Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาครอบครัวเจดีย์ทอง : บุตรที่เกิดในไทยจากชายสัญชาติไทยและหญิงมาเลเซียมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?


กรณีศึกษาครอบครัวเจดีย์ทอง : การกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยของบุตรของชายสัญชาติไทยและหญิงต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยอยู่แบบผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน และ อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา

เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

-----------

ข้อเท็จจริง[1]

------------

ในระหว่างการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ของบ้านห้วยส้าน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ นายอาทิตย์ เจดีย์ทองเข้าหารือปัญหากฎหมายต่อศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และขอให้ศูนย์ฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เขาและภริยา ตลอดจนบุตรอีก ๓ คน

นายอาทิตย์ได้เล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวของเขาต่อนางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความอาสาของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการข้างต้นดังนี้

เมื่อราว พ.ศ.๒๕๔๗ นายอาทิตย์ เจดีย์ทอง ได้รู้จักและพบรักกับนางสาวแพทริเซีย ในขณะที่เดินทางไปทำงาน ณ ไต้หวัน แต่ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ เมื่อสัญญาจ้างแรงงานของนายอาทิตย์หมดสิ้นสุด เขาจึงต้องเดินทางกลับมาประเทศไทย แต่นางสาวแพทริเซียยังคงทำงานต่อไปในไต้หวันจนกระทั่งสัญญาแรงงานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

ในระหว่างเดินทางจากไต้หวันกลับประเทศมาเลเซีย นางสาวแพทริเซียได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อเยี่ยมนายอาทิตย์ โดยได้รับการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒/ค.ศ.๒๐๐๙ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบันทึกในการตรวจลงตราบนหนังสือเดินทางของเธอว่า เธอจึงอาจอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖

ในระหว่างที่นางสาวแพทริเซียได้พักอาศัย ณ บ้านของนายอาทิตย์ในประเทศไทย นายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียได้ตกลงกันที่จะอยู่กินฉันสามีภริยา ณ บ้านห้วยส้าน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ต่อมา มีบุคคลที่นายอาทิตย์นับถือแนะนำให้นางสาวแพทริเซียไปร้องขอต่ออำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อรับการสำรวจในสถานะของ “บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” และต่อมา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒/ค.ศ.๒๐๐๙ นางสาวสาวแพทริเซียก็ได้รับการบันทึกใน “ทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘ ก” ในชื่อของ “อัญชลี เจดีย์ทอง” และได้รับการออก “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ให้ถือเพื่อแสดงตัว โดยบัตรนี้ระบุว่า เธอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และบัตรนี้ระบุว่า จะหมดอายุในวันที่ ๑๓ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๒ นอกจากนั้น เธอได้ใช้บัตรประจำตัวที่ได้ในชื่อใหม่ ไปร้องขอสิทธิทำงานต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก และได้รับใบอนุญาตทำงานในสถานะ “คนไร้สัญชาติ” เพื่อทำงานประเภททำความสะอาดบ้านตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ จนถึงวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ โดยมีนายอาทิตย์ เจดีย์ทอง เป็นนายจ้าง

นายอาทิตย์ถือบัตรประจำตัวประชาชนคนสัญชาติไทย และบัตรนี้ระบุว่า เขามีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๕ และบัตรนี้ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ และระบุว่า หมดอายุเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒

สำหรับนางสาวแพทริเซียปรากฏตามหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๙/พ.ศ.๒๕๕๒ ว่า นางสาวแพทริเซียเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๗๘ ณ ประเทศมาเลเซีย หนังสือเดินทางดังกล่าวหมดอายุในวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗/ค.ศ.๒๐๑๔

นางสาวแพทริเซียมีบุตรกับนายอาทิตย์จำนวน ๓ คน และบุตรทุกคนได้รับการแจ้งการเกิดและการอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยโดย นายอาทิตย์ เจดีย์ทอง ซึ่งได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะสัญชาติไทย แต่มิได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย บุตรทั้งสามจึงมีสานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเท่านั้น ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อ ด.ญ.สินี เจดีย์ทองเกิด ณ โรงพยาบาลแม่สอด จากนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒/ค.ศ.๒๐๐๙ เธอจึงได้รับการจดทะเบียนคนเกิดในสูติบัตรประเภท ท.ร.๑ โดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และได้รับการจดทะเบียนคนอยู่โดยสำนักทะเบียนดังกล่าวในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๑ ในวันที่ดังกล่าวเช่นกัน

(๒) เมื่อ ด.ญ.พร เจดีย์ทองเกิด ณ โรงพยาบาลแม่สอด ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เธอจึงได้รับการจดทะเบียนคนเกิดในสูติบัตรประเภท ท.ร.๑ โดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ และได้รับการจดทะเบียนคนอยู่โดยสำนักทะเบียนดังกล่าวในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๑ ในวันที่ดังกล่าวเช่นกัน

(๓) ด.ช.เดช เจดีย์ทอง เกิดเมื่อ ณ โรงพยาบาลตากประชานุเคราะห์ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เขาจึงได้รับการจดทะเบียนคนเกิดในสูติบัตรประเภท ท.ร.๑ โดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครตาก จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ และได้รับการจดทะเบียนคนอยู่โดยสำนักทะเบียนบ้านกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๑ ในวันที่ดังกล่าวเช่นกัน

จะเห็นว่า ด.ญ.พร และ ด.ช.เดช เป็นฝาแฝดกัน ซึ่งพรเกิดเมื่อเวลา ๐๕.๕๔ น. ในขณะที่เดชเกิดเมื่อเวลา ๑๐.๒๘ น.

นางสาวแพทริเซียอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยเดินทางกลับไปประเทศมาเลเซียอีกเลย และไม่เคยติดต่อสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยอีกด้วย เธอมีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตร่วมกับสามีและบุตรอีกสามคนในประเทศไทย และอยากมีสถานะเป็นคนสัญชาติเป็นไทยตามสามีและบุตร

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า บุตรทั้งสามคนของนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยเป็นอย่างใด เพราะเหตุใด[2]

-------------

แนวคำตอบ

-------------

ประเด็นเกี่ยวกับสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน กล่าวคือ เป็นเรื่องระหว่างรัฐเจ้าของสัญชาติและเอกชน ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในว่าด้วยสิทธิในสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาตินั้น ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

เมื่อบุตรทั้งสามคนของนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียเกิดในช่วง พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๕ กฎหมายไทยซึ่งมีผลในเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ก็คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ตลอดจน พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ และไม่ปรากฏมีบทบัญญัติของกฎหมายภายในพิเศษหรือกฎหมายระหว่างประเทศมากำหนดเป็นอย่างอื่น ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาปัญหาความมีสิทธิในสัญชาติไทยของบุตรดังกล่าวภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับแก้ไขล่าสุดดังกล่าวข้างต้น

โดยหลักกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังปรากฏใน พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ตลอดจน พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ บุคคลย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดในสถานการณ์ทั่วไป หากมีข้อเท็จจริง ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) เกิดจากบิดา ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรหรือไม่ (๒) เกิดจากมารดา ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย และ (๓) เกิดในประเทศไทย โดยไม่มีบิดาและมารดาต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลที่มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และโดยไม่มีบิดาและมารดาต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของบุตรทั้งสามคนของนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียแล้ว จะเห็นว่า พวกเขาย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็น “คนสัญชาติไทยโดยการเกิด” ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก ก็คือ บุตรทั้งสามคนย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา เพราะว่า นายอาทิตย์เป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรทั้งสามเกิด ความเป็นคนต่างด้าวของนางสาวแพทริเซียไม่มีผลอย่างใดในเรื่องนี้ เพียงแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียย่อมทำให้บุตรทั้งสามเป็นบุตรที่มิชอบด้วยกฎหมายของนายอาทิตย์ ดังนั้น การใช้สิทธิในสัญชาติประเภทนี้จึงต้องเป็นไปภายใต้มาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า คำว่าบิดาตาม (๑) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง[3] แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม[4]” ดังนั้น การอ้างสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาย่อมเป็นไปได้ใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) มีการพิสูจน์สัมพันธภาพระหว่างบิดาตามข้อเท็จจริงและผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (๒) มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายระหว่างบิดาข้อเท็จจริงและมารดาของบุตร และ (๓) มีการจดทะเบียนครอบครัวเพื่อรับบุตรนอกการสมรสตามกฎหมายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาตามข้อเท็จจริง ดังนั้น หากบุตรทั้งสามจะกล่าวอ้างสิทธิในสัญชาติไทยประเภทนี้ พวกเขาก็จะต้องใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๗ วรรค ๓ ดังกล่าวมา

ลักษณะที่สอง ก็คือ บุตรทั้งสามคนย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน เพราะว่า พวกเขาเกิดในประเทศไทยภายใต้ระยะเวลาที่มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ มีผล กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นของการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ทั้งนี้ เพราะพวกเขาเกิดจากบิดาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย อันทำให้ทั้งมาตรา ๘ และมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ ไม่อาจมีผลต่อพวกเขาเลย

โดยสรุป บุตรทั้งสามคนของนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียจึงมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยเป็น “คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลของกฎหมาย” ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน แต่การใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตนั้นจะทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการพิสูจน์สัมพันธภาพระหว่างนายอาทิตย์บิดาและบุตรทั้งสามคนนี้ หรือมีการจดทะเบียนสมรสระหว่างนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซีย หรือมีการจดทะเบียนรับรองบุตรระหว่างนายอาทิตย์และบุตรทั้งสามคน เสียก่อน ในขณะที่การใช่สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด นอกจากนั้น นายทะเบียนอำเภอแม่สรวยก็ได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่บุตรทั้งสามในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ให้แก่บุตรทั้งสามแล้ว


[1]เป็นข้อเท็จจริงที่ปรุงแต่งจากเรื่องจริง โดยใช้โครงสร้างของเรื่องราวจากเรื่องที่ร้องเรียนมาสู่ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” ของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในราว พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๖ แต่ชื่อบุคคลและสถานที่ต่างๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อเคารพความเป็นส่วนตัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เจ้าของปัญหาตามเรื่องจริงกำลังได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2]เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคแก้ตัว วิทยาเขตลำปาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๕

[3]กล่าวคือ กฎกระทรวงกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด พ.ศ.๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%ca25/%ca25-2b-2553-a0001.pdf

[4] มาตรา ๗ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

หมายเลขบันทึก: 566775เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2014 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2014 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

.... สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย ...  ขอบคุณค่ะ


      



อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท