ต้นส่องฟ้าต้านมะเร็ง เบาหวาน สมองเสื่อม มข.วิจัยรายแรก


ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตำรายาไทย ใช้ ราก แก้เจ็บตา โดยฝนรวมกับรากหมี่ ทาแก้ฝี ใช้รากต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ปวดศีรษะ แก้ผิดสำแดง ผสมกับรากหนามงัวซัง และเหง้าว่านน้ำ ปริมาณเท่ากัน ต้มน้ำดื่ม แก้หลอดลมอักเสบ หรือ ผสมกับรากเจตพังคี ต้มน้ำดื่ม แก้จุกเสียด หรือผสมกับน้ำนมราชสีห์ รากทับทิม และเดือยไก่ป่า ฝนกับน้ำกิน และทาตัว แก้ไข้ทำมาลา (อาการหมดสติ)

ทราบข่าววันนี้จากนสพ. เดลินิวส์ จึงค้นหาข้อมูลเพิ่มและนำมาฝากนะคะ

 

 http://www.youtube.com/watch?v=dVXDRbltSzg

ขอบคุณ V.D.O จากยูทูบ

 

 รศ.ฉวี เย็นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทาง ชีวภาพ” พบว่า ต้นส่องฟ้ามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นคาร์บาโซลโดยส่วนใหญ่ และยังพบสารคูมารินอีกด้วย
       
ทั้งนี้ สารคาร์บาโซลเป็นสารที่มีอะตอมของไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก (หรือที่เรียกว่าอัลคาลอยด์) และแสดงฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีในการต้านมะเร็ง
       
  จากการทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก และมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในภาคอีสาน พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของต้นส่องฟ้า มีสารคาร์บาโซลบางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดและ มะเร็งช่องปากที่ดี สำหรับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีชนิด KKU-OCA17 และ KKU-214 ก็สามารถถูกยับยั้งได้ด้วยสารคาร์บาโซลจากต้นส่องฟ้าเช่นกัน
       
   นอกจากการค้นพบสารบางชนิดในต้นส่องฟ้าที่มีฤทธิ์ยับยั้ง มะเร็งต่างๆ แล้ว ยังพบสารคูมารินบางสารในต้นส่องฟ้า มีฤทธิ์ต้าน lipid per oxidation ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับภาวะผิดปรกติในร่างกาย เช่น ภาวะความจำเสื่อม มะเร็ง เบาหวาน ดังนั้น การค้นพบสารคาร์บาโซล และคูมารินในส่องฟ้าจึงเป็นสารที่สามารถลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้เช่นกัน
       
   หลังค้นพบว่าต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ของสารบางชนิดในการต้นมะเร็ง และลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้แล้ว ผู้วิจัยได้เตรียมอนุพันธ์ของคาร์บาโซล อาศัยความรู้ทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ สารคาร์บาโซลได้ถูกดัดแปลงโครงสร้างให้เป็นอนุพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะได้สารโครงสร้างใหม่ๆ ที่อาจแสดงฤทธิ์ที่น่าสนใจ เมื่อดัดแปลงโครงสร้างของคาร์บาโซลโดยนำไปต่อกับสารบางชนิด พบว่าสามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้เช่นกัน
       
   กล่าวคือ สารบางชนิดจากต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือดอันก่อให้เกิดโรคเบาหวาน และเมื่อนำสารในต้นส่องฟ้าไปต่อกับสารบางชนิด พบว่าสามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้อีกด้วย
       
       ทั้งนี้ นักวิจัยเจ้าของโครงการได้ทำการวิจัยเชิงประยุกต์ โดยร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยเพื่อทำการทดสอบสารจากต้นส่อง ฟ้ากับสารในโรคแต่ละชนิดจนสามารถศึกษาข้อค้นพบดังกล่าวได้สำเร็จ
       
       ด้าน รศ.ดร ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การค้นพบองค์ประกอบทางเคมีในต้นส่องฟ้าครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่แห่งวงการนัก วิจัยในการค้นพบองค์ประกอบทางเคมีจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่หลายคนมองข้าม คาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถพัฒนาสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น คาดหวังว่าจะสามารถผลิตเป็นยา เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อมได้ในอนาคต
       
       อย่างไรก็ตาม การวิจัยที่กล่าวมาเป็นเพียงการวิจัยเริ่มต้นเท่านั้น หากจะพัฒนาต่อไปจนสามารถใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน ต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย เช่น การค้นหาผลข้างเคียงที่ยังไม่ได้ศึกษา ทั้งนี้ “องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทาง ชีวภาพ” ยังไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งหรือเบาหวานได้โดยตรง
       
       จากข้อค้นพบระบุว่า สารบางชนิดในต้นส่องฟ้าสามารถต้านโรคมะเร็งและโรคเบาหวานได้ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดพัฒนาเป็นยาได้ และมุ่งหวังว่างานวิจัยชิ้นนี้จะถูกพัฒนาต่อยอดโดยนักวิจัยรุ่นหลังเพื่อ ผลักดันให้งานวิจัยนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติต่อไป
       
       สำหรับต้นส่องฟ้า เป็นสมุนไพรไทยที่พบทั่วไปในเขตร้อนชื้น และพบได้ตามป่าโปร่งทั่วภาคอีสาน มีลักษณะไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-25 เซนติเมตร โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับใบย่อย มีรูปคล้ายไข่แกมวงรี ส่วนแผ่นใบมีจุดน้ำมันกระจาย เมื่อส่องดูจะมองเห็นจุดโปร่งแสงเล็กๆ กระจายทั่วทั้งใบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยมีกลีบดอกสีขาวแกมเหลือง ผลสดรูปกลมรี
       
       ยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก สรรพคุณทางยาต้มน้ำดื่มแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นส่วนหนึ่งตำรายาไทย โดยสามารถพบต้นส่องฟ้าได้ทั่วไปตามพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ หรือบริเวณที่มีดินทรายถึงดินร่วนทราย ยอดอ่อนสามารถรับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะค่อนข้างแข็งกระด้าง

 

ขอบคุณ....http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000023013 

 

ลักษณะต้นส่องฟ้า

 

 

คลิกไปชมภาพต้นส่องฟ้าเพิ่มนะคะ

ขอบคุณ ....http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=122

 

ดีใจกับข่าวดีที่ชื่นชมมากๆค่ะ 

 

ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี

วันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๕๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 562897เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2014 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2014 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่อเพราะ ดอกสวยด้วยนะคะพี่ดา

ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท