"ระบบผลิตครูต้นเหตุการศึกษาต่ำ"


จากข่าว ... ระบบผลิตครูต้นเหตุการศึกษาต่ำ

"สมพงษ์" ชี้ ระบบผลิตครูแบบไม่อั้น ส่งผลขาดคุณภาพ ไม่หล่อหลอมจิตวิญญาณครู ส่งผลคุณภาพการศึกษาต่ำ แนะใช้ระบบปิด จำกัดจำนวนรับให้สอดคล้องอัตราครูเกษียณ

วันจันทร์ 28 เมษายน 2557 เวลา 12:00 น.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670x490/cove...

........................................................................................................................................................................................

วันนี้ (28 เม.ย.) รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงระบบการผลิตครูของไทยว่า ปัจจุบันระบบการผลิตครูเป็นระบบเปิด ที่สถาบันผลิตครูรับนักศึกษาแบบไม่อั้น ไม่เน้นคุณภาพ บางสถาบันรับนักศึกษาเป็นหมื่นคน แต่มีครูสอนแค่ 20 กว่าคน การสอนไม่เน้นความพิถีพิถัน และไม่มีการหล่อหลอมจิตวิญญาณของความเป็นครู ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาหายไป ผิดกับในอดีตที่คนจะเข้ามาเป็นครูต้องสอบได้อันดับต้น ๆ ของจังหวัด ทำให้เราได้ทั้งคนเก่ง คนดี และทุ่มเทเอาใจใส่เด็กจริง ๆ โดยเด็กไม่เกินชั้น ป.3 สามารถอ่านออกเขียนได้ และคิดเลขได้หมดทุกคน ดังนั้นจึงมั่นใจว่าระบบการผลิตครูในปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเด็กไทยตกต่ำ และมีส่วนทำให้เด็ก 70% ของนักเรียนทั้งหมด หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย

“ผมอยากให้ระบบการผลิตครูกลับมาเป็นระบบปิดเหมือนเดิม และมีการจำกัดจำนวนรับให้สอดคล้องกับอัตราเกษียณของข้าราชการครูและการขาดแคลนครูในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งสถาบันการผลิตครูทุกแห่งควรจะมาประชุม และกำหนดการรับจำนวนนักศึกษาด้วยกัน เพื่อไม่ให้การผลิตครูเป็นเชิงธุรกิจ ผลิตเด็กออกมาจนล้นตลาด ทั้งนี้หากทำได้เราก็สามารถประกันการมีงานทำให้เด็กได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมาเปิดสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูเหมือนทุกวันนี้ ที่มีตำแหน่งพันกว่าคนแต่มาสอบกันเป็นแสนคน และเกิดการทุจริตกัน เพราะทุกคนอยากเป็นครูแต่คุณภาพไม่มี ก็เลยต้องทุจริตซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก” รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ที่ปรึกษารักษาผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตครู คือ หากทำให้ครูต้นน้ำเป็นครูคุณภาพได้ การผลิตครูก็จะดีตามไปด้วย ดังนั้นต้องมาจัดการเชิงคุณภาพกับสถาบันผลิตครู เริ่มตั้งแต่ต้องมีครูผู้สอนที่มีคุณภาพ คัดเลือกครูที่มีประสบการณ์มาสอน ซึ่งในต่างประเทศกว่าจะได้เข้ามาเป็นอาจารย์สอนในคณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ต้องมีประสบการณ์การสอน 10-20 ปี ผิดกับของไทยที่ครูรู้แต่ทฤษฎีไม่มีประสบการณ์การสอนระดับพื้นฐานเลย ทั้งที่เราต้องการสอนคนให้ออกไปสอนเด็ก ทำให้เด็กที่จบออกมาไม่มีประสบการณ์และไม่มีองค์ความรู้เรื่องการเรียนการสอนระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง.

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์

........................................................................................................................................................................................

ข่าวนี้ทำให้คนที่อยู่แวดวงนี้อย่างผมเจ็บจี๊ด ๆ แต่มันก็เป็นเรื่องจริง
คุณภาพและจิตวิญญาณของความเป็นครูของผู้ทำหน้าที่ผลิตครู
ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ...

หลายคนสอนแต่เนื้อหา (แถมยังเป็นเนื้อหาเก่า ๆ ที่ไม่เคยปรับปรุงตามเวลา)

หลายคนเดินเข้ามาสอนนักศึกษา แล้วก็เดินจากไปอย่างคนมีความรู้ (แต่เด็กไม่รู้)

หลายคนไม่สนใจอะไร นอกจากสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้เงิน ๆ ทอง ๆ ลาภยศ ตำแหน่ง

หลายคนไม่สอน แต่สั่งงานแล้วก็ไป

หลายคนไ่ม่สนใจอะไรเลย นอกจากการมีเงินเดือนกินไปวัน ๆ

แม้กระทั่ง หลายคนไม่ควรเรียกว่า "ครู" ด้วยซ้ำไป

นักศึกษาอยากเป็น "ครู" ก็เพราะรู้ว่า "ความมั่นคง" ที่ตัวเองวาดหวังคืออะไร
แต่ไม่เคยถามตัวเองว่า ตัวเองจะสอนด้วยจิตวิญญาณหรือไม่

นักศึกษาครูหลายคน อยากได้ตำแหน่ง คศ.2 คศ.3 คศ.4 คศ.5 อย่างเดียว
เพราะจะได้มีเงินเยอะ ๆ ตามวิทยฐานะที่ได้ แม้จะทิ้งเด็กก็ตาม

เมื่อ "แม่พิมพ์" ไม่ีดี จึงเป็นเรื่องจริงว่า "แบบพิมพ์" ออกมาก็ไม่ดีตามไปด้วย
เป็นวิกฤติที่หลายคนมัวแต่หลงอยู่กับระบบทุนนิยมที่เงินทองมาก่อน
จนไม่มีเวลามามองตัวเอง

เรื่องเศร้าเคล้าน้ำตา ... ที่เรามีคนไม่ีดีเยอะเกินไป (สถาบันผมเองแล้วกัน)

บุญรักษา ประเทศชาติด้วยเถิด ;)...

หมายเลขบันทึก: 566933เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2014 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2014 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

.. การสอนไม่เน้นความพิถีพิถัน .... และไม่มีการหล่อหลอมจิตวิญญาณของความเป็นครู .... ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาหายไป .... น่าเป็นห่วง นะคะท่านWas




หวังว่าแนวคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา แบบเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนจะเพิ่มคุณภาพการศึกษาอย่างที่ตั้งความหวังกันไว้นะคะ..

มาส่งกำลังใจให้ครูที่ดีผ่านช่องทางนี้ครับ ขอให้ครูดียังคงสู้ต่อไป เพื่อหล่อหลอมให้เด็กไทยเจริญก้าวหน้า ครับ

เห็นด้วยทุกข้อครับ และที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยต้องการครูที่มีจิตวิญญานของความเป็นครู 

ซึ่งมีความรู้คู่คุณธรรมครับ

ส่งผลอย่างแน่นอนครับ พี่เปิ้น Dr. Ple ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ ;)...

ขอบคุณครับ ;)...

ต้องการที่สุดครับ คุณโรจน์ rojfitness ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

แนวคิด  วิถีชีวิต  การกระทำของครูเอง  เป็นพิมพ์เขียวให้ลูกศิษย์ได้เดินตามนะคะ  ^_,^

อ่านแล้วปรี๊ดครับ

ตอนนี้เอกคณิต ไทย ขาดมาก

แต่มหาวิทยาลัยผลิตคอมฯมาล้นตลาด

สงสัยว่าทำไมไม่วางแผนการผลิตนักศึกษาและนิสิตร่วมกับ สพฐ

เอหรือผู้บริหารคิดว่ามันไกล 555

ในแต่ละเขต คอมพิวเตอร์มาสมัครประมาณ หลายร้อยคน

แต่รับแค่ 2 ตำแหน่ง

ถามว่าที่เหลือจะไปทำอะไร

สงสัยว่าสถาที่สอนผลิตคนออกมาตกงาน ไม่สงสารนักศึกษาบ้างหรือ

เอหรือคนสอนได้เงินเดือน นักศึกษาช่างหัวมัน 555

มันปรี๊ดๆๆๆ

...การที่ระบบผลิตครูอย่างไม่อั้น... มองว่ามีส่วนดีต่อเด็ก...เพราะดีกว่าปล่อยให้เด็กที่ไม่สามารถสอบแข่งขันเรียนต่อในสถาบันอื่นๆ หยุดการเรียน ไปมั่วสุม...หรือไปในที่อโคจรต่างๆนะคะ...ผู้ที่เรียนจบครูอย่างน้อยเวลา 4 ปี ในสังคมระดับ อุดมศึกษาก็ได้รับการพัฒนาทั้งวิชาความรู้ คุณธรรมจริยธรรม... จบแล้วไม่เป็นครู แต่ความคิดอ่านเป็นผู้ใหญ่ขึ้น สามารถทำงานได้ หรืออาจจะเรียนต่อสาขาอื่น ในระดับที่สูงขึ้นได้ และสามารถเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคมได้ในระดับหนึ่ง  ...ส่วนผู้ที่จะไปเป็นครู ปัจจุบันก็ไม่แตกต่างจากอดีต ผิดกันที่วิธีการในอดีตคัดเลือกคนเก่งมาเรียนครู ...          ปัจจุบันเรียนก่อนแล้วค่อยสอบคัดเลือกคนเก่งไปเป็นครูนะคะอาจารย์ ...

ถูกต้องครับ คุณหมอธิ ;)...

สมควรปรี๊ดดด ครับ ท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง 555

มุมมองของอาจารย์ ดร. พจนา แย้มนัยนา สวยงามมากครับ

และถือเป็นอีกมุมมองหนึ่งเลยทีเดียว ;)...

อย่างน้อยอีก ๑ ประการ คือ ครูต้องทำงานเอกสาร"การประเมิน" มากเกินไป

ทำให้แค่ "ตั้งใจ" ตรวจการบ้าน ก็จะเป็นลมแล้ว 555

ผมเคยลองให้เพื่อน ๆ คำนวณ ดังนี้ สอน ๓ ห้อง ห้องละ ๒๕ คน รวม ๗๕ คน ให้การบ้านเลข

๓ ข้อ ดั้งนั้นต้องตรวจ ๒๒๕ ข้อ (ขอย้ำ "ตั้งใจ" ตรวจการบ้าน) เลยลมใส่

(เพื่อน ๆ ลองเปิดสมุดให้ตรง"หน้าที่ต้องการ" ๗๕ เล่มดูสิครับ จับเวลาดู นี่แค่เปิดสมุดนะครับ 555

และถ้าลองขีด "ถูก" อีก ๒๒๕ ครั้ง หลับตาขีด ๆ ไปไม่สนใจว่าถูกหรือผิด ต้องใช้เวลาอีกเท่าไร 555)

ข้อเท็จจริง !!! ครูวันหนึ่ง ๆ สอนไม่ต่ำกว่า ๓ ห้องครับ (ผมไปสอนทั่วทิศทั่วไทยมาแล้ว 555)

ขอคารวะ คุณครู ทุกท่านครับ

โคลงสองสุภาพ
....ทุกข์ทนหมองหม่นไหม้.......ท่านปลุกปลอบช่วยไว้ 
โอบเอื้ออุ้มชู.....จริงเฮย

ขอบคุณมากครับ ท่านอาจารย์ share ;)...

ขณะหนึ่ง ครูก็แบกภาระอย่างมหาศาลจริงๆ...

การพัฒนาคุณภาพของคุณครูในทุกระดับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและท้าทายมากๆครับ ผมเองก็กำลังทบทวนกระบวนการที่จะให้อาจารย์หลักสูตรกิจกรรมบำบัดม.มหิดลมีศักยภาพในการสอนให้นักศึกษาคิดและเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติได้จริงจังครับผม ขอบพระคุณบันทึกของท่านอาจารย์ Wasawat มากครับผม

เราช่วยกันพัฒนาวงการการศึกษาไทยกันครับ อาจารย์ Dr. Pop ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

เป็นเพราะครูงงและหลงทางจากการสั่ง(เพราะงบประมาณเยอะ)จากข้างบนมากกว่าครับ เพราะครูวุฒิเห็นโรงเรียนเอกชนก็แค่จ้างครูที่หลงเหลือจากการสอบบรรจุเป็นข้าราชครูของรัฐไม่ได้ ก็ยังสามารถนำไปพัฒนาจนเป็นครูสอนเด็กให้ได้ตัวเลขสูงๆได้นี่ครับ

"หลายคนสอนแต่เนื้อหา (แถมยังเป็นเนื้อหาเก่า ๆ ที่ไม่เคยปรับปรุงตามเวลา)

หลายคนเดินเข้ามาสอนนักศึกษา แล้วก็เดินจากไปอย่างคนมีความรู้ (แต่เด็กไม่รู้)

หลายคนไม่สนใจอะไร นอกจากสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้เงิน ๆ ทอง ๆ ลาภยศ ตำแหน่ง

หลายคนไม่สอน แต่สั่งงานแล้วก็ไป

หลายคนไ่ม่สนใจอะไรเลย นอกจากการมีเงินเดือนกินไปวัน ๆ

แม้กระทั่ง หลายคนไม่ควรเรียกว่า "ครู" ด้วยซ้ำไป"

ข้อความข้างต้น.....ในฐานะคนวงในต้องบอกว่า  นี้คือประเด็นสำคัญของคำว่า  การศึกษาต้องปฏิรูป
จิตวิญญาณของครูเบาบางลงเรื่อยๆ
เป็นกำลังใจให้คนสร้างชาติสร้างเยาวชนทุกอาชีพค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท