AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

ชาติ ชาตินิยม พหุนิยมและพหุวัฒนธรรมนิยม(2/3)


“ผลกระทบทางตรงของชาตินิยม คือ การขุดรากชนบทจากวัฒนธรรมเดิมมาสู่วัฒนธรมใหญ่ของชาติ”

การศึกษา ความเป็นชาติ และวัฒนธรรมหลวง

     ในสังคมเกษตรกรรม การศึกษาอบรมมักเป็นไปในรูปแบบการถ่ายทอดวัฒนธรรมเป็นสำคัญและกระทำกันภายใน (endo-)  แต่การศึกษาอบรมในสังคมอุตสาหกรรมมีลักษณะเป็น exo-socialization คือการศึกษาอบรมถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรมจากภายนอกชุมชน คือ รูปแบบที่จัดการโดยรัฐและมาจากศูนย์กลาง

     ดังนั้น โดยปริยาย ระบบเช่นนี้จึงเป็นการสร้าง ถ่ายทอดวัฒนธรรมสูงหรือวัฒนธรรมหลวง มากกว่าวัฒนธรรมราษฎร์หรือพื้นถิ่น และมักจะถ่ายทอดในแทบทุก ๆ ด้าน การถ่ายทอดนี้เป็นไปอย่างฉับพลัน โดยที่คนกลุ่มน้อยหรือผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ไม่มีโอกาสในการปรับตัว เป็นกระบวนการที่พรมแดนของอำนาจรัฐซ้อนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมแห่งชาติอย่างรวดเร็ว

     อาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบทางตรงของอุตสาหกรรมนิยมต่อชนบท คือ การขุดรากของชาวนาชาวไร่ให้เคลื่อนย้ายไปเป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงานตามเมืองอุตสาหกรรมต่าง และ ผลกระทบทางตรงของชาตินิยม คือ การขุดรากชนบทจากวัฒนธรรมเดิมมาสู่วัฒนธรมใหญ่ของชาติ

     เมื่อกล่าวถึงการศึกษาที่ดำเนินการโดยส่วนกลาง คือ รัฐ นั้น ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้นโยบายการสร้างชาติผ่านการใช้ภาษาไทย โดยการขยายการศึกษาไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ที่อาศัยอยู่ในถิ่นชนบทห่างไกล เพื่อประโยชน์ด้านการสื่อสารถึงอุดมการณ์ของชาติ การเผยแพร่วัฒนธรรมส่วนกลาง ดังจะเห็นได้จาก การมีเรียนวิชาดนตรีไทยหรือวิชาวรรณคดีไทย ล้วนแต่เป็นลักษณะของดนตรีและเนื้อหาวรรณกรรมของส่วนกลางแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ ในสมัยยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณรัชกาลที่ 4 เคยมีแนวนโยบายในการปฏิเสธวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคตะวันออเฉียงเหนือ ได้แก่ การเล่นแคนหมอลำ ซึ่งได้รับการตีตราจากส่วนกลางว่าเป็นวัฒนธรรมที่ด้อยไร้อารยะธรรมและไม่สูงส่งเช่นดนตรีในราชสำนัก ทั้งนี้ด้วยเหตุทางด้านการเมืองที่ในระยะนั้น ลัทธิอาณานิคมที่นำเอาเหตุผลด้านความเจริญทางด้านสังคมวัฒนธรรมของตะวันตกเป็นความชอบธรรมในการยึดครองดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์ ดังนั้น ดนตรีพื้นเมืองเป่าแคนหมอลำ จึงถูกห้ามในการละเล่น และกำราบไป นอกจากนั้นแล้ว ในช่วงยุคสร้างชาติ (ยุคปฏิรูปสังคมและวัฒนธรรม) การเล่นดนตรีไทยภาคกลางก็ถูกสั่งห้ามและเลิกละเล่นเช่นกัน โดยพยายามส่งเสริมให้หันมาฟังเพลงจากแผ่นเสียงและเป็นเพลงสากลของชาติตะวันตก เพื่อสร้างชาติให้เป็นชาติที่ศิวิไลซ์ตามยุคสมัยแห่งอุตสาหกรรม (modern age)

     ดังนั้นการสร้างชาติหรือการนำเอาแนวคิดชาตินิยมมาเป็นแนวคิดในการแสวงหาความชอบธรรมต่อกลุ่มผู้มีอำนาจปกครองล้วนแต่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมย่อยที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ในอาณาเขตของประเทศ ทั้งในยุคที่ยังคงเป็น “สยามประเทศ” และในยุคที่เป็น “ประเทศไทย” ก็ตาม แนวคิดการสร้างชาติเป็นแนวคิดหนึ่งในการปฏิเสธความเป็นพหุลักษณ์ โดยมุ่งที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและการพยายามปรับเปลี่ยนอย่างสุดขั้วก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่มาในยุคหลัง การมุ่งสร้างชาติแบบสุดขั้วนี้ กลับได้รับการปฏิเสธและหันมาให้ความสนใจต่อแนวนโยบายการผสมผสานมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงว่า มีการยอมรับในความเป็นพหุลักษณ์ ผ่านแนวคิดพหุนิยมในที่สุด

 * * * * * * * * * * * * * * * * * * *  * *

 

พัฒนาการชาตินิยมในประเทศไทย

     พัฒนาการของกระบวนการชาตินิยมในประเทศได้เกิดขึ้นมาในอดีต นับตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยผ่านรูปแบบของการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินไทยของชนชั้นนำไทย (aristocratic reform) ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 5 รัฐและกลุ่มชนชั้นนำไทยเผชิญกับปัญหาเดียวกับที่ประเทศรัสเซียได้เผชิญมาก่อน คือ รัสเชียเผชิญกับการขยายตัวของแนวคิดชาตินิยมในยุโรป ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ในช่วงประมาณปี 1750 (พ.ศ. 2239) เป็นต้นมา แต่สำหรับประเทศไทยแล้วเจอการคุกคามจากความคิดชาตินิยมตะวันตก ในรูปของลัทธิอาณานิคม ในยุคหลังของรัสเซียประมาณหนึ่งทศวรรษ แต่ทั้งสองประเทศต่างก็มีแนวทางการแก้ไขที่คล้ายคลึงกัน คือ เริ่มการแก้ไขจากโครงสร้างส่วนบนก่อนเป็นอันดับแรก กล่าวคือ รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองให้เป็นแบบตะวันตกในปี 1882 (พ.ศ. 2425) ยกเลิกทาสและไพร่ รวมทั้งส่งพระโอรสและเจ้านายชั้นสูงไปเรียนต่างประเทศเพื่อปูทางในการปฏิรูปให้มีความทัดเทียมประเทศตะวันตก ทำให้มีเหล่าปัญญาชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนหนึ่ง และถึงแม้เหล่าปัญญาชนเหล่านี้จะได้รับการศึกษาจากต่างประเทศและอยู่ในสังคมแบบตะวันตกที่เน้นความเป็นปัจเจก แต่ปัญญาชนเหล่านี้ก็ยังคงยึดติดกับจารีตนิยมอยู่ แม้แต่คำศัพท์ “ชาติ” (nation) ในความหมายที่เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ ภาษา ถิ่นที่อยู่อาศัยร่วมกัน ก็เกิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ผ่านงานเขียนของนักเขียนในสมัยนั้นกล่าวโดยสรุปแนวคิดทางการเมืองในรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติที่ชัดเจนและไม่มีบทบาทมากนัก แต่มีเพียงแนวคิด 3 แนวคิดใหญ่ที่ใช้อยู่ คือ ความเป็นกษัตริย์คือผู้ปกครองสูงสุด ราษฎร และ state ซึ่งยังไม่ได้ใช้คำว่า รัฐ แต่ใช้ความว่า บ้านเมือง กรุงสยามหรือแผ่นดินเป็นหลัก การใช้ความชอบธรรมแบบจารีตนิยมนี้ได้ถูกใช้ในการบริหารการปกครองในรัชกาลที่ 5 และยังไม่ได้เชื่อมโยงผู้ปกครองกับราษฎรผู้อยู่ใต้การปกครองเข้าเป็นหน่วยการเมืองเดียวกัน หรือภายใต้ ความเป็นชาติ ถึงแม้จะทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการศึกษา แต่ก็ยังไม่ได้ขยายแนวคิด “รัฐ” ให้กว้างไปกว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งต่อมามีกลุ่มปัญญาชน เช่น นายเทียนวรรณ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดความเป็นชาติมาเชื่อมโยงกษัตริย์ ราษฎร อาณาเขต ประเทศ เข้าด้วยกัน และแนวคิดชาตินี้ได้ส่งอิทธิพลมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้อุดมการณ์ชาตินิยม และสร้างความเป็นชาติอย่างแท้จริง แต่เป็นชาตินิยมแบบที่เรียกว่า Aristocratic ที่เป็นลักษณะของวัฒนธรรมสูงแบบวิกตอเรีย คือ ส่งเสริมวรรณกรรม การเขียนนิยาย เรื่องสั้น หนังสือพิมพ์ หน้าที่พลเมือง มารยาทผู้ดี และทรงอาศัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนำเอาอดีตมารับใช้หรือเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ โดยการหยิบยกเองเหตุการประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรือง วีระกรรมอันอาจหาญของเหล่าวีรกษัตริย์ และเน้นว่าสถาบันกษัตริย์แต่เพียงสถาบันเดียวที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางของชาติได้ นี้คือการพยายามสร้างชาติให้เกิดขึ้นโดยการยึดจุดศูนย์กลางไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงจุดเดียวต่อมาแนวคิดเรื่องชาติและอุดมการณ์ชาตินิยม มีแรงกดดันไปสู่ลัทธิความเท่าเทียมที่มีอยู่ภายในตัวของมันเอง จากเหตุผลหลัก ๆ ว่า ทุกคนล้วนแต่เป็นสมาชิกของชาติ มีแผ่นดินเดียวกัน ภาษา วัฒนธรรมเหมือนกันหมด และลัทธิชาตินิยมได้ก่อให้เกิดการยกย่องตัวเอง โดยพยายามปลูกฝังให้คนในชาติมีความรู้สึกว่า เป็นเจ้าของชะตากรรมร่วมกับการมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความก้าวหน้าของชาติ ผลจากการที่รัชกาลที่ 5 ทรงสนับสนุนส่งเสียให้พระโอรสและเหล่าเจ้านายชั้นสูงไปเรียนต่างประเทศ รวมทั้งเหล่าบรรดาบุตรหลานขุนนางและคนสามัญด้วยนั้น ทำให้ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 จำนวนปัญญาชนก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดกลับมารับราชการเป็นทั้งทหารและพลเรือน ปัญญาชนชนชั้นกลางเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญสำหรับแนวคิดชาตินิยมแผนใหม่ที่เน้น สิทธิ อำนาจพลเมืองมากกว่าที่จะคงอำนาจของชนชั้นสูงเอาไว้สถานการณ์ชาตินิยมได้รับการปลูกฝังอย่างรุนแรงโดยผ่านคำขวัญต่าง ๆ เช่น “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ จงมีความกตัญญูต่อชาติและความกระทำใจให้เป็นไทย” ซึ่งเป็นของกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 ที่มีความคิดที่จะให้มีการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และให้เป็นสาธารณรัฐ แต่ประสบความล้มเหลวก่อนจะลงมือก่อการ จนกระทั่งในปี 1932 (พ.ศ. 2475) คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองและในคำประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 สะท้อนถึงแนวคิดประชาธิปไตย ชาตินิยมแบบประชานิยม และแนวคิดสังคมนิยมผสมผสานกัน และเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะราษฎรเป็นข้าราชการ ในที่สุดก็ผันแปรไปสู่การปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งอาศัยความคิดชาตินิยมมารองรับแบบเดียวกับที่เกิดในเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น และจอมพล ป. พิบูลย์สงครามใช้แนวคิดชาตินิยมที่ต่างไปจากรัชกาลที่ 6 คือ เป็นแบบประชานิยม (popular nationalism) แต่ก็ไม่ได้เป็นแนวพื้นบ้าน (volk) แบบที่เยอรมันใช้ หากแต่เป็น new national high culture คือ ปฏิเสธความเป็นพื้นบ้านบางอย่างที่เห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ศิวิไลซ์และเป็นสิ่งที่สร้างความด้อยอารยธรรมในสายตาประเทศตะวันตก และเอาสิ่งใหม่ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่เข้ามาใช้ เช่น รำวง ชุดไทย การสวมหมวก การมีไฮด์ปาร์ก เป็นต้นกระบวนการสร้างชาติแบบวัฒนธรรมใหม่นี้ เด่นชัดมากยิ่งขึ้นในสมัยการนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และการใช้ภาษา ได้แสดงถึงบทบาทในการสร้างจิตสำนึกร่วมของความเป็นชาติอย่างเต็มที่ และด้วยแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ได้ดึงคนไทยที่อยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ให้เข้ามาร่วมในกระบวนการทำงาน การแลกเปลี่ยนติดต่อสื่อสารทางวัฒนธรรม มีการขยายเส้นทางคมนาคม การโทรคมนาคม โทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นปัจจัยและเครื่องมือสำหรับแนวคิดชาตินิยมในกระบวนการสร้างชาติในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง คนชนบทเหล่านี้ถูกฉุดเข้าสู่แนวคิดแบบผนวกรวม (Assimilation) อย่างเข้ม มีการเปลี่ยนชื่อเรียกขานกลุ่มประชาชนในภาคต่าง ๆ ของประเทศ โดยเพื่อคำว่า “ไทย” นำหน้าความเป็นคนของภูมิภาคนั้น เช่น ไทยอีสาน ไทยเหนือ ไทยภูเขา ซึ่งในบางพื้นที่กลุ่มคนเหล่านี้ ยังไม่มีความรู้สึกผูกพันหรือยอมรับต่อความเป็นไทย 

แนวคิดพหุนิยม (Pluralism)

     แนวคิดพหุนิยม นี้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงถึงเรื่องบทบาท ตัวตน สังคม และรัฐ เป็นประเด็นสำคัญ และในที่สุดได้มีการแบ่งแยกความเป็นพหุออกเป็นสองแนวคิดคือ พหุนิยมแบบเสรี (liberal pluralism)หรือพหุนิยมแบบอเมริกา และพหุนิยมแบบชุมชนนิยม (communitarain pluralism)หรือพหุนิยมแบบอังกฤษ โดยแต่ละแนวคิดมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้

     พหุนิยมแบบเสรี (liberal pluralism) เป็นการมองว่า สังคมคือการรวมกลุ่มกันของปัจเจกบุคคลผ่านความสนใจร่วมกัน ปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ที่จะกำหนดสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของตนเอง และสามารถแข่งขันกันเพื่อประโยชน์ส่วนตนได้อย่างเสรี เพราะเป็นหนทางในการบรรลุถึงศักยภาพของแต่ละบุคคลได้ พวกเสรีนิยมอาจยอมรับว่าสังคมเป็นความหลากหลายของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ได้ และกลุ่มองค์กรต่าง  ๆ เหล่านี้จะมีการเป็นส่วนร่วมหรือการรวมกันที่เกิดจากความสมัครใจของบุคคลเพื่อทำกิจกรรมเฉพาะอย่าง ซึ่งสามารถมองได้ว่าความคิดพหุนิยมของกลุ่มเสรีนิยมนี้ให้ความสำคัญแก่ civil society และการให้ความสำคัญแก่ประชาสังคมนี้ ก็เพื่อลดทอนบทบาทรัฐให้มีน้อยเท่าที่จำเป็น หรือ Minimal State ดังที่ได้กล่าวไว้นี้ สามารถสรุปได้ว่า เสรีนิยม คือ พหุนิยม (liberalism is pluralism) นั่นเอง (Kukathas, 1998 อ้างถึงใน Jan Nederveen Pieterse, 2004)

     พหุนิยมแบบชุมชน (Communitarian pluralism) ด้วยแนวกระแสคิดทางตะวันตกที่มองว่าปัจเจกบุคคลมีความสำคัญ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด และมีความสำคัญน้อยกว่าองค์รวมบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นพระเจ้า (God) หรือรัฐ (State) และมนุษย์จะมีความหมายเมื่อแสดงตนเองออกโดยผ่านสิ่งนี้ ในระยะแรก ความคิดนี้ถูกผลักดันสนับสนุนอย่างเต็มที่ คือ บุคคลไม่มีความสำคัญเลย บุคคลเป็นเพียงเงาภาพลวงตาของสิ่งใหญ่หรือองค์รวม หรือโดยสรุป บุคคลเป็นสิ่งที่ถูกหลอมรวมกันตามแนวปรัชญาแบบ Monism และมุ่งไปสู่สิ่งสัมบูรณ์หนึ่งเดียว อันได้แก่ ปัญญาหรือจิตวิญญาณสากล (universal spirit) อันเป็นการให้ภาพในระดับความเป็นกลุ่มก้อนและชุมชนมากกว่าที่จะให้ภาพของความเป็นปัจเจกตามแนวคิดของพหุแบบเสรีนิยมแบบอเมริกา

     อิทธิพลความคิดนี้ ในด้านหนึ่งได้ส่งผลไปในแง่ลบ คือ ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยมแบบรุนแรงขึ้นและความคิดนี้ได้รับการสานต่อ เพราะคนตะวันตกผูกพันกับสิ่งที่ใหญ่กว่า ที่สัมบูรณ์และเป็นหนึ่งนี้มายาวนาน จนนำพาไปสู่การเกิดขึ้นของลัทธินาซีเยอรมัน รวมทั้ง รัฐนิยม ซึ่งนำไปสู่ระบบเผด็จการฟาสซิสม์ในหลาย ๆ ประเทศ ต่อมาแนวคิดปรัชญาเชิงพหุนิยมนี้ได้แพร่เข้าไปสู่นักรัฐศาสตร์และนักสังคมวิทยา ด้วยเหตุผลที่มีความต้องการที่จะทัดทานระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในประเทศตะวันตก ซึ่งนับวัน ตัวแทน ได้กลายไปเป็นตัวแทนของกลุ่มคนชั้นสูง ระบบราชการ ที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดพหุนิยมแบบชุมชน ที่มองไปถึงความเป็นกลุ่มทางสังคม

     นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับพหุนิยมในลักษณะอื่น ๆ อีก หลายสำนัก แต่ก็สามารถสรุปรวมกันได้ถึงภาพความพหุนิยมได้อย่างชัดเจน ก็คือ

     1.      โลกหลายโลก (วัฒนธรรม สังคม) ที่มีฐานะต่าง ๆ กัน

     2.      ความจริงหลายความจริง

     3.      หลายกรอบทฤษฎีความคิดที่มีฐานในการเข้าถึงความรู้ได้เหมือน ๆ กัน แต่จากคนละพื้นฐาน

     4.      มีแรงจูงใจที่แฝงเร้นต่าง ๆ กันอยู่ในกรอบความคิด ทฤษฎี สำนวนโวหาร

     5.      มีความสัมพันธ์ทางสังคม โครงสร้าง หรือสถาบันต่าง ๆ กัน แต่ก็มีความสำคัญทัดเทียมกัน เป็นที่มาของทรรศนะต่าง ๆ ที่เราต้องเคารพ ไม่อาจมองข้ามได้

     6.      มีวัฒนธรรมย่อย ซึ่งมีสิทธิดำรงอยู่ในสังคมและมีความสำคัญต่อสังคมที่ยึดถืออยู่

     7.      มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ซับซ้อน (multiple identities)

     8.      มีตัวตนที่หลากหลายซับซ้อน (multiple selves)

 

 * * * * * * * * * * * * * * * * * *

 

หมายเลขบันทึก: 56563เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท