เรื่องเล่าจากพื้นที่


“ ต้องจัดการความรู้ โดยต้องรู้ ต้องได้”

    ทำไมต้องจัดการความรู้ ?                       

    จากการเป็นทีมพี่เลี้ยงประจำพื้นที่วัดดาว อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรีตลอดระยะเวลาการทำงานเกือบ ๑๐ เดือนที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่นวัดดาวได้กลายเป็นการทำงานร่วมกันเสมือนเพื่อนในการทำงานร่วมกับผู้ประสานงานพื้นที่ไปเสียแล้ว เพราะทุกครั้งที่มีกิจกรรมในตำบลเกิดขึ้น การทำงานในพื้นที่ของกลุ่มแกนนำ ผู้นำท้องถิ่นต่างเรียกร้องหาเพื่อนร่วมทำงานอย่างพวกเรามากขึ้น (พวกเราในที่นี้ คือ ทีมสรส.ที่ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คือ ผู้เขียน, คุณอัฒยา, คุณสหัทยา และคุณพี่จิ๊บ) เพื่อร่วมคิดงาน  ร่วมสร้าง และร่วมทำร่วมกัน โดยโจทย์การทำงาน ทำการบ้านร่วมกับผู้นำท้องถิ่นในแต่ละครั้งจะอาศัยช่วงของงานเทศกาลชุมชนเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกับชาววัดดาวโดยการแทรกหลักการจัดการความรู้ให้แก่ชาววัดดาวได้รู้จักใช้  รู้จักปรับวิธีคิด เพื่อให้เป็นนิสัยในการทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่นร่วมกันระหว่างชาววัดดาว กับ สรส.                        

   สิ่งที่สำคัญในการทำงานที่ว่าทำไม..ต้องจัดการความรู้ ในการทำงานร่วมกับชาววัดดาว เหตุและผลสืบเนื่องมาจากการทำงานที่ผ่านมาจากการจัดเวทีร่วมกันหลายต่อหลายเวที อาทิเช่น เวทีฝึกผู้นำ(โรงเรียนผู้นำ), เวทีฝึกอบรมครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและผู้ปกครอง(โรงเรียนพ่อแม่), เวทีฝึกอบรมกลุ่มสตรีวัดดาว(โรงเรียนอาชีพ) ก่อนการจัดเวทีทุกครั้งผู้เขียนต้องร่วมออกแบบกระบวนการและปรับจูนความคาดหวังในการทำงานร่วมกับนายประทิว  รัศมี(นายกอบต.วัดดาว) ทุกครั้งก่อนการจัดเวที                        

    ทำไมต้องออกแบบร่วมกันก่อนการจัดเวที? คำตอบก็คือเป้าหมาย..วัตถุประสงค์ในการจัดเวทีแต่ละครั้งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการร่วมสร้างธงของการจัดเวทีจะเป็นสิ่งช่วยให้เราสามารถทำงานได้ชัดมากขึ้น ทำเรื่อง KM จะบอกว่าไม่รู้ก่อนทำ..ไม่ได้!                        

   ทุกครั้งในการทำงาน นอกจากต้องลงพื้นที่ไปผลักดันการทำงานในพื้นที่วัดดาวแล้วนั้น สิ่งสำคัญในการทำงานก่อนการลงพื้นที่ทุกครั้งของตนเอง คือการรู้เขา..รู้เรา..รู้สถานการณ์  โดยการถามหาข้อมูลจากนายกประทิวก่อนทุกครั้ง เพราะภาพในการทำงานของเรา คือ การนำความรู้มาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้การทำงานในชุมชนบังเกิดผลที่ดีขึ้น หากลงพื้นที่มาแบบไม่รู้เรา..ไม่รู้เขา..และไม่รู้สถานการณ์ การทำงานของตนเองคงต้องพบกับทางตันแน่ๆ เพราะสิ่งที่สำคัญในการทำงานชุมชน คือ การถามหาความรู้ก่อนทำ ในการทำงานก่อนทุกครั้ง เพราะการมีข้อมูลอยู่ในมือเพื่อนำไปใช้ในการทำงานจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ตนเองสามารถงัดเครื่องมือ..อาวุธต่างๆ มาปรับใช้ในการทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่นได้ และผลจากการทำงานแต่ละครั้งจะช่วยให้ตนเองกำชัยชนะเล็กๆได้เสมอ            

   ตัวอย่างการทำงาน..ที่กำชัยชนะเล็กๆ                       

   จะขออนุญาตเล่าการทำงานในพื้นที่ที่ผ่านมาที่คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จเล็กๆในการทำงานเพราะ ณ ขณะนี้การทำงานของตนเองกำลังเริ่มสร้างวินัยในการทำงานโดยการใช้ KM ในการทำงานให้อยู่ในเนื้อในตัวของตนเองให้มากขึ้น                        

   การหาความรู้ก่อนทำเพื่อจัดเตรียมงานเทศกาลลอยกระทงของวัดดาว โดยจะจัดงานในวันที่    พฤศจิกายน  ๔๙  ซึ่งเป็นการบ้านให้ผู้นำท้องถิ่นได้ร่วมคิด  ร่วมสร้าง  ร่วมลงมือทำในการจัดงานครั้งนี้                        

   ก่อนที่จะถึงงานลอยกระทงต้องผ่านการเตรียมงานเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จ ทาง อบต.วัดดาวต้องการให้สรส.มาร่วมออกแบบกระบวนการเพื่อชวนผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการ เตรียมงาน โดยการหาความรู้ก่อนทำ โดยผู้เขียนได้ออกแบบกระบวนการโดยการใช้ความรู้เดิมจากการที่คุณทรงพลเคยออกแบบกระบวนการในเวทีเพื่อถอดบทเรียนจากการทำงานของกลุ่มสตรีวัดดาวที่ใช้หลักการเหลียวหลัง..แลหน้า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนนี้มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ในการชวนคุยเพื่อร่วมออกแบบงานลอยกระทงร่วมกับผู้นำวัดดาวในปีนี้เป็นอย่างยิ่ง            

   วางแผนก่อนทำ  ร่วมกับ  นายกประทิว   ก่อนถึงวันนัดผู้นำท้องถิ่นร่วมพูดคุยเพื่อออกแบบการจัดงานลอยกระทง ในวันที่ ๙ ตุลาคม ๔๙  การเตรียมข้อมูล..หาความรู้ก่อนทำ ร่วมกับนายกประทิวถือเป็นขั้นตอนการทำงานของผู้เขียนไปซะแล้ว  โดยมีลำดับขั้นตอนการชวนคุย  ดังต่อไปนี้

  • ชวนคุยถึงผลที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว  สำเร็จ  สมหวัง  บรรลุผลอย่างไรบ้าง
  • คาดหวังปีนี้อย่างไร
  • มีใครร่วมออกแบบงานลอยกระทงปีนี้บ้าง
  • สรส. กับ  อบต.วัดดาว  ใครมีบทบาทอย่างไร  ให้ตกลงร่วมกันก่อน

(ผู้เขียนเป็นคุณอำนวยในเวที, นายกประทิวเป็นคนเติมเต็ม, คุณอัฒยาเป็นคุณบันทึก  คุณสหัทยาตั้งกรอบ,เก็บประเด็น, ประเสริฐ เจ้าหน้าที่อบต. เก็บภาพ)            

จัดการความรู้ขณะทำ...ต้องทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้                       

   ในวันที่ ๙ ตุลาคม ๔๙ เป็นเวทีเพื่อร่วมออกแบบงานลอยกระทงร่วมกับผู้นำท้องถิ่นวัดดาว โดยในระหว่างที่รอทางอบต.วัดดาวได้มีการฉายภาพเวทีฝึกอบรมผู้นำท้องถิ่นที่ผ่านมาที่ได้ผ่านกระบวนการกับสรส.ทั้ง ๒ เวที ให้ผู้เข้าร่วมชมไปพลางๆก่อน เพื่อรอผู้เข้าร่วมท่านอื่นๆมาร่วมประชุมให้ครบ จะได้เริ่มประชุมพร้อมกัน            

   นายกเปิดหัวเวที..มีคุณอำนวยช่วยคัดท้าย                       

   นายกประทิวเป็นผู้กล่าวเปิดหัวงานเพื่อบอกกล่าวความคาดหวังของการนัดหมายมาร่วมออกแบบงานลอยกระทงในปีนี้ จากนั้นจึงโยนเวทีให้คุณอำนวยอย่างผู้เขียนเป็นคนเริ่มดำเนินการ โดยมีกระบวนการ  ดังนี้

   ·         ชมภาพลอยกระทงปีที่แล้ว  เพื่อทวนความจำ

   ·         ตั้งคำถามชวนคิดทบทวน เหลียวหลัง..งานลอยกระทงปีที่แล้ว

   ·         คุณอำนวยที่ดี  ต้องให้ความสำคัญกับผู้นำท้องถิ่น(นายกอบต.) กับ ท้องที่(กำนัน) ให้เท่าเทียมกัน

   ·         นำคำตอบที่ได้..มาจุดไฟให้ปีนี้

   ·         ตั้งคำถามให้คิด ถ้าจะทำให้ดีกว่าปีที่แล้ว  ควรทำอย่างไร

   ·         ชวนระดมสมอง ออกแบบกิจกรรม ของงานลอยกระทงปีนี้

   ·         ผลที่ได้ในแต่ละกิจกรรม คือ การเคารพความคิดของผู้นำตำบล

   ·         ชวนกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน

   ·         ให้แต่ละคนกลับไปคิดงาน  คิดแผนในแต่ละฝ่าย  เพื่อนำมาเสนออีกครั้งก่อนการจัดงาน  กำหนดในวันที่  ๒๔  ต.ค. ๔๙ การชวนคุยกับบทบาทหน้าที่ของการเป็นคุณอำนวยในเวที นอกจากการต้องสร้างบรรยากาศร่วมในเวทีโดยการมีลูกล่อ ลูกชน (ลูกฮา) เพื่อกระตุ้นบรรยากาศให้ผู้เข้าร่วมเวทีกล้าพูด กล้าคุย กล้าแสดงความคิดเห็นแล้วนั้น กระบวนการเพื่อปราบตัวป่วนในเวที กับคนที่ยังมีจริตไม่ตรงกับทุกคนในเวที เป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่สุดเพราะการงัดอาวุธเพื่อมาต่อสู้กับตัวป่วนในเวทีจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคในเรื่องการเรียนรู้อุปนิสัยของแต่ละคน, การวางท่าทาง ตลอดจนถ้อยคำที่ต้องสรรมาคัดใช้เพื่อให้ตัวป่วน..หยุดที่จะฟัง  และปรับวิธีคิดมาเห็นกับคุณอำนวยในเวทีด้วย           

   ตัวอย่างการปราบตัวป่วนในเวทีหลักการ...เมื่อตัวป่วน..ไม่เข้าใจ และโต้แย้ง  ขอให้คุณอำนวยนิ่งฟังเขาก่อน แล้วค่อยใส่ความคิดใหม่ให้ โดยไม่ทิ้งข้อคิดของเขา แต่ให้ใส่ข้อคิดที่เป็นการเติมเต็มให้เขาให้ได้  ยกตัวอย่างจากการลงพื้นที่ เพื่อการเตรียมงานลอยกระทงร่วมกับผู้นำวัดดาว ลุงมานิตย์(ประธานสภาอบต.วัดดาว) จะมีวิธีคิดที่ยึดติดกับรูปแบบงานลอยกระทงเดิมๆ เช่น การมีรำวงย้อนยุค, การประกวดร้องเพลง เป็นต้น เมื่อคุณอำนวยชวนคุยเพื่อให้ทุกคนได้คิดกิจกรรมงานลอยกระทงปีนี้ที่แฝงนัยยะของการให้ความรู้ในแต่ละกิจกรรม  ผู้นำท่านอื่นพอที่จะเข้าใจและมีความเห็นคล้อยตาม แต่ลุงมานิตย์บอกว่า..ไม่ควรเปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น ควรคงรูปแบบเดิมเพราะงานลอยกระทงทุกคนคงไม่ได้ต้องการมาหาความรู้ คิดว่าทุกคนอยากมาสนุก มาพักผ่อนกันมากกว่า  สิ่งที่ลุงมานิตย์กล่าวมานั้น คือ ข้อเท็จจริงที่คุณอำนวยต้องเคารพความคิดของท่าน แต่ที่สำคัญ คือ เราจะมีกลวิธีอย่างไรในการให้เขายอมรับความคิดใหม่จากเราโดยไม่ให้เขารู้สึกว่าเราเข้ามาเปลี่ยนความเป็นวิถีชีวิตชุมชนของเขากลวิธีปราบตัวป่วน  ต้องให้โดนตัว..โดนใจเขาที่สุด

   ·         นำความคิดของเขายกมาเป็นเรื่องที่ต้องยึดถือปฏิบัติ  แต่ให้วงสนทนาช่วยเติมเต็มความคิดของเขา

   ·         ชื่นชมความคิดของเขา เพราะสิ่งที่เขาคิด คือ การกล้าแสดงความคิดเห็น นำจุดเด่นของเขามาใช้ให้เป็นประโยชน์

   ·         ท่าทีคุณอำนวยต้องยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ขุ่นมัวจากอาการของตัวป่วน เพื่อช่วยให้เขารู้สึกดีเป็นมิตรกับเรา

   ·         จบความคิดของตัวป่วนให้สวยงาม โดยให้ที่ประชุมร่วมสรุปเวที และเป็นกลวิธีที่ช่วยให้ตัวป่วนยอมรับหลักการด้วยกันกับทุกคน  การ  AAR ก็สำคัญ เพราะช่วยให้แผนงานข้างหน้าชัดมากขึ้น                       

   นอกจากการลงพื้นที่เพื่อเป็นคุณอำนวยให้แก่ผู้นำท้องถิ่นแล้วนั้น  การร่วมสรุปบทเรียนจากการจัดเวทีถือเป็น วินัยในการทำงาน ที่สำคัญมากที่สุด เพราะการร่วมประเมิณผลจากการดำเนินงาน การร่วมตีเหล็กเมื่อร้อน จะช่วยเอื้อให้ทีมผู้ประสานงานและผู้นำท้องถิ่นมองเห็นภาพการทำงานในสิ่งที่ดีแล้ว และสิ่งที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร                       

   ผลจากการพูดคุยเพื่อสรุปบทเรียนร่วมกัน ทำให้ผลที่เกิดขึ้นช่วยต่อจิ๊กซอว์ภาพการทำงานของเราในครั้งหน้าให้มีความคมชัดมากขึ้น  ดังนี้

   ·         เห็นวิธีคิดของผู้นำท้องถิ่นบางท่านที่ต้องอาศัยเวลาเพื่อเป็นเครื่องช่วยในการปรับวิธีคิด

   ·         เห็นแววและศักยภาพของนายกประทิว ต่อบทบาทการเป็นคุณอำนวยในเวที

   ·         เห็นจุดบอดของเจ้าหน้าที่อบต.ที่ต้องสรรกิจกรรมเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น เช่น การอบรมทั้งองค์กรเพื่อสร้างคนทำงาน หากภายภาคหน้าวัดดาวต้องเดินงานเองจะได้มีคนทำงานที่รองรับการพัฒนาพื้นที่ได้

   ·         เห็นชัยชนะเล็กๆจากการชวนคุยเพราะบรรลุผลตามที่ตั้ง ธง ไว้ เช่น

         -    การได้เหลียวหลังเพื่อทบทวนการจัดงานลอยกระทงที่ผ่านมาพร้อมกับ     การสะท้อนข้อดี

         -    ข้อที่ควรปรับปรุงเพื่อใช้ในการจัดงานปีนี้

        -          การได้คนทำงานแต่ละฝ่าย, ได้เจ้าภาพงานในแต่ละเรื่อง พร้อมกับการมานำเสนอในวันที่ ๒๔ ต.ค. ๔๙  อีกครั้งร่วมกัน

         -          การฝึกวิธีคิด, การระดมสมองเพื่อออกแบบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในงานลอยกระทงอย่างมีส่วนร่วม

         -          การเคารพความคิดของคนวัดดาว โดยผู้นำต่างนิ่งฟังกันเองมากขึ้น

    —         นำผลจากการประเมิณร่วมกัน เพื่อร่วมออกแบบเวทีวันที่ ๒๔ ต.ค. ๔๙

   —         คุยงานนี้ แต่ได้งานอื่นๆ ด้วย เช่น เวทีโรงเรียนพ่อแม่, เวทีฝึกอบรมผู้นำ, แผนการเตรียมงานเพื่อจัดตลาดนัดอบต. ฯลฯ  ต้องทำให้ดี  ให้ได้  และให้ต่อเนื่อง                       

   การทำงานกับบทบาทพี่เลี้ยงในพื้นที่หรือแม้แต่การเป็นคุณอำนวยในเวที ถึง ณ ขณะนี้การทำงานของตนเองต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า การลงพื้นที่เพื่อทำงานในแต่ละครั้ง ต้องทำให้ได้ ให้สำเร็จเพราะถ้าผลจากการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง เราไม่สามารถกำชัยชนะเล็กๆ ในการทำงานได้ ก็อย่าหวังว่าเราจะมุ่งไปสู่ธงใหญ่ปลายทางได้อย่างไร?                       

   ดังนั้น สิ่งสำคัญของการก้าวมาสู่การทำงานเพื่อใช้หลักการจัดการความรู้ในการทำงาน คุณต้องทำให้ได้และต้องให้สำเร็จเพราะถ้าทำงานโดยไม่สรรหาความรู้ ก่อนทำ  ขณะทำ หลังทำ ตนเองจะไม่สามารถไปเป็นพี่เลี้ยงให้ใครเขาได้เพราะตนเองยังทำไม่ได้และไม่ได้เข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวของเรา แล้วเราจะไปบอกให้เขาทำได้อย่างไร?

   ทุกวันนี้ตนเองเริ่มทำงานโดยเร่งสร้างวินัย โดยใช้ KM ให้เป็นวิถีชีวิต เพราะคิดว่า ..เราได้เดินมาถูกทาง เพราะเป็นการทำงานที่ตนเองชอบ คิดว่าการลงพื้นที่ต่อการทำงานแต่ละครั้งต้องเตรียมการบ้านก่อนทำ หมั่นทบทวนการบ้านที่ทำไปให้สม่ำเสมอและที่สำคัญอย่าสะสมการบ้านจนไม่สามารถทำการบ้านได้ทั้งหมด เพราะนั่นหมายถึงว่า คุณกำลังจะสอบตก..ซ้ำชั้น และอาจเรียนไม่จบเลยก็ได้

  ชไมพร  วังทอง

ผู้ประสานงานพื้นที่ ภาคกลาง

ตำบลวัดดาว   อำเภอบางปลาม้า   จังหวัดสุพรรณบุรี

หมายเลขบันทึก: 56214เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2006 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เข้ามาเยี่ยมครับอ่านแล้วได้ข้อคิด
  • ได้องค์ความรู้ในการปรับใช้ได้ดีครับ
  • ขอบคุณมากจะรออ่านตอนต่อไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท