Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาน้องโลตัส - มีมารดาบุญธรรมเป็นคนไร้สัญชาติใน ท.ร.๑๓ - แต่คุณแม่มีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาเหมือนคนมีสัญชาติค่ะ


กรณีศึกษา“น้องโลตัส” หรือ “เด็กชายจิตติพัฒน์”

: จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดกำหนดความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาของมารดาบุญธรรมไร้สัญชาติ ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152376462998834 

------------

ข้อเท็จจริง[1]

------------

โรงพยาบาลอุ้มผางซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ภาคีจากภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมทำงานภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕ – พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙” ได้มีคำร้องมายังคณะผู้ศึกษาวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ทั้งนี้ นางจันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผางได้มีข้อหารือมายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังนี้  

“น้องโลตัส” หรือ “เด็กชายจิตติพัฒน์” เกิดเมื่อวันที่  ๑๗  เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง จากเด็กหญิงมะซาว ซึ่งเป็นชาวเมียนม่าร์อายุประมาณ ๑๔ ปี รับจ้างเลี้ยงวัวและดูแลสวนยางพาราอยู่ที่หมู่บ้านเจ่โด่ง เลยชายแดนเปิ่งเคลิ่งเข้าไปเขตประเทศเมียนม่าร์   เมื่อมารดาไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรทั้งของประเทศเมียนม่าร์และประเทศไทย จึงไม่มีบัตรประจำตัวของคนสัญชาติของทั้งสองประเทศที่เกี่ยวข้องรวมถึงประเทศใดเลยบนโลก นางจันทราภาจึงได้ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ของโรงพยาบาลอุ้มผางให้ และดำเนินการแจ้งการเกิดของน้องโลตัสในทะเบียนประวัติบุคคลซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่น้องโลตัสต่ออำเภออุ้มผาง อำเภอดังกล่าวได้บันทึกรายการสถานะบุคคลของน้องโลตัสในทะเบียนประวัติเพื่อบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ท.ร.๓๘ ก) และให้มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐

ด้วยโรงพยาบาลอุ้มผางตระหนักว่า มารดายังเป็นเด็กวัยเยาว์ จึงไม่ยังไม่มีความพร้อมที่จะดูแลเด็กวัยเยาว์อย่างเหมาะสม ดังนั้น นางจันทราภาจึงหารือประชาสังคมรอบโรงพยาบาลอุ้มผางถึงความเป็นไปได้ที่จะดูแลน้องโลตัส มีบุคคลในหลายครอบครัวเสนอที่จะเป็น “ครอบครัวบุญธรรม” ให้แก่น้องโลตัส ซึ่งทางโรงพยาบาลอุ้มผางได้เลือกครอบครัวของนางบัวติ๊บและนายสุริยา ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ในอำเภออุ้มผางนั้นเอง นางบัวติ๊บและนายสุริยาสมรสกันมานาน แต่ไม่มีบุตร การได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลอุ้มผางให้ดูแลน้องโลตัสในระหว่างกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่ขาดไร้บุพการี จึงเป็นการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นมากขึ้นให้แก่ทั้งบุคคลทั้งสองและน้องโลตัสเอง

นางบัวติ๊บและนายสุริยาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔ การก่อตั้งครอบครัวระหว่างบุคคลทั้งสองจึงเป็นไปตามกฎหมายไทย ทั้งสองคนมีอาชีพทำไร่ทำสวน ฐานะปานกลาง มีความขยันหมั่นเพียร

นางบัวติ๊บจะยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ เพราะเธอไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติโดยรัฐใดเลยบนโลก แต่เธอมีสถานะเป็นราษฎรไทยในทะเบียนบ้านคนที่มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เธอถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครองโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เธอมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๖  เธอเป็นบุตรสาวคนโตของนายลูลู และนางเพียง ซึ่งเกิดที่ประเทศเมียนม่าร์ เมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๐

เธอเข้ามาในประเทศไทยทางฝั่งบ้านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งแต่ยังแบเบาะ บัวติ๊บมีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก ๒ คน ได้แก่ (๑) นายสุขซึ่งเกิดที่บ้านเปิ่งเคลิ่งเมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๑ ซึ่งเพิ่งได้รับการเพิ่มชื่อใน ท.ร.๑๔ เป็นบุคคลสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่ง พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และ (๒) เด็กหญิงสาวิกา ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง สาวิกาถูกบันทึกใน ท.ร.๑๓ แต่ทะเบียนบ้านนี้ระบว่า สาวิกาไม่มีสัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หน้า ขึ้นต้นด้วยเลข ๗  

ขณะนี้นางบัวติ๊บ นายลูลู (บิดา) และนางเพียง (มารดา) อยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอรับรองสถานะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ส่วนเด็กหญิงสาวิกาอยู่ในระหว่างการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ

ส่วนนายสุริยา อินเสาร์ ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย เขามีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๓  

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕  ทนายความประจำคลินิกกฎหมายอุ้มผางสิทธิมนุษยชน โรงพยาบาลอุ้มผางได้ประสานงานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดตาก เพื่อหารือเรื่องการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัดจาก (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “พมจ.ตาก”) ได้ส่งแบบฟอร์มการรับบุตรบุญธรรมมายังโรงพยาบาลอุ้มผาง และแจ้งว่า ในกรณีที่ทั้งเด็กและผู้ประสงค์จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นบุคคลสัญชาติไทยทั้งคู่ สามารถส่งเรื่องไปที่ พมจ.ตาก เพื่อเข้าประชุมระดับจังหวัดให้อนุมัติการรับบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ต้องมีการทดลองนำเด็กไปเลี้ยงเป็นเวลา ๖ เดือนแล้วประเมินผล ส่วนในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย เรื่องดังกล่าวต้องส่งไปขออนุมัติที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่บรรลุที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการสร้างครอบครัวบุญธรรมตามกฎหมายให้แก่น้องโลตัส

เพื่อที่จะสร้างความชัดเจนในการสนับสนุนการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรมตามกฎหมายให้แก่เด็กที่เกิดในโรงพยาบาลไทย แต่ถูกทอดทิ้งหรือขาดไร้บุพการีที่เหมาะสม คณะผู้ศึกษาภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีหนังสือเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อขอหารือแนวคิดและวิธีการเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่น้องโลตัส ซึ่งได้รับเลือกเป็นกรณีศึกษาหลักต้นแบบเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายและนโยบายเพื่อจัดการสิทธิมนุษยชนให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งทาง พมจ.ตากได้ตอบรับให้คณะผู้ศึกษาวิจัยเข้าหารือในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.

ดังนี้ สมมติว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้ศึกษาวิจัยดังกล่าว จึงขอให้ท่านเตรียมความเห็นทางกฎหมายเพื่อเข้าหารือกับคณะทำงานของ พมจ.ตาก ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้ท่านวิเคราะห์ข้อเท็จจริงดังกล่าวในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

--------

คำถาม

--------

หากบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด ซึ่งประกอบการบ้านพักตากอากาศที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รับนางบัวติ๊บเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว โดยให้ทำหน้าที่พนักงานทำความสะอาดบ้านพักตากอาการของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านก้อเชอ จังหวัดกะเหรี่ยง ประเทศเมียนม่าร์

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างบริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด และนางบัวติ๊บ ทำ ณ ตูกับสูรีสอร์ท อำเภออุ้มผาง ประเทศเมียนม่าร์

อนึ่ง บริษัท บ้านสวยริมเมย จำกัด เป็นบริษัทตามกฎหมายไทย ซึ่งมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีหุ้นส่วนข้างมากเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่น ในขณะที่หุ้นส่วนข้างน้อยมีสัญชาติเมียนม่าร์ บริษัทนี้มีบ้านพักตากอากาศตั้งอยู่ทั้งในประเทศไทยและประเทศเมียนม่าร์

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดกำหนดความสามารถของนางบัวติ๊บในการทำสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว เพราะเหตุใด[2]

---------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นเรื่องของการเลือกกฎหมายเพื่อกำหนดความสามารถของบุคคลธรรมดาในการทำสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน และเมื่อปัญหาตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของสัญญาระหว่างคนไร้สัญชาติซึ่งมีสถานะเป็นราษฎรไทยและบริษัทตามกฎหมายไทย ซึ่งครอบงำโดยคนสัญชาติญี่ปุ่น สัญญาที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะระหว่างประเทศ อันทำให้ตกอยู่ภายใต้การขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน และนำไปสู่การเลือกกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการจัดการสิทธิของเอกชนในสัญญา

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศย่อมตกภายในกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของรัฐที่มีการกล่าวอ้างความเป็นระหว่างประเทศของนิติสัมพันธ์ ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายจะเป็นรัฐหรือองค์กรของรัฐก็ตาม

ในกรณีที่มีการกล่าวอ้างความเป็นต่างด้าวของนางบัวติ๊บ จึงจะต้องนำเอาหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมาใช้ในการพิจารณาความสามารถของบุคคลดังกล่าว ซึ่งกฎหมายนี้ก็รับรองให้ใช้กฎหมายขัดกันของรัฐที่มีการกล่าวอ้างนิติสัมพันธ์ เว้นแต่กรณีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในเมื่อมีการกล่าวอ้างความสามารถของนางบัวติ๊บในประเทศไทย จึงจะต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ในการเริ่มพิจารณานิติสัมพันธ์

ภายใต้มาตรา ๑๐ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ความสามารถโดยทั่วไปของบุคคลตกอยู่ ซึ่งกำหนดว่า "ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น" ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้กฎหมายขัดกันไทย ความสามารถของบุคคลย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายสัญชาติของบุคคล หรือกล่าวอย่างชัดเจน ก็คือ กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล และเมื่อนางบัวติ๊บมีสถานะเป็น “คนไร้สัญชาติ” ทั้งนี้ เพราะ เพราะเธอไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติโดยรัฐใดเลยบนโลก กรณีจึงตกอยู่ภายใต้มาตรา ๖ วรรค ๔ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ” จะเห็นว่า เมื่อบุคคลไม่มีรัฐเจ้าของสัญชาติ จึงไม่อาจจะหากฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติมากำหนดความสามารถในการทำนิติกรรมและสัญญาของเธอได้ ในกรณีเช่นนี้ กฎหมายขัดกันไทยดังกล่าวจึงให้ใช้กฎหมายของรัฐเจ้าของภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับแทนกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติ

ดังนั้น จึงต้องย้อนไปพิจารณาว่า นางบัวติ๊บมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศใด ?  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางบัวติ๊บอาศัยอยู่ในอำเภออุ้มผาง ประเทศไทย ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา ๓๗ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ”นางบัวติ๊บย่อมมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ในประเทศไทย จึงต้องสรุปว่า ความสามารถทางกฎหมายของเธอจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา ๑๐ และมาตรา ๖ วรรค ๔  แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ จึงต้องเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยมาใช้ในการกำหนดปัญหาความสามารถในการทำสัญญาของนางบัวติ๊บได้เลย

เราคงตระหนักได้ว่า แม้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิตามกฎหมายเอกชนนั้นเป็นสิทธิของมนุษย์/ธรรมดา เมื่อบุคคลดังกล่าวมีรัฐเจ้าของสัญชาติ การเกิดขึ้นและความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิย่อมเป็นไปตามกฎหมายเอกชนของรัฐเจ้าของสัญชาติ แต่เมื่อมนุษย์/บุคคลธรรมดาตกอยู่สถานการณ์ที่ไร้รัฐบนโลกนี้รับรองสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรให้ อันทำให้พวกเขาตกเป็น “คนไร้สัญชาติ” การเกิดขึ้นและความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิย่อมเป็นไปตามกฎหมายเอกชนของรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของพวกเขา โดยหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล มนุษย์/บุคคลธรรมดาไม่อาจตกเป็นผู้ไร้สิทธิตามกฎหมายเอกชนได้เลย สิทธิตามกฎหมายเอกชนย่อมเป็นสิทธิของมนุษย์ตามกฎหมายธรรมชาติ

--------------------------------

[1] เค้าโครงของเรื่องมาจากเรื่องจริงซึ่งผู้ออกข้อสอบน ามาจากข้อมูลการท างานภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย – เมียนม่าร์ ประจ าปีการศึกษา ๒๕๕๖” ซึ่งเป็นงานในปีที่ ๒ ของ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙” กรณีศึกษานี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกต่อสาธารณชนในการประชุมวิชาการเรื่อง “สถานการณ์ส าคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยและผูกพันรัฐไทย ในการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนข้ามชาติจากเมียนม่าร์ โดยผ่าน ๑๕ กรณีศึกษาหลักและกรณีศึกษาในสถานการณ์เดียวกันที่เสนอโดยเจ้าของปัญหาเองและคนท างานในภาคประชาสังคม” ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บุคคลในกรณีศึกษาประสงค์ที่จะให้คณะผู้ศึกษาวิจัยใช้เรื่องราวของตนเป็นกรณีศึกษาต้นแบบเพื่อสร้างสูตรสำเร็จให้การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในสถานการณ์เดียวกัน จึงประสงค์ให้ใช้ชื่อจริงของเจ้าของปัญหาเอง

อนึ่ง ข้อเท็จจริงเก็บและบันทึกโดย อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางสาววิกานดา พัติบูรณ์ ผู้ช่วยทางวิชาการในโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างการลงพื้นที่อ าเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗

[2] ข้อสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ การสอบภาคที่ ๒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

 

คุณแม่บัวติ๊บ คนไร้สัญชาติใน ท.ร.๑๓ และน้องโลตัส คนไร้สัญชาติใน ท.ร.๓๘ ก 

หมายเลขบันทึก: 566305เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2014 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2014 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท