อยากเห็นศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่นิเทศไม่ใช่เป็นนักจัดการ


"ศึกษานิเทศก์ต้องทำหน้าที่เป็น consult (ที่ปรึกษา) ให้ได้จึงจะเป็นที่ยอมรับจากโรงเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเยอะก็ได้ และไม่ใช่ทำหน้าที่เหมือนปัจจุบัน"
     เมื่อเร็วๆนี้ผมถาม ดร.กอบกิจ  ส่งศิริ  ผู้อำนวยการโรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม จังหวัดนครสวรรค์ว่า 
       "ถ้าท่านจะให้ศึกษานิเทศก์ไปช่วยโรงเรียน  ท่านต้องการศึกษานิเทศก์อย่างไร ?"    ดร.กอบกิจ ตอบแทบจะไม่ต้องคิดว่า 
     "ผมต้องการศึกษานิเทศก์ที่เชี่ยวชาญด้านวิชาการจริงๆ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่โดดเด่น  เป็นที่ยอมรับ  เช่น เทคนิคการบริหาร  เทคนิคการจัดการเรียนการสอน  มีวิทยาการอะไรใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์แก่โรงเรียน ผมก็จะไปเชิญให้มาช่วยโรงเรียน   ผมไม่ต้องการศึกษานิเทศก์ที่เป็นนักประสานงาน  นักจัดการ  เพราะครูที่โรงเรียนผมมีเยอะแล้ว  ถ้าเข้ามาในลักษณะนี้จะสร้างภาระให้แก่โรงเรียนมากกว่ามาช่วยโรงเรียน"
       เมื่อประมาณปี 2539 ผมเคยถามอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช
ตอนไปประเมินผู้บริหารต้นแบบที่จังหวัดน่านด้วยกัน ท่านบอกว่า
       "ศึกษานิเทศก์ต้องทำหน้าที่เป็น consult (ที่ปรึกษา) ให้ได้จึงจะเป็นที่ยอมรับจากโรงเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเยอะก็ได้ แต่ต้องเก่ง เและไม่ใช่ทำหน้าที่เหมือนปัจจุบัน"
       ผมมานึกดูแล้ว เกิดความไม่แน่ใจในนโยบายของ ศธ. และการกำหนดบทบาทการปฏิบัติงานจริงๆของศึกษานิเทศก์ในแต่ละ สพท.ปัจจุบัน ที่ให้ ศน.มาทำงานในลักษณะนักจัดการ  นักประสานงาน มาดูแลรับผิดชอบโครงการ  จนถึงงานธุรการต่างๆ  ว่าถูกต้องไหม?
      ทุกวันนี้ ศน.หลายคนถอยห่างทางวิชาการไปมาก  ไม่ศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนา ความรู้ก็ถดถอยไป  จนบางคนความรู้ยังสู้ครูไม่ได้ 
ถ้าขืนปล่อยไปเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น  ถ้า ศน.ขาดความเชี่ยวชาญจะเกิดอะไรขึ้นแก่วงการศึกษา  และจะเป็นการทำร้ายวิชาชีพ ศน.ทางอ้อมหรือไม่?
      ก.ค.ศ.กำหนดตำแหน่งของ ศน.ว่า 38 ค.(1) ซึ่งแตกต่างจากบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่กำหนดว่า 38 ค.(2)  และเขียนมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะต่างกัน แต่เวลาทำงานจริงแทบจะไม่ต่างกัน เพียงแต่มีโอกาสก้าวหน้าทางวิทยฐานะมากกว่าเท่านั้น  ผมคิดว่าถ้าจะให้ทำงานในลักษณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องมีตำแหน่งนี้ก็ได้ เป็นบุคคลากรทั้งหมดเลย  แต่อยากจะถามว่า "แล้วใครจะรับผิดชอบดูแลในเรื่องคุณภาพการศึกษา"
     ผมเข้าใจดีว่า ปัญหาปัจจุบันบุคลากรมีจำกัด  จึงใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบง่ายๆคือ โดยการเอาบุคลากรทุกกลุ่มมากองรวมในที่เดียวกัน  แล้วทำงานแบบหารเฉลี่ย อย่างนี้เรียกว่า บูรณาการหรือเรียกว่าเป็นเอกภาพจริงหรือไม่?
     แล้ว ศธ.จะทำอย่างไรดี  หากต้องการเอาเรื่องคุณภาพการศึกษาเป็นตัวตั้ง  ไม่ใช่เอาตัว ศน.เป็นตัวตั้ง และเห็นว่าวิชาชีพนี้ยังมีความสำคัญอย่างที่นานาประเทศเขาเห็นก็ต้องปรับบทบาทภารกิจของศน.กันใหม่ ไม่ใช่เขียนอย่างหนึ่งแต่ให้ทำงานอีกอย่างหนึ่ง
    จะปรับหรือแก้อย่างไรก็อยากให้คิดอย่างรอบคอบ  ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมู่เรียกร้องเพื่อตัวเอง 
     แต่ระดับนโยบายต้องเกิดความตระหนักเอง...  
     
คำสำคัญ (Tags): #นิเทศการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 56517เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอเป็นแนวร่วมสนับสนุนความคิดนี้ด้วยอีกคนหนึ่งค่ะ
  • บางคนบ่นว่าช่วงนี้ดูเหมือนเราจะถูก "ดอง" และเคยได้ยินเพื่อนร่วมอาชีพบางคนบอกว่ามีเสียงลอดมาจากเบื้องบนว่าเราอาจถูกจัดการให้ "สูญพันธุ์"
  • น่ากลัวจริง ๆ นะคะ ศึกษานิเทศก์ตัวน้อย ๆ จะทำอย่างไรดีคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท