beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ทศพักตร์นักจัดการความรู้สู่เครือข่ายคุณอำนวยระดับชาติ : การเตรียมความพร้อม


กับ 10 Competency ที่คุณอำนวยระดับชาติพึงมี (ไม่จำเป็นต้องมีครบ)

    ก่อนการฝึกทักษะ "เวทีคุณอำนวย" ระดับภูมิภาค pre-UKM-8 ใช้ชื่องานว่า "ทศพักตร์นักจัดการความรู้สู่เครือข่ายคุณอำนวยระดับชาติ" ซึ่งจะจัดในวันพฤหัสบดีที่ 2 พ.ย. 49 ที่ห้อง Main conference ตึก CITCOMS อยากให้ท่านผู้เข้าร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ (ไม่อยากเรียกว่าฝึกอบรม แต่เรียกว่า เข้าร่วม ลปรร.กันมากกว่าครับ) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. มวล. จำนวน 5 ท่าน
  2. มอ. จำนวน 4 ท่าน
  3. มหิดล จำนวน 4 ท่าน
  4. มมส. จำนวน 4 ท่าน
  5. มน. จำนวน 10 ท่าน
  6. มข. จำนวน 4 ท่าน

   เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม อยากให้ทุกท่านอ่าน บันทึกของท่านอาจารย์ประพนธ์ ชื่อว่า "ทศพักตร์" ของนักจัดการความรู้ที่ชื่อว่า "คุณอำนวย" ซึ่งเป็นบันทึกต้นฉบับ

   แต่สำหรับท่านที่ไม่ชอบการ Link ผมได้คัดลอกมาดังต่อไปนี้พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติม ด้วยครับ

  นักจัดการความรู้ควรมี 10 Competency ที่สำคัญ ดังนี้:

  1. เป็นผู้ที่สามารถสร้างความเข้าใจและสร้างแรงจูงใจให้กับ "คุณเอื้อ" และ "คุณกิจ" ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องเป็น "นักขาย" ที่สามารถอธิบายและ "ขายฝัน" ในเรื่อง KM ให้กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้ขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่เหมือน เป็นเซลล์แมน ที่จะต้องอธิบายเรื่อง KM ให้ผู้บริหารหรือคุณเอื้อ กับผู้ปฏิบัติงานหรือคุณกิจ ให้เข้าใจในระดับปฏิบัติ ส่วนนี้ก็คือทำหน้าทีเป็นนักประสานงานที่ดี ครับ

  2. เป็นผู้ที่ออกแบบกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.)ในหน่วยงานได้ คือทำหน้าที่เป็นนักออกแบบ หรือเป็น "วิศวกร" กระบวนการ(เรียนรู้) ได้ ขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่ เป็นวิศวกร ที่สามารถออกแบบกระบวนการ ลปรร. (วิทยากรกระบวนการ) ได้ และเพิ่มเติมว่า สามารถดัดแปลงกระบวนการลปรร. ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ลปรร.ได้ด้วย (ต้องรุ้จัก "ปรับใช้")

  3. เป็นผู้ที่สามารถสร้างบรรยากาศที่ดี มีความเป็นกันเอง และมีการ ลปรร. ที่ลื่นไหลเป็นไปตามธรรมชาติ เปรียบได้กับบทบาทของ "สถาปนิก" ที่ออกแบบบ้านได้อย่างดี มีการถ่ายเทอากาศ โล่งโปรงสบาย อยู่แล้วไม่อึดอัด ขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่ เป็น สถาปนิก โดยการสร้างบรรยากาศที่ดี มีความเป็นกันเอง เพื่อให้บรรยากาศของการ ลปรร. ไหลลื่นเป็นธรรมชาติ เช่น การพูดคุยอย่างเป็นกันเอง การเปิดเพลงเบาๆ สร้างจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของผู้ที่เข้ามา ลปรร.กัน เป็นต้น

  4. มีทักษะในการตั้งคำถาม จับและสรุปประเด็นได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องมีทักษะของการเป็น "นักจัดเวที" หรือผู้ดำเนินรายการอยู่ในตัวขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่ เป็น "พิธีกร" รายการโทรทัศน์หรือวิทยุ ที่สามารถยิงคำถาม จับประเด็น รวมทั้งสรุปประเด็นที่มีการ ลปรร. ได้เป็นอย่างดี (เป็นอะไรที่มากกว่า "คุณลิขิต")

  5. รู้จักเครื่องมือช่วยพัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถเลือกใช้เครื่องมือได้เหมาะสมกับบริบท และกลุ่มเป้าหมาย เรียกได้ว่าต้องมีความสามารถในลักษณะของ "ที่ปรึกษา" หรือ "Consultant" ที่สามารถให้คำแนะนำ และเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม ขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่ เป็น ที่ปรึกษา ที่สามารถให้คำแนะนำ (กับคุณอำนวยมือรองลงไป) รวมทั้งเลือกใช้เครื่องมือหรือ Tool ได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างของ Tool เช่น กำหนดการ, Card Techniques, Mind Map, Flip Chart, Computor, Monitor, กล้องถ่ายภาพถ่าย VDO เป็นต้น

  6. สามารถนำ IT มาประยุกต์ใช้ในการ ลปรร. และใช้เผยแพร่ความรู้ได้อย่างเป็นระบบและทรงพลัง  เรียกว่าต้องมีความเป็น "นัก IT" อยู่บ้างจะได้ประยุกต์ใช้ IT ได้ หรือพูดกับฝ่าย IT รู้เรื่อง ขยายความว่า คุณอำนวยต้องมีความเป็น นัก IT อยู่ในตัวด้วย

  7. สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ทั้งในเชิงวัฒนธรรมองค์กร ทั้งก่อนและหลังการใช้ KM ซึ่งหมายถึงต้องมีคุณสมบัติของการเป็น "นักวิเคราะห์" อยู่ด้วย ขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่เป็น นักวิเคราะห์ อยู่ในตัวด้วย คือสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการใช้ KM ซึ่งถ้าคุณอำนวยชอบการจดบันทึก และรู้จึกสังเกตแล้ว คุณสมบัติข้อนี้คงผ่านได้ไม่ยาก

  8. สามารถติดตาม ประเมินผลการใช้ KM ได้ เป็นบทบาทในฐานะ "นักประเมินผล" ที่จะต้องคอยติดตามประเมินการทำงานเป็นระยะๆ และสามารถนำข้อมูลย้อนกลับมาใช้ปรับการทำงานได้ ขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่เป็น นักติดตามประเมินผล แบบกัดไม่ปล่อย ต้องนำ คำติมาเพื่อแก้ไข นำคำชมมาเป็นกำลังใจและทำให้ดียิ่งขึ้น

  9. สามารถผลักดันให้เกิดเครือข่ายในลักษณะของ "ชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs)" ซึ่งก็คือคุณสมบัติในลักษณะที่เป็น "นักพัฒนา" หรือ "นักสังคม" นั่นเอง ขยายความว่า คุณอำนวยต้องทำหน้าที่เป็น นักพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะเครือช่ายแบบที่เรียกว่า CoPs

 10. รู้จักใช้หลักการให้รางวัล การชมเชยยกย่อง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการ ลปรร. ที่ต่อเนื่อง และยั่งยืน ซึ่งก็คือ บทบาทในฐานะ "นัก HR" หรือนักพัฒนาองค์กร ขยายความว่า คุณอำนวยต้องมีศิลปะ ในการสนับสนุนให้เกิดการ ยกย่องชมเชย ผู้กระทำความดีทั้งหลาย ให้เกิดกำลังใจในการทำความดีต่อไปอย่างต่อเนื่อง

หมายเลขบันทึก: 55922เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
รับทราบค่ะ จะเตรียมการให้พร้อม  
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท