โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๔)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๔)

           การเรียนรู้ในเวทีเพื่อนเยี่ยมเพื่อนเป็นนวัตกรรมที่โรงเรียนชาวนาคิดขึ้น     และนวัตกรรมอีกชั้นหนึ่งคือเรียนรู้โดยการแสดงออกมาเป็นละคร    เกิดการเรียนรู้ทั้งฝ่ายกลุ่มผู้แสดง และฝ่ายผู้ดู    ซึ่งที่นำเสนอในตอนนี้เป็นการเรียนรู้ด้านพิธีกรรม หรือความเชื่อ

ตอนที่  13  ละครชาวนาย้อนยุค  (จากเวทีเพื่อนเยี่ยมเพื่อน  ครั้งที่  7)
 
 เมื่อวันเสาร์ที่  26  กุมภาพันธ์  2548  ที่ผ่านไปไม่นานนัก  โรงเรียนชาวนาได้จัดกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนขึ้นอีกวาระหนึ่ง  ในครั้งนี้เป็นครั้งที่  7  แล้ว  มีโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม  ซึ่งการจัดกิจกรรมมุ่งเน้นกิจกรรมด้านบันเทิง  ด้วยเหตุผลที่ว่า  กิจกรรมจัดขึ้นภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว  ควรจะเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยตามอย่างวิถีของชาวนาในอดีต
 นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์จึงได้จัดการแสดงละครชาวนาขึ้น  และนับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนชาวนา  ซึ่งแต่ละคนมีอายุมากกว่า 60  ปี  จะมาแสดงละครย้อนยุคให้ลูกหลานรุ่นปัจจุบันได้ดูได้สนุกกัน  ถ้าอย่างนั้นแล้ว  ก็แสดงว่าลุงๆ  ป้าๆ  ในโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์มีของดีจะนำมาอวดกัน  ...  งานนี้ย่อมไม่ธรรมดาเสียแล้ว 
 เรื่องราวเป็นเช่นไรนั้น  โปรดติดตามได้จากท้องเรื่อง  ...

ฉากที่  1  การทำนา
ภรรยา : พ่อเอย  ฝนมันเริ่มตกแล้วนะ  เมื่อไหร่จะลงมือไถนาสักที
สามี : การไถนามันต้องดูฤกษ์ดูยามและแม่  แม่หยิบตำราดูวันมาให้ข้าที
  (ภรรยาเดินไปหยิบหนังสือมาให้สามี)
สามี : เราต้องดูวันที่เป็นวันข้างขึ้น  จึงจะดีและดูกำลังวันด้วย    พรุ่งนี้เป็นวันดี  ข้าจะไปแรกนา  แม่เตรียมของให้ข้าด้วยนะ
ภรรยา : ข้าต้องเตรียมอะไรบ้างละพ่อ
สามี : เตรียมควายและไถก็พอ

   
ภาพที่  124  คู่พระนางครอบครัวชาวนา  ภาพที่  125  ฝึกหัดทำนาจากรุ่นสู่รุ่น
(ตามท้องเรื่อง) 

    
ฉากที่  2  การไถหว่าน
สามี : แม่เอาควายมาเปรียบไถ
ภรรยา : (จูงควายมาให้สามี)  พ่อหันหน้าควายไปทางทิศไหน
สามี : ต้องหันหน้าควายไปทางทิศที่เป็นมงคล  ไม่หันหน้าไปตรงกับผีเหล็กเหลาหลวง

 วิธีดูผีหลวง  เทพยดา  หรือหลาวเหล็ก  หากจะทำการใดๆ  ท่านว่าไว้ให้หันหน้าไปสู่เทพยดาจึงจะมีชัย  อย่าหันหน้าไปทางทิศผีหลวง  จะไม่ดี  
วัน                  ทิศที่เทพยดาอยู่         ทิศที่ผีหลวงอยู่
วันอาทิตย์           ทิศอาคเนย์                ทิศพายัพ
วันจันทร์             ทิศปัจจิม                   ทิศบูรพา
วันอังคาร            ทิศหรดี                     ทิศอีสาน
วันพุธ                 ทิศทักษิณ                 ทิศอุดร
วันพฤหัสบดี         ทิศอุดร                     ทิศทักษิณ
วันศุกร์                ทิศบูรพา                   ทิศประจิม
วันเสาร์         ทิศหรดี / ทิศพายัพ       ทิศอีสาน / ทิศอาคเนย์


 และในบางตำราท่านบอกไว้ว่า

วัน                        ผีหลวงเป็น               ทิศที่ผีหลวงอยู่
วันอาทิตย์                ม้าขาว                      ทิศพายัพ
วันจันทร์                  โค                           ทิศบูรพา
วันอังคาร                 ราชสีห์                     ทิศอีสาน
วันพุธ                     ยักษ์                         ทิศอุดร
วันพฤหัสบดี             ควาย                       ทิศทักษิณ
วันศุกร์                      หมู                        ทิศประจิม
วันเสาร์                  ช้างสาร             ทิศอีสาน / ทิศอาคเนย์

 การจำทิศที่ไม่ควรหันหน้าไปแบบสั้นๆ  ดังนี้  1 – 6  ตก   2 – 7  ออก   3 – 4  เหนือ   5  ใต้  
ตก หมายความว่า วันอาทิตย์และวันศุกร์  ห้ามหันไปทางทิศตะวันตก
ออก หมายความว่า   วันจันทร์และวันเสาร์  ห้ามหันไปทางทิศตะวันออก
3 – 4  เหนือ หมายความว่า วันอังคารและวันพุธ  ห้ามหันไปทางทิศเหนือ
5  ใต้ หมายความว่า วันพฤหัสบดี  ห้ามหันไปทางทิศใต้
 และการแรกนานั้น  ต้องไถให้ครบ  3  รอบคันนา  เสร็จแล้วไถผ่ากลางนาอีกมุมหนึ่งถึงอีกมุมหนึ่งทั้งสี่มุม
 ชาวนาจะทำการไถนาทั้งหมด  3  ครั้ง  ดังนี้
 ไถครั้งที่  1  เรียกว่า  ไถดะ  เพื่อให้ดินหลวม  เมื่อฝนตกลงมาแล้ว  หญ้าจะได้ขึ้น  เมื่อหญ้าขึ้นมากแล้วไถ  ครั้งที่  2 
 ไถครั้งที่  2  เรียกว่า  ไถแปล  เพื่อให้หญ้าขึ้นมาแล้วนั้นตาย  โดยมิต้องใช้ยาฉีด  พอหญ้าตายแล้วได้เวลาอันสมควรไถ  ครั้งที่  3
 ไถครั้งที่  3  เรียกว่า  ไถหว่าน  หญ้าที่เหลือก็จะตายอีกครั้ง  เมื่อจะหว่าน  ก็จะเริ่มทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์          

      

ภาพที่  126  คน  ควาย  (แสดงโดยคน) 

และคันไถ  ทำพิธีแรกไถ  ไถ  3  รอบ   

ภาพที่  127  ทำพิธีหว่านข้าว 

มีกระทุน  1  อัน  พร้อมเครื่องขัน  5 

  
สามี : วันนี้เป็นวันดี  วันธงชัย  เราจะไปหว่านข้าวในนากัน  แม่เตรียมของด้วยนะ
ภรรยา : แม่เตรียมไว้แล้วพ่อ  พ่อช่วยดูด้วยว่าครบหรือไหม
สามี : มันก็ต้องมีกระทุน  1  อัน  และเครื่องขัน  5  ก็มีหมาก  5  คำ  บุหรี่  1  มวน  ใบคูณ  ใบยอ  ธูป  5  ดอก  กรวยใบตอง  5  อัน  ดอกไม้  5  ดอก  ข้าวเปลือก  1  กิโลกรัม 
          และการหว่านก็จะต้องหันหน้าไปทางทิศมงคล  ไม่หันไปตรงกับผีเหล็กเหลาหลวง
         เอาจอบสับดินมุมนา  ทำเป็นกอง  แล้วเอาเครื่องที่เตรียมไว้แรกหว่านนั้นเอามาปักให้ครบ  จากนั้นตั้งจิตรน้อมนำเอาพระแม่โพสพไปฝากไว้กับแม่ธรณี  และแม่คงคา

 ในการหว่านข้าวนั้น  ควรจะต้องดูวันในการหว่านด้วย  ดูวันจมหรือวันอัปมงคล  และดูวันฟู  หรือวันมงคลในแต่ละเดือน  (เดือนในจันทรคติ)
เดือน(จันทรคติ)               วันจม  (วันอัปมงคล)               วันฟู  (วันมงคล)
เดือนอ้าย                       วันอาทิตย์                               วันพุธ
เดือนยี่                           วันจันทร์                             วันพฤหัสบดี
เดือนสาม                       วันอังคาร                                วันศุกร์
เดือนสี่                           วันพุธ                                    วันเสาร์
เดือนห้า                         วันพุธ                                   วันอาทิตย์
เดือนหก                       วันอาทิตย์                                 วันพุธ
เดือนเจ็ด                       วันจันทร์                              วันพฤหัสบดี
เดือนแปด                      วันอังคาร                                วันศุกร์
เดือนเก้า                       วันพุธ                                     วันเสาร์
เดือนสิบ                     วันพฤหัสบดี                              วันอาทิตย์
เดือนสิบเอ็ด                  วันศุกร์                                    วันจันทร์
เดือนสิบสอง                 วันเสาร์                                   วันอังคาร

 วันแรกปักดำหรือแรกหว่าน  และทิศประจำเดือน
 -  วันอาทิตย์  วันพุธ  ไม่ดี  จะเสียผล
 -  วันจันทร์  วันพฤหัสบดี  จะอุดมสมบูรณ์ดี
 -  วันอังคาร  วันศุกร์  จะถูกเบียดเบียน
 -  วันเสาร์  จะเกิดความทุกข์ทุกเมื่อ

 ทิศนาคประจำเดือน
เดือน                                  นาคหันหัวไปทางทิศ              นาคหันหางไปทางทิศ
เดือนอ้าย  เดือนยี่  เดือนสาม         ทิศทักษิณ                              ทิศอุดร
เดือนสี่  เดือนห้า  เดือนหก             ทิศปัจจิม                              ทิศบูรพา
เดือนเจ็ด  เดือนแปด  เดือนเก้า       ทิศบูรพา                               ทิศปัจจิม
เดือนสิบ  เดือนสิบเอ็ด  เดือนสิบสอง ทิศอุดร                               ทิศทักษิณ

 การหว่านข้าวให้ดูวันที่ดี  จะให้รวงให้ดอกดี  ดังนี้
 -  ข้างขึ้นดี    คือ  วันที่  1 – 3 – 4 – 5 – 6 – 9 – 13 – 14
 -  ข้างแรกดี  คือ  วันที่  1 – 7 – 8 – 10 – 13 – 14

 บทกล่าว

 ตั้งนะโม  3  จบ 
 “พุทธัง  เลสล้ำ  อุตตะมังเลิศล้ำ
 ธัมมัง  เลสล้ำ  อุตตะมังเลิศล้ำ
 สังฆัง  เลสล้ำ  อุตตะมังเลิศล้ำ”

 “คุณพระแม่ไพสพ  39  คุณพระพุทธเจ้า  56  แม่ธรณี  แม่โพศรี  แม่โพสพ          แม่คงคา  ถึงเวลาแล้วที่ลูกจะต้องเข้ามาทำมาหากินในท้องถิ่นนี้  เชิญมาคุ้มครอง  มาเถิดแม่มา  ลูกปลูกข้าวในนาให้ได้ผลดี  ขอให้ลูกนี้เป็นเศรษฐีชาวนา  ขอให้ลูกเป็นพ่อค้าบ้านนอก  ขอให้วัวควายเต็มคอก  คุ้มแอก  คุ้มไถ  คุ้มไร่  คุ้มนา  คุ้มเคราะห์  คุ้มโศก  คุ้มโรคโรคา  อ้ายหนอนอัปรีย์อย่าให้มีเข้ามา  สัพพะโภสาวินาสันติ”

 

 เมื่อจะหว่าน  3  กำแรก  ให้ตั้งจิตอธิษฐาน  ดังนี้ 
 กำที่  1  ขอเลี้ยงชีวิต 
 กำที่  2  เหลือกินแล้วทำบุญ
 กำที่  3  เหลือกินแล้วขอทำทานที่เหลือหว่าน

 “อุกาสะ  อุกาสะ  ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระพุทธเจ้า  คุณพระธรรมเจ้า  คุณพระสังฆะเจ้า  คุณพระบิดามารดา  คุณครูอุปัชญาและอาจารย์  จงมาดลบันดาลให้ข้าพเจ้า     ทำนาปีนี้ให้เกิดผลดีเทอญ”


ฉากที่  3  การรับข้าวตั้งท้อง
 สามีถือตะกร้าเครื่องไหว้  ภรรยาถือไม้สะแกและตาเหลวชะลอม  เดินมานา
ภรรยา : พ่อวันนี้วันศุกร์  แม่จะไปรับท้องข้าวนะ
สามี : วันนี้แม่เตรียมของอะไรมาบ้างละ


เตรียมมาหลายอย่าง  สิ่งที่ต้องเตรียม  ได้แก่ 
-  ไม้สะแกหรือไม้ตาแกสดยาว  (พอเหมาะมือ  1  อัน)
    ยอดผูกด้วยตาเฉลว  1  อัน  พร้อมธงแดงติดก้าน  1  ผืน
-  ชะลอมใบย่อม  1  ลูก  ภายในมีส้มมะขาม  ส้มซ่า 
   พุทรา  ฝรั่งมีกล้วย  อ้อย  หมากพลู  บุหรี่  1  ม้วน
-  ผ้านุ่ง  ผ้าสไบเฉียง  กรรไกรตัดผม  หวี  แป้งหอม 
   น้ำหอม  กระจก  อย่างละ  1  พร้อมด้ายเย็บผ้าสัก  2  วา

 

ภาพที่  128  รับท้องข้าวแม่โพสพเตรียมไม้สะแก 

ตาเฉลว  ชะลอม 
และผ้านุ่ง 

     จังหวะเวลาที่ทำพิธี  ต้องไม่หันหน้าไปตรงทิศผีหลวง

 คำกล่าวรับท้องข้าว


 “วันนี้วันดี  แม่โพสพ  แม่โพศรี  แม่จันเทพี  แม่ศรีสุดา  (เป็นวันจันเทวีเป็นวัน        สีสุชาดา)  ขอแต่งเนื้อแต่งตัว  เตรียมไปไหว้หลวงพ่อวัดป่า  (ป่าเลไลยก์)  เตรียมเนื้อเตรียมตัว   เดี๋ยวลูกผัวก็จะมา   
 พลางก็กวักน้ำ  อาบน้ำยอดข้าวเอากรรไกรตัดแต่ง  เหมือนแต่งผมให้สมสวย  เอาผ้ามานุ่งเอาสไบมาห่ม  หวีเหวีผมก็บรรจงแต่ง  ทั้งแป้งหอม  น้ำหอมก็ปะก็พรม  ด้วยคำชมว่าสวยแล้ว  งามแล้ว  ดูซิ  ดูซิ  ดูซิ  ให้ส่องกระจก
 วันดี  คืนดี  ถ้าแม่โพสพ  แม่โพสี  ต้องแบกท้องแบกไส้  ก็มีผลสุกลูกไม้  เตรียมเอาไว้ยามแพ้ท้อง  ด้วยแล้วนะ”


 ก่อนลากลับก็เอามือจับต้นตาแก  (สะแก)  ปากก็ว่า  “ตา  ตาแก ฝากแม่โพสพ  ไว้ด้วย  หากมีศัตรู  หมู่ร้าย  หรือย้ายมา  ขอให้ตาช่วยไล่ไปให้พ้น  จนหมดภัยนะตา”  
 แล้วบอกลาแม่โพสพ  “แม่โพสพ  แม่โพสี  แม่จงอยู่ดี  กินดี  บัดนี้ต้องขอลา  ขอให้ได้รวงละหม้อ  กอละมัด    มัดละเกวียน  นะแม่นะ”

ฉากที่  4  แรกเกี่ยว


 การแรกเกี่ยวข้าวจะต้องทำในวันศุกร์  ทำโดยการเกี่ยวข้าว  3  กำมือ  แล้วเอาเสียบไว้ที่รับท้องข้าว   จากนั้นเริ่มเกี่ยว

    
ภาพที่  129 – 130  แรกเกี่ยว  เกี่ยว  3  กำ  แล้วเสียบไว้ที่รับท้องข้าว  

 คำกล่าวในพิธีรับเรียกข้าวเข้าลาน

“นะโม  อิติปิโส  ภะคะวา  ข้าฯ  จะไหว้คุณพระฤาษีนารอด  คุณพระฤาษีตาไฟ  พุทโธ  พุทธัง  อะระหังพุทโธ  ยายชะมด  ตาชะมัด  ยายเร่งรัด  ตาพุทโธ  วันนี้วันศุกร์  ขอเชิญแม่มุกแม่จันทร์  ขนมทอดมัน  2  อันใส่กระเช้า  ใส่ด้วยผ้าขาว  มาห้อยหัวไม้คาน  รนๆ  ลานๆ  คว้าคานขึ้นบ่า  น่ารักเอวกลึง  แม่ผึ้งกะแม่บัว  รูปร่างยังชั่วแต่งตัวออกมา  ไปถึงทุ่งนา  ปูผ้าลงกราบ  นั่งให้ราบกราบลง  3  ที  วันนี้วันดีมารับขวัญข้าว 
 ขวัญเอ๋ย…ขวัญมา  แม่ขวัญข้าวเจ้า  ขวัญข้าวเหนียว  แม่เขี้ยวงู   มาหามันปู       แม่อินทนิล  เหลืองเล็ก  เหลืองใหญ่  ข้าวสร้อยหางม้า  แม่ศรีจำปา  แม่บัวชูศักดิ์        ข้าวหนัก  ข้าวเบา  แม่ขาวละเว  ข้าวปีก  ข้าวหาง  ข้าวนางลำพอง  ข้าวทองมาเอง        สำเพ็ง  สำพอง  ถูกต้องหล่นบ่า  เหลือนก  เหลือหนู  เหลือปู  เหลือปลา  ตกหัวระแหง  แอบแฝงคันนา  นาใกล้  นาเคียง  ขอเชิญหลีกเลี่ยงกันมา” 
“ขวัญเอ๋ย...ขวัญมา  ขอเชิญปู่พุก  ช่วยกันลุกช่วยกันลน  ช่วยขน  ช่วยกันคว้า  ช่วยกันกวาดเสียให้เลี่ยนให้เตียนทุ่งนา 
 ขวัญเอ๋ย  ขวัญมา  ขอเชิญไปขึ้นเสาไม้แก่น  ขึ้นแท่นกระไดทอง  ให้ไปอยู่กับยุ้งขายข้าว  ให้ไปอยู่กับเสาขายทอง
 ขวัญเอ๋ย  ขวัญมา  ขอให้ไปเลี้ยงลูกอยู่ในตู้พระคลัง...”

 

ฉากที่  5  การรับขวัญข้าวเข้ายุ้ง
 รับขวัญข้าวเข้ายุ้ง  จะดูวันถูกพิษนาค  เพื่อเอาข้าวขึ้นฉางไม่ให้เสียหาย  ใครทำจะเป็นการดี
 -  วันข้างขึ้นที่ไม่ถูกพิษนาค    คือ  1 – 2 – 4 – 5 7 – 9 10 – 13    ค่ำ
 -  วันข้างแรมที่ไม่ถูกพิษนาค  คือ  2 – 3 – 6 – 8 – 11 – 12 – 14  ค่ำ

   
ภาพที่  131  เตรียมรับขวัญข้าวเข้ายุ้ง   ภาพที่  132  ทำพิธีรับขวัญข้าวเข้ายุ้ง

   

 การรับขวัญข้าวกระทำในวันศุกร์  สิ่งที่ต้องเตรียม  มีกระจาด  สาแหรก  ไม้คานฉาย  1  อัน  เอาไว้คอนกระจาด  มีผ้าขาวม้า  1  ผืน  เอาไว้คลุมหัวสายแหลก  ในกระจาดมีเสื้อผ้าใหม่ๆ  ของเจ้าบ้านและมีเงิน  มีทอง  น้ำอบ  น้ำหอม  น้ำ  1  ขวด  เผือก  มัน  ใบเงิน  ใบทอง      ใบสลอดทั้งต้น  แล้วเก็บเอารวงข้าวที่ตกอยู่ในนาใส่กระจาด  แล้วแต่จะเก็บได้เพื่อเอามาสู่ยุ้งฉาง

 
ภาพที่  133  เชิญขวัญข้าวขึ้นยุ้ง 


 
 คำกล่าวรับข้าวเข้ายุ้ง

ตั้งนะโม  3  จบ  ระลึกถึงคุณพระพุทธ  คุณพระธรรม  คุณพระสงฆ์  เรียกเชิญขวัญ  “แม่โพสพ  แม่โพศรี  แม่จันทร์เทวี  แม่ศรีศักดา  แม่ดอกข้าวเจ้า  แม่ดอกข้าวเหนียว  เชิญมาสู่ยุ้งฉาง  มาอยู่กับลูกกับเต้า  มาเลี้ยงลูกหลานให้อิ่มหนำสำราญ  ให้พอมีพอใช้  ขออย่าให้อดอยาก  อย่าได้ยากจน  เหลือกินเหลือใช้แล้วจะได้ทำบุญให้ทานกับผู้มีพระคุณ  หรือผู้ตกทุกข์ได้ยาก  นิภานังปัจจะโยโหตุ”

 

 คำกล่าวในพิธีรับขวัญข้าวเข้ายุ้ง

นะโม  อิติปิโส  ภะคะวา  ข้าฯจะไหว้คุณพระฤาษีนารอด  คุณพระฤาษีตาไฟ     พุทโธ  พุทธัง  อะระหังพุทโธ  ยายชะมด  ตาชะมัด  ยายเร่งรัด  ตาพุทโธ  วันนี้วันศุกร์  ขอเชิญแม่มุก  แม่จันทร์  ขนมทอดมัน  2  อันใส่กระเช้า  ใส่ด้วยผ้าขาว  มาห้อยหัวไม้คาน  รนๆ  ลานๆ  คว้าคานขึ้นบ่า  น่ารักเอวกลึง  แม่ผึ้งกะแม่บัว  รูปร่างยังชั่วแต่งตัวออกมา  ไปถึงทุ่งนา  ปูผ้าลงกราบ  นั่งให้ราบ  กราบลง  3  ที  วันนี้วันดีมารับขวัญข้าว”


ฉากที่  6  ตักยุ้ง
 การตักยุ้งต้องเป็นเดือนสี่เดือนไทยข้างขึ้น  เลือกเอาวันไหนวันดี  แต่ต้องไม่ตรงกับวันศุกร์  คนที่ตักข้าวจากยุ้งต้องเลือกคนที่เกิดปีมะโรง  มะเส็ง  เพราะเป็นปีนักษัตรที่ไม่กินข้าว  เมื่อตักข้าวออกมาแล้ว  เอาไว้ต่อเมื่อมีการทำบุญให้ทาน  หรือเอาไปให้เป็ดไก่กินก็ได้ถือเป็นการให้
 ถ้าจะตักข้าวลงจากยุ้งท่านให้ดูเอาที่ดี  ที่หาผีตะมอยมิได้นั้นเอาเถิด  ที่ชั่วผีตะมอยมีอย่าเอาแล  ให้ดูข้างขึ้นและข้างแรมที่ดี  ดังนี้
 -  ข้างขึ้นดี    3 – 4 – 7 – 8 – 11 – 12 – 15
 -  ข้างแรมดี  3 – 4 – 5 – 6 – 7 – 11 – 15

 บทสวดชุมนุมเทวดา
  
 ตั้งนะโม 3  จบ 
 “สะรัชชัง  สะเสนัง  สะพันธุง  นะรินทัง  ปะริตตานุภาโว  สะทา  รักขะตูติ  ผะริตวานัง  เมตตัง  สะเมตตา  ภะทันตา  อะวิกขิตตะจิตตา  ปะริตตัง  ภะณันตุ  สัคเค”


 บทสวดชุมนุมเทวดา  โดยมีคำแปล  ดังนี้ 
  “ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการแด่คุณครูบาอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ 
  อัญชลีกรขึ้นเหนือเกศสดุดี 
  อีกทั้งท้าวแม่ธรณีทั่วทิศสา 
  อีกทั้งพระบรมกษัตริย์ขัติยาอันเกรียงไกร 
  อีกทั้งท้าวไท้เทเวศน์ผู้เรืองฤทธิ์”

 กาเมจะรูเป  เทพเจ้าซึ่งสิงสถิตย์อยู่ในกามภ  มีอำนาจเจนจบไปด้วยฤทธาศักดาเดช
 คิริสิขะระตะเฏ  เทพเจ้าซึ่งสิงสถิตย์อยู่ในขอบเขตคีรีโขดหินแนวเนินหลังหิมพานต์ขุนเขา
 จันตะลิกเข  เป็นเทพเจ้าเนาแนนอยู่ในอากาศ
 วิมาเน  อยู่ในวิมานมาศอันเรืองรอง
 ทีเปรัฏเฐ  อยู่ในพิชัยรถทองและเรือนหลวง
 จะคาเม  เทพเจ้าทั้งปวงอาศัยอยู่ตามบ้านน้อยและเรือนใหญ่   
 ตะรุวะนะคะหะเน   เคหะวัตถุมหิ  เขตเต  เทพเจ้าอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้  ไพรพฤกษาศาล  อาศัยอยู่ตามหลังคาบ้านเรือน  โรงและไร่นา
 ภุมมา  จายันตุ เทวา ชะละถะลิ  วิสะเม  เทพเจ้าซึ่งสิงสถิตอยู่พื้นที่ภูมิภาค  อยู่ในระหว่างห้วงเหวหลากทะเลวน  อยู่ในลุ่มน้ำสายชล และบนบกมิได้เสมอกัน
 ยักขะคันธัพพะนาคา  ติฏฐันตา  สันติเกยัง   อีกทั้ง  ยักษา  คนธรรพ์  ครุฑ  นาคามหาศาล เที่ยวเพ่นพ่านคอยระแวดระวังภัยที่จะเกิดแก่ปวงชน
 มุนิวะระวะจะนัง  อีกทั้งพระฤาษี  มุนี  ทุกแห่งหนทั่วโลกาทรงฤทธาด้วยตบะเดช  ทั่วทุกขอบเขตแว่นแคว้นแดนอาณาจักร
 สาธะโว เม สุณันตุ  ดูก่อนเทพเทพาอารักษ์ทั้งหลาย ทั้งปวง จงล่วงรู้ด้วยโสตสดับอรรถธรรมอันล้ำเลิศเป็นธรรมอันประเสริฐของพระพุทธองค์  ข้าพเจ้าขออันเชิญเทพเสด็จลงในวันนี้ขอจงมาช่วยชี้แนะแนวทางที่จะปฏิบัติ  ขออย่าให้มีหมู่มารมาข้องขัดขวางทางที่จะไปพระนิพพาน
 อะนาคะเตกาเล  ในอนาคตกาลเบื้องหน้า

 ยามต้องห้ามในการทำกิจการต่างๆ  ถือเป็นวันฤกษ์ของวัน  โดยโบราณถือไว้เป็นเกณฑ์ว่าเป็นวันห้ามไว้  ใครถือได้เป็นการดี

วัน  ข้อห้าม
วันอาทิตย์   ไม่ให้เผาถ่าน  อย่าประสานหอกแหลนหลวง  มีดพร้าและคมยาว  มันจะเบียนอาตมาตน
วันจันทร์    ห้ามตัดต้นไม้  ทำเรือนร้ายยากทุรพล
วันอังคาร    ยินยานยนต์  อย่าเลี้ยงแขกแรกการงาน  ไม่ทันจะแล้วกิน  พูดไขว่ขวินให้เดือดดาล
วันพุธ     อย่าอยู่ด้วยบ่าวจะพลันตาย  ไม่ทันจะหนีหน่าย  ผู้สาวเป็นหม้ายไร้อยู่นาน
วันพฤหัสบดี   อย่าแรกตัดป่า  บุกพฤกษากลางไพรสาร  ตาบป๋งมากต้องพาน  ไข้หัวถอนมักนอนหงาย 
วันศุกร์     อย่าไปค้าลงนาวาขาดทุนได้  ไม่ถึงจะฉิบหาย  สักเฟื้องไม่ได้ติดถุงวัน
วันเสาร์    อย่าแรกนา  เมล็ดเดียวว่าไม่ตกพุ่ง  ไม่ได้ดังใจมุ่ง  ไม่ได้ตกพุ่งเสียหาย 

           
 

ภาพที่  134  ร้องลิเกแก้บน

หลังจากที่ธรรมชาติได้ให้ผลผลิต  (ข้าว)  แก่ชาวนาอย่างอุดมสมบูรณ์ 
จึงได้มีการร้องรำลิเกถวาย 

            จากความเชื่อนำไปสู่พิธีกรรมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  ได้บ่งบอกถึงภูมิปัญญาในการใช้และจัดการความรู้ที่มีอยู่ในการทำนาบันทึกเรื่องราวผ่านสมุดข่อย   สมุดโบราณ   และกระจายเผยแผ่ผ่านพิธีกรรม  เสียงเพลง  ท่ารำอันงดงาม  เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน  สมัครสมานสามัคคี  ลืมความเหนื่อยจากการทำนา  และที่สำคัญให้เห็นถึงความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติมอบให้กับมนุษย์และสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
                                                   จบบริบูรณ์  ละครชาวนาย้อนยุค

           คนไทยชอบความสนุก    จึงต้องมีการออกแบบการการเรียนรู้ที่สนุก    การแสดงเป็นการเรียนรู้ที่นอกจากจะสนุก ไม่น่าเบื่อแล้ว    ยังเป็นวิธีทำ “บรรจุภัณฑ์” ความรู้ที่หลากหลาย   นำออกมาแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องราวสมมติที่เลียนแบบเรื่องจริง

วิจารณ์ พานิช
๑๙ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5638เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2005 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท