ต้น PBL (๒)


ผมเคยเขียนเปรียบเทียบการจัดการเรียนการสอนบนฐานปัญหา/โครงงาน หรือ PBL กับต้นมะม่วง โดยใช้ชื่อบันทึกว่า "ต้น PBL" ปรากฎว่าวันถัดมา ครูตุ๋มบอกผมว่า ท่าน ศน.สุรางค์ อยากจะเผยแพร่ต่อให้ครูภาษาไทยได้อ่าน ....  เท่านี้ก็มีกำลังใจมากโขแล้วครับ

หลังจากเวที PLC มหาสารคาม ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๗ ในวันที่ ๒๑-๒๒ เมษายน ที่ผ่านมา เราคุยกันเรื่องการจัดการเรียนรู้แบบ PBL ที่มี "รูปแบบ" "ไร้รูปแบบ" จนถึงขั้น "ริเริ่มรูปแบบ"  ผมจึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ "ต้น PBL" ปรากฎว่าได้ผลดี  จึงอยากแบ่งปันกับท่าน เพื่อบูชาครูเพื่อศิษย์ครับ

หากเปรียบ PBL เหมือนต้นมะม่วง หน้าที่ของครูคือทำให้นักเรียน "ปลูกมะม่วงเป็น" แน่นอนว่า ครูต้อง "ปลูกเป็น" แต่ไม่จำเป็นจะต้องถึงขั้นชำนาญ เพราะในการปลูกมะม่วง หากเป็นคนใฝ่รู้ และน้อมนำหลัก ปศพพ.ด้านการศึกษา มาเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติ ครูจะสนุกกับการเรียนรู้ไปพร้อมๆ นักเรียน และเป็นผู้ชำนาญการ การปลูกต้น PBL แน่นอน

เมื่อเป้าหมายของครูคือให้นักเรียน "ปลูกมะม่วงเป็น" ครูต้องไม่มองความสำเร็จของตนเพียงแค่ "มีต้นมะม่วง" หรือนักเรียน "ปลูกมะม่วงได้" ความสำเร็จของครูต้องดูจาก "ผลมะม่วง" ซึ่งเปรียบเป็น "ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑" ที่เกิดกับนักเรียน นั่นคือ "นักเรียนปลูกมะม่วงเป็น" เพราะปลูกเป็นจึงเห็นผล ผลมะม่วงหรือทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ในที่นี้ก็คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  (Learning Outcome) นั่นเอง

ดังที่เขียนไว้ในบันทึกที่แล้ว ว่า

  • PBL คือ "กระบวนการ" (Process) ไม่ใช่ "ผล"(Product) ดังนั้น ผลลัพธ์ของ PBL คือ "ความรู้และทักษะ" ไม่ใช่ "ผลผลิตหรือชิ้นงาน"
  • "การปลูกต้น PBL" เป็นวิธีการทำให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานเพียงพอต่อการเรียนรู้และดำรงชีวิตที่ดีได้ใน "ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑" เป้าหมายของครู คือ การทำให้นักเรียนเป็น "ผู้ใฝ่เรียน" "การทำให้นักเรียนมี "ฉันทะ" และปลูก"ต้นมะม่วง"เป็น คือ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ หรือก็คือ "พึ่งตนเองด้านการศึกษา" ได้นั่นเอง
  • "PBL" คือ เครื่องมือ สำหรับการเรียนรู้สำหรับทั้ง "ครูและนักเรียน" และทุกๆ คนในสังคม
  • ครูที่เอาแต่ "ปลูกให้ดู" นักเรียนย่อม "ไม่รู้ลึกว่าจะปลูกอย่างไร"
  • ครูที่เน้น "พาปลูก" อย่างเดียว มักจะหลงเลี้ยวออกจากเส้นทางความสำเร็จในการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ให้กับนักเรียน เพราะมักหลงติดใน "ผลผลิต" ของตนเอง 
  • ครูต้องทำมาให้ถึงขั้น "ชวนให้ปลูก" และ "ชื่นชมผู้ปลูก" เหมือนที่เราชื่นชมลูกของเขาเวลาเขาประสบความสำเร็จ .... มุทิตาจิตคือจิตของครู

เราอาจแบ่งขั้นตอนการสอนบนฐานปัญหาเป็น ๓ ขั้นตอน ได้แก่

๑) สร้างแรงบันดาลใจ
๒) พาปลูก
๓) ให้ปลูกเอง

ขั้นสร้างแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายคือทำให้เขา "อยากปลูก" คือทำให้เกิด "ฉันทะ" ซึ่งในทางปฏิบัติอาจทำโดยการโน้มนาม ชี้ให้เห็นความสำคัญ ทำให้เข้าใจถึงประโยชน์ หลักการที่สำคัญคือ ต้องทำให้ได้ "ฝึกคิด" เรียนรู้ทฤษฎีและทักษะที่จำเป็น เช่น การสืบค้น การวิเคราะห์ การอ่านจับใจความ วิธีปลูก เครื่องมือปลูก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าในเบื้องต้น

ขั้น "พาปลูก" คือเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกทักษะย่อยๆ แต่ละอย่าง เช่น การเพาะเมล็ด การเตรียมดิน ฯลฯ แล้ว ฝึกนำทักษะย่อยๆ เหล่านั้นมาบูรณาการใช้เพื่อฝึกปลูกมะม่วง โดยครูอาจพาทำทีละขั้นตอน  ผลที่ได้คือ นักเรียนมีต้นมะม่วงของตนเอง ที่ปลูกด้วยตนเอง (แม้จะทำตามครู) หน้าที่ต่อไปคือดูแลให้ออกดอกออกผล หมายถึงฝึกฝนให้ชำนาญ นั่นเอง

ขั้น ให้ปลูกเองครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง คือปล่อยให้มีโอกาสได้ทำทุกอย่างด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง บทบาทของครูคือ ชง ชวน เชียร์ ชม หรือช่วยในบางโอกาส

  • ชง คือ สร้างบรรยกาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้แบบรู้จริง เช่น การกระตุ้นด้วยคำถาม หรือสร้างกิจกรรมหรือเวทีนำเสนอผลงาน ฯลฯ 
  • ชวน คือ แนะนำ หรือชวนให้ทำแบบอื่นๆ ที่นักเรียนอาจคิดคาดไม่ถึง เช่น อาจเล่าเรื่องความสำเร็จของผู้ประสบผลสำเร็จในชีวิตให้ฟัง ฯลฯ 
  • เชียร์ คือ เอาใจใส่ คอยซักถามความก้าวหน้า หาเวลามาอยู่กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง 
  • ชม คือ หัวใจสำคัญของความสุข ต้องชมอย่างจริงใจ หาจุดที่นักเรียนทำได้ดี ชื่นชมและกระตุ้นให้ขยายความสำเร็จนั้นๆ ออกไปอีก
  • ช่วย ในบางโอกาสครูอาจจำเป็นต้องช่วย เมื่อพิจาณาเห็นว่าเกิดกำลังความสามารถสติปัญญาของนักเรียน หรือแม้แต่ ปรามไม่ให้เกินเลยไปสำหรับอันใดที่จะทำให้พวกเขาเองและคนอื่นๆ เดือนร้อน

ภาพความสำเร็จจริงๆ ของการเรียนรู้แบบ PBL คือ ควมชอบ ความสนุกในการเรียน เมื่อใช้หลัก ปศพพ. ด้านการศึกษา จะทำให้ได้ "ปัญหาที่มีคุณค่า" ซึ่งจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่ได้ทำความดี และสิ่งนี้จะทำให้นักเรียนเป็นผู้มี "ความสุข" กับการเรียนในที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #pbl#plc#PLC มหาสารคาม
หมายเลขบันทึก: 566928เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2014 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท