกเว้นปลาทะเลน้ำลึกทำสมาธิ ปฏิบัติธรรม และรักษาด้วยสมุนไพรแพทย์ทางเลือกร่วมด้วย 

ดิฉันและพี่ๆน้องๆเห็นแล้วรู้สึกเวทนาสงสาร แต่พี่สาวบอกว่า "พี่ไม่กลัวตาย แต่พี่ยังไม่อยากตาย˝ 

อีกอย่างที่พี่สาวทำ คือ เตรียมทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในการจัดพิธีศพ เช่น ถุงข้าวด่วน เงินทำบุญในการสวดศพ เงินค่าอาหารเลี้ยงแขกสั่งเสียพร้อมจัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะทั้งคนไข้ ผู้ดูแลและแพทย์เจ้าของไข้คิดเหมือนกัน คือ มากสุดคงไม่เกิน 1 ปี แต่...ตั้งแต่เริ่มมีอาการเดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2553 จนถึงปัจจุบันพี่สาวยังมีชีวิตอยู่ ทำมาหาเลี้ยงชีพ เข้าสังคมเพื่อนฝูงได้ตามปกติ แต่ยังยึดมั่นในการปฏิบัติตัวเคร่งครัดดังเดิม คือ ห่อข้าวไปทานเอง นั่งดูเพื่อนๆกินอาหารตามใจปากอย่างเอร็ดอร่อย จนหลายครั้งดิฉันอดไม่ได้ที่จะพูดว่า "ถ้าน้องเป็นน้องคงตายไปนานแล้ว˝ 

ซึ่งพี่สาวดีใจและภูมิใจในตัวเองมาก ถึงแม้ว่าหลังทำเคมีบำบัดได้ประมาณปีครึ่งมะเร็งจะกำเริบจนลำไส้อุดตัน ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่นานกว่า 7 ชั่วโมง โดยดิฉันทำหน้าที่หาข้อมูลให้พี่สาวตัดสินใจลิขิตชีวิตเองทั้งหมด ซึ่งบทเรียนในการดูแลพี่สาวคือ เราไม่ควรคิดแทนคนไข้ ควรให้คนไข้ตัดสินใจลิขิตชีวิตของเขาเอง "คุณภาพชีวิตของคนแต่ละคน แตกต่างกัน˝

สมพร สายสิงห์ทอง 

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลลำปาง

หมายเลขบันทึก: 567123เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2014 06:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท