AAR การสัมมนาสัมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่๖


หลายองค์การ หลายหน่วยงาน ที่ให้ความสำคัญกับโครงตะเกียงมากว่าไส้ตะเกียง ตะเกียงบางดวงที่ไม่มีโครงที่สวยงาม ทำจากกระป๋องนมใช้แล้ว แต่มีไส้ที่ทำมาจากเชือกอย่างดี มีน้ำมันเติมอยู่ตลอดเวลา ย่อมให้แสงสว่างและความอบอุ่นได้ จึงมีประโยชน์มากว่าตะเกียงที่สวยงามแต่ไม่มีไส้ ไม่มีน้ำมัน ฉันใด การทำKM ที่วุ่นอยู่กับนิยามความหมาย และหลักการทางทฤษฎี แต่ไม่มีการปฏิบัติ ก็เหมือนกับตะเกียงไม่มีไส้ฉันนั้น

บันทึกนี้เป็นการ AAR ภายหลังจากการที่ได้เข้าร่วมงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๔๙ ว่าด้วย เศรษฐกิจพอเพียง สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขซึ่งผู้บันทึกได้เข้าร่วมในส่วนของเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในภาคบ่าย วันที่ ๒๗ ต.ค.๔๙ ในเรื่อง ธุรกิจกับเศรษฐกิจพอเพียง

โดยมีความคาดหวังที่จะได้เรียนรู้ว่า ภาคธุรกิจเขานำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์อย่างไร ตามที่ทางผู้จัดได้แจ้งเอาไว้ในกำหนดการ นอกจากนี้ยังหวังที่จะได้รู้ถึงผลที่เกิดขึ้นกับแต่ละธุรกิจว่าเป็นอย่างไรบ้างหลังจากการที่ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้

แต่เมื่อได้เห็นกำหนดการที่เขาแจกหน้าห้อง หลังจากลงทะเบียนแล้วก็เกิดอาการมึนงงเล็กน้อยเพราะหัวข้อของการอภิปราย คือ ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติ กับเศรษฐกิจพอเพียง จะทำอย่างไรต่อไป?” นั่นนะสิแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปดี เลยถอยหลังมา ๓ ก้าวเพื่อตั้งหลักและพินิจดูป้ายที่เขาเขียนไว้หน้าห้องพร้อมกับหยิบกำหนดการที่ได้นำติดตัวไปด้วยออกมาดูไปพร้อมกัน ป้ายหน้าห้องเขียนชัดเจนว่า ห้องประชุม ๒ ธุรกิจกับเศรษฐกิจพอเพียง เอาล่ะเรามาไม่ผิดห้องแน่ จึงค่อย ๆ อ่านกำหนดการที่นำติดตัวไปด้วยปรากฏว่าห้องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ แต่ทำไมถึงกลายเป็นปัญหาการค้าปลีกก็ไม่รู้  สงสัยว่ากำลังเป็นประเด็นร้อนที่ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกข้ามชาติได้ทำการขยายสาขามากมายจนส่งผลกระทบในหลายเรื่อง ภาคีของ สปรส.ที่กำลังต่อสู้เรื่องนี้อยู่จึงคงอยากจะหาเวทีขยายผลในเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นได้  จึงคิดว่าไหน ๆ ก็มาแล้วลองเข้าไปฟังเสียหน่อยก็แล้วกันว่ามันเป็นอย่างไร

เริ่มต้นรายการนักพูดชื่อดัง คุณประสาน มฤคพิทักษ์ ได้มาแนะนำหัวข้อและเป้าหมายของการอภิปราย ก็เป็นไปอย่างเร้าใจผู้ฟัง มีการกระทบกระเทียบเปรียบเปรยอดีตผู้นำรัฐบาลและพันธมิตรตามลีลาของท่าน จากนั้นก็เข้าสู่การอภิปรายในหัวข้อ ธุรกิจข้ามชาติในประเทศไทย ส่วนแบ่งและความรับผิดชอบต่อสังคม โดย คุณทวีสันต์ โสณานุรักษ์  ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา คุณโกศล  เลิศศักดิ์ดดำรงกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซ์โปรดักส์ จำกัด คุณสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค คุณเถกิง สมทรัพย์ อุปนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 

สรุปประเด็นได้ว่า ห้างยักษ์ใหญ่ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาลงทุนในประเทศไทยกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับร้านค้าปลีกรายย่อย (ร้านโชวห่วย) เท่านั้นยังเป็นการชี้นำและยั่วยุให้คนไทยเกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย อีกทั้งยังครอบงำความคิดของคนไทยให้หลงใหล เพลิดเพลินกับกระแสทุนนิยมอีกด้วย ซึ่งหากปล่อยให้เรื่องดังกล่าวดำเนินต่อไปในที่สุดประเทศก็จะสูญเสียอธิปไตยและตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ

ซึ่งผู้อภิปรายแต่ละท่านก็ได้เสนอและเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการบริหารประเทศเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขโดยด่วน อีกทั้งยังเสนอประเด็นให้ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทั้ง ๔ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแต่ละท่านก็มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดเวลาที่นั่งฟังผู้บันทึกเกิดอารมณ์แปรปรวนอยู่ตลอด เดี๋ยวกลัว เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยววิตกกังวล เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวขัดแย้ง เดี๋ยวคล้อยตาม เป็นอาการ เกิดดับ เกิดดับ ของจิต บางครั้งก็ระลึกได้ บางครั้งก็ปล่อยจิตออกไปไกลกว่าจะกลับมาทำให้เห็นถึงความด้อยในทักษะเกี่ยวกับการฟังของผู้บันทึกที่ต้องได้รับการฝึกฝนและพัฒนาอย่างมาก

แต่แล้วก็มีสิ่งที่ผิดหวังเกิดขึ้นอีกจนได้เมื่อผู้อภิปรายท่านสุดท้ายที่เป็นตัวแทนของสื่อมวลชนได้ยกถ้วยโฟมที่มีโลโก้สวยงามสำหรับใส่กาแฟขึ้นมาถ้วยหนึ่ง แล้วบอกว่าท่านเสียเงิน 35 บาทสำหรับกาแฟถ้วยนี้ แล้วท่านก็นำถ้วยกระดาษพร้อมกับซองกาแฟสำเร็จรูปแบบผสมเสร็จ (3 in 1) บอกว่ากาแฟถ้วยนี้ 15 บาท ท่านบอกว่าขึ้นอยู่กับเราว่าอยากบริโภคอะไร ที่กล่าวเอาไว้แต่ต้นว่าผิดหวังก็เพราะคาดว่าผู้อภิปรายท่านนี้จะกล่าวโจมตีผู้อื่นในฐานะสื่อมวลชนที่เขียนหนังสือประเภท รู้ทัน แต่ท่านกลับโจมตีตัวท่านเองว่าเลือกบริโภคผิดจากหลักเศรษฐกิจพอเพียง เท่านั้นเองความผิดหวังของผู้บันทึกก็เกิดขึ้น แต่เป็นความผิดหวังที่เต็มไปด้วยความชื่นชมที่นอกจากท่านจะรู้ทันผู้อื่นแล้วท่านยังรู้ทันตนเองอีกด้วย ทำให้ผู้บันทึกรู้สึกตัวเบาหวิว ผ่อนคลาย จิตเริ่มนิ่ง สติเริ่มมา ปัญญาเริ่มเกิด รู้สึกว่าการทำตัวเป็นคนประเภทชาไม่ล้นแก้วนั้นยากนัก การเปิดใจให้กว้าง การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening)นั้น หากไม่รู้จักการฝึกจิตภาวนาให้เกิดมีสติที่มั่นคงแน่วแน่แล้วคงจะเป็นการยากมากที่จะฟังเรื่องราวจากผู้อื่นได้อย่างตั้งใจ โดยเฉพาะการต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการฟัง นี่คงจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการใช้ เรื่องเล่า ของ สคส. จึงกำหนดให้เล่าเรื่องละประมาณ ๒ นาที และควรจะเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จ เป็นเรื่องเชิงบวก ทำให้สิ่งที่ได้มากเกินความคาดหมายสำหรับการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก็คือ การเรียนรู้เรื่องเทคนิคการฟัง

หลังจากอภิปรายจบก็ได้เปิดให้มีการระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมและเนื่องจากเกินเวลาไปมากแล้วจึงไม่มีการเบรค ใครอยากจะไปพักหรือเข้าห้องน้ำก็เชิญตามสบาย ผู้บันทึกจึงเลือกที่จะไปดื่มน้ำและเข้าห้องน้ำ ระหว่างทางที่เดินไปซื้อน้ำดื่ม ก็ได้พบกับลานสมัชชาสุขภาพกำลังเริ่มเสวนาเรื่อง บริหารธุรกิจอย่างไรให้มีความสุข ผู้บันทึกเหลือบมองขึ้นไปบนเวทีก็เกิดอาการปิ๊งขึ้นมาทันทีเพราะผู้ที่อยู่บนเวที ๒ ท่านคือผู้ที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติอย่างเกิดผลสำเร็จ ตัวจริงเสียงจริง ท่านหนึ่งก็คือ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอีกท่านหนึ่งก็คือคุณปราโมทย์ เตียสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทแพรนด้า จิวเวลลี่ จำกัด (มหาชน) อีก ๒ ท่านผู้บันทึกไม่รู้จัก ส่วนผู้ดำเนินรายการก็คือ อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ขาทั้งสองข้างของผู้บันทึกไวกว่าความคิดรู้สึกตัวอีกทีก็มายืนอยู่ทางด้านหน้าของลานเวทีแล้ว ผู้คนมานั่งและยีนฟังกันหนาตา น่าเสียดายที่ผู้บันทึกมาถึงก็เข้าสู่ช่วงสุดท้าย แต่ก็ได้ยินประโยคเด็ดๆ จากพระคุณเจ้าที่ได้มานั่งฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตอบคำถามผู้ดำเนินรายการที่ถามว่า แล้วทางศาสนา ทางพระละครับท่านพอเพียงหรือไม่อย่างไร ท่านตอบไปว่า คนเรามักชอบที่จะสร้างเฉพาะโครงของตะเกียง หาของแพงมาประดับประดาตกแต่งให้สวยงาม แข่งกันสร้าง แต่แท้จริงความสำคัญอยู่ที่ไส้ตะเกียง หากไส้ไม่ดีจุดไฟไม่ติด ตะเกียงจะสวยงามอย่างไรก็ไร้ประโยชน์ เหมือนศาสนาถ้ามัวแต่สร้างตะเกียงแต่ไม่พัฒนาแก่น ไม่พัฒนาปัญญา ไม่ปฏิบัติธรรมะ วัดก็จะเหมือนกับตะเกียงที่ไม่มีไส้ ดังนั้นโยมอยากจะสร้างอะไรก็คิดเอา พอพระคุณเจ้าพูดจบผู้บันทึกปรมมือเสียงดังลั่นพร้อม ๆ กับผู้ฟังอีกหลายท่าน แต่พอตั้งสติได้ก็คิดว่าเราน่าจะพนมมือแล้วกล่าวคำว่าสาธุน่าจะเหมาะสมกว่า นี่แหละครับการตั้งสติให้มั่นนั้นมันทำยากจริง

จากคำกล่าวของหลวงพ่อทำให้ผู้บันทึกนึกถึงการทำ KM ของหลายองค์การ หลายหน่วยงาน ที่ให้ความสำคัญกับโครงตะเกียงมากว่าไส้ตะเกียง ตะเกียงบางดวงที่ไม่มีโครงที่สวยงาม ทำจากกระป๋องนมใช้แล้ว แต่มีไส้ที่ทำมาจากเชือกอย่างดี มีน้ำมันเติมอยู่ตลอดเวลา ย่อมให้แสงสว่างและความอบอุ่นได้ จึงมีประโยชน์มากว่าตะเกียงที่สวยงามแต่ไม่มีไส้ ไม่มีน้ำมัน ฉันใด การทำKM ที่วุ่นอยู่กับนิยามความหมาย และหลักการทางทฤษฎี แต่ไม่มีการปฏิบัติ ก็เหมือนกับตะเกียงไม่มีไส้ฉันนั้น ขอกราบนมัสการขอบพระคุณหลวงพ่อที่ได้ให้โมเดล KM กับผู้บันทึกได้นำไปใช้

นี่แหละครับ สิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน สิ่งที่คาดหวังไว้กลับไม่ได้ แต่สิ่งที่ไม่ได้คาดหวังไว้กลับได้ และได้มากด้วย สรุปว่างานนี้คุ้มอย่างยิ่งที่ได้มา
หมายเลขบันทึก: 56655เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2006 05:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอบคุณมากนะค่ะ
  • AAR ดีมากค่ะ
  • ขอ copy เก็บไว้ศึกษาเพิ่มเติมนะค่ะ

ด้วยความยินดีครับอาจารย์

เรียกใช้งานตัวจัดการข้อความ 61.7.230.86

ข้อความ:

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท