AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

ชนเผ่าบนพื้นที่สูงกับปัญหาสัญชาติไทยที่แก้ไม่ตก


พวกเขาสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่รับผิดชอบงานด้านการทะเบียนราษฎร และการพิจารณาสถานะบุคคลของพวกตน ว่าเป็นไปโดยโปร่งใส จริงใจ และเป็นธรรมหรือไม่?

           ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสนใจต่อปัญหาความไร้รัฐและไร้สัญชาติของชนเผ่าบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย และผู้เขียนได้มีโอกาสในการเลือกพื้นที่ทำวิจัยในปัญหาดังกล่าว โดยมีพื้นที่อยู่ที่ตำบลแห่งหนึ่ง ของอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

          พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่ของชนเผ่าหลายเผ่า มีทั้ง ลาหู่(มูเซอ) จีนฮ่อ อาข่า(อีก้อ) ลีซู(ลีซอ) ไทยใหญ่ แต่โดยส่วนใหญ่เป็น กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสัญชาติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเริ่มจัดทำการสำรวจชุมชนและบุคคลบนพื้นที่สูง จนกระทั่งได้ผ่านการอนุมัติให้สัญชาติมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยที่ชนเผ่าทั้งหลายเหล่านี้ที่ได้สัญชาติไทย ทั้งโดยการยื่นตามระเบียบ 43 และการยื่นคำร้องแปลงสัญชาติตาม มาตรา 7 ทวิ

          การอนุมัติให้สัญชาติไทยครั้งที่มากที่สุด เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2543 ซึ่งช่วงต้นของรัฐบาลทักษิณเข้ามาบริหารประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น ก็ได้ว่างเว้นจากการดำเนินงานเกี่ยวกับคำร้องใด ๆ อีก จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลทักษิน ได้พิจารณาลงรายการสัญชาติไทยและอนุมัติสถานะบุคคลต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายให้อีกครั้งสำหรับกลุ่มชนเผ่าและชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือ และล่าสุดอำเภอแม่ฟ้าหลวงโดยนายอำเภอ ได้พิจารณาอนุมัติลงรายการสัญชาติอีกครั้งให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด คือ ไม่มีสัญชาติไทย และต้องเป็นบุคคลที่กำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จครองราชสมบัติครบรอบ 60 พรรษา ซึ่งในการอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยให้แก่กลุ่มบุคคลที่ได้รับครั้งนี้ มีประมาณ 398 คนทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย การให้สัญชาติไทยในครั้งนี้

          แน่นอน มีคนได้ ย่อมมีคนไม่ได้ ส่วนใหญ่ที่ได้ เป็นกลุ่มคนชั้นลูก มากกว่าในชั้นที่เป็นพ่อแม่ ซึ่งทำให้ในบางครอบครัวลูกได้สัญชาติไทย แต่พ่อแม่ไม่ได้ เพราะต้องผ่านประชาคมของแต่ละหมู่บ้านเสียก่อน (ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่เข้าใจว่า สถานะบุคคลที่แท้จริง ต้องเป็นสถานะที่เกิดจากประชาคมหมู่บ้านอย่างนั้นหรือ ???)

          นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีและปลาบปลื้มต่อการทำงานของทางอำเภอแม่ฟ้าหลวงในครั้งนี้ และผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจและสมหวัง หลังจากที่รอคอยมานานแสนนาน และในส่วนตัวของผู้เขียนก็รู้สึกดีใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพวกเขา ด้านที่ดีใจ ก็ ย่อมรู้สึกดีใจ

           แต่ อีกด้านหนึ่งกลับมีคำถามเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ที่ได้รับอนุมัติสัญชาติไทยในครั้งนี้ ก็คือว่า พวกตนได้สัญชาติไทยมาด้วยระเบียบ 43 และเป็นการอนุมัติสัญชาติโดยอำนาจของนายอำเภอ แต่คนอื่น ๆ ที่ยื่นคำร้องตามระเบียบ 43 เช่นเดียวกับพวกตนที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติสัญชาตินั้น เป็นเพราะเหตุใด? ซึ่งพวกเขายืนยันและพร้อมจะช่วยกันเป็นพยานในการให้คำยืนยันว่าคนที่เหลืออยู่นั้น ตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่มาจนถึงรุ่นพวกตนล้วนแต่เกิดในแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับพวกตน ไม่ได้เป็นผู้อพยพมาจากประเทศพม่า แต่ในครั้งนี้กลับมีบางคนที่ได้สัญชาติไทย ซึ่งพวกเขาก็รู้กันดีว่าเป็นผู้ที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542-2543 ที่ผ่านมา กลับได้สัญชาติอย่างรวดเร็วและดูเหมือนเป็นการได้มาอย่างง่ายดาย แต่ขณะที่กลุ่มผู้ที่ยื่นขอลงรายการสัญชาติตามระเบียบ 43 เหมือนพวกตน กลับไม่ได้รับการพิจารณาลงรายการสัญชาติ เป็นเพราะอะไร? ติดตรงไหน? พวกเขาไม่อาจทราบได้และไม่อาจหาญกล้าไปสอบถามถึงสาเหตุต่อทางการ เพราะพวกเขากลัว

           กลุ่มผู้ที่ได้สัญชาติไทยในครั้งนี้ ต่างมีความเห็นว่า อยากให้กรมการปกครองลงมาพิจารณาเอกสารคำร้องต่าง ๆ ที่ ได้ยื่นไว้ต่อที่ว่าการอำเภอแม่ฟ้าหลวงโดยตรง เพื่อต้องการความเป็นธรรมในเรื่องสิทธิ สถานะบุคคล ที่ตนเองมี เพื่อให้ปัญหาที่แก้กันไม่ตกนี้ ลุล่วงไป และต้องให้มีการพิจารณาที่ถูกต้องตามหลักการพิจารณาลงรายการสัญชาติหรือการแปลงสัญชาติ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ

           ด้วยพวกเขาสงสัยว่า คำร้องหรือเอกสารต่าง ๆ ที่ยื่นไว้นั้นได้ เดินทางไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่กระทรวงจริงหรือไม่? อีกทั้ง พวกเขาสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่รับผิดชอบงานด้านการทะเบียนราษฎร และการพิจารณาสถานะบุคคลของพวกตน ว่าเป็นไปโดยโปร่งใส จริงใจ และเป็นธรรมหรือไม่?  

            ปัญหาสัญชาติไทยเของชนเผ่าและชนกลุ่มน้อยเป็นปัญหาที่เรื้อรัง ผู้เขียนเข้าใจดีว่า เป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงถึงความมั่นคงของประเทศชาติ แต่ทุกวันนี้ ปัญหาดังกล่าว กลับไม่ได้รับการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม หากแต่ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการให้สัญชาติที่เกิดขึ้นมาในแต่ละครั้ง ดูเหมือนเป็นเพียงการยื่นน้ำเย็นให้ผู้เหน็ดเหนื่อยได้ดื่มกินเพื่อดับกระหาย และเป็นการเยียวยาเฉพาะจุด และไม่ใคร่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก 

            จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ ทุกวันนี้ รัฐ ต่างได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รัฐเป็นผู้เก็บเกี่ยวและฉวยโอกาสจากวัฒนธรรม ความแปลกประหลาด ความเป็นชนเผ่า ความเป็นชาวเขาของพวกเขา โดยที่พวกเขากลับไม่ได้รับสิ่งที่พวกเขาควรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ถือกันว่า เป็นคนไทยติดแผ่นดิน และเป็นคนไทยที่เกิดและเติบโต เรียนหนังสือ เรียนรู้และอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย แต่กลับไม่ได้เป็นคนไทยทั้ง ๆ ที่เป็นคนไทย และที่สำคัญ พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิที่แท้จริงของการเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์

 

หมายเลขบันทึก: 56565เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

รัฐบาลน่าจะช่วยชนกลุ่มนี้นะเพราะว่าคนที่ได้แล้วคนที่ขอล่ะต้องรออีกนานเท่ารัย ทังที่เขาก็อยู่ในเมืองไทยมานาน สงสารพวกเขานะที่ไม่มีโอกาสทำอะรัยเท่าเทียมคนอื่นเขานะ

ไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็กดอย

ผมเองอีกคนหนึ่งที่รอการพิจารณาสัญชาติ เพราะเกิดในประเทศไทยแต่คุณพ่อคุณแม่อพยพเข้ามาจากพม่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒

และผมก็มาเกิดในประเทศไทยในปีนั้นด้วย ปัจจุบันผมกำลังศึกษาอยู่ปริญญษตรี ที่มหาจุฬาลงกรณ์ราทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

คณะครุศาสตร์ และได้ขออนุมัติสัญชาติไปแล้ว ถึงยังตอนนี้ยังไม่ได้รับเลย

ณ บันทึกแห่งนี้ คงเป็นได้แค่ช่องทางข้อมูลนะครับ

ที่ผมช่วยได้ก็คือ จะ ส่งข้อความของคุณ "ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เด็กดอย" ไปให้ เครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ เพื่อจะได้ประสานงานกันต่อไปครับ

ด้วยความยินดี

* ที่สำคัญ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวบุคคล ต้อง โปร่งใสนะครับ เพื่อความสะดวกใจในการให้ความช่วยเหลือ

ยังไง ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ก็ส่งเบอร์ติดต่อ ชื่อนามสกุล มานะครับ ผมได้ประสานไปยัง คณะทำงานด้านสถานะและสิทธิบุคคลให้แล้ว ท่านทั้งหลายรับทราบ แต่ตอนนี้ยังขาดรายละเอียดของ "คุณไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เด็กดอย" อยู่

ส่งผ่าน หัวข้อ "อีเมล: อีเมลติดต่อ" ที่หน้าหลัก (หน้าแรก) ของบล็อกผมก็ได้ เพื่อข้อมูลลับส่วนบุคคล

สามีของดิฉัน ก็เป็นอีกคนที่ไม่ได้สัญชาติไทย เขาเกิดที่จังหวัดเชียงราย อำเภอแม่ฟ้าหลวง ตำบลแม่ฟ้าหลวง หมู่บ้านแม่เปิน ทำเรื่องนี้มาก็เข้าปีที่8แล้วค่ะ ทำมาตั้งแต่ปี2545ที่มาทำปี2545ก็เพราะว่าสามีของดิฉันเขามาทำงานที่กรุงเทพฯ

ตั้งแต่เขาอายุ13ปี มีคนไปหาคนมาทำงานที่กรุงเทพฯ สามีดิฉันก็มากับเขาด้วยเขาตัดสินใจมาก็เพราะว่าแม่เขาตายตั่งแต่เขาประมาณ10ขวบอู่ยกับพ่อกับน้องสาวและพี่สาวที่แม่เขาขอมาเลี้ยงเขาถูกพี่เขยรังแกเขาเลยตัดสินใจมากับคนที่มาหา คนมาทำงานพอมาทำงานได้ไม่นานพ่อก็ตายจากเขาก็เลยคิดว่าไม่มีใครแล้วก็เลยอยู่กรุงเทพฯเลยไม่กลับบ้านอีกเลยใช้ชีวิตผิดบ้างถูกบ้างจนมามีครอบคัรวและก็มีลูก1คนเป็นหญิงตอนนี้อยู่ม.1แล้วดิฉันก็อยู่กับสามีมาก็15ปีแล้วตอนนั้นเขาก็เริ่มที่อยากกับบ้านไปทำบัตรแล้วแต่ไม่มีเงินไปเพราะสามีดิฉันเป้นคนหาเลี้ยงครอบครัวดิฉันรวมทั้งพ่อแม่และหลานดิฉันด้วยพอลูกโตดิฉันหางานทำพอมีกินไปแต่ละเดือนพอมาปี2544ดิฉันกับสามีก็มีโอกาสมาขายลูกชิ้นลงทุนเองก็มีเงินเหลือเก๊บบ้างสิ่งแรกที่คิดไว้เรื่องบัตรประชาชนของสามีเพราะเขาห่วงอนาคตลูกสามีบอกดิฉันว่าเขากับบ้านเมื่อไรเขาก็ทำบัตรได้เลยเขามั่นใจอย่างนั่นเพราะเขาเป็นคนไทยพอกลับบ้านไปมันไม่เป็นอย่างที่เขาคิดไว้เพราะเขาไม่มีหลักฐานอะไรเลยทางอำเภอเขาบอกว่าทำไม่ได้สามีดิฉันบอกว่าเขาจำได้เขาเคยได้รับใบอะไรสักอย่างทางอำเภอบอกว่าไม่มีซื่อสามีดิฉันสามีดิฉันก็พาผู้ใหญ่บ้านไปศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงรายได้ตรวจสอบหลักฐานทะเบียบสำรวจบัญชีสำรวจบุคคลในบ้าน ตามโครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาปีพ.ศ. 2528-2530 ของกรมประชาสงเคาระห์ปรากฏว่ามีชื่อสามีดิฉันอยู่จริงๆเขาชื่อนายอาสี อายิกู่ ชาวเขาเผ่าอีก้อครอบครัวที่1บุคคลที่2บ้าน แม่เปิน

อำเภอแม่จัน(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอแม่ฟ้าหลวง)จังหวัดเชียงราย ทางสงเคราะห์ก็เซ็นต์รำรองให้ไว้เป็นหลักฐานพอได้ใบนี้เป็นหลักฐานแล้วก็ไปยื่นเรื่องขอสัญชาติที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง ทางอำเภอก็บอกว่าหลักฐานแค่นี้ไม่เพียงพอ ดิฉันและสามีก็ยื่นทำเรื่องมาเรื่อยๆบ้างปีเขาก็รับเรื่องไว้พอไปฟังผลเขาก็ว่าหลักฐานไม่เพียงพอบ้างปีไปยื่นคำร้องเขาก็รับเรื่องไว้ให้ไปพิมพ์นิ้วถือ10นิ้วแล้วผู้ใหญ่บ้านเซ็นต์รับรองกับลูกบ้าน2คน คนในหมู่บ้านเขาพร้อมที่จะเป็นพยานให้สามีดิฉันเสมอไปหมู่บ้านไหนเขาก็จำสามีดิฉันได้ เพื่อนที่โตมาด้วยกันเขาก็ได้บัตรประชาชนกันหมดแล้วทางอำเภอเขาจะเอาใบเกิดใบเขาโรงเรียนก็บอกเขาว่าไม่ได้เรียนหนังสือเขาก็ไม่ฟังเหตุผลเขาจะเอาอยากเดียวเวลาไปยื่นอะไรเขาก็บอกว่าไม่ผ่านอย่างเดียวตอนนี้เขาบอกว่ามีโอกาสอยู่ทางคือ 1 ตรวจดีเอ็นเอกับแม่หรือน้องสาว 2 ต้องรอให้รัฐบาลมาสำรวจบุคคลตกหล่น ตั้งแต่สามีดิฉันกลับมาเชียงรายครั้งแรกก็ไม่เจอน้องสาวเลยได้ข่าวว่าเขาย้ายไปอยู่เชียงใหม่ปัจจุบันก็ตามหาอยู่แต่ไม่เจอกันเลย ดิฉันเคยยื่นเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทยเขาก็ตอบกับมาว่าหลักฐานแค่ใบสำรวจชาวเขาไม่เพียงพอ

คิฉันก็ไม่รู้จะทำอย่างไง ดิฉันหาทางออกไม่เจอเลย ขอความเมตตาต่อครอบครัวดิฉันด้วยนะคะ ท่านที่มีความเมตตาทุกๆๆท่าน

ที่เขียนมานี่คือเรื่องจริงทั้งหมด

เรียน คุณนันทยา พลสอน

ผมยินดีที่จะเป็นช่องทางหนึ่งที่แจ้งเรื่องไปยัง เครือข่ายที่ทำงานด้านสถานบุคคลให้นะครับ ซึ่งท่านเหล่านั้น มีความเชี่ยวชาญในเกือบทุกด้าน และผมก็รู้สึกดีใจที่ ได้เป็นช่องทางนี้

และ ทางเครืยข่าย คงจะติดต่อไปยัง คุณ นันทยา นะครับ

ขอให้ ผ่านปัญหาได้ด้วยดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท