หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ระบบฐานข้อมูล (อีกหนึ่งความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบและกลไกหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่นใน มมส)


ระบบที่สร้างขึ้นอาจยังไม่สมบูรณ์แบบ และไม่มีทางสมบูรณ์เลิศอย่างแน่นอน ทุกอย่างยังต้องพัฒนา ปรับปรุงเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับการพยายามกระตุ้นให้อาจารย์ได้บันทึกข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์ได้พัฒนาศักยภาพการใช้ระบบด้วยตนเองไปในตัว รวมถึงการพยายามสื่อสารในวงกว้าง เพื่อให้รับรู้ว่ามี “ระบบฐานข้อมูล” ให้สืบค้นได้บ้างแล้

การมีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อศึกษาเรื่อง “แนวทางพัฒนาระบบและกลไกการจัดตั้งหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 1” อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการวิจัยเพื่อชุมชน หรือเห็นความสำคัญของการสร้างงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมและบูรณาการเข้าสู่ภารกิจหลักทั้ง ๔ (การสอน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การวิจัย) ได้ช่วยให้ผมเรียนรู้เรื่องราวนานาประการอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะการเรียนรู้ถึงเรื่อง “ระบบฐานข้อมูล”




ในระยะแรก (๒๕๕๕) เมื่อเข้าไปเป็นผู้ประสานงานโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนของมหาวิทยาลัย คำถามที่ผมถามทักในที่ประชุมบ่อยๆ ก็คือ “มีข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับงานบริการวิชาการอย่างไรบ้าง” ทั้งในด้านประเด็นเนื้อหา ประเด็นพื้นที่ เครือข่ายนักวิชาการ หรือแม้แต่มีชุดความรู้ใดที่โดดเด่น น่าสนใจบ้าง...

ต้องยอมรับว่าคำตอบที่ได้มานั้นไม่แจ่มชัดเท่าใดนัก และผมเองก็เคยได้เสนอว่าควรตั้งทีมมาร่วมวิจัย “๑ ทศวรรษการบริการวิชาการแก่สังคม” ไปเลย เพื่อให้รู้ทิศทางความเป็นมา รู้ชุดความรู้ในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะได้นำมาต่อยอด หรือเป็นแนวทางในการสร้างชุดความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องและมีพลัง หรือแม้แต่นำประเด็นจากงานบริการวิชาการพัฒนาสู่การเป็นงานวิจัยไปในตัว

ยิ่งพอได้เห็นอาจารย์จากแต่ละหลักสูตรขอความช่วยเหลือในเรื่อง “ข้อมูล” ดังกล่าว ยิ่งเหมือน “มืดฟ้ามัวดิน” ทั้งผมและทีมงาน หรือแม้แต่บุคลากรประจำที่เคยจับงานนี้มายาวนานก็ไม่สามารถตอบอะไรได้อย่างเป็นรูปธรรม - ชี้เป้าอะไรก็ไม่หนักแน่น เพราะทุกอย่างยังไม่ถูกจัดกระทำเป็น “ระบบสารสนเทศ” หรือ “ฐานข้อมูล” ที่เป็นระบบ



ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ทีมวิจัยฯ (ที่ไม่รวมผม) ซึ่งประกอบด้วย ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา อาจารย์ศักดิ์เจริญ ภวภูตานนท์ และอาจารย์สุนทร เดชชัย จึงพยายามหนุนนำและผลักดันให้เกิดระบบสารสนเทศนี้ให้จงได้ และถือว่าเรื่องระบบสารสนเทศดังกล่าว เป็นผลพวงหนึ่งของผลการศึกษาวิจัยฯ ที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นหนึ่งในแนวทางของการจัดตั้งหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากข้อค้นพบดังกล่าวจึงนำมาสู่การจัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการฐานข้อมูลการบริการวิชาการและการวิจัยเพื่อรับใช้สังคม” ขึ้นในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๖ ณ สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักคืออาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน (ปีงบประมาณ ๒๕๕๖) โดยมุ่งให้อาจารย์แต่ละคนได้เข้าใจถึงหลักการและแนวปฏิบัติของการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล รวมถึงการนำข้อมูลจากโครงการที่รับผิดชอบบันทึกลงในระบบ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลให้สืบค้นได้ง่ายขึ้น โดยเบื้องต้นก่อนการอบรมนั้น คณะกรรมการบริหารโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ได้ขอความอนุเคราะห์ให้อาจารย์สำรวน เรียงสมุทร (คณะวิทยาการสารสนเทศ) ได้เขียนโปรแกรมให้ พร้อมๆ กับการนำข้อมูลโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนปี ๒๕๕๖ มาลงไว้ให้ครบทั้ง ๖๕ โครงการ (๖๕ หลักสูตร)

และนอกจากนี้ยังนำข้อมูลในปี ๒๕๕๖ ทยอยลงสู่ระบบเป็นระยะๆ โดยไม่รอให้เป็นภาระของอาจารย์จากแต่ละหลักสูตรเสียทั้งหมด



การนำข้อมูลในปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ มาบันทึกไว้เช่นนั้น ถือเป็นจุดเด่นที่ช่วยให้อาจารย์ได้มองเห็นความเป็นรูปธรรมของ “ข้อมูล” อย่างชัดแจ้ง พอถึงห้วงของการฝึกปฏิบัติการก็ให้อาจารย์แต่ละคนนำข้อมูลจากโครงการของตนเองทยอยลงตามขั้นตอนที่ทีมงานได้บรรยายและสาธิตไปพร้อมๆ กัน...

การอบรมดังกล่าว ทีมงานได้จัดพิมพ์คู่มือแจกจ่ายให้กับอาจารย์ที่เข้าร่วมการอบรม รวมถึงในห้วงสุดท้ายได้เปิดโอกาสให้มีการสอบถาม เสนอแนะในสิ่งที่ควรต้องปรับแก้ เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งอาจารย์หลายท่านได้ให้ข้อเสนอแนะหลายประเด็น และในบางประเด็นก็ถูกแก้ไขในเวทีนั้นร่วมกันอย่างไม่อิดออด จึงนับได้ว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ว่านั้น เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจ เพราะต่างฝ่ายต่างเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน การเสนอแนะต่างๆ เป็นบรรยากาศสร้างสรรค์ มีความเป็นกัลยาณมิตรอย่างน่ายกย่อง...



ตราบจนบัดนี้ ถึงแม้อาจารย์จากแต่ละหลักสูตร หรือแต่ละโครงการ จะยังไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างเสร็จสรรพ แต่ทีมงานส่วนกลางก็มิได้ละเลย ตรงกันข้ามกลับ “หนุนเสริม” ด้วยการนำข้อมูลจากอาจารย์ หรือโครงการต่างๆ มาบันทึกลงเป็นระยะๆ เพื่อก่อให้เกิดความเป็น “ปัจจุบัน” ในการสืบค้น พร้อมๆ กับการกระตุ้นให้อาจารย์ที่จะเสนอขอรับงบประมาณในปี ๒๕๕๗ ได้เข้ามาใช้ฐานข้อมูลที่ว่านี้อย่างจริงๆ จังๆ...

แน่นอนครับ, ระบบที่สร้างขึ้นอาจยังไม่สมบูรณ์แบบ และไม่มีทางสมบูรณ์เลิศอย่างแน่นอน ทุกอย่างยังต้องพัฒนา ปรับปรุงเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับการพยายามกระตุ้นให้อาจารย์ได้บันทึกข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์ได้พัฒนาศักยภาพการใช้ระบบด้วยตนเองไปในตัว รวมถึงการพยายามสื่อสารในวงกว้าง เพื่อให้รับรู้ว่ามี “ระบบฐานข้อมูล” ให้สืบค้นได้บ้างแล้ว...

และในทำนองเดียวกันนี้ ก็ได้พยายามเชื่อมโยงไปสู่การสร้างระบบฐานข้อมูลของงานวิจัย งานทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เชื่อมโยงไปสู่ฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับการทำงานของมหาวิทยาลัย เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบ “โลกไร้พรมแดน”

ครับ, ระยะทางยังอีกไกล การพัฒนาระบบและกลไกในเรื่องเหล่านี้ก็ยังต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบ...และที่สำคัญ ไม่ว่าโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนจะคงอยู่อีกต่อไป หรือยุติบทบาทลงตามวาระของผู้บริหาร แต่ระบบฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมเป็นเสมือนคลังความรู้ที่รอการหยิบจับไปใช้ประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย !

หมายเลขบันทึก: 562064เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณนะครับ คุณ ธีระวุฒิ ศรีมังคละ
ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ และขอส่งใจคืนกลับไปเช่นกัน ครับ

ชอบโครงการนี้ครับ

มีการบันทึกข้อมูลตั้ง 65 โครงการให้ค้นคว้าได้

โลกไร้พรหมแดนจริงๆครับ

ขอบคุณ อ.ขจิต ฝอยทอง มากๆ ครับ
วันนี้ ก็พัฒนาระบบได้มากกว่าปีแรก...
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด
ปีนี้ คงได้เห็นระบบ GIS เป็นแน่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท