ข้อคิดจากคุณหมอประเวศ


ผู้เขียนเป็นสมาชิกสยามเสวนาได้รับเอกสารคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจเลยเอามาเผยแพร่

 ท่านคุณหมอประเวศวะสีได้เสนอ วัตถุประสงค์ของคนไทยร่วมกันที่เราควรทำ ไว้ 8 ประการ ลองอ่านดูนะครับ 

      วัตถุประสงค์ของคนไทยร่วมกัน
            คนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันจะร่วมกันทำ
       
            คนที่มีเป้าหมายการเดินทางร่วมกันจะร่วมกันเดินทางไปทางเดียวกันได้
       
            ควรมีการหาวัตถุประสงค์ร่วมกัน ถ้ามีกระบวนการหาวัตถุประสงค์ร่วมกัน และหาวัตถุประสงค์ร่วมกันได้ คนไทยจะรวมตัวกันเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ร่วมกันนั้น
       
วัตถุประสงค์ที่แน่นอนและตรงกันหมดทุกคนคือความสุข
       
            ทุกคนต้องการความสุข แต่มักได้รับความทุกข์
       
            แสดงว่ายังขาดความเข้าใจว่าความสุขเกิดจากอะไร มักคิดแบบแยกส่วนเช่นว่าความร่ำรวยทำให้เกิดความสุข คิดเฉพาะความสุขของตัวแต่ไม่นึกถึงความสุขของคนอื่น หรือคิดว่ามีแต่จิตใจเท่านั้นวัตถุไม่สำคัญ ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น การขาดความเข้าใจว่าความสุขเกิดจากอะไร ทำให้สร้างความสุขไม่ได้ ฉะนั้น ควรใช้เวลาช่วยกันทำความเข้าใจว่าความสุขเกิดจากอะไร ต่อไปนี้เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อกระตุ้นให้คิด เมื่อร่วมกันคิดแล้วน่าจะออกมาเป็นปัญญาร่วมที่อาจดีกว่าเท่าที่เสนอ
       
              . การไม่ทอดทิ้งกัน การทอดทิ้งกันทำให้เกิดทุกข์ การไม่ทอดทิ้งกัน การร่วมทุกข์ การมีไมตรีจิตต่อกัน เป็นบ่อเกิดของความสุข การพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง คนจะทอดทิ้งกัน
       
            . การมีเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง การมีปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงโดยทั่วถึง การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นบ่อเกิดของความร่มเย็นเป็นสุข การไม่พอกินไม่พอใช้ การเป็นหนี้สิน การมีมิจฉาอาชีวะ เป็นบ่อเกิดของการแย่งชิง ความขัดแย้ง และความรุนแรง
       
            . การใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อากาศ ดิน น้ำ ป่า เป็นสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึง และใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ความไม่เป็นธรรม และการแย่งชิงเป็นบ่อเกิดของความยากจน ความขัดแย้ง และความรุนแรง
       
            . การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน ถ้าคนทุกคนรู้สึกว่ามี และได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน จะมีความสุขทั้งเนื้อทั้งตัว และเกิดพลังสร้างสรรค์มหาศาล การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนเป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคม เป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่แท้ สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิของผู้ด้อยโอกาส การศึกษาและการสาธารณสุขที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ การเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งดีๆ อื่น เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ และทำให้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาทุกประเภท
       
            . ความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมทางสังคมทำให้มีความสุข ความรักชาติ รักส่วนรวม ความร่วมมือ การรักษาระบบ ถ้าขาดความเป็นธรรมจะทำให้เกิดความเกลียดชัง ความไม่รักส่วนรวม ความไม่ร่วมมือ ความอยากทำลาย ควรจะดูแลความเป็นธรรมทุกๆ ด้าน ทั้งความเป็นธรรมทางกฎหมาย ความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากเกินทำให้ขาดความเป็นธรรมทางสังคม ในประเทศเราช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างออกไปเรื่อยๆ ในไต้หวันช่องว่างนี้ลดลงมาก ในประเทศญี่ปุ่นคนที่มีรายได้สูงสุดมากกว่าคนต่ำสุดประมาณ ๑๐ เท่า ในนอร์เวย์ตัวเลขนี้ต่างกันเพียง ๗ เท่า เราจะมุ่งแต่สร้างความร่ำรวยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนที่แข็งแรงกว่าหรือมีโอกาสมากกว่าจะเอาเปรียบคนอื่น ทำให้ช่องว่างนี้ห่างมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม การเมือง และความขัดแย้งต่างๆ ตามมา คนไทยคงจะต้องตกลงกันว่าคนที่รายได้ต่ำสุดกับสูงสุดควรจะแตกต่างกันสักกี่เท่า จึงมีความเป็นธรรมทางสังคม
       
            . สันติภาพ สังคมที่มีความรุนแรงหรือสงคราม จะขาดความสุขและขาดโอกาสการขาดพัฒนา สันติภาพเป็นสุขภาวะทางสังคม รัฐต้องไม่ชักนำให้เกิดความแตกแยก แต่ส่งเสริมการคิดอย่างสันติ พูดอย่างสันติสามารถแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ประเทศไทยควรจะมีบทบาทนำในเรื่องสันติภาพ
       
            . การพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น คนจำนวนมากถึงแม้มีอะไรๆ พร้อมก็ยังไม่มีความสุข แต่มนุษย์สามารถบรรลุความสุขได้ด้วยการฝึก การศึกษาที่เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา ช่วยให้เข้าถึงความจริง ความงาม และความสุข ทุกวันนี้เราศึกษาวิชาต่างๆ ร้อยแปด แต่ไม่เคยศึกษาให้เกิดความสุข รัฐพึงส่งเสริมให้จิตตปัญญาศึกษาเป็นการศึกษาสำหรับคนทั่วไป และอยู่ในการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ อันจะยังให้ความสุขมวลรวมของสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
       
            . ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนที่เป็นไปได้โดยปราศจากความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ควรรีบกระจายอำนาจการพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการเรื่องของเขาเองให้มากที่สุด ชุมชนเข้มแข็งจะแก้ความยากจนและปัญหาอื่นๆ ได้ทั้งหมด แต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ท้องถิ่นต้องกำหนดการพัฒนาของตัวเองได้ การพัฒนาจึงจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตราบใดที่ความสัมพันธ์ทางสังคมของเรายังเป็นทางดิ่งระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง เศรษฐกิจจะไม่มีวันดี การเมืองจะไม่มีวันดี และศีลธรรมจะไม่มีวันดี เศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรมจะดีต่อเมื่อสังคมมีความสัมพันธ์ทางราบ นั่นคือผู้คนมีความเสมอภาคและมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง หรือที่เรียกว่ามีความเป็นประชาสังคม รัฐต้องส่งเสริมความเป็นประชาสังคม
       
            ถ้าความสุขเป็นที่ต้องการของคนไทยร่วมกัน ก็ต้องสร้างและใช้ดรรชนีวัดความสุข ไม่ใช่ใช้จีดีพีอย่างเดียว จีดีพีไม่ได้บอกปัจจัยของความสุขทั้ง ๘ ประการ ดังกล่าวข้างต้นเลย การเน้นแต่ความร่ำรวยจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรม ความขัดแย้ง และความรุนแรง
  

ถ้ามีหน่วยงานราชการหรือเอกชนตั้งใจทำเรื่องดังกล่าวข้างต้น คนไทยคงมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ

    ขอบคุณสยามเสวนาที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 55927เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)
  • เริ่มที่หน่วยเล็กๆ ที่ตัวเราเอง ที่จะมีจิตสำนึก
  • แล้วชักชวนคนรอบๆ ตัวเรา
  • จากสังคมเล็กๆ สู่สังคมที่โตขึ้น
  • ขอบคุณแนวคิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ 

  เรียนท่านอาจารย์ ดร.ขจิต

 เห็นด้วยกับท่าน LiLy พี่ท่านชายขอบ

 "เริ่มที่ตัวเจ้าของก่อน"

 "ตัวตนดี"

 "งานย่อมดี"

 "องค์กรดี"

 สุดท้ายThailand " ชาติ บ้านเมือง ย่อมต้องดีด้วยครับ"





  • ขอบคุณมากครับ ท่านอาจารย์หมอ JJ และคุณ Bright Lily
  • กำลังยุ่งกับงานเลยครับ

     ขอบคุณคุณขจิตมากเลยค่ะสำหรับบันทึกนี้  ช่วยกันคนละนิด วงจะขยายออกไปเรื่อยๆ ทั่วทั้งสังคมไทยค่ะ

 

  • ขอบคุณคุณตูนมากครับ
  • สบายดีใช่ไหมครับ
  • นึกว่าจมน้ำแล้ว
  • ยังสบายดีอยู่ค่ะ
  • แต่ถึงแม้น้ำท่วมมากกว่านี้ตูนก็คงไม่จมน้ำเพราะพกห่วงยางน้อยq ติดตัวอยู่ตลอดเวลาค่ะ  :P
  • ขอบคุณมากครับ
  • เอ ท่านอาจารย์ beeman มีไหมครับ
  • เป็นบทความที่น่าสนใจมากคะ
  • ใจตรงกันด้วย ที่มีบทความเรื่องของของความสุขเหมือนกัน
  • ลองเข้าไปอ่านเรื่องของความสุขที่ของคนทั้งชาติ เป็นตัวอย่างแนวคิดของประเทศภูฏาน
  • http://gotoknow.org/blog/firsttime/56521

 

ขอบคุณมากครับคุณจ๋า จะรีบตามไปดูครับ
  • เป็นอีกหนึ่งบันทึกที่อ่านแล้วสบายใจ ให้อะไรกับความคิดเยอะเลยค่ะ
  • ขอบคุณที่นำมาให้อ่านค่ะ
  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาให้กำลังใจ
  • อาจารย์ Panda และคนอื่นๆสบายดีไหมครับ
  • แอบมาชมบล็อกอาจารย์ค่ะ...ดีใจค่ะที่อาจารย์หยิบพื้นหลังมาใช้ ...สีเหมาะกับพื้นที่บันทึกของอาจารย์เลยนะค่ะ...
  • เลยได้แนวคิดของคุณหมอประเวศ กลับไปปรับใช้เพื่อเป็นแนวร่วมในเป้าหมายเดียวกันของคนไทยด้วยคนหนึ่งค่ะ...ขอบพระคุณค่ะ
  • ขอบคุณมากครับ
  • สีสวยมากครับ
  • ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะครับ

แนวคิดท่านประเวศ เยี่ยมจิงๆ

แวะมา  ลปรร ด้วยค่ะ

 ส่วนตัวแล้วพบว่า ถ้าได้พัฒนาข้อ ๗ คือ เรื่องจิตใจดีๆ แล้ว ที่เหลืออีก ๗ ข้อจะตามมาเองคค่ะ

พิสูจน์ได้และจับต้องได้ด้วยค่ะ

ถ้าถามว่ามีคอร์สพัฒนาจิตจะแนะนำไหม  มีแน่นอนค่ะ เพราะตัวเองก็สนใจเรื่องนี้อยู่

ไปมาแล้วหลายที่ ดูมาก็หลายอย่าง แต่ชอบคอร์สพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุข หรือการเจริญาสติวิปัสสนาสำหรับฆราวาสในแนวคุณแม่สิริกรินชัย ที่มูลนิธิศูนวิปัสสนาเชียงใหม่มากที่สุดเลยค่ะ

ไปมา ๓๐ กว่าครั้งใน ๔-๕ ปีที่ผ่านมา เห็นคนผ่านคอร์สออกไปเป็นพัน ๆ คน  ทุกเพศ  วัย สาขาอาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

มันได้ผลจริงๆ นะคะ

ของดีเรามีอยู่ใกล้ตัว  หลักสูตรพระพุทธเจ้าในการขัดเกลาจิตใจนี่ล่ะค่ะ  และสามารถนำไปใช้กับทุกศาสนาได้ด้วย  มีฝรั่งต่างชาติมาฝึกมากมาย  ผู้ที่ไม่ใช่พุทธ  หรือติดข้อห้ามทางศาสนาอื่นๆ   ก็ไม่ต้องสวดมนต์ไหว้พระได้ค่ะ แค่ฟังบรรยายและฝึกเดินจงกรมนั่งสมาธิ  กับเจริญสติต่อเนื่องในทุกกิจกรรมเท่านั้น

ต้องต่อเนื่อง  ๗  วันนี่แหละค่ะ ถึงจะเห็นผลชัด

แต่คงต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ผู้วางนโยบายเลยมั้งคะ

จับไปเข้าคอร์สเสียก่อน แล้วจะได้เข้าใจว่า   มันดีและมีประโยชน์กับทุก ๆ คนในโลกนี้อย่างไร

ถ้าคนไทยได้ฝึกกันตั้งแต่เด็ก  ปัญหาบ้านเมืองลดน้อยลงไปได้เยอะแน่ค่ะ  เพราะคนจะพูดกันรู้เรื่องมากขึ้น เข้าใจตรงกันมากขึ้น

ฝรั่งเขาเห่อกันจะแย่อยู่แล้ว  วิปัสสนาน่ะค่ะ  เขาทำป.เอกเรื่องวิปัสสนากันตั้งกี่พันเรื่องแล้วทราบไหมคะ โห...เราเป็นคนไทย เป็นพุทธโดยกำเนิดงี้  ไปค้นคว้าทีรู้สึกอายฝรั่งมาก

ก็แวะมาบ่น ๆ ซะละมากกว่าค่ะ  เพราะทราบว่าในความเป็นจริงแล้วคงจะยาก  คนเข้าใจเรื่องนี้น้อยค่ะ

ฉันเลือกหัวข้อวิจัยผิดไปหรือเปล่านี่...เฮ้อ...(เริ่มท้อ)

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร

คุณ Nash ผมก็เลือกผิด น่าจะเรียนเกษตรศาสตร์มากกว่าภาษาอังกฤษ อย่าเพิ่งท้อครับ มาให้กำลังใจ

เจริญพร อาจารย์

ขอคัดค้านความเห็นนี้ในประเด็นที่ว่า มีลักษณะเพ้อฝันเกินไป เพราะไม่ได้กำหนดจากข้อเท็จจริงทางสังคม

จริงๆ นะครับอาจารย์ หลวงพี่จะรู้สึกกระทบกระทั้งแห่งจิดเกือบทุกครั้ง เมื่อมาเจอแนวคิดทำนองนี้

เอิร์มสันเคยวิจารณ์แนวคิดของคานต์ว่า เหมือนพิมพ์เขียวรถยนต์ที่ดีที่สุด แต่ไม่สามารถสร้างได้...ความคิดเห็นของนักคิด นักวิชาการ วิชาเกิน (โดยเฉพาะเมืองไทย)หลายๆ ท่าน ก็ทำนองนี้แหละ ครับ

เจริญพร

  • ขอบพระคุณมากครับหลวงพี่
  • จะแวะไปทักทายนะครับ

หลวงพี่อ่านที่คุณหมอประเวศเสนอดี  ๆ ก่อน ดีไหมคะ

 

ท่านเสนอสิ่งที่ "ควรทำ"    ว่าถ้าทำแล้ว จะ "มีความสุข"

 

ท่านไม่ได้บอกว่าท่านจะเสนอสิ่งที่  "จะสามารถทำได้"  ตาม "ข้อเท็จจริงทางสังคม" ค่ะ

 

กุศลนั้นเกิดจากเจตนาผู้คิด  ผู้พูด  ผู้อนุโมทนา และผู้เริ่มกระทำนะคะคิดว่า 

 

คิดเมื่อใด อนุโมทนาด้วยเมื่อใด  ลงมือทำเมื่อใด  บุญสำเร็จเมื่อนั้นค่ะ

 

คนเราจะมี "ความสุข" เมื่อสามารถประคองใจให้เป็นกุศลได้ในทุก ๆขณะจิตมั้งคะ?

 

คำว่า  "สังคม"  ก็ดี  หรือสิ่งภายนอกใด  ๆ  ที่จะมากระทบก็ดี มันจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นของมันอย่างนั้นอยู่แล้วเป็นธรรมดา ไม่ว่าเราจะไปจัดแจง จัดการ ยุ่งเกี่ยวเสนอแนะ  กับมันด้วยหรือไม่    เราก็คงมีหน้าที่กำหนดรู้ด้วยสติเพื่อให้เกิดปัญญา  

 

แล้วกระบวนการนั้นล่ะค่ะ  มันก็ดับทุกข์ไปในตัว

 

ใครทำ  ใครก็ได้ผลเดี๋ยวนั้นเลยน่ะค่ะ

 

หลวงพี่คิดแบบกระบวนการ "วิชาการ"  ทางตะวันตกมากเกินไปหรือเปล่าคะ ถึงได้บอกว่ารู้สึกกระทบกระทั่งทางจิต  เมื่อได้ยินข้อเสนอเช่นนี้?

 

กระทบจิตสิคะยิ่งดี   ทุกข์กระทบ  ธรรมกระเทือนค่ะ

 

หนูก็ไม่บังอาจสอนหนังสือสังฆราชหรอกนะคะ  วุฒิทางโลกก็แค่ป.โท  วุฒิทางธรรมก็แค่ธรรมโท    แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับการน้อมกายน้อมใจไปนอนวัดแล้วได้เรียนด้วยกายและใจตัวเองแบบไม่ได้วุฒิอะไรติดมาเลยนี่น่ะค่ะ

 

วิชาว่าด้วย  "ใจ" ของพระพุทธเจ้านี่ ที่สุดแล้วค่ะ

 

เจตนาที่จะทำ  และคิดดี  ทำดี  และลงมือทำดีในปัจจุบันขณะนี้   อย่างเต็มกำลังความสามารถของทุกๆ คน โดยไม่มีการรั้งรอ น่าจะเป็นแก่นสารและสาระสำคัญสูงสุดของการนำไปสู่การพ้นทุกข์ทั้งปวงของแต่ละบุคคล  ตามนัยยะของพุทธศาสนา  มากกว่าการนั่งรอคอยการประมวลผลข้อเท็จจริงทางสังคม  เพื่อหา "กระบวนการ" ที่คิดว่าน่าจะ foul-proof และหวังว่ากระบวนการนั้นน่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้นะคะ

 

อัตตาหิ อัตโนนาโถ ค่ะ   ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน  ถ้าเราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันใจ  และสร้างความสงบสันติสุขในระดับบุคคลได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ความสงบในระดับครอบครัว  และชุมชน  ก็น่าจะเป็นที่หวังได้ค่ะ

 

มีตัวอย่างให้เห็นนะคะ   สมัยพุทธกาลก็มี  แคว้นกุรุ ที่เขาเจริญสติกันทั้งแคว้นตลอดเวลา    เจอหน้ากันก็จะถามว่า  เธอกำลังเจริญสติด้วยฐานไหน   ทราบแล้วก็จะอนุโมทนากัน

 

ใครไม่เจริญสติ เขาก็อัปเปหิ ค่ะ  

 

นั่นไงคะ ตัวอย่างระดับสังคม

 

แต่ก็นั่นแหละค่ะ   ทุกอย่างมันก็มีเรื่องความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา

 

นี่ก็เลยกึ่งพุทธกาลมาแล้ว  ขนาดแคว้นกุรุที่เคยเจริญสติกันทั้งแคว้นยังเสื่อมได้

 

แล้วเราจะเหลือรึ?

 

ว่าแล้วก็ต้องเร่งเจริญสติของตัวเองต่อไป

 

เพราะดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า

 

"...วันคืนล่วงไป  ล่วงไป  เธอกำลังทำอะไรอยู่..."

 

ด้วยความเคารพ,

 

ณัชร

เจริญพร คุณโยมณัชร 

ไม่เถียง จ้า ขอ สาธุ ก็แล้วกัน

แต่ หลวงพี่ นะ เป็นประเภทน้ำชาล้นถ้วย จ้า

เจริญพร

  • ขอบคุณคุณ nash มากครับ ผมนักธรรมเอกแต่ตอบปัญหาธรรมะสู้คุณnash ไม่ได้เลยครับ
  • นับถือครับ นับถือ
  • ขอบคุณหลวงพี่มากครับ
  • ไปสงขลาเมื่อไรจะแวะไปทักทายครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท