ชีวิตที่พอเพียง : 144. อารมณ์เร็วกว่าเหตุผล


       วันที่ ๕ ตค. ๔๙ ลูกชายและกช (เพื่อนของลูกชาย) พาภรรยาและผมไปเดินเที่ยวถนนคนเดินของเมือง โบลเดอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา      เขารู้ว่าผมชอบเข้าร้านหนังสือ     หลังจากเดินชมความงามของถนน Pearl และถ่ายรูปวิวและกระรอกหางแดงจนอิ่มแล้ว     เขาก็พาผมไปที่ร้าน Boulder Book Center     ผมก็ได้หนังสือมาหลายเล่มตามระเบียบ

       กลับมาบ้าน ลองเปิดหนังสือแต่ละเล่มดูผ่านๆ     ติดใจทุกเล่ม    และสามารถใช้กระตุ้นความนึกคิดของตนเอง     หรือใช้ทบทวนชีวิตของตนเองได้    เล่มที่ขอเอามาใช้สะท้อนชีวิตตนเองในวันนี้ แต่งโดย Daniel Goleman     ชื่อ Social Intelligence : The New Science of Human Relationship   

      Daniel Goleman เป็น bestselling author    หนังสือที่โด่งดังก้องโลกของเขาชื่อ Emotional Intelligence    เขียนเมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว แต่ก็ยังขายดีอยู่ในปัจจุบัน

      Goleman บอกว่า emotional intelligence เป็นเรื่อง ความเข้าใจ/ทักษะ ภายใน ของปัจเจกบุคคล     แต่ social intelligence เป็น ความเข้าใจ/ทักษะ ระหว่างบุคคล    หรือเป็นความฉลาดด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั่นเอง

      ที่จริงเรารู้มานาน ว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้อื่น ขึ้นกับ ๒ อย่าง  คือเหตุผล กับอารมณ์     คนที่มีทักษะเชิงสังคมดี คือคนที่มีทักษะในการใช้เหตุผล และอารมณ์อย่างประสานสอดคล้อง (harmony) กัน หรือสมดุลกัน     คือใช้ทั้งสองอย่าง  และมีทักษะในการใช้สองอย่างนี้ให้เข้ากับ หรือเหมาะเจาะกับ ตัวบุคคล และ กาลเทศะ

        ผมเป็นคนมีโทสะจริตเป็นเจ้าเรือน     พูดง่ายๆ ว่าเป็นคนโมโหร้าย    และเป็นกันทั้งบ้านหรือทั้งครอบครัวฝ่ายบิดา     แม่ของผม ภรรยาของผมและน้องสะใภ้ทั้งหลายเขาชอบเล่าความเป็นคนขี้โมโหของสามีสู่กันฟังอยู่เสมอ    แต่พอแก่ตัวลง อารมณ์ก็เย็นลง

        วิชาการด้าน neuroscience ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และให้คำอธิบายว่าทำไมอารมณ์จึงเร็วกว่าเหตุผล    คำตอบคือเพราะสื่อประสาทของอารมณ์มันเป็น "ทางลัด"    ในขณะที่เหตุผลมันไปทางตรง ซึ่งอ้อมกว่า และต้องผ่านขั้นตอนมากกว่า    

        มองภายนอก ผมดูจะเป็นคนสุขุม    แต่ภรรยายืนยันว่าเป็นคนใจร้อน  อารมณ์วูบวาบ     ภรรยาบอกว่าลูกที่ถอดนิสัยนี้มาจากผม คือลูกสาวคนเล็ก    ซึ่งเวลาผมเห็นเขาวูบวาบ ผมก็ตกใจ ว่าอารมณ์ร้อนเป็นเพลิงเผาขนาดนี้เชียวหรือ    แต่ภรรยายืนยันว่า นั่นแหละคือผมละ   

       เป็นที่รู้กันทั่วไป ว่าศิลปิน และคนที่มีความคิดริเริ่มสูง     มักมีจุดอ่อนตรงที่อารมณ์อ่อนไหว     หมายความว่าในคนเหล่านี้สมองส่วน "ทางลัด" มันว่องไว หรือเป็นถนนเส้นใหญ่ กว่าในคนทั่วๆ ไป     แต่มีสมองส่วนเหตุผลควบคุมไว้ ไม่ให้ใช้ถนนเส้นนี้มากนัก     แต่ในหลายบรรยากาศ  สมองส่วนเหตุผลมันคุมไม่ทัน     สื่อประสาทมันเดิน "ทางลัด" อย่างโลดลิ่ว     ซึ่งก็คือ อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลไปชั่วขณะ หรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง     และในหลายกรณีเรามักเสียใจในภายหลัง

       คนที่อายุมากถึง ๖๔ ปีอย่างผม ได้ผ่านความผิดพลาดเช่นนี้มามากมาย     ได้รับบทเรียนเอาไว้สอนใจตนเอง     เอาไว้ฝึกทักษะเชิงอารมณ์ของตนเอง และต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง     ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง

      การเรียนรู้เชิงอารมณ์ เชิงปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น   เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ

วิจารณ์ พานิช
๖ ตค. ๔๙
โบลเดอร์  โคโลราโด

 

คำสำคัญ (Tags): #social-intelligence#daniel-goleman
หมายเลขบันทึก: 56376เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ตัวผมเองก็เคยมีเรื่องที่ต้องกลับมานั่งเสียใจภายหลังอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน แต่ไม่สามารถนำกลับมาคิดวิเคราะห์ให้ละเอียดลึกซึ้งได้เท่านี้ ขอกราบขอบพระคุณอีกครั้งครับสำหรับบันทึกนี้ของอาจารย์
ดิฉันเคยเห็นคนที่มีอารมณ์อย่างอาจารย์พูดถึงอยู่จำนวนไม่น้อย ทั้งใกล้ตัวและไกลตัว... ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน...ดิฉันเป็นคนค่อนข้างใจเย็น แต่ถ้าพบคนประเภทดังกล่าวดิฉันก็อดไม่ได้ที่จะแปลงกายเป็นพวกเดียวกับเขา...ทั้งๆที่ไม่ชอบ...(สิ่งไม่ดีมักทำง่ายจริงๆค่ะ)... สมองส่วน "ทางลัด" มันว่องไว หรือเป็นถนนเส้นใหญ่ กว่าในคนทั่วๆ ไป สมองส่วนเหตุผลมันคุมไม่ทัน... สื่อประสาทมันเดิน "ทางลัด" อย่างโลดลิ่ว.... ปัญหามีอยู่ว่าทำอย่างไรดิฉันจึงจะสามารถควบคุมมันได้ไว...ไม่อยากรอจนอายุ ๖๔ ปีน่ะค่ะ เรียนอาจารย์ด้วยความเคารพ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท