อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (3)


อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (3)

       ก่อนอ่านตอนที่ 3 นี้   โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) และตอนที่ 2 (click) เสียก่อน

       ในตอนที่ 3 นี้ จะให้ความเห็นเรื่อง  การแยกแต่เชื่อมโยงระบบจัดการกับระบบดำเนินการ

       ระบบดำเนินการอยู่ที่มหาวิทยาลัย   เป็นการดำเนินการด้านบัณฑิตศึกษาการวิจัย   ความร่วมมือกับชุมชนหรือธุรกิจเอกชน   การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา   ความร่วมมือกับต่างประเทศ   ความร่วมมือกับองค์กรสนับสนุนการวิจัยในต่างประเทศ   เป็นต้น

       ระบบจัดการ   เป็นเรื่องของการจัดการ granting   ใครไม่เข้าใจให้มาดูที่ฝ่ายวิชาการกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ของ สกว.   ว่าต้องทำงานในลักษณะใดบ้าง

       งานที่ยากที่สุดของระบบการจัดการคือการออกแบบระบบให้มีความยืดหยุ่น   แต่ในขณะเดียวกันก็มีแรงจูงใจให้ผู้รับทุนทำงานสร้างผลงานที่มีคุณภาพสูง   และในขณะเดียวกันก็เกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง

       ที่สำคัญ   ให้อำนาจผู้ทำงานวิจัย (และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา) ในการตัดสินใจหลาย ๆ ประการ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตน   เพื่อสร้างผลงานคุณภาพ

       เมื่อมีผลงานคุณภาพ   ก็ได้รับเกียรติและรางวัล

       ระบบการจัดการแบบนี้อยู่ภายใต้กฎระเบียบราชการไม่ได้   และอยู่ภายใต้ผู้บริหารอำนาจนิยม  ระเบียบนิยมไม่ได้

ประเด็นสำคัญของตอนนี้มี 2 ประการ
(1) อย่าเอาระบบดำเนินการกับระบบจัดการไว้ด้วยกัน
(2) อย่าเอาระบบจัดการไว้ใต้กลไกราชการ

       เครือข่ายที่จะเกิดขึ้นนี้ต้องเป็น "เครือข่ายที่มีชีวิต" คือมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนรูป (metamorphosis) ได้   เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างเครือข่ายวิชาการที่เข้มแข็ง

       การพัฒนารูปแบบของเครือข่าย   จะต้องอยู่ที่ฝ่ายจัดการส่วนหนึ่ง   และอยู่ที่ฝ่ายดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง   ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปการเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับปฏิบัติหรือระดับวิชาการจะยิ่งละเอียดและซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ

       ทั้งฝ่ายจัดการทุนและฝ่ายดำเนินการการวิจัยและบัณฑิตศึกษาต่างก็ใช้จินตนาการ   และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตน   คิดนวัตกรรมในการทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบ   โดยมีปณิธานความมุ่งมั่นร่วม (Shared Purpose) อยู่ที่การสร้างคุณภาพของระบบอุดมศึกษาและระบบวิจัย

        การแยกระบบการจัดการกับระบบการดำเนินการออกจากกัน (แต่เชื่อมโยงและปรึกษาหารือกัน)   แยกความรับผิดชอบคนละแบบออกจากกัน   จะเป็นการป้องกัน "corrupted system" โดยนักวิชาการ  หรือนักบริหาร

        ลองย้อนกลับไปดูโครงการทำนองนี้ของ สกอ.   ที่บ่นกันมากว่าได้ผลไม่คุ้มกับเงินลงทุน   หรือไม่ได้ผลงานที่มีคุณภาพ   และพิจารณาให้ลึก ๆ จะเห็นว่าเป็นเพราะเอาภารกิจด้านการจัดการกับการดำเนินการไว้ด้วยกัน   งานด้านการจัดการถูกจำกัดไว้เฉพาะการจัดการการเงิน   และการจัดการกฎระเบียบ   ไม่มีการจัดการงานวิจัยและการจัดการคุณภาพของทุนศึกษาต่อ

        คำว่า "ระบบการจัดการ" ของผม   หมายถึงระบบการจัดการที่รับผิดชอบทำให้เงินลงทุน 28,800 ล้านบาท   เกิดผลสัมฤทธิ์ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด   ซึ่งจะต้องมีทั้งการจัดการด้านการกำหนดเงื่อนไข   กำหนดเป้าให้ชัดในแต่ละกิจกรรม   จัดการการเงิน   จัดการการเชื่อมโยงหลายฝ่ายเข้ามาเป็นเครือข่าย/ร่วมมือกันในระดับปฏิบัติ   จัดการด้านรางวัลและการยกย่องผลงานที่มีคุณภาพสูง   การจัดการเหล่านี้จะเอาไว้ฝากไว้กับระบบการดำเนินการไม่ได้

        ระบบการดำเนินการ   หมายถึงการดำเนินการวิจัย   การจัดการศึกษาและฝึกอบรม นศ. ระดับปริญญาเอก   และกิจกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ   ระบบเหล่านี้ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่น ๆ (เช่น สวทช.)   ซึ่งจริง ๆ แล้วจะต้องมีระบบการจัดการของตนเอง   แต่เป็นการจัดการของระบบดำเนินการ   ไม่ใช่การจัดการของระบบการให้ทุน   และจะต้องไม่หลงเอาระบบการจัดการในส่วนระบบการให้ทุนมาไว้กับการจัดการของระบบดำเนินการ

        สองประเด็นที่เสนอไว้ในตอนนี้คือจุดเป็นหรือจุดตายของอภิมหาโครงการ 28,800 ล้านบาทนี้

วิจารณ์ พานิช
 16 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5600เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2005 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท