๒๗-๒๘ ต.ค.๔๙ สัมมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒๕๔๙


ตัวชี้วัดความสุข......ต้องเป็นตัวชี้วัดที่คนในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ เป็นคนกำหนด และเห็นชอบกับตัวชี้วัดนี้

             ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒๕๔๙  ว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเกียง สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” ที่จัดขึ้นวันที่ ๒๗-๒๘ ต.ค.๔๙ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี  
              ประธานเปิดงานคือ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 
                ๑.ส่วนการขับเคลื่อนประเด็น “เศรษฐกิจพอเพียง สู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเสวนาในประเด็น เศรษฐกิจพอเพียงฯ ในห้องประชุมใหญ่ การจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในหัวข้อต่างๆ ในห้องย่อย และการนำเสนอรูปธรรมการปฏิบัติตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ในลานสมัชชาสุขภาพ: เส้นทางสู่ชีวิตพอเพียง
               ๒.ส่วนการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นทั่วไป แล้วเชื่อมโยงเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

               ดิฉันได้เข้าร่วมพิธีเปิดและได้ฟัง ปาฐกพิเศษ “เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกาภิวัฒน์” โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี  สิ่งที่เน้นย้ำและตีความคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง“ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ต่อต้านเศรษฐกิจทางการค้าเสรี ตามที่ฝรั่งกล่าวอ้าง  เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าประสงค์ คือ เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนตามสายกลาง ซึ่งรวยได้แต่อย่างขี้โกง รวยได้โดยใช้ธรรมะ   ซึ่งมีองค์ประกอบ คือ ต้องมีความพอประมาณ  มีเหตุผลตามความจำเป็น และมีระบบภูมิค้นกันตนเองซึ่งก็คือต้นทุนในการรับมือกับสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งในและต่างไประเทศ เช่น ต้นทุนทางสังคม ก็คือ ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง  ต้นทุนมากก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของอบายมุข ต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามา เป็นต้น   เงื่อนไขของการทำเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งแรกต้องยึดถือ คือ ความสุขจริต ซื่อสัตย์ และคุณธรรม

เศรษฐกิจพอเพียง คือ ความสุขในความพอ
ไม่อยากให้เศรษฐกิจพอเพียงของในหลาวเป็นแฟชั่นในปะเทศไทย


               ดิฉัน เลือกเข้าห้องย่อย สมัชชาสุขภาพในประเด็น “ดัชนีอยู่เย็นเป็นสุข...สร้างสุขได้อย่างไร?” เพราะอยากทราบว่าแต่ละคนมีมุมมองอย่างไรในเรื่องของดัชนีชีวัดความสุข...ในแนวของเศรษฐกิจพอเพียง......ดิฉันคิดว่าดัชนีตัวนี้น่าจะจัดวัดยากหากต้องทำในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ....เพราะในแต่ละบริบท แต่ละพื้นที่ จะใช้ตัวชี้วัดตัวเดียวกันได้หรือ???....
               ห้องย่อยนี้ มีประธาน คือ รัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 
ผู้ดำเนินเวทีเสวนาคือ คุณจุฑามาศ บาระมีชัย รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 การดำเนินการในห้องย่อยคือ ให้ผู้มีประสบการณ์พัฒนาดัชนีชี้วัดสังคมอยู่เย็นเป็นสุขระดับชุมชน จำนวน 5 ท่าน มาเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้พบและปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย อ.สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ปราชญ์ชาวบ้าน จ.อยุธยา, พ่อคำเดื่อง ภาษี เกษตรกรต้นแบบ, พ่อชูศักดิ์ หาดพรม ทำเกษตรพอเพียง จ.น่าน และ คุณมูฮาหมัด อามีน ดือราโอะ ประธานเครือข่ายผู้นำเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้    แล้ว ดร.นพดล กรรณิกา ได้เสนอแนวคิดการขับเคลื่อนเครือข่ายพัฒนาและใช้ประโยชน์ดัชนี้วัดสังคมอยู่เย็นเป็นสุข   จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมเสนอ และแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งแนวทางการดำเนินการเรื่องดัชนี้ชี้วัดฯ
              สรุปได้ว่า ดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุข นั้น ในที่ประชุมเห็นว่า  ความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุ เศรษฐกิจ หรือ เงิน ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสุขของคน  ซึ่งตัวชี้วัดความสุขของคนในชนบทต่างจากในเมืองใหญ่เพราะความต้องการและบริบทต่างกัน เช่น คนในชนบทต้องการครอบครองพื้นที่สำหรับทำกินจำนวนมากๆ ในขณะที่คนในเมืองใหญ่ต้องการเพียงบ้านที่เป็นของตัวเองสักหลัก...ก็มีความสุขแล้ว...... อาชีพเกษตรกรหรือคนในชนบทมีความสุขเมื่อครอบครัวอยู่พร้อมหน้า..ลูกหลานไม่ต้องทำงานต่างถิ่น..ในชุมชนมีงานให้ลูกหลานทำ...มีความภูมิใจกับอาชีพที่ทำและต้องเป็นอาชีพที่เป็นสัมมาทิฐิ...ไม่ต้องใช้เงินสำหรับซื้ออาหารก็ได้เพราะมีผักมีข้าวที่ปลูกไว้กิน...ไม่มีหนี้สิน...มีความภูมิใจใน ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมดั่งเดิมของตน.....มีความเท่าเทียมกันในการได้รับบริการทางการศึกษาและสถานีบริการด้านต่างๆ ให้กับชาวเขาและคนในชนบท...มีสุขภาพที่แข็งแรงไม่เจ็บไข้........และคนในชุมชนสามารถช่วยเหลือสังคมส่วนรวมได้ด้วย

                ดังนั้นตัวชี้วัดความสุข......ต้องเป็นตัวชี้วัดที่คนในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ เป็นคนกำหนด และเห็นชอบกับตัวชี้วัดนี้   โดยแบ่งออกเป็น ตัวชี้วัดระดับบุคคล ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด และระดับประเทศ  ซึ่งจะเน้นประเด็นที่ชุมชนมีอาชีพที่เป็นสัมมาทิฐิ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมดั่งเดิมและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ......โดยดัชนี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขนี้เราสามารถนำไปปฏิบัติเลย...ซึ่งรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม จะเป็นผู้ผลักดันต่อไป และ คุณจุฑามาศ บาระมีชัย จะนำเสนอกรอบแนวคิดนี้ต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ในเดือน พ.ย.๔๙ ต่อไป

              รัฐมนตรีไพบูลย์ ได้กล่าวว่า “การสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขนั้น...การใช้ ดัชนีฯ นั้นเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้กับสังคม ในขณะเดียวกัน กระบวนการในการใช้ดัชนีฯ ก็เป็นกระบวนการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้กับสังคมไปในตัว”

     ภายในงานมีกิจกรรม "ดัชนีวัดความสุช" ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองประเมินตัวเอง..ใน 8 หัวข้อ คือ ชีวิตมั่นคง สุขภาพดี ครอบครัวอบอุ่น สังคมเอื้ออาทร อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ชีวิตอิสระ ภาคภูมิใจในตัวเอง และ มีคุณธรรม   ผู้เข้าร่วมจะได้รับลูกปิงปองคนละ 8 ลูก แล้วนำไปหยอดลงในท่อใส่ที่ตรงกับความสุขที่ตัวเองเป็นอยู่...ซึ่งมีรูปหน้ายิ้ม เฉยๆ และ หน้าบึ้ง  ดังภาพตัวอย่างข้างล่างนี้คะ

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 56268เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2006 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท