พอเพียง..คือ พอดี


ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเลิกการไปจ่อมจมกับสิ่งที่เราน่าจะรู้แล้ว หรือเรียนรู้ได้เอง โดยที่ไม่ต้องทิ้งเด็กทิ้งห้องเรียน..เป็นสิ่งที่ครูยุคใหม่พึงกระทำ หันมาวิเคราะห์ตนเอง และอยู่กับสิ่งที่มี และทำมันให้ดีที่สุด เต็มที่ เต็มเวลา ตลอดจนบูรณาการสู่การเรียนการสอน ที่ควรได้ทั้งการฟังพูดอ่านและเขียนของนักเรียน

ตั้งแต่โรงเรียนผ่านการประเมินให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านการเรียนการสอนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ สถานศึกษาพอเพียง ได้ราว ๒ ปีเศษ ผมเองก็คิดแล้วคิดอีก ว่าในความเป็นจริง โรงเรียนตั้งอยู่ในความพอเพียงจริงแท้แค่ไหน...

 

จริงอยู่ อาจไม่ต้องเป๊ะ ในหลักการทฤษฎีอะไรมากมาย แต่อยากมีหลักคิดเป็นของตนเอง ที่ศึกษาคู่ขนานไปกับหลักปรัชญา มิใช่เป็นแค่นักล่ารางวัล แล้วเดินหน้าจนลืมตัวตนที่แท้จริง

 

ด้วยโอกาสและปัจจัยแวดล้อม โรงเรียนขนาดเล็ก จะทำอะไร หรือคาดหวังความเลิศหรูอลังการไม่ได้มากนัก ภูมิคุ้มกันโรงเรียนและบุคลากรที่ดีที่สุด คือ ครูต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ด้วยการมุ่งมั่น เสียสละ ทุ่มเท ให้ลูกหลานชาวบ้าน อ่านคล่องเขียนคล่อง อ่านออกเขียนได้ และเป็นคนดี อย่างอื่นเป็นงานรองทั้งหมด

 

บริหารวิชาการเป็นงานหลัก แล้วอย่างอื่นจะตามมาเอง บนฐานแห่งความพอดี ที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้สูง และเพียงแค่แข่งขันกับตนเอง เพราะศักยภาพในทุกด้านไม่เอื้อที่จะให้คิดใหญ่ทำใหญ่ คิดเยอะ แล้วทำไม่ได้ มันจะทำให้ยุ่งและระบบมันจะรวนไปหมด ผมทำความเข้าใจกับคณะครูไปแบบนี้ เท่าที่ผ่านมา ก็พอจะภูมิใจในความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดจากการทำคุณภาพแบบง่ายๆ แต่งดงาม

 

งดงามอย่างไร..โดยใช้ภาวะผู้นำ ทำนำและทำเป็นตัวอย่าง ไม่ดีแต่พูดหรือเอาแต่สั่งหรือมอบหมาย ตามสายการบังคับบัญชา แต่จะใช้การเป็นเพื่อนร่วมงานที่ช่วยประคับประคองงานให้เดินไปได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นศาสตร์ส่วนหนึ่งของการบริหารโรงเรียนเล็ก..ที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ต้องพร้อมปรับใช้ และใช้อย่างมีศิลปะ

 

เมื่อผมลงไปทำด้วยและช่วยทำ..ผมไม่อยากรู้หรอกว่าครูมีขวัญกำลังใจหรือเปล่า แต่รู้ว่า..งานที่ครูหนักหนา จะเบาและผ่อนคลาย มีเวลาทุ่มเทให้กับงานสอนที่ตรงประเด็นที่สุด มีปัญหาก็มาคุยกัน แก้ให้ตรงจุด สร้างความรักความเข้าใจให้ยั่งยืน

 

ข้อสำคัญ..ผู้บริหารอย่างผม..คิดเสมอว่าจะไม่เป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง วิธีการก็คือจะทำสิ่งใด ปรึกษาหารือลูกทีมก่อนทุกครั้ง เพื่อการตัดสืนใจที่มีประสิทธิภาพ บนฐานข้อมูลที่พอเพียง ที่ไม่เป็นไปเพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ  บนความทุกข์ของเพื่อนครู ผมคิดว่าการบริหารแบบรู้เขารู้เรา เอาใจเขามาใสใจเรา.เป็นสิ่งที่ดีไม่น้อย

 

โชคดี ที่ผมได้เพื่อนร่วมงานที่เข้าใจผมเหมือนกัน เข้าถึงวิธีคิดของผม และให้ความร่วมมือที่จะไม่ฉุดดึงตัวเองออกจากห้องเรียน ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับนักเรียน และไม่ใช้เวลาหมดไปกับเรื่องไร้สาระ

 

เช่น ขออนุญาตไปประชุมสัมมนาศึกษาดูงาน..โน่น นี่ นั่น หรือมีหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อเครือข่ายนั้นนี่ ช่วยกลุ่มนั้น ดูแลกลุ่มนี้ แต่ไม่เคยทำหน้าที่ที่พึงกระทำในโรงเรียน และหรือกลับเข้าโรงเรียนก็ไม่เคยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น...แบบนี้ที่โรงเรียนผมไม่มี(ยกเว้นที่ต้นสังกัดสั่งการให้ไป)

 

และผมก็ไม่เคยให้ครูไปศึกษาดูงานที่ไหน..แต่จะให้ครูดูหนังสือ รู้จักการบันทึก/ทดลองวิจัย ศึกษาด้วยตนเอง อ่านและฟังมากๆ ศึกษาจากG2K ก็ได้ ที่มีนักคิดนักเขียนหลากหลาย และต้องปรับใช้อย่าไปเชื่อทั้งหมด

 

 

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเลิกการไปจ่อมจมกับสิ่งที่เราน่าจะรู้แล้ว หรือเรียนรู้ได้เอง โดยที่ไม่ต้องทิ้งเด็กทิ้งห้องเรียน..เป็นสิ่งที่ครูยุคใหม่พึงกระทำ หันมาวิเคราะห์ตนเอง และอยู่กับสิ่งที่มี และทำมันให้ดีที่สุด เต็มที่ เต็มเวลา ตลอดจนบูรณาการสู่การเรียนการสอน ที่ควรได้ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียนของนักเรียน

ถ้าครูเข้าใจบริบทของโรงเรียน..เข้าใจในปัจจัยพื้นฐานเท่าที่เห็นและเป็นอยู่ โดยสร้างสรรค์ดินและน้ำในโรงเรียนให้เกิดคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น บนพื้นฐานของความพอเพียง..ผมคิดว่าสักวันหนึ่งจะพบว่า..ความพอดี..อยู่ตรงนี้นี่เอง

 

                                                                     ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

                                                                       ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗  

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 560113เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2014 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2014 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สุดยอดดดดดดดดดดดดดดดด คะ ขอชื่นชมด้วยใจจริงๆๆ

ขอชื่นชมในความเพียรของท่านและคุณครูครับ.....

อย่างไรก็ดี ผมขอบังอาจเถียงท่านในท่อนประโยคที่ว่า ......

ผมก็ไม่เคยให้ครูไปศึกษาดูงานที่ไหน..แต่จะให้ครูดูหนังสือ รู้จักการบันทึก/ทดลองวิจัย ศึกษาด้วยตนเอง อ่านและฟังมากๆ

เพราะผมคิดว่า การออกไปเห็น พูดคุย และสัมผัสแลกเปลี่ยนกับประสบการณ์จริงๆ ของคนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่ง สำคัญพอๆ กับที่ ต้องเปิดโอกาสให้ครูได้มีโอกาสถ่ายทอดและขยายผลความสำเร็จของตนเองออกไปสู่ผู้อื่น ซึ่งจะก่อเกิด PLC ประการหนึ่ง .....

อย่างไรก็ดี การไปศึกษาดูงานอย่าง "พอเพียง" นั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา....

ชื่นชมทุกครั้งที่ได้อ่านได้เห็นผลงานของท่านครับ

ผมติดตามบันทึกของท่านผอ.มาตลอด เห็นวิสัยทัศน์ วิธีคิดใหม่ๆ การทำงานอย่างอุทิศทุ่มเท น่าศรัทธาจริงๆ คงมีโอกาสพาผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กมาดูงานโรงเรียนท่านสักวัน

ตามมาอ่าน

วันก่อนแวะไป เห็นคะน้าเริ่มขึ้นในนาแล้วนะครับ

ชื่นชม ชื่นชม พอเพียง...ใช่เลย ...!

..เมื่อ..พอใจ..หยุดได้..คงเริ่มพอ..."พอใจ"...ยิ่งใหญ่..เจ้าค่าาาา..(ผอ.คนเก่งและลูกทีม)....

"คิดใหญ่ ทำเล็ก" นะครับอาจารย์...ชื่นชมและยินดีมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท