สายธารความรู้สู่การเลี้ยงโคแบบไทบ้าน ตอนที่ 6 นายฮ้อยสมัครเล่น


เป็นเรื่องจริงแต่แปลกที่คนอีสานพากันเลี้ยงโคงาม เนื้อคุณภาพดีกันมากมาย แต่ไม่ได้กินเนื้อดี ๆ มีแต่ส่งไปขายให้คนอื่น

              จากที่ได้ไปเป็นนายฮ้อยสมัครเล่นที่ตลาดนัดโค - กระบือบุรีรัมย์มา พบว่ากลุ่มพ่อค้าโคคือบุคคลสำคัญมาก เพราะสามารถปั่นราคาโคให้สูงขึ้นหรือต่ำลงได้อย่างสบาย ถ้าใครไม่มีประสบการณ์ในการซื้อโคในแต่ละสนามละก้ออย่าอาจหาญไปซื้อเพียงลำพังเด็ดขาด เพราะนั่นเท่ากับเราขาดทุนตั้งแต่อยู่ในมุ้งแล้ว โดยพ่อค้าโคนั้นจะมีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

              1.  พ่อค้าที่ซื้อโคไปขุน พบว่าจะเลือกโคขนาดกลาง สูงยาวเข่าดี นั่นคือต้องโครงสร้างใหญ่ กระดูกใหญ่ ระยะระหว่างกระดูกก้นกบและระยะระหว่างกระดูกเชิงกรานมาก สะโพกใหญ่ จะทำให้มีเนื้อมาก สันหลังตรงและยาวและผอม เหตุที่เลือกโคผอมเพราะราคาต่ำ เมื่อนำไปขุนได้ที่แล้วจะขายได้กำไร พ่อค้ากลุ่มนี้เมื่อซื้อโคได้แล้วจะรีบกลับไม่อยู่ที่สนามนานและจะซื้อครั้งละ7 - 10  ตัวต่อสนาม โดยบรรทุกไปกับรถบรรทุก 6 ล้อ เพราะถ้าซื้อมากจะมีผลต่อการขนย้าย เนื่องจากไม่ต้องการขนทีละมาก ๆ ถ้าโคแออัดกันมากอาจทำให้โคบาดเจ็บแล้วนำไปขุนไม่ได้  เวลาไล่ต้อนโคขึ้นรถถ้าโคตัวใดล้มหรือนอนไม่ยอมลุก พ่อค้าจะมีเครื่องช๊อตไฟฟ้า 220 โวลท์ ซ๊อตที่ต้นขาทำให้โคสะดุ้งยืนสุดตัวเห็นแล้วน่าสงสารมากค่ะ

              2.  พ่อค้าที่ขายและรวบรวมโคที่มีชีวิต จะซื้อโคตามหมู่บ้านท้องถิ่นของตนเองหรือจากสนามต่าง ๆ เพื่อนำไปขายต่อที่หมู่บ้านหรือที่สนามอื่น ๆ  พ่อค้ากลุ่มนี้จะเลือกซื้อเฉพาะโคที่มีลักษณะดีเท่านั้นเพราะมีผลต่อการนำไปขายต่อ ซึ่งตอนนี้ตลาดกำลังนิยมโคบราห์มันแดงเนื่องจากราคาสูงมาก ส่วนโคพื้นเมืองและโคบราห์มันเทาราคากำลังตก 

              3.   พ่อค้าวนหรือพ่อค้าหมุนเวียน พ่อค้ากลุ่มนี้จะดักรอซื้อตั้งแต่ก่อนเปิดสนามหนึ่งวัน เป็นการซื้อโคเก็งกำไรระยะสั้น จะซื้อโคในตลาดในราคาต่ำและขายต่อในวันเดียวกัน  โคบางตัวต้องผ่านพ่อค้าหลายมือกว่าจะสิ้นสุดการขายได้ขึ้นรถบรรทุก  ซึ่งกำไรที่พ่อค้าวนแต่ละรายได้ต่อตัว จะอยู่ในราว 300 - 700 บาท

              4.  พ่อค้าโคชำแหละ  กลุ่มนี้อาจจะซื้อทั้งโคขุน โคมีชีวิต จากชาวบ้านและจากตลาด เพื่อส่งเขียงพ่อค้าในตลาดสดชำแหละอีกทอด  หรือบางครั้งพ่อค้าโคก็จะมีเขียงชำแหลของตนเองครบวงจร  โคที่ขายชำแหละจะเป็นโคที่ลักษณะไม่ดี อาจมีอาการพิการเล็กน้อย เช่น เดินขากะเผลก และเป็นโคกระโดนตัวเล็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งราคาจะถูกมาก  เหตุที่นิยมส่งโคกระโดนไปฆ่าชำแหละเนื้อเพราะราคาถูกและเนื้อที่นำไปปรุงเป็นอาหารนั้นถูกโฉลกกับลักษณะการบริโภคประเภททำลาบ ก้อย เพราะเนื้อเหนียว อีกทั้งคนอีสานบ้านเราไม่นิยมสเต็ก จึงไม่นิยมเนื้อโคนุ่ม ๆ มีไขมันแทรก เป็นเรื่องจริงแต่แปลกที่คนอีสานพากันเลี้ยงโคงาม เนื้อคุณภาพดีกันมากมาย แต่ไม่ได้กินเนื้อดี ๆ มีแต่ส่งไปขายให้คนอื่น

               นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังและพิจารณาให้ถี่ถ้วนในการเลือกซื้อโค เพราะขณะมีเทคนิควิธีการหลอกขายแปลก ๆ ที่พบก็คือ 

               -  การย้อมสีพู่หางให้มีสีดำเพื่อให้ตรงกับลักษณะของสีพู่หางโคบราห์มันหรือฮินดูบราซิล  หรือการทาสีที่หูให้มีสีดำเหมือนหูโคฮินดูบราซิล เวลาเลือกควรใชช้ผ้าชุบน้ำมาด ๆ เช็ดที่หาง โดยเฉพาะพ่อค้าหน้าใหม่ ๆ ควรระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าเป็นพ่อค้าหน้าเดิม ๆ จะไม่หลอกกัน

               -  การผ่าตัดเส้นประสาท โดยเฉพาะบริเวณขาไม่ให้โคเดินขากะเผลก ซึ่งแผลจะเล็กมากแทบมองไม่เห็นส่วนใหญ่จะนิยมทำกับโคงามราคาแพง เช่น ฮินดูบราซิล บราห์มัน เวลาเลือกจะต้องดูบริเวณขาให้ละเอียดมาก ๆ

               -  การให้โคกินน้ำมากๆ จนท้องป่องให้ดูเหมือนโคอ้วน เพื่อโก่งราคา  เวลาซื้อเลือกซื้อควรใช้มือกดที่ท้องถ้าท้องนุ่มหรือกดแล้วบุ๋มลงมากแสดงว่ากินน้ำมาเยอะ หรือดูที่มูลโคถ้าเหลวมากอาจเป็นเพราะกินน้ำมากก็เป็นได้

              -  โคพยศ หรือโคตื่นสนาม ไม่ควรซื้อเป็นอย่างมาก เพราะจะมีปัญหาเวลาไล่ต้อนขึ้นรถลำบากมาก และเมื่อขึ้นรถไปแล้วก็ยังอาลวาดโคตัวอื่นให้บาดเจ็บได้  ข้อสังเกตุว่าโคพยศหรือไม่ดูที่ท่าทางก็ได้จะตื่นตัวตลอด เข้าใกล้ไม่ได้ หรือถ้าผูกไว้ที่หลักก็จะเดินวนจนเชือกพันหลักเหลือไม่ถึงเมตรเพราะจะหนีตลอด ถ้าเดินไปในสนามแล้วพบเจอโคประเภทนี้อย่าเข้าใกล้จะเป็นการดี

             ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 56093เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเริ่มกังวลกับการนำเสนอเชิงบรรยายของคุณ และการละเลยแกนวัตถุประสงค์ของงาน หรือคุณจะเขียนแบบนี้แยกกับงาน ผมจะได้ไม่ให้ความสำคัญกับงาน blog ของคุณมากจนเกินไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท