ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 1 ปีผมขอทำแค่ 4 เรื่อง "ถ้าทำความดีมากๆ ทุจริตก็หมดไป"


                (บทสัมภาษณ์ ลงใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549)

                "ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม" ประธานศูนย์คุณธรรม ได้รับการทาบทามจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามานั่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวกันว่า ถ้าเป็นกระทรวงอื่นเขาอาจไม่รับตำแหน่ง เพราะครึ่งชีวิตของ "ไพบูลย์" ทำงานด้านสังคมมาตลอด ตั้งแต่กองทุนเพื่อสังคม เคยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หลายคนพูดตรงกันว่า อาจารย์ไพบูลย์คือหัวหน้าเอ็นจีโอสายกลาง ผู้มีเครือข่ายเชื่อมโยง ทั่วประเทศ 

                "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถึงแนวทางในการบริหารช่วงเวลา 1 ปีเศษนับจากนี้ 

                นโยบายเร่งด่วนภายในเวลา 1 ปี 

                ผมวางภารกิจหลักไว้ 4 เรื่อง คือ 1.แก้ปัญหาอุทกภัย 2.ปัญหาชายแดนภาคใต้ 3.ปัญหาความแตกแยกในสังคม และ 4.ปัญหาความด้อยคุณธรรมจริยธรรม เป็น 4 เรื่องที่รัฐบาลพยายามดูแล โดยกระทรวงจะเข้าไปช่วยเสริม

                เรื่องอุทกภัยเรามีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยมีบุคลากรดำเนินการอยู่ที่จังหวัดต่างๆ ร่วมกับทางราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนกลาง ตลอดจนองค์กรสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการในเรื่องการฟื้นฟูและการพัฒนาหลังภัยพิบัติโดยเน้นบทบาทของภาคประชาชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                เรื่องชายแดนภาคใต้กระทรวงจะสนับสนุนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบความเสียหายจากความรุนแรง และมีโครงการที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยวิธีการทำแผนแม่บทชุมชน หรือโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งทำอยู่ 20 ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้- 4 เรื่องใหญ่ใน 1 ปี ล้วนเป็นเรื่องยากเพราะปัญหาหมักหมมมานาน 

                คิดว่ารัฐบาลชุดนี้ รวมถึงทางกองทัพที่ดูแลอยู่ จับทิศทางได้ถูกในเรื่องท่าทีและทัศนคติแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่เป็นปฏิปักษ์หรือเผชิญหน้ากัน เชื่อว่าทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายมั่นคงมีวิธีการที่ดี ทางกระทรวงจะรับผิดชอบเรื่องการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และการจัดที่อยู่อาศัย แต่เราไม่ได้ทำทั้งหมด เหมือนเรารักษาโรค รักษาผิดท่าก็จะยิ่งแย่ลง แต่พอถูกท่าจะรู้สึกสบายขึ้นและค่อยๆ ดีขึ้น 

                ปัญหาความแตกแยกทางสังคมก็เช่นกัน เชื่อว่าท่าทีท่านนายกฯ และรัฐบาลเป็นไปในทางสมานฉันท์ ทางเราก็จะสนับสนุนในเรื่องการปฏิบัติการเชิงสมานฉันท์ โดยจะประสานความร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าและหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำเรื่องสันติวิธีโดยการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและเทคนิควิธีการ เช่น ความยุติธรรมสมานฉันท์ การประชุมร่วมเพื่อระดมความเห็นร่วมกัน จะทำให้สังคมเห็นว่าเราอยู่ร่วมกันได้ ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างได้ 

                ด้านคุณธรรมจริยธรรม จะร่วมมือกับศูนย์คุณธรรมและหน่วยงานอื่นที่ขับเคลื่อนเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรม ก็มีเทคนิคและวิธีการในการปฏิบัติ เช่น การทำแผนที่ความดีเพื่อให้เกิดการค้นหาและชื่นชมความดี แล้วใช้ความดีที่มีอยู่เป็นพื้นฐานเพื่อจะสร้างความดีให้มากขึ้น ถ้าความดีมากขึ้น คุณธรรมมากขึ้น สิ่งที่ไม่ดีก็หมด ความสุจริต ความถูกต้องเหมาะสมต่างๆ มากขึ้น ความไม่ถูกต้อง การทุจริตก็จะค่อยๆ ลดลง

                จะดึงองค์กรภาคธุรกิจมาร่วมได้อย่างไร 

                ที่ผ่านมาเราได้ประสานและเกี่ยวข้องกันบ้างอยู่แล้ว ธุรกิจที่ดีก็ต้องเป็นธุรกิจที่แคร์ต่อสังคม ฉะนั้นเราก็ส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่นต่างๆ ขณะเดียวกันธุรกิจใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีเยอะ เขาก็ทำอยู่แล้ว เราชวนให้เขามาทำมากขึ้น ทำดีมากขึ้น

                1 ปีในการวางรากฐานสังคม ไม่ใช่เรื่องง่าย 

                เรามาในสถานการณ์พิเศษ ก็ทำเท่าที่ทำได้ สังคมต้องพัฒนาการไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำก็อาจจะดีบ้างไม่ดีบ้าง เราก็หวังว่าเราจะทำดีได้เยอะ และสิ่งที่ดีนั้นก็จะเป็นเชื้อให้กับความดีต่อๆ ไป

                แต่เรื่องคุณธรรม จริยธรรมฝังรากลึก ต้องใช้เวลารื้อเป็นชั่วอายุคน 

                ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่ดีมีอยู่เยอะ เราช่วยหนุนสิ่งที่ดีให้ปรากฏตัวมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดผลต่อเนื่องไปมาก พอเราไม่อยู่แล้วคนมาใหม่ก็รับช่วงต่อไป

                จะต้องปรับตัวโครงสร้างกระทรวงหรือไม่ อย่างไร 

                เบื้องต้นก็ได้พูดคุยกันกับผู้บริหารและหน่วยงานต่างๆ ก็คิดว่ามีสิ่งที่จะทำได้ คือ การพัฒนาองค์กร คือ พัฒนาองค์กรโดยรวมให้เป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและคุณภาพ มีความปีติสุขและมีประสิทธิภาพ คุณธรรมเป็นฐานที่สำคัญ คุณภาพก็สำคัญเพราะว่าถ้าไม่มีคุณภาพก็ไม่น่าพอใจ ประสิทธิภาพก็จะช่วยให้เราสบายใจว่าเราใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และทำได้มาก ได้ดี ได้เร็ว แล้วก็ทำให้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องมีความสุขตามสมควร ถึงจะไปกันได้ด้วยดี

                ต่อมาคือ การพัฒนาในแนวทางของความสุจริตโปร่งใสอย่างจริงจัง ที่เป็นไปได้คือ มีคณะทำงานจากหลายฝ่ายเข้ามาสำรวจศึกษากันเลยว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดความใสสะอาดหรือไม่ใสสะอาดมีอะไรบ้าง 

                4-5 ปีประชาชนเสพย์ติดประชานิยมจนเคยตัว จะแก้ไขอย่างไร

               ผมพูดเสมอว่า ความเป็นจริงจะไม่เป็นแบบเดียว ประชานิยมที่ประชาชนเป็นฝ่ายรับคงเป็นจริงส่วนหนึ่ง แต่ที่ประชาชนเขาเชื่อถือและปฏิบัติไปในเชิงพอเพียงก็มีเยอะ ที่เห็นชัดคือเมื่อวันอังคาร (24 ตุลาคม) มีตัวแทนผู้นำชุมชนนำเสนอท่านนายกฯ โดยไม่มีสักคนที่พูดไปในแนวแบมือขอหรือต้องการให้รัฐบาลมาช่วย แต่สิ่งที่เขานำเสนอคือ ประชาชนต้องเป็นตัวของตัวเอง เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา แล้วรัฐบาลก็ไปสนับสนุนไม่ได้ให้อย่างเดียว เขาพูดด้วยซ้ำไปว่า ที่มีปัญหาแล้วยังแก้ไม่ตกเพราะนโยบายที่แล้วมาของรัฐบาลไม่ถูกต้อง เขาไม่ได้ยึดว่าต้องอยู่เฉยๆ แล้วให้รัฐบาลไปช่วยอยู่เรื่อย ผู้นำชุมชนที่ก้าวหน้าซึ่งมีอยู่เยอะไม่ได้คิดเช่นนั้น

                ผู้นำที่มาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ก็บอกว่า วิธีนี้ถึงจะถูกต้อง ดังนั้นผมคิดว่าแนวทางที่ประชาชนก้าวหน้ากับแนวคิดรัฐบาลนี้ไปด้วยกันได้

                ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนจะบริหารจัดการอย่างไร

                คนที่เขารู้จักใช้ชีวิตแบบพอประมาณก็เยอะ คนส่วนใหญ่ก็น่าจะดูแลตัวเองได้ แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่ถลำเข้าไปใช้ชีวิตเกินพอดี หรืออาจเกิดจากโชคไม่ดี เช่น เกิดโรคภัย ถูกโกง แต่คนจำนวนหนึ่งก็สามารถถอนตัวออกมาได้ บางคนก็ตกอยู่ในบ่วงนานหน่อย อย่างสมัยอยู่ธนาคารออมสินก็ได้อยู่ในโครงการพัฒนาครูร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ แล้วก็ให้ครูนั่นแหละมาเป็นคนแก้ปัญหา คือเน้นหลักการว่า ปัญหาใครคนนั้นต้องแก้ แต่มีคนอื่นมาช่วยด้วย แต่เจ้าของปัญหาต้องเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา

                ยุคนี้น่าจะเป็นยุคทองขององค์กรพัฒนาเอกชนกับภาคประชาชน

                น่าจะเป็นโอกาส เพราะผมอยู่ในภาคประชาสังคมมาเยอะ เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีก็ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เมื่อมาอยู่ในนโยบายอาจจะทำได้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ไม่เป็นปัญหา ทุกฝ่ายก็อยากจะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว 

                จะมีโอกาสเห็นเรื่องภาษีทรัพย์สิน เรื่องภาษีมรดกหรือภาษีกำไรในตลาดหุ้นหรือไม่

                ยังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งมีข้อถกเถียงกันเยอะ ผมยังไม่แน่ใจว่าเมื่อหยิบยกขึ้นมาจะมีคนเห็นชอบร่วมกันมากแค่ไหน แต่หลายเรื่องน่าจะเป็นไปได้ที่ไม่ได้เป็นข้อขัดแย้งทางความคิดมากนัก บางอย่างที่ยังหาความลงตัวไม่ได้ก็คงรอเวลาไปอีก แต่ผมเชื่อว่ามีหลายอย่างที่ทำได้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

31 ต.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 56597เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  ขอแสดงความยินดีที่ผู้นำของชาติเลือกคนถูกงาน ขอเรียนถามอาจารย์ว่าเหตุใดประเทศไทยมีการส่งเสริมการออมแบบเครดิตยูเนี่ยนน้อยและช้ามาก ผิดกับหลายๆประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงให้ชีวิต(มีรายได้ถาวร นอนตายตาหลับ)อย่างยั่งยืน เป็นการใช้กระสุนนัดเดียว ยิงนกได้ทั้งฝูง
  • ตื่นเต้นที่ได้อ่านบบันทึกของอาจารย์
  • หลังจากเคยอ่านจากที่คุณหมอประเวศแนะนำในหนังสือ
พัชณี พนิตอังกูร พอช
     กราบเรียนท่านรัฐมนตรีที่เคารพ           พวกเราชาวพอชรู้สึกยินดีกับการเข้ารับหน้าที่เพื่อชาติในครั้งนี้หลังจากที่ได้มีโอกาสรับฟังการแสดงความตั้งใจของอาจารย์เมื่อคราวการสัมมนาเจ้าหน้าที่พอช ที่จ.นครนายก ในฐานะคนทำงานพวกเราทุกคนเต็มใจเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ดีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ของบ้านเมือง ในระดับคนทำงานจะมีการพัฒนาบุคคลกรโดยการนำ km มาเป็นเครื่องมือในการพํฒนาคน พัฒนางานมากขึ้น ในเบื้องต้นจะมีเวทีทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการนำkm มาใช้ในการพัฒนางานขี้นในวันที่  13-14 พ.ย นี้ที่สำนักงานพอช ภาคใต้ โดยมีทีมkm เมืองคอน อันได้แก่ ครูนงเมืองคอน อ.ภีม จากม.วลัยลักษณ์ เป็นผู้ช่วยอำนวยการเรียนรู้ค่ะ
ปราณี เกียรติสุระยานนท์
เป็นไปได้ไหมคะ ที่รัฐจะมีนโยบาย  ด้านภาษี ให้กับเอส เอ็ม อี เพื่อส่งเสริมให้ มีธรรมาภิบาล  เหมือนกับลูกกตัญญู
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท