ความสุขของคนทั้งชาติ (ตอนที่1)


ความสุขก็ไม่จำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้

           ดีใจที่ได้รู้ว่าในสังคมไทยยังมีคนห่วงใยเด็กและเยาวชน ในเรื่องของการเท่าทันสื่อ  ที่ทราบก็เพราะว่า จ๊ะจ๋ามีโอกาสได้เข้าร่วมงานระดับชาติ นั่นคือ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2549 ครั้งที่ 6 ใน Theme เศรษฐกิจพอเพียง  สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข  ซึ่งมีการจัดงาน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 27-29 ตุลาคม 21549 ณ ฮอลล์ 9  อิมแพ็ค เมืองทองธานี

            

            ในงานนี้ สคส. ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมงาน 3 คน ต่อวัน   เราก็ได้มีการหมุนเวียนข่าวสารนี้กัน และก็สมัครใจกันว่าวันที่ 29 ตุลาคม  มีทีม สคส. ไป 3 คน นั่นคือ มีพี่อ้อม  พี่อุ และก็จ๊ะจ๋า

             เป็นความประทับใจสุดๆ ตั้งแต่งานเริ่มในตอนเช้า เมื่อไปถึงงานในเวลา เกือบ 9.00 น. ได้ฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง ความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross National Happiness-GNH): ประสบการณ์จากประเทศภูฏาน   โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรประเทศภูฏาน (H.E. Lyonpo Dr. Jigmi Singay)  เมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง และทำให้หวนคิดไปว่า เราลืมเลือนสิ่งที่สำคัญในชีวิตไปหรือเปล่า  ขอยกข้อความบางตอนที่จ๊ะจ๋า ฟังแล้วรู้สึกอินเข้าไปในใจ เช่น

              “     การดำเนินนโยบายภายใต้กรอบความคิด GNH ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีและความทันสมัย  วัตถุนิยมกับจิตวิญญาณ  ระหว่างความมั่นคงทางทรัพย์สินกับคุณภาพชีวิต  ที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญของ ความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross National Happiness-GNH) มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Nation Product) ”

 

             “      ความเจริญทางเศรษฐกิจมิได้มีความหมายเช่นเดียวกับความเจริญก้าวหน้าเสมอไป เมื่อพ้นจากสภาพความยากจน คนมีระดับรายได้มากขึ้น ความสุขสำราญเพิ่มขึ้นไปด้วย เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการทางวัตถุและความมั่นคงซึ่งไม่เคยได้รับมาก่อน และเมื่อถึงระดับหนึ่ง ความสุขก็ไม่จำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้อีกต่อไป    สังคมถูกชี้นำด้วยการตลาด ได้เพาะบ่มวัฒนธรรมละโมบอย่างมากมาย ผ่านสื่อมวลชน  เพื่อมุ่งกำไรสูสุด ด้วยการบริโภค ผลที่ตามมาคือ คนใช้ชีวิตที่อิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน  ต่อสู้ เอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  เพิ่มขึ้นของผู้ที่มีอาการซึมเศร้า จิตวิญญาณที่ย่อหย่อนลง และความเสื่อมสภาพของสังคม

             คำตอบก็คือ การส่งเสริมปรัชญาการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม ซึ่งสร้างสมดุลที่งดงาม ระหว่างประโยชน์ของโลกาภิวัฒน์ และบทบาทของรัฐในการดูแลการจัดการบริการสังคมพื้นฐาน  

                     ในแวดวงทางการแพทย์มีการเปรียบเทียบรัฐบาลเสมือนร่างกาย  ที่จะต้องรักษาให้มีสุขภาพดี  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  การไม่มีบริการสังคมที่มีประสิทธิภาพ  อีกทั้งความทุกข์ที่มีอยู่ขณะนี้ เป็นอาการแห่งสุขภาพที่ไม่ดีของรัฐ  ซึ่งมุ่งเน้นความสู่ความมั่งคั่งอย่างหน้ามืดตามัว

              ซึ่ง GNH สามารถแก้ไขได้ และการที่ภูฏานสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากปัจจัยหลัก 2-3 ประการคือ 1. ภาวะผู้นำที่เข้มแข็งและเป็นพลวัต ของกษัตริย์ภูฏาน และได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่องและโปร่งใส ปลอดจากการคอรัปชั่น 2. จริยธรรมและคุณความดีภายในวัฒนธรรม เป็นสิ่งกำหนดกลยุทธ์การพัฒนา การประยุกต์ใช้คุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีต่อสิ่งที่เป็นความห่วงใยปัจจุบัน  3.  การเรียนรู้ความผิดพลาดและความยากลำบากของประเทศอื่น และใช้แนวคิดเชิงพุทธในการดับทุกข์ การเริ่มต้นหาเหตุรากเหง้าเป็นจุดที่ได้ผลที่สุดมีการขจัดปัญหา  การมองล่วงหน้าว่าจะเกิดปัญหาอะไร และ หาทางป้องกันที่สาเหตุ  ดังนั้นจึงมุ่งเน้นป้องกันการเสื่อมสลายของ วัฒนธรรม  ป้องกันการกระจายสินค้า และบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน และป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม

             “ หัวใจสำคัญของตัวชี้วัดตามแนวคิด GNH คือ 1. จิตใจ  2.  การศึกษา 3. สุขภาพ

        

             สิ่งที่ประเทศนี้ให้ความสำคัญนั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  นั่นคือ ความสุข ต้องเป็นอันดับแรก และมีการเน้นย้ำว่า ความสุขไม่ใช่เพียงผลจากสภาพร่างกายที่มีผลต่อจิตใจ  แต่เป็นตัวการสำคัญที่สุดในการกำหนดสุขภาวะโดยรวม   รวมทั้ง การวางแผนเป็นองค์รวม และการบริหารนโยบายร่วมกับระหว่างภาส่วนต่างๆ (multi-sectoral)  ทุกภาคส่วนมีการพึ่งพิงกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคม เป็นการทำงานเพื่อส่วนร่วมและในชาติอย่างแท้จริง มุ่งผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มากกว่าคนส่วนน้อย เพื่อคนทั้งชาติ  และมีการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการสำคัญห้าประการคือ 1. ความเติบโตทางเศรษฐกิจ 2. การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 3. การพัฒนาอย่างสมดุลในระดับพื้นที่ 4. การกระจายอำนาจและการเสริมพลังชุมชน  การอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในการจัดบริการสุขภาพ 

           และ คงไม่ต้องเอ่ยสิ่งใดนอกจากความรู้สึกที่ว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากแค่ไหน แต่สิ่งที่เราลืมไปในขณะนี้คือความสุข ที่มาจากจิตใจ ย่อมเกิดคำถามในใจว่า แล้วในขณะนี้ ช่วงเวลานี้คนไทยมีความสุขแล้วหรือยัง

          โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 56521เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เยี่ยมเลยครับ
  • เคยคิดว่าชีวิตถ้าอยู่บนความพอเพียงก็พอแล้วครับ
  • ขอบคุณมากครับผม

สวัสดีค่ะคุณจ๊ะจ๋า

ขอบคุณค่ะสำหรับจดหมายข่าวและเสื้อสามารถ  แต่จดหมายผิดซองค่ะ  กลายเป็นเสื้อของ ศน.ธเนศค่ะ  ตัวใหญ่มากค่ะ  ทำอย่างไรดีคะ

ขอบคุณท่านผูอ่านทุกท่านที่เข้ามาแวะเวียน พูดคุย แลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ และอยากบอกว่า มีอีกตอนที่ น่าสนใจคะ

 

  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดี ๆ พี่เล็กเขียนเรื่องจีดีพีกับ...สุขที่สุดในโลก... คลิก ซึ่งกำลังจะมองหาตัวชี้วัดความสุขอยู่เมื่อได้อ่านบันทึกนี้ก็ทำให้เรายิ่งมีความคิดหลากหลายมากขึ้น จะตามอ่านต่อไปค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท