อ้อยยอดอ้อยลดไขมัน ลดน้ำตาลในเลือด อ้อยดำต้มกับหางหมูเพื่อสุขภาพเข่า


อ้อยเพื่อสุขภาพ

 อ้อย ในลำต้นมีน้ำหวานอย่างธรรมชาติ หวานจนผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ หรือน้ำตาลอ้อยเป็นก้อนๆที่มีทางภาคเหนือ ในปล้องอ้อยเมื่อนำเปลือกแข็งออกถ้ากัดด้วยฟันโดยไม่ต้องใช้มีดหรือเครื่องตัดนั้นอ้อยบางลำต้นจะกรอบ มีใครเคยกินอ้อยทั้งเปลือกโดยไม่ต้องใช้มีดบ้าง คงจะมีมากทีเดียวอร่อยได้รสชาติ ตรงข้ออ้อยระหว่างปล้องก็กินได้ เดี๋ยวนี้มีร้านจำหน่ายบีบน้ำอ้อยออกมาใส่ขวดดื่มอย่างสบายแล้วนะคะ อากาศร้อนๆดื่มแล้วชื่นใจมาก แต่ก็ยังมีที่ควั้นเป็นแว่นๆที่กัดเคี้ยวง่าย อ้อยยังเป็นอาหารโปรดของ ช้าง กว่าง ฯ ที่เมื่อนำลงมาจากต้นไม้ในป่าแล้วจะเลี้ยงกว่างด้วยอ้อย ซึ่งไทยเรามีกลุ่มที่เลี้ยงกว่างเป็นประเพณีจัดงานประจำปีที่ จ. น่าน มีใครเคยได้ไปเที่ยวชมบ้าง

นำสรรพคุณของอ้อยและสูตรอาหารใช้อ้อยมาต้มเพื่อบำรุงหัวเข่ามาฝากดังนี้

 

 

สรรพคุณของอ้อยตามแพทย์แผนไทยมีดังนี้

อ้อยแดง     อ้อยดำ ,อ้อยตาแดง ,อ้อยขม ,Sugar Cane


เปลือกต้น   รสหวานขม แก้ตานขโมย แก้แผลเน่าเปื่อย


ชานอ้อย   รสจืดหวาน แก้แผลเรื้อรัง แก้ฝีอักเสบบวม


ลำต้น, น้ำอ้อย  รสหวานขมชุ่ม แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้หืดไอ

แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ไข้สัมประชวน แก้ปัสสาวะพิการ ขับนิ่ว แก้ช้ำรั่ว

แก้ท้องผูก บำรุงกระเพาะอาหาร แก้ขัดเบา บำรุงธาตุ แก้สะอึก


ตา   รสหวานขม แก้ตัวร้อน แก้พิษตานซาง


(ขอบคุณ สรรพคุณอ้อยแดง จากหนังสือเภสัชกรรมไทยโดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช )

 

 

 

อ้อย ยอดและช่อดอกมีฤทธิ์ทางยา

ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี คศ 1985 การทดลองโดยใช้สารสกัดจากก้านช่อดอกอ้อย

พบสาร กลัยแึคน ที่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้

ปีค.ศ 2006 ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทดลองโดยใช้อาสาสมัคร 50 คนที่เป็นเบาหวานและมีสภาวะไขมันในเลือดสูง โดยให้สารสกัดจากยอดต้นอ้อย โดยแบ่งอาสาสมัคร 21 คนมาทำการทดลองให้รับประทานสารสกัดจากอ้อย 10 mg.ใช้เวลา 28 วัน อีก 29 คน นำมาเป็นกลุ่มควบคุม ภายหลังการทดลอง พบว่าระดับไขมันของผู้ป่วยลดลง

 

สรรพคุณ

น้ำอ้อย รับประทานแก้เสมหะ หืดไอ แก้ไข แก้นิ่ว แก้ขัดเบา แก้ช้ำรั่ว

บำรุงธาตุน้ำ ทำให้เกิดกำลังช่อดอกช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมัน

 

ส่วนที่ใช้  ช่อดอก

วิธีใช้ นำช่อดอกอ้อย 100 กรัม มาตากแห้งป่นเป็นผง นำมาชงกับน้ำร้อนดื่มเช้า- เย็น

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

แก้ปวด ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มอินซูลิน

ต้านแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดคอเลสเตอรอล

 

 * ขอบคุณการทดลองและสรรพคุณอ้อยจากหนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด

   โดยเภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก

 

ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีไขมันในร่างกายมาก อ้อยเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ต้องใช้ให้ถูกส่วนของต้นนะคะ คือ ส่วนยอดและก้าน ดอก ของอ้อยไม่ใช้นำอ้อย ผู้ที่ทราบและนำไปบอกกล่าวต้องบอกให้ถูก เพราะปกติเราใช้ส่วนของน้ำอ้อยมาเป็นอาหาร ส่วนใบ เปลือก ทิ้ง ถ้าปลูกอ้อยเองเพื่อจะนำมาช่วยรักษาโรคก็ต้องรอให้อ้อยมีดอกหรือยอด แต่ถ้าไม่ปลูกเองไปหาตามไร่อ้อย ก็ต้องเลือกอ้อยที่ปลอดสารพิษด้วยนะคะ

 

สูตรบำรุงหัวเข่า

 

 

วิธีทำ

  ใช้อ้อยดำหรืออ้อยสีอื่น ล้างน้ำให้สะอาด ตัดแยกออกเป็นข้อ ๗  ข้อผ่าชิ้นเล็กๆแล้วทุบ ล้างน้ำอีกครั้ง หางหมู ๒ หางตัดส่วนที่มีมันทิ้งไป แล้วสับเป็นชิ้นบางเล็กๆ ล้างน้ำให้สะอาด ใช้น้ำประมาณ ๑ ลิตร ใส่หม้อตั้งไฟให้เดือดใส่อ้อยและหางหมูลงไปต้มพอเดือดสักพักเบาไฟอ่อนๆเคี่ยวตุ๋นจนน้ำงวดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่งก็ปิดไฟ เทน้ำหรือกรองเอาแต่น้ำ ส่วนกากอ้อยใครฟันดีจะเคี้ยวน้ำออกมาก่อนทิ้งก็ได้ รวมทั้งหางหมูเคี้ยวกลืนได้หมด น้ำต้มมีรสหวานเล็กน้อย

 

 

ตามสูตรที่ได้อ่านและได้ลองทำแต่ไม่ได้ทำเหมือนแต่ก็เคี่ยวนานด้วยไฟเบาๆ

 

สูตรบำรุงหัวเข่าโดยอ.สุทธิวัสส์ คำภา มีดังนี้

" อย่าไปเชื่อถ้าใครบอกว่าเราแก่แล้วหัวเข่าจึงเสื่อม แต่ถ้าเดินเหินไม่คล่องมีอาการเจ็บบวมที่ข้อเข่า ปวดเมื่อตัวบ่อยๆแล้วละก็ ต้องลองสูตรนี้

หางหมูต้มอ้อยดำ

  หางหมู ๒ หาง (ไม่เอาโคนหางทีี่ติดมัน ถ้าเป็นอิสลามให้ใช้เอ็นแก้ววัว ๒-๓ ชิ้น) อ้อยดำ ๗ ข้อ (นับตามข้อท่นูนออกมา) หั่นเป็นท่อนๆทุบให้แหลก ต้มกับน้ำลิตรครึ่ง เคี่ยวจนกลายเป็นวุ้นเจลาติน (ประมาณ ๑-๒ ชม.) ปรุงรสให้อร่อยเน้นกินแต่น้ำซุป  "

 

* ขอบคุณสูตรบำรุงหัวเข่าจากหนังสือสูตรเด็ด (ฉบับสีเขียว) เรียบเรียง โดยศิษย์สาย๒

 

 

อ้อยดำ อ้อยแดง อ้อยขม มีสรรพคุณเหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะลองทำแต่ไม่มีอ้อยดำ ก็ใช้อ้อยเปลือกสีอื่นแทนได้ เพราะบางท้องที่อ้อยดำไม่มีขายหรือหาปลูกไม่ได้ ทุกอ้อยก็มีข้ออ้อยที่เป็นส่วนสำคัญที่จะมาช่วยบำรุงข้อการต้มเพื่อสุขภาพเข่า ปวดเมื่อย จะต้มตามสูตรหรือแบบผู้เขียนทำ ตามชอบตามสะดวกนะคะ

การปลูกอ้อย ไม่ยากค่ะ เมื่อนำอ้อยมาเพื่อจะต้มตามสูตร หากมีข้อเหลือและมีตาที่ข้ออ้อยสมบูรณ์ นำไปปลูกได้เลย โดยวางข้ออ้อยบนดินตาอ้อยอยู่ด้านข้างดินกลบลดน้ำเป็นระยะๆอย่าให้น้ำแห้ง จะแตกหน่อใหม่ขึ้นมาเป็นลำต้นอ้อย ซึ่งจะนำมาจากเพื่อนบ้านหรือซื้อเป็นลำต้น ตัดเป็นปล้องมาแล้วปลูกทั้งปล้องยาวที่มีหลายตาก็ได้

อากาศยามร้อนๆทุกวันนี้ได้น้ำอ้อยเย็นๆสักแก้ว หวานชื่นใจมากนะคะ

 

ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี

วันเสาร์ที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ ๒๕๕๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 564881เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2014 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2014 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นเหมือน สมุนไพร นะคะ ขอบคุณค่ะ

พี่กานดาครับ

มีประโยชน์มาก

แถวกาญจนบุรี

มีอ้อยหลายชนิด

ตอนนี้กำลังให้โรงเรียนปลูกอ้อยเหมือนกันครับ

แต่เป็นอ้อยสีขาว

เป็นอ้อยที่คั้นน้ำกินครับ

เคยเห็นคุณยายทำปลาทูต้มหวานใช้อ้อยผ่าซีกวางรองก้นหม้อ วางทับด้วยต้นกระเทียมแห้ง ต้มแล้วปลาทูหอมฉุย

อ่านบันทึกนี้แล้วอยากปลูกอ้อยไว้กิน จะได้ปลอดสารเคมีค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท