สายธารความความสู่การเลี้ยงโคแบบไทบ้าน ตอนที่ 7 รูปแบบการเลี้ยงโค


การจะเลี้ยงโคให้ได้กำไรจะต้องลดต้นทุนในการผลิตให้มากที่สุด การขายโคได้ราคาสูงแต่ลงทุนมากถือว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
จากที่ได้ออกพื้นที่สำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลี้ยงโคในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาก พบว่ารูปแบบการเลี้ยงโคส่วนใหญ่ยังไม่จริงจังทุกคนเลี้ยงตามความเคยชินที่เคยเลี้ยงกันมาตั้งแต่อดีตด้วยการเลี้ยงปล่อยทุ่ง โคอ้วนบ้างผอมบ้างตามความสามารถในการแทะเล็มหญ้าและจะเลี้ยงโคพื้นเมืองเป็นหลักเพราะเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ปัจจุบันความต้องการในการบริโภคเนื้อโคมากมากขึ้นตามจำนวนประชากรและเนื้อโคมีแนวโน้มจะขาดแคลนและราคาสูงขึ้น ทำให้รูปแบบการเลี้ยงโคพัฒนาเข้าสู่ระบบธุรกิจมากขึ้น มีเกษตรกรบางส่วนที่เริ่มเลี้ยงอย่างเป็นระบบจริงจังมากขึ้น มีการวางแผนผลิตลูกโค การพัฒนาสายพันธุ์ มีปลูกหญ้าเลี้ยงทำให้โคไม่ต้องลำบากในการหากินซึ่งจะเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์บราห์มัน ฮินดูบราซิล ซึ่งการเลี้ยงโคพันธุ์เหล่านนี้กำลังได้รับความนิยมแต่ราคายังสูงผู้เลี้ยงจึงยังมีไม่มาก และในอนาคตจะพัฒนาเป็นการเลี้ยงโคขุนอย่างเป็นระบบมากขึ้น ดังนั้นรูปแบบการเลี้ยงโคในอนาคตจะพัฒนาเป็นธุรกิจ มีการวางแผนการผลิตการจำหน่าย แต่จะยังไม่พัฒนาเหมือนกับต่างประเทศทั้งนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน รูปแบบการเลี้ยงโคที่เกษตรกรเลี้ยงจะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1. เลี้ยงแบบปล่อยทุ่งหญ้าธรรมชาติ โดยคนเลี้ยงจะต้อนโคไปหากินตามทุ่งหญ้าตามที่ สาธารณะ ตามทุ่งนา การเอาใจดูแลน้อย เลี้ยงแบบต้นทุนต่ำ ไม่มีการคัดพันธุ์ ไม่มีการแบ่งฝูง ไม่มีการการให้อาหารเสริม คอกสัตว์จะอยู่ใต้ถุนบ้าน ใต้ทุนยุ้งข้าวหรือสร้างเป็นเพิงแบบง่ายๆ และโคอยู่กันอย่างแออัด โคที่เลี้ยงจะเป็นโคพื้นเมืองเนื่องจากทนต่อสภาพแวดล้อมในบ้านเรา ทนโรค ทนแมลง ให้ลูกดก แต่ขายได้ราคาต่ำ เนื่องจากโคจะตัวเล็กและผอม ส่วนใหญ่จะขายลูกโคที่โตแล้วเป็นชุดสามตัวหนึ่งหมื่นบาท การเลี้ยงโคในรูปแบบนี้จะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากขาดแคลนพื้นที่เลี้ยง รวมทั้งเกษตรกรมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยง พัฒนาสายพันธุ์อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยการคัดแม่พันธุ์โคพื้นเมืองที่มีลักษณะดีผสมกับพ่อพันธุ์บราห์มันและฮินดูบราซิล 2. การเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งที่มีรั้วกัน มีการคัดพันธุ์และเลือกซื้อพันธุ์ที่ดีมาผสมและมาเลี้ยงมาเลี้ยงแต่เริ่มต้น มีการเลี้ยงที่เป็นระบบ มีแปลงปลูกหญ้าและการให้อาหารเสริม มีระบบการควบคุมและป้องกันโรค คอกสัตว์จะแยกเป็นสัดส่วนแต่ยังทำเป็นเพิงแบบง่ายๆ บริเวณที่เลี้ยงโคมีรั้วรอบขอบชิดป้องกันโคออกนอกฝูง หรือโคฝูงอื่นเข้ามาผสม รวมทั้งป้องกันไม่ให้โคออกนอกรั้วไปสร้างปัญหาให้กับรอบข้าง 3. การเลี้ยงเป็นการค้า เป็นการเลี้ยงที่ระบบชัดเจน มีการทำแปลงหญ้าย่อย ๆ หลายแปลงโดยปลูกหญ้าหลากหลายพันธุ์ตามความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อให้มีอาหารหยาบสำรองไว้เลี้ยงโคได้ตลอดทั้งปี มีคอกสัตว์และโรงเรือนที่ถูกสุขลักษณะ มีการคัดพันธุ์ จัดฝูง การเลี้ยงในรูปแบบนี้ชาวบ้านเลี้ยงกันน้อย เนื่องจากใช้เงินทุนสูงชาวบ้านไม่มีทุนและไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงทุนด้วย ส่วนใหญ่คนที่เลี้ยงจะเป็นนายทุน ถ้าชาวบ้านเลี้ยงก็จะเลี้ยงจำนวนน้อย 2 – 3 ตัว เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดปีทั้งในเรื่องการทำแปลงหญ้า การให้อาหารข้นอาหารเสริม และค่าดูแลรักษาสุขภาพ และโคที่เลี้ยงจะขายในราคาที่สูงเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนการผลิต ดังนั้นถ้าท่านใดต้องการที่เลี้ยงโคและคิดว่าควรจะเลี้ยงในรูปแบบใดจึงจะดีและเหมาะสมกับตนเองแล้ว คงต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น - เงินทุน เพราะต้องใช้จ่ายทั้งค่าซื้อพันธ์โค ค่าคอกและโรงเรือน ค่าอาหาร ค่าแรงงาน - สถานที่เลี้ยง ต้องดูสภาพพื้นที่ ลมฟ้าอากาศและแหล่งอาหารใกล้เคียง เพราะถ้าพื้นที่เหมาะสมไม่ห่างไกลชุมชน ดินและน้ำดีจะส่งผลต่อการปลูกหญ้าและพืชอาหารสัตว์อย่างอื่นได้ หรือพืชชนิดอื่นที่เป็นผลพลอยได้ทางการเกษตรก็สามารถจัดหามาเป็นอาหารเลี้ยงโคราคาถูกจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้ - วิธีการผสมพันธุ์และคัดพันธุ์ ว่าจะเลี้ยงโคพันธุ์แท้หรือพันธุ์ลูกผสม โดยพิจารณาจากเงินทุนและพื้นที่ประกอบ แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องลงทุนต่ำและขายได้ราคาสูง บางครั้งถึงแม้ขายได้ราคาสูงแต่ถ้าลงทุนซื้อโคพันธุ์แท้ที่แพงและการเลี้ยงที่สูง กำไรที่ได้ก็ถือว่าไม่คุ้ม จึงพบว่าเกษตรที่เลี้ยงโคพันธุ์ส่วนใหญ่จะยังไม่นิยมเลี้ยงแม่โคพันธุ์แท้มากนักเพราะแม่โคพันธุ์แท้จะตัวโต ต้องการอาหรคุณภาพดีในปริมาณมาก ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นจะผสมไม่ติดผลิตลูกไม่ได้ตามต้องการทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นเกษตรกรจึงนิยมเลี้ยงแม่โคพื้นเมืองลักษณะดี หรือแม่โคลูกผสมที่ตัวไม่ใหญ่มากนักผสมข้ามพันธุ์กับพ่อโคพันธุ์ดี กินก็ไม่มาก ดูแลเอาใจใส่เพียงเล็กน้อยก็สามรถผลิตลูกโคตามที่ต้องการได้ - ตลาดโค ถ้าจะซื้อแม่พันธุ์ที่ดีในขณะที่กำลังได้รับความนิยมจะราคาสูง ควรรอระยะเวลาที่เหมาะสมให้ราคาที่แท้จริงจะลดต้นทุนในการผลิตได้ อย่างไรก็ตามการจะตัดสินใจว่าจะเลี้ยงโคในรูปแบบไหนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตายตัว อาจจะผสมผสานหลาย ๆ รูปแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบริบทของตนเองเพื่อให้เกิดผลกำไรสูงสุด
หมายเลขบันทึก: 56628เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท