การเขียนเชิงวิชาการ


                                 การเขียนเชิงวิชาการ 

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

 

 

 

 

        โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันทางด้านวิชาการและวิชาชีพ อาศัยการเขียนเป็นเครื่องมือการพัฒนาการเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ ผู้เรียนจึงจะต้องเขียนงานต่าง ๆ จำนวนมาก งานเขียนเหล่านี้ หากเขียนขึ้นเพื่อสนองตอบต่อจุดประสงค์ในเชิงวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาวิทยาการสาขานั้น ๆ แล้ว ย่อมเรียกว่าการเขียนเชิงวิชาการทั้งสิ้น  ภาษาที่ใช้ในการเขียนเชิงวิชาการจะต้องเป็นภาษาแบบแผน และเรียงขึ้นอย่างเป็นระบบโดยอาศัยแหล่งข้อมูลอื่น ๆ มาประกอบมากกว่างานเขียนในลักษณะอื่น ๆ โดยทั่วไป สามารถจำแนกประเภทของงานเขียนวิชาการได้ประมาณ  8 ประเภท (Empire State College, The State University of New York, 2013: online) ดังนี้ 

 

          1.  เรียงความ (essay)  คืองานเขียนที่มุ่งเน้นการแสดงความคิดเห็น และน้ำเสียงที่ผู้เขียนมีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือประเด็นใดประเด็นหนึ่ง  เรียงความมิได้มีลักษณะเป็นการเสนอข้อมูลแบบเล่าเรื่องราว แต่จะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้เขียนมีความคิดต่อเรื่อง หรือประเด็นที่จะให้เขียนอย่างไร โดยทั่วไป หัวข้อการเขียนเรียงความ มักจะเป็นหัวข้อที่อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้กำหนดขึ้น เพื่อให้นิสิตนักศึกษาเขียนแสดงความคิดเห็น ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหัวข้อเรียงความ

                   1)  ควรเลี้ยงสัตว์ป่าไว้ในสวนสัตว์หรือไม่ 

                   2)  ประเทศที่ร่ำรวยควรให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยากจนหรือไม่

                   3)  สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาแทนหนังสือเรียนได้จริงหรือไม่

                   4)  ควรปรับลดเกณฑ์อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงมาต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่ 

                   5)  หลักสูตรการเรียนปัจจุบันควรเรียนวรรณคดีให้น้อยลงและเรียนวรรณกรรมปัจจุบันให้มากขึ้นหรือไม่ 

 

          2.  รายงานวิจัย (research)  คือ  งานเขียนที่มีลักษณะเป็นการสืบสอบค้นคว้าข้อมูล เพื่อนำเสนอประเด็นความคิด หรือประเด็นโต้แย้ง (argument) บางประการของผู้เขียน  โดยการวิจัยข้อมูลต่าง ๆ มาสนับสนุน  การเขียนรายงานการวิจัย มีลักษณะคล้ายเรียงความ แต่มิใช่การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวล้วน ๆ   ผู้เขียนจะต้องแสดงการอ้างอิง หรือยกข้อความจากเอกสารต่าง ๆ มาประกอบ เพื่อให้ประเด็นโต้แย้งของตนมีน้ำหนัก  การเขียนรายงานการวิจัย จะต้องแสดงคำถามการวิจัยที่จัดเจน       และคำตอบของคำถาม ประกอบข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้ามาได้ 

 

          3.  รายงานสรุป (summary) คือ งานเขียนที่ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญของสิ่งที่อ่าน ฟังหรือดู รายงานสรุปมักเป็นรายงานที่พบมากในการเรียนการสอน เพราะเป็นทักษะเบื้องต้นของผู้เรียน ในการที่จะสรุปความ ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้จากการสรุปไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ หลักการของการสรุปสาระสำคัญคือ จะต้องพิจารณาสิ่งที่อ่าน ฟังหรือดูคร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงพิจารณาว่า ข้อความส่วนใดเป็นสาระสำคัญ  จากนั้นจึงเขียนเรียงเรียง โดยเชื่อมโยงข้อความเหล่านั้นให้กลายเป็นย่อหน้าขึ้นมาในลำดับต่อไป  

 

 

 

          4.  บันทึก  (journal)  คือ งานเขียนเชิงวิชาการที่ค่อนข้างเป็นอิสระมากกว่าการเขียนประเภทอื่น ๆ ลักษณะของการเขียนบันทึก มักจะเป็นงานเขียนที่ผู้สอนมิได้กำหนดหัวข้อให้เขียนดังเช่นเรียงความ  แต่เป็นการเขียนที่ผู้เขียนสะท้อนความคิดที่มีอยู่ ณ ขณะนั้นลงในกระดาษหรือเครื่องพิมพ์ทันที  การเขียนบันทึกจึงมิต้องคำนึงถึงความถูกต้องของภาษา ไวยากรณ์ หรือการสะกดคำมากนัก       แต่เน้นความคิดที่เกิดขึ้นอย่างอิสระ และค่อนข้างเป็นปัจจุบัน  การเริ่มต้นเขียนบันทึก อาจเริ่มจากการใช้คำถามต่อไปนี้ เช่น 

                   1)  ฉันมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อเรียนเรื่องนี้ 

                   2)  ฉันมีคำถามอะไร หรือประสงค์ที่จะค้นหาอะไรต่อจากการเรียนในครั้งนี้

                   3)  ฉันเคยมีประสบการณ์อะไรที่เกี่ยวข้อง คล้ายคลึงหรือแตกต่างจากเรื่องนี้ 

                   4)  ฉันมีมุมมองหรือความคิดอะไรบ้างที่เกิดขึ้นจากการเรียนเรื่องนี้ 

                   5)  ฉันคิดถึงอะไรต่อไปจากการที่เรียนเรื่องนี้ 

 

          ลักษณะที่สำคัญที่ผู้เขียนจะต้องแสดงไว้ในบันทึกคือ การสะท้อนคิด (reflect) คือ การคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง ผู้เขียนต้องระบุว่า วิธีคิดที่มองเรื่องนี้อยู่นั้น ถูกหรือผิด หรือมีปัญหาอย่างไร วิธีการหนึ่งที่นิยมใช้มากคือ หลังจากที่เขียนบันทึกไปสักระยะหนึ่ง  ให้ผู้เขียนย้อนกลับไปอ่านแต่ต้น    และเมื่อกลับไปอ่านข้อความก่อนหน้าข้อความใดแล้วเกิดความคิดใหม่  ก็ให้จดบันทึกเพิ่มเติมลงไประหว่างข้อความเหล่านั้นทันที 

 

          5.  บทพิจารณาหนังสือ (book review) รายวิชาบางวิชา มีข้อกำหนดให้ผู้เรียนอ่านหนังสือและเขียนบทพิจารณาหนังสือ แต่ผู้เขียนโดยส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิดว่า  บทพิจารณาหนังสือคือบทสรุปสาระสำคัญของหนังสือ ซึ่งแท้ที่จริงการสรุปนั้น เป็นแต่เพียงเนื้อหาส่วนเดียว  เพราะการเขียนบทพิจารณาหนังสือ จะต้องเขียนให้ครอบคลุมเนื้อหาใน 3 ส่วนคือ   ส่วนสรุปเนื้อหาหรือสาระสำคัญของหนังสือเล่มนั้น  ส่วนที่เป็นการตีความของผู้อ่าน  และ ส่วนสรุปนัยสำคัญของหนังสือที่จะมีต่อผู้อ่าน  ทั้งนี้ในส่วนของการตีความ  ผู้เขียนจะต้องตีความด้วยการพิจารณาว่า  ประเด็นโต้แย้งที่ผู้เขียนหนังสือต้องการนำเสนอคืออะไร  นัยความหมายที่ซ่อนแฝงอยู่ในถ้อยคำ ประโยค หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในหนังสือมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง  สำหรับในส่วนสรุป  ผู้เขียนควรกล่าวถึงว่า สิ่งที่ได้ตีความในส่วนที่ 2 นั้น  จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านคนอื่น ๆ อย่างไร  และหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ที่จะนำไปใช้ในการเรื่องใดและได้ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง 

 

          6.  รายงานเชิงสังเคราะห์  (synthesis)  เป็นงานเขียนที่เกิดจากการสังเคราะห์ประเด็นความคิดใหม่ ๆ จากการอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้อง  การเขียนรายงานเชิงสังเคราะห์มักเป็นการเขียนประกอบกับการสอบในสาขาวิชาต่าง ๆ รายงานชนิดนี้ มีลักษณะเป็นการสร้างความรู้ใหม่ จากการประมวลสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือที่ได้รับมอบหมายในรายวิชา   ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า  รายงานเชิงสังเคราะห์ อาจจะมีความแตกต่างจากพวกรายงานการวิจัย เพราะรายงานการวิจัยค่อนข้างจะมีความเป็นอิสระในการศึกษาค้นคว้า ซึ่งผู้เขียนสามารถที่กำหนดประเด็นการวิจัยที่สนใจได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถที่จะสืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย   ในขณะที่รายงานเชิงสังเคราะห์มักจะมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะหนังสือหรือเอกสารต่าง ๆ ที่อ่านประกอบการศึกษาในรายวิชา  แต่อย่างไรก็ตาม การเขียนรายงานทั้งสองประเภทจะมีหลักการที่คล้ายกันคือ มีการกำหนดประเด็นโต้แย้ง (argument) ของผู้เขียนที่ชัดเจน 

 

          7.  การพิจารณาทบทวนวรรณกรรม (review of the literature) การทบทวนวรรณกรรมเป็นงานเขียนเชิงวิชาการ ที่มักจะเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการวิจัย  จุดประสงค์สำคัญของการทบทวนวรรณกรรม คือ การประมวลองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับคำถามการวิจัย และสิ่งที่จะดำเนินการวิจัย เพื่อให้ทราบว่า  ขณะนี้ องค์ความรู้หรือแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ นั้น มีพัฒนาไปอย่างไร  และอยู่ในระดับใด ทั้งนี้  ในการเขียนพิจารณาทบทวนวรรณกรรม  จะมิได้เป็นเพียงแต่การประมวลหรือสรุปสิ่งที่ผู้เขียนเอกสารแต่ละเล่มกล่าวไว้เท่านั้น  แต่ผู้เขียนงานเขียนประเภทนี้  จะต้องเขียนถึงแก่นหรือประเด็นโต้แย้งที่ผู้เขียนเอกสารต้องการนำเสนอ  และมีส่วนของการเปรียบเทียบ เชื่อมโยง และวิเคราะห์ให้เห็นความสัมพันธ์กับแนวคิดของผู้เขียนคนอื่น ๆ เพื่อให้ได้คำตอบว่า  อะไรที่นักวิชาการเหล่านั้นได้มีการค้นพบไว้แล้ว และอะไรที่ยังไม่ชัดเจน  หรือเป็นประเด็นให้ต้องศึกษาวิจัยต่อไปด้วย  

 

          8.  การเขียนบรรณานิทัศน์อ้างอิง  (annotated bibliography)  มีลักษณะคล้ายบทพิจารณาหนังสือ  แต่จะต้องเริ่มเขียนด้วยการเขียนอ้างถึงแหล่งที่มาของหนังสือตามรูปแบบการอ้างอิงที่เป็นสากล เช่นระบบ APA หรือ  MLA  ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องระบุ ชื่อ-สกุลของผู้เขียน ปีที่พิมพ์  ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์  สถานที่พิมพ์และสำนักพิมพ์ตามลำดับ  จากนั้นจะขึ้นบรรทัดใหม่ และขึ้นย่อหน้าแรก       เพื่อสรุปสาระสำคัญหรือข้อค้นพบสำคัญของเอกสารที่อ่าน  ส่วนย่อหน้าที่สองผู้เขียนจะต้องประเมินคุณค่า ความถูกต้อง  ประโยชน์ ข้อดี ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ได้จากการอ่าน  และสะท้อนคิดสิ่งที่ได้จากการอ่านประกอบลงไปด้วย  ข้อมูลจากการเขียนบรรณานิทัศน์อ้างอิง จะสามารถจำไปใช้ในการเขียนรายงานการวิจัยหรือใช้ประกอบการเขียนงานประเภทอื่น ๆ ได้ เพราะถือเป็นการจัดทำแหล่งข้อมูลประกอบการเขียนนั่นเอง 

  

        หลักการพื้นฐานของการเขียนเชิงวิชาการก็คือ ความชัดเจนของประเด็นความคิด การมุ่งนำเสนอแต่เพียงเฉพาะข้อมูลว่า กล่าวไว้ว่าอย่างไรนั้น ไม่เพียงพอ แต่ผู้เขียนจำเป็นจะต้องแสดงจุดยืนอันเป็นความคิดเห็นของตนเองประกอบเข้าไปด้วย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการพัฒนาในด้านวิชาการที่แท้จริง  เพราะการเขียนเชิงวิชาการมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงฝีมือในด้านการใช้ภาษา แต่มุ่งเสนอความคิดและความก้าวหน้าทางปัญญาของผู้เขียน ในฐานะผู้ศึกษาวิทยาการสาขานั้น ๆ 

 

____________________________________________________________________________



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท